เพียงยอมก่อน แต่ยังไม่ยอมแพ้


ความพยายามที่จะให้ สังคมจะลดอคติต่อเขาเหล่านี้ จะช่วยให้ครอบครัวกล้าเปิดเผยเขาออกมาสู่ที่คุมขังได้มากขึ้นด้วย

 ในการขับเคลื่อนงานคนพิการของจังหวัดพัทลุง ถึง ณ วันนี้ ได้เปลี่ยนมือไปให้ทีมงานเป็นพี่เลี้ยงคอยเป็นคุณอำนวยแทน เพื่อให้การช่วยเหลือเกื้อหนุนต่อ คือ คุณดวงใจ พี่ชุติมา และคุณสิรินาฎ ตลอดจนในเครือข่ายงานที่เป็นระบบราชการก็ได้ทีมงานจากพี่ ๆ น้อง ๆ ผู้รับผิดชอบงานของ รพ.ต่าง ๆ 10 คน และส่วนท้องถิ่นอีกหลายท่าน ลองนับดูคร่าว ๆ เฉพาะส่วน จนท.ที่มาร่วมทำงานก็กว่า 60 คน และเมื่อไปนับคนพิการที่ออกมาขับเคลื่อนเองในระดับต่าง ๆ ทั้งตำบล อำเภอ และจังหวัด ก็ปาเข้าไปอีกประมาณ 400 กว่าคน (จากคนพิการทั้งหมดคาดประมาณไว้ที่ 8,000 กว่าคน) นับว่าได้ผลเป็นที่น่าพึงใจ ไม่ใช่เพราะเห็นความสำเร็จ แต่เป็นเพราะเห็นทิศทางแห่งอนาคตมากกว่า

     ท่ามกลางความพึงใจที่ว่า ใช่ว่าเราจะสบายใจไปหมดทุกเรื่อง เพราะในบรรดาคนพิการทั้งหมด 5 ประเภท มีประเภทหนึ่งที่ตัวคนพิการเองหรือญาติ ออกมาร่วมกับขับเคลื่อน ร่วมรับรู้ และร่วมใช้ประโยชน์จากสิทธิ น้อยมากคือกลุ่มผู้ป่วยทางจิต ตรงนี้น่าเสียดายมาก และคาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าที่สังคมจะเข้าใจ ญาติจะเข้าใจ ในช่วงต้นนี้เราต้องใช้คำว่ายอมก่อน แต่ใช่จะยอมแพ้เสียเลย ส่วนสาเหตุใดบ้างที่ต้องยอม เพราะเมื่อผมได้ทำการสัมภาษณ์เจาะลึกในรายที่ยอมเปิดตัวและออกมาร่วมบ้างแล้ว หรือรายที่สนิทสนมกันกับผมจนเขาไว้วางใจ ก็ได้ข้อมูลมาคร่าว ๆ เช่น กลัวเขารังเกียจ กลัวจะไปทำร้ายคนอื่น กลัวว่าเขาเหมาว่าเป็นโหมํ (ทั้งบ้าน ทั้งตระกูล) ไม่อยากให้ใครมาแสดงความรู้สึกสงสาร เป็นต้น ส่วนคนนอกอีกก็มองแบบมีอคติ มองผู้ป่วยในแง่ไม่ดีว่า เป็นคนบ้า-ไม่เต็มบาท-ไม่ครบ-ไม่สมประกอบ น่ากลัว และเกรงว่าจะมาทำร้าย

     อาการทางจิตที่ว่าสำคัญมาก และสามารถรักษาได้ โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มต้น การกักขัง การเอาเขาซ่อนไว้แต่ในบ้าน ในห้อง หรือการล่ามโซ่ เป็นสิ่งที่พวกเราล้วนไปเจอกันมาแล้วทั้งนั้น มีประเด็นหนึ่งที่เราแทบไม่เชื่อมาก่อนคือ บุคคลในครอบครัวที่มีหน้ามีตาในสังคม มีฐานะดี จะปกปิดและกักขังผู้ป่วยเหล่านี้ไว้ มากกว่าชาวบ้านโดยทั่วไป หรือคนที่มีฐานะธรรมดา ๆ ความพยายามที่จะให้ สังคมจะลดอคติต่อเขาเหล่านี้ จะช่วยให้ครอบครัวกล้าเปิดเผยเขาออกมาสู่ที่คุมขังได้มากขึ้นด้วย เราต้องพยายามเข้าใจผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ให้การยอมรับและให้โอกาสแก่พวกเขากลับคืนสู่สังคม และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ เราต้องเชื่อก่อนตรงนี้ ตอนนี้เราจึงยอมก่อนแต่ไม่ได้ยอมแพ้ และประเด็นนี้ก็มีการพูดคุยกันเพื่อหาวิธีการกันอยู่อย่างเข้มข้น ใครมีอะไรดี ๆ อยากได้มาแบ่งปันกันบ้างนะครับ

หมายเลขบันทึก: 105748เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2007 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนปกติรอบๆตัวคนป่วยก็สำคัญจริงๆค่ะ เพราะปัจจัยนี้แหละสำคัญที่สุด การนำเรื่องราวมาเล่าแบบไม่ต้องเปิดเผยตัวตนจนเกินไปนัก ให้เขามีทางปลดปล่อยแบบที่ตัวเองเป็น เช่นด้วยการเขียน ก็อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งนะคะ เคยอ่านพบและเขียนเป็นบทความว่าการเขียนเป็นการบำบัดอาการทางจิตได้ชะงัดอย่างหนึ่งเหมือนกัน

เป็นกำลังใจให้คนทำงานทุกคนค่ะ พลังของทุกท่านนี่แหละที่เป็นฟันเฟืองเล็กๆที่มีค่ามากในการขับเคลื่อนสังคม

เรียน พี่โอ๋

     ใช่เลยครับ ผมไปร่วมงานมหกรรมงานคนพิการที่ สปสช.ส่วนกลางจัดปีนี้ ก็ได้เห็นผู้ป่วยโรคจิตที่บำบัดไปได้ระยะหนึ่งแล้วมาออกงานวาดภาพเหมือนลายเส้นด้วยดินสอ สวยมากเลยครับ เร็วด้วย คิวยาวมาก ผมรอไม่ได้เพราะจัดบูธด้วย เลยพลาดโอกาสไป สอบถามจากคุณหมอที่มาจัดกิจกรรม ท่านบอกว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่เขาค้นพบตัวเอง และใช้บำบัดจากข้างใน แทนการใช้ยาทั้งหมดครับ 

สวัสดีครับ
     เหนื่อยแทน แต่ก็สุขใจแทนด้วยเหมือนกัน เพราะภูเขาที่อยู่เบื้องหน้า ยากนักที่จะทลายลงให้ราบเรียบได้ .. แต่ทีละน้อย ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ที่ว่ายากก็จะง่ายขึ้นครับ 
    ตราบใดที่หัวใจคนทำงานยังมี รัก เมตตา ปรารถนาดี อยู่เต็มใจ  ทุกอย่างจะขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จจนได้ล่ะครับ.

อาจารย์พี่ Handy

     ขอบคุณนะครับ สำหรับกำลังใจ มอบต่อไว้แด่ทีมงานนะครับ ตอนนี้ผมมอบทีมงานเดินเรื่องต่อ 100% แล้วครับ ผมจะเพียงเอื้อหนุนครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท