นำชม พระธาตุอินทร์แขวน(พม่า) ตอน ๒


ชีวิตคนพม่าบวชกันอย่างน้อย 3 ครั้ง... ครั้งแรกบวชเณร ครั้งต่อไปบวชพระอีกอย่างน้อย 2 รอบ

อาจารย์กวาง ไกด์ไทยใหญ่บอกว่า ชีวิตคนพม่าบวชกันอย่างน้อย 3 ครั้ง... ครั้งแรกบวชเณร ครั้งต่อไปบวชพระอีกอย่างน้อย 2 รอบ

ลูกทัวร์ท่านหนึ่งเลยถามว่า คุณกวางบวชมากี่ครั้งแล้ว "3 ครั้งแล้วครับ" ท่านตอบชัดถ้อยชัดคำ

ภาพที่ 1: "ผู้ชายพม่าบวชอย่างน้อย 3 ครั้ง"

หัวลูกหาบคงจะรับรองคำกล่าวของอาจารย์กวาง ไกด์ไทยใหญ่ได้ดีทีเดียว

คนโกนหัวทางขวาดูจะเป็นคนรอบคอบมากๆ ท่านนับจำนวนผู้โดยสารหลายรอบทีเดียว

ทางพม่าควบคุมจำนวนผู้โดยสารบนรถไม่ให้มากเกิน เพราะมีรถบรรทุกนักท่องเที่ยวตกเขามาแล้ว กล่าวกันว่า ทางพม่าต้องจ่ายเงินชดใช้ไปหลายจัต (kyat) ทีเดียว

ตอนหลังเลยห้ามนักท่องเที่ยวขึ้นรถไปถึงใกล้ลานพระธาตุ... ให้ขึ้นรถครึ่งชั่วโมง นั่งเสลี่ยงหรือเดินครึ่งชั่วโมง

วิธีนี้ปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย ช่วยให้ชาวบ้านมีงานทำด้วย คิดแบบนี้ดีจัง... สาธุ สาธุ สาธุ

การตรวจนับจำนวนผู้โดยสารไม่ให้มากเกินไปในทุกเที่ยวรถมีส่วนช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากการบรรทุกมากเกินได้ดีมาก เรื่องนี้น่าชมเชยจริงๆ... สาธุ สาธุ สาธุ

ภาพที่ 2: "มีหมวกมาขาย"

คณะของเราไปถึงตอนเย็น... 5 โมงแล้ว แดดร่มลมตก เลยไม่มีใครซื้อหมวดคุณป้าสักคน

สังเวควัตถุ หรือเรื่องควรพิจารณาเพื่อความสังเวช(สลดในธรรม หรือเป็นเครื่องยังให้เกิดความเพียร)มีหลายข้อ ข้อหนึ่งคือ ควรพิจาณาทุกข์ในการแสวงหาอาหาร

สัตว์โลกมีความลำบากในการแสวงหาอาหาร... คุณป้าจากพวกเราไปโดยไม่ได้สตางค์สัก "จัต (kyat)" เลย นี่ก็เป็นความทุกข์อีกแบบหนึ่ง...

ภาพที่ 3: "คุณป้าหัวร่อ"

คนพม่าเชื่อในเรื่องความสงบเสงี่ยมของผู้หญิง... ถ้าคนพม่าหัวโบราณมาเห็นคุณป้าในกลุ่มเราหัวร่อคงจะตกใจไม่น้อยทีเดียว

ภาพที่ 4: "ไกด์ไทยใหญ่"

ก่อนกลับคุณป้าท่านหนึ่งบอกว่า มาหลายวัน ไม่เห็นสาวพม่าสวยๆ เลย

ความจริง "ผิวพม่า นัยน์ตาแขก" ยังเป็นคำกล่าวที่ใช้การได้ดี ทว่า... คงจะถูกรัศมีของคุณฟองนวลกลบไปหมด

คุณฟองนวล(ทางขวามือ)เรียนฟิสิกส์ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเชียงรุ้ง หางานฟิสิกส์ทำไม่ได้ เลยทำงานเป็นไกด์แทน ท่านยิ้มเก่งครับ ถ้าพูดให้มากหน่อย คงจะดีกับอาชีพไกด์มากขึ้นแยะเลย...

ภาพที่ 5: "เรี่ยไร..."

เขาเรี่ยไรไปทำอะไรกัน... ผู้เขียนถามคุณฟองนวล "เขานำไปใช้สร้างถนน" คุณฟองนวลว่าอย่างนั้น

ภาพที่ 6: "นี่ก็เรี่ยไร"

แต่งชุดโสร่งแดงแบบนี้อาจจะเป็นคนเชื้อสายมอญ... กล่าวกันว่า คนมอญชอบนุ่งโสร่งแดง

แผ่นดินพม่านั้น... เดิมคนมอญอยู่มาก่อน และพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมรมาก่อน

ท่านพระอาจารย์อาคม ซึ่งมีประสบการณ์ศึกษาเล่าเรียนในมัณฑเลย์(เมืองหลวงเก่า ตอนกลางพม่า) และมอลัมยาย(เมืองที่มีคนมอญอยู่มาก) พูดและอ่านได้ทั้งพม่าและมอญกล่าวว่า

พระเขมรท่านไปเรียนที่พม่า ได้ยินเสียงคนมอญพูดกัน เล่าว่า คำนี้ก็คล้ายเขมร คำนั้นก็คล้ายเขมร

แผ่นดินตอนกลาง-ตอนใต้ของพม่า และแผ่นดินไทยเรานี้... เดิมมีคนกลุ่มมอญ-เขมรสร้างบ้านสร้างเมืองมาก่อน

ต่อมามีคนพม่าเข้ามาแถบศรีเกษตร(เมืองแปร) เป็นกลุ่ม "พยู (pyu)" และกลุ่ม "เมี่ยน(อาจเป็นที่มาของชื่อ "เมียนม่าร์ (myanmar)" หรือชาวพม่าในปัจจุบัน)

ข้อมูลทางด้านภาษาศาสตร์พบว่า ภาษาพม่าเป็นภาษาตระกูลเดียวกับธิเบต ท่านพระอาจารย์อาคมกล่าวว่า เวลานับเลข "ติ๊-นิ-ตง-เล-งา (1-2-3-4-5)" เหมือนกันเลย

คนพม่าน่าจะอพยพมาจากธิเบต เพราะมีโครงสร้างกระดูกใหญ่ ถ้าไม่ขาดอาหาร... คนพม่าจะมีรูปร่างสูงใหญ่คล้ายคนธิเบต และสูงกว่าคนมอญ-คนไทยใหญ่-คนไทย

ทีนี้คนพม่าเองไม่เชื่ออย่างนั้น... ถ้าเราไปบอกคนพม่าแท้ๆ ว่า พม่ามาจากธิเบต ท่านจะโกรธมาก

ปี 2548 ผู้เขียนมีโอกาสไปมัณฑเลย์พร้อมกับท่านผู้การฐนัส และท่านอาจารย์วิเชียร... พนักงานโรงแรมหงษ์เงิน (Silver Swan) โกรธมากที่ได้ยินว่า ภาษาพม่าคล้ายธิเบต

ท่าน(พนักงานโรงแรม)บอกว่า ภาษาพม่าต้องมาจาก "บาลี" เรื่องนี้สอดคล้องกับคำพูดของท่านพระภิกษุชาวพม่ารูปหนึ่ง

ท่านบอกว่า คนพม่าเชื่อว่า คนพม่ามีเชื้อสายศากยะ(เชื้อสายพระพุทธเจ้า) อพยพมาจากตอนเหนือของอินเดีย เพลงพม่าก็ว่าไว้อย่างนั้น (พงศาวดารเก่าของพม่ากล่าวไว้เช่นกัน)

เรื่องนี้ท่านพระอาจารย์มหาประสงค์จากโคราชกล่าวไว้ดีมากๆ ท่านกล่าวว่า "ศากยวงศ์เป็นวงศ์ที่ไม่ทำปาณาติบาต (ไม่ฆ่าสัตว์ และไม่เบียดเบียนสัตว์)"

ถ้าใครปรารถนาความเป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้าก็ไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรเบียดเบียนสัตว์ (ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ไม่มีเท้า สัตว์ 2 เท้า สัตว์ 4 เท้า หรือสัตว์มีเท้ามาก)

เมื่ออาณาจักรพม่าเติบโต เข้มแข็งขึ้น... มอญก็ถูกผลักจากบริเวณรอบๆ เมืองย่างกุ้งลงด้านล่างไปใกล้ชายแดนไทยเรื่อยๆ

อาจารย์กวางบอกว่า คนมอญประมาณ 1 ใน 3 ถูกกวาดต้อนขึ้นเหนือไปพุกาม (Pagan) เกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมเป็นวัฒนธรรมหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนพม่ารับศิลปวัฒนธรรมมาจากมอญ...

สงครามพม่า-มอญยืดเยื้อประมาณ 500 ปีเศษ ต่อมาคนมอญประมาณ 1 ใน 3 อพยพเข้าไทย และทุกวันนี้คนมอญที่มีญาติอยู่ในเมืองไทยก็อพยพเข้าไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนคนมอญในพม่าทุกวันนี้มีแนวโน้มจะลดลงไปเรื่อยๆ...

ผู้เขียนเองก็มีคุณป้าเชื้อสายมอญ (คุณป้าสว่าง จิตต์สมบูรณ์ - ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ซึ่งขอให้ท่านและญาติทั้งหลายได้รับส่วนแห่งบุญทั้งหมดที่ผู้เขียนได้ทำแล้ว ทำอยู่ และจะทำต่อไปด้วย

พวกเราได้ยินได้ฟังเรื่องคนมอญ "(ถอย)ร่นแผ่นดิน" ไปทางตะวันตกเฉียงใต้แล้ว ถ้านำใจเขามาใส่ใจเรา... เมื่อคนไทยสร้างบ้านสร้างเมืองเข้มแข็งขึ้น คนเขมรเองก็ "(ถอย)ร่นแผ่นดิน" จากตอนกลางของไทยไปทางตะวันออกเช่นกัน

สมบัติหรือวัตถุกามในโลกเป็นของชั่วคราว "สมบัติผลัดกันชม" เป็นเช่นนี้เรื่อยมา...

อาจารย์แพทย์มอญท่านหนึ่งทำการศึกษาประวัติศาสตร์มอญ ท่านพบว่า คนมอญแต่เดิมนุ่งโสร่งแดง มีลวดลายหลายอย่างเป็นแบบมอญแท้ๆ ท่านจึงรณรงค์ให้คนมอญนุ่งโสร่งแดง เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของชาติมอญไว้

ผู้เขียนก็นุ่งโสร่งสีน้ำตาลออกแดงขึ้นไปเหมือนกัน เพื่อให้เกียรติชาวมอญที่สร้างพระธาตุอินทร์แขวน

ภาพที่ 7: "ลุงเฮ ป้าฮา"

ลูกทัวร์ในคณะของเราดูจะยิ้มแย้มแจ่มใสกันดี... คนสวมเสื้อขาวคือ อาจารย์กวาง ไกด์ไทยใหญ่ (ภาษาพม่าเขียนว่า "สยาม" ออกเสียงเป็น "ฉาน" หรือ "ชาน")

ภาพที่ 8:

สภาพบนรถบรรทุก... กำลังพอดี ไม่แออัด อากาศร่มรื่นตลอดทาง กล่าวกันว่า ถ้าใจถึงจะเดินขึ้นก็ได้ "7 ชั่วโมง"

ถ้านั่งรถใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง นั่งเสลี่ยงหรือเดินต่ออีกครึ่งชั่วโมง (คนเสื้อขาวคือ อาจารย์กวาง ไกด์ไทยใหญ่ ดูลักษณะและความสามารถแล้ว อีกไม่นานคงมีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการครับ...)

โปรดคลิกที่นี่...                                               

  • โปรดคลิกที่นี่ เพื่ออ่านตอนที่ 1
  • [ Click - Click ]
  • โปรดคลิกที่นี่ เพื่ออ่านตอนที่ 3
  • [ Click - Click ]
  • ตำนานพระธาตุอินทร์แขวน / ไจ้ก์ทิโย จากสารานุกรมวิกิพีเดีย ภาคภาษาไทย
  • [ Click - Click ]
  • เรื่อง "ไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวน" จากศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • http://www.myanmar.nu.ac.th/

แหล่งที่มา...

  • ขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์องค์ บรรจุน. ต้นทางจากมะละแหม่ง. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง (www.amarinpocketbook.com). พิมพ์ครั้งที่ 1. 2549.
  • ขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช. พม่าเสียเมือง. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ (www.nanmeebooks.com).  พิมพ์ครั้งที่ 1. 2548.
  • ขอบพระคุณ > เว็บไซต์มอญศึกษา > http://www.monstudies.com/ > 23 มิถุนายน 2550.
  • ขอบพระคุณ > มอญ > ศาสนพิธีและพิธีกรรม > http://www.samutsakhon.go.th/mis/tour/piti04.htm > 23 มิถุนายน 2550.
  • ขอบพระคุณ > เรื่องพระธาตุอินทร์แขวน / ไจ้ก์ทิโย > วิกิพีเดียภาคภาษาไทย > [ Click - Click ]
  • ขอบพระคุณ > เว็บไซต์มอญศึกษา > http://www.monstudies.com/ > 23 มิถุนายน 2550.
  • ขอบพระคุณ > มอญ > ศาสนพิธีและพิธีกรรม > http://www.samutsakhon.go.th/mis/tour/piti04.htm > 23 มิถุนายน 2550.
  • ขอบพระคุณ > ท่านรองศาสตราจารย์อรนุช นิยมธรรม > ไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวน > ศูนย์พม่าศึกษา > http://www.myanmar.nu.ac.th/ > 21 มิถุนายน 2550.
  • ขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์พงศกร เบ็ญจขันธ์ > มอญ: ชนชาติเจ้าของอารยธรรมอันเก่าแก่ในพม่า > ศูนย์พม่าศึกษา > http://gotoknow.org/blog/mscb/15498 > 23 มิถุนายน 2550.
  • ขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์องค์ บรรจุน. ต้นทางจามะละแหม่ง. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง (www.amarinpocketbook.com). พิมพ์ครั้งที่ 1. 2549. 
  • ขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช. พม่าเสียเมือง. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ (www.nanmeebooks.com).  พิมพ์ครั้งที่ 1. 2548.
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์สามารถ ปราบกรี ([email protected]) >  15-18 มิถุนายน 2550.
  • ขอบพระคุณอาจารย์กวาง และคุณฟองนวล ไกด์ไทยใหญ่ > [email protected] > 15-18 มิถุนายน 2550.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 21 มิถุนายน 2550.
หมายเลขบันทึก: 105230เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2007 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท