ตลาดร้อยปีที่สามชุก.....วันนั้น....เจื้อยแจ้วด้วยเพลงอีแซวบางลี่


มันเทศ มันฝรั่ง มันสำปะหลัง มันเหลือๆ มันแกว มันมือเสือ เชื่อไม่เชื่อว่ามันๆๆ

 

เพลงอีแซวบางลี่ที่สามชุก

        และแล้ว วันที่รอคอยก็มาถึง วันนี้(๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๐)ผมพานักเรียน ๑๘ ชีวิต เป็นชาย ๙ หญิง ๙ คนมีทั้งเด็กเก่าและเด็กหัดใหม่ที่เพิ่งขึ้นเวที เป็นครั้งแรก ไปแสดง ตามโครงการลานวัฒนธรรมเพื่อเยาวชนและครอบครัว ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยความอนุเคราะห์ของคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ ณ ตลาดร้อยปี อำเภอสามชุก

       สถานที่แสดงเป็นบริเวณลานโพ อยู่ตรงซอย ๒ ของตลาดร้อยปีฉากหลังเวทีเป็นฉากเดียวกับที่ ร.ร.บรรหารแจ่มใสวิทยา ๑ เคยใช้แสดงเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๐ ตรงที่ขึงฉากเป็นป้ายชื่อที่ว่าการอำเภอสามชุกเก่านั่นเอง วันนี้มีผู้ชมมาให้กำลังใจพอสมควร มานั่งชมบ้าง เดินผ่านไปมาแล้วแวะถ่ายภาพบ้าง และเดินมาเข้าห้องน้ำจึงหยุดยืนชมบ้าง เพราะข้างเวทีมีห้องน้ำบริการนักท่องเที่ยว

       วันนี้ตลาดค่อนข้างแออัดเพราะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันอย่างเนืองแน่น ผู้ชมกิติมศักดิ์ ของเราก็มีทั้งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่เดินมาเยี่ยมชม ครอบครัวของท่านอ.ชำเลือง มณีวงษ์ ครอบครัวอ.นารินทร์ แจ่มจิต และอีกหลายท่านที่ผมไม่ทราบชื่อ

       ก่อนการแสดงผมพานักเรียนทุกคนจุดธูปเทียนไหว้ครู กล่าวคำบูชาครูเป็นภาษาบาลีและแปล

       การแสดงเริ่มด้วยบทไหว้ครู ที่เกริ่นนำด้วยเสภาตามด้วยเพลงอีแซว จากนั้นก็เริ่มเปิดตัวด้วยเพลงมันๆที่มีนักเต้นประกอบ

      เพลงมันๆของผมร้องดังนี้

     มันเทศ มันฝรั่ง มันสำปะหลัง มันเหลือๆ มันแกว มันมือเสือ เชื่อไม่เชื่อว่า มัน มัน มัน 

      จากนั้นก็ประ โต้กัน ๒ คู่ แล้วนำเสนอ เพลงพื้นบ้านอื่นๆ คือเพลงเกี่ยวข้าว เพลงยั่ว เพลงสงฟาง เพลงพานฟาง เพลงขอทาน สลับด้วยเพลงอีแซวบ้าง แล้วก็แทรกเพลง ลูกทุ่งที่ผมแต่งเอง เพลงทรงเครื่อง เพลงลิเก เพลงเรือ เพลงพวงมาลัย มีคุณลุงคนหนึ่งขอให้ร้องลำตัด เราก็จัดให้ มีบางช่วงที่ผมกระโดดขึ้นเวที ไปช่วยผ่อนแรงนักเรียน ร้องเพลงรักไม่ต้องเรียน

     ในตอนท้ายคณะของเราได้ร้องเพลงอีแซวเกี่ยวกับโครงการลานวัฒนธรรมเพื่อเยาวชนและ ครอบครัวและตบท้ายด้วยการร้องแหล่ชมตลาดร้อยปีที่สามชุก นักแหล่ ชาย ๓ หญิง ๓ คนของเราใส่ลูกคอกันอย่างเต็มที่คนละ ๒ รอบ จากนั้นจึงร้องลาผู้ชม

       เริ่มแสดงราวๆ๑๐.๐๕ น.จนสิ้นสุดเมื่อเวลา ๑๒.๐๕ น. จากนั้นผมก็แจกปัจจัยให้นักเรียนไปเดินจับจ่ายใช้สอย รับประทานอาหารกันแล้วนัดเดินทางกลับเวลา ๑๓.๓๐ น. ถึงบ้านประมาณ ๑๕.๐๐-๑๖.๐๐ ตามแต่ระยะทางที่ผมต้องขับรถตระเวน ส่งนักเรียนเกือบ ๒๐ คน ถึงบ้าน

     นี่แหละครับเบื้องหลังชีวิตผม กับเด็กเพลงอีแซว

     ขณะแสดง มีท่านผู้ชายท่านหนึ่งยกนิ้วให้เด็กๆของผมบอกกับผมว่า เยี่ยม หลายครั้ง แล้วยุให้ผมทำซี ๙ เลยไอ้น้อง คุณผู้หญิงท่านหนึ่งคงเป็นครูแน่ เพราะเข้ามาถามผมว่า มีซีดีขายไหม จะซื้อไปฝึกเด็กๆเผอิญผมมีเฉพาะซีดีทีไปแข่งขันตามงานต่างๆแต่ไม่ได้นำมา

     เลยเกิดความคิดกับเด็กว่า..พวกเราน่าจะทำ...แต่พวกเราไม่เก่งเทคโนโลยีเหมือน อ.ชำเลือง ท่าน คงต้องไปปรึกษาท่าน

    เล่ามาเสียยาว คงได้ชมภาพแล้วนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #อีแซว
หมายเลขบันทึก: 105753เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2007 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 12:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ

ดูรูปแล้ว น่าสนุกและภูมิใจที่ทางสุพรรร ยังรักษาศิลปะพื้นบ้านไว้ได้อย่างเหนียวแน่นนะคะ

นักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่เป็น นักร้องลูกทุ่ง ไม่ว่าจะเป็น สุรพล สมบัติเจริญ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ก้าน แก้วสุพรรณ สังข์ทอง สีใส ศรเพชร ศรสุพรรณ สายัณห์ สัญญา ขวัญจิต ศรีประจันต์ พุ่งพวง ดวงจันทร์ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นชาวสุพรรณ  ที่นี่คือแดนเพลงนะคะ


เพลงอีแซว ถือเป็นเพลงพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรีเลย   และเป็นที่ยอมรับกันว่าเพลงนี้เกิดในถิ่นสุพรรณบุรีโดยตรง 

คำว่า "แซว" ที่ชอบพูดกัน ก็มาจากเพลงแซวนั่นเอง ใช่ไหมคะ

  • ขอบคุณครับคุณศศินันท์ที่แวะมาเยี่ยมบ่อยๆ
  • พ่อเพลงหลายคนก็บอกว่าเพราะฝ่ายชายและฝ่ายหญิงร้องแซวกันไปกันมา จึงได้ชื่อว่าเพลงอีแซว ผมก็ยังสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมไม่เรียกเพลงไอ้แซว
  • แต่คนไทยเราชอบเรียก "อี" นำหน้าคำหลายคำ
  • เช่น อีกา อีเก้ง อีเห็น มีดอีโต้ มีดอีดาบ เรืออีแปะ รถอีแต๋น ยังงี้ละมั้งครับ
  • ขอบคุณน้ำจิต ที่ติดตามกัน คุณศศินันท์ ผู้มีน้ำใจ
  • เรื่องศิลปะ วัฒนธรรม คุณค่าเลิศล้ำ ควรรักษาไว้
  • คุณศศินันท์ สร้างสรรค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนดู ความรู้ยิ่งใหญ่
  • น่าภาคภูมิใจ ในตัวของท่าน คุณศศินันท์ มองการณ์ไกล
  • ลูกหลานของเรา ควรเอาแบบอย่าง ยึดเป็นแนวทาง ของคนรุ่นใหม่
  • ใครอยากก้าวหน้า มาเรียนรู้กัน ป้าศศินันท์ ท่านบอกหลานได้

สวัสดีค่ะ  หนูขอเรียกอาจารย์พิสูจน์นะคะ

     หนูกับพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ม.นเรศวร (มน.) ได้มีโอกาสไปเที่ยวตลาดสามชุกเมื่อต้นเดือน พ.ค. ค่ะ แต่เสียดายวันนั้นไปถึงเย็นไปหน่อยเลยมีอะไรให้ชมน้อย และเสียดายที่ไม่ได้ชมกิจกรรมดีดีแบบที่อาจารย์ได้นำมาเล่าให้ฟัง  แต่พอจะเห็นภาพจากบันทึกนี้ค่ะ   ประทับใจในอัธยาศัยของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด  และอยากกลับไปอีกค่ะ <มุมพักผ่อน : ไหว้พระ (เกือบ) 9 วัด อยุธยา และท่องตลาดร้อยปี > 

  • ยินดีมากครับ วันนี้คนเก่งแห่งม.นเรศวร มาเยี่ยม
  • ที่สุพรรณเรายังมีสถานที่น่าเที่ยวอีกหลายแห่งว่างๆก็แวะมาเที่ยวอีกนะครับ อ.ตูน
  • เรียกอย่างนี้คงได้นะครับ
  • ส่วนผมเรียกได้ตามถนัด
  • แต่ผมพูดกับเด็กจะเรียกตัวเองว่าครูครับ
  • จะเรียกครูก็ดี อาจารย์ก็ได้เพราะผมเคยเป็นอาจารย์ ๒ ระดับ ๗
  • ขออย่างเดียวอย่าเรียก อาชาม หรืออากะละมังก็แล้วกัน

เมื่อไรจะมีโอกาสฟังหนอ  แล้วหลานจิไปร้องหรือเปล่าครับ อ.พิสูจน์

  • ขอบคุณ ลุงเอกครับ ....จำหลานจิไม่ได้....หรือครับ
  • ในรูป....รองสุดท้าย....นุ่งโจงกระเบสีฟ้า.....กำลังร้องกำลังรำเลยครับ

น่าชื่นชมน้องๆ ทุกคนที่ยังรักเพลงอีแซว 

และขอคาระวะ อ.พิสูจน์  ครูผู้สร้าง  ช่วยสืบสานอัตลักษณ์ความเป็นไท ความเป็นพื้นถิ่นของแผ่นดินแม่ให้คงอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท