นำชม พระธาตุอินทร์แขวน(พม่า) ตอน ๓


ภาษาพม่านี่... คนส่วนใหญ่มักจะกล่าวว่า ยากกว่าภาษาไทย เพราะเขียนอย่างหนึ่ง ออกเสียงไปอีกอีกอย่าง และความหมายไปอีกอย่างเช่นกัน

ภาพที่ 1: "เจ้าที่ตัวจริง"...

คนเสื้อแดงเป็นคนขับรถที่เก่งมากๆ ฝีมือการขับขึ้นเขานิ่งมากเกินตัว คนที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ด่าน ซึ่งจะควบคุมวิทยุสื่อสาร ป้องกันรถใหญ่แล่นสวนกันในที่ชัน

ระบบรถขึ้นลงพระธาตุอินทร์แขวนเป็นระบบที่ดีมาก มีการส่งวิทยุบอกว่า รถบรรทุกจะขึ้นจะลงล่วงหน้า มีการตรวจนับจำนวนผู้โดยสาร ไม่ให้มากเกินไปในแต่ละเที่ยว... เรียกว่า ปลอดภัยมากกว่าที่คิดไว้มากทีเดียว

ท่านเหล่านี้ทำหน้าที่ได้ดี ทำให้ลูกทัวร์ในคณะของเราเบาใจได้ การที่ท่านเหล่านี้จะได้เงินทิปไปบ้างก็สมควรแล้ว เพราะรายได้ท่านคงจะน้อย

ผู้เขียนก็เบาใจเหมือนกัน เพราะวันนี้สมาทานไตรสรณคมน์(ขอเข้าถึงพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง) ศีล สวดมนต์ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย สวดพระปริตร และอุทิศส่วนกุศลไปแล้ว

เรียนเสนอให้พวกเราสมาทานไตรสรณคมน์ สวดมนต์ สวดพระปริตร และสมาทานศีลกันทุกเช้าทุกเย็น... ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่าครับ

ภาพที่ 2: "ภาษาพม่าคำนี้... ไม่ยาก"

ภาษาพม่านี่... คนส่วนใหญ่มักจะกล่าวว่า ยากกว่าภาษาไทย เพราะเขียนอย่างหนึ่ง ออกเสียงไปอีกอีกอย่าง และความหมายไปอีกอย่างเช่นกัน

มีคำพม่า 2 คำที่ดูแล้วเดาได้เลย คือ คำว่า "ผู้หญิง" กับ "ผู้ชาย"... คำ 2 คำนี้จะเขียนติดไว้หน้าห้องน้ำ

ค่าเข้าห้องน้ำที่นี่ไม่แพง... คนละ 200 จัต (ประมาณ 7 บาท) คิดเสียว่า กระเบื้องแต่ละแผ่น อิฐแต่ละก้อนขนจากข้างล่าง นำจากข้างล่าง แบกขึ้นเขามาทั้งนั้น  

คำนี้(เป็นตัวอักษร 1 ตัว) กำหนดให้แปลว่า "ผู้หญิง" ครับ... (โปรดดูจากภาพ และรอเทียบกับคำ "ผู้ชาย" ดูต่อไป)

ภาพที่ 3: "น้ำตกข้างทาง"...

ทางขึ้นพระธาตุอินทร์แขวนมีถนนดีมาก ใช้เวลาขึ้นรถไปครึ่งชั่วโมง เดินอีกครึ่งชั่วโมง พอเหนื่อยพอดี

กล่าวกันว่า ถ้าใจถึงจะเดินก็ได้... 7 ชั่วโมง ด้านข้างทางมีต้นไม้ร่มรื่น มีน้ำตกและลำธารหลายแห่งดังในภาพ

ภาพที่ 4: "ภาษาพม่า... คำนี้ไม่ยาก"

ภาษาพม่าที่ง่ายหน่อยคำที่สองคือคำว่า "ผู้ชาย" ดูแล้วเดาได้เลยครับ (โปรดดูจากภาพ)

ภาพที่ 5: "คุณฟองนวลกับลูกหาบ"

คุณฟองนวล ไกด์ไทยใหญ่ยืนอยู่ท่ามกลางลูกหาบชาวพม่า ระบบลูกหาบที่นั่นมีสัมปทาน มีการประมูลกันอย่างเป็นระบบ

ค่าเสลี่ยงขึ้นเขาที่ความชันประมาณ 20-40 องศา ลูกทัวร์ครึ่งนั่งครึ่งนอนบนเก้าอี้ผ้าใบอย่างดี อีก 4 คนแบกสวนแรงดึงดูดโลกขึ้นไป และลงมาอีกรอบคิด 730 บาท

ทีมลูกหาบ 4 คนจะต้องใส่เสื้อของคนที่ประมูลสัมปทานได้ เป็นเสื้อสีน้ำเงินเข้มสด และมีหมายเลขทีมไว้ให้ลูกทัวร์ เพื่อเป็นหลักประกันว่า ทุกคนในทีมต้องรักษากฏ กติกา มารยาท... ทำอย่างกับนักกอล์ฟชั้นดีเลย

กฏ กติกา มารยาททั่วๆ ไปได้แก่ ต้องส่งให้ถึงจุดที่กำหนด พักได้... ถ้าได้ลูกทัวร์ตัวเบาหน่อย เช่น คนไทยที่ไม่อ้วน ฯลฯ ลูกหาบคงจะดีใจ

ถ้าได้ลูกทัวร์ตัวยักษ์ เช่น ฝรั่งอ้วน ฯลฯ ผู้เขียนนึกแล้วสยองแทนเลย เพราะทางขึ้นชันมากกว่าภูกระดึงมาก

ถ้าเรามีโอกาสใช้บริการ... เรียนเสนอให้ทิปเขาไปบ้าง คิดเสียว่า เมตตากรุณากันไว้ ให้เขามีรายได้เลี้ยงครอบครัวบ้างก็ยังดี

ท่านอาจารย์สามารถได้ข้อมูลมาจากไกด์ว่า เขาแบ่งกันแบบนี้ครับ...

  • ลูกหาบ 4 คน ได้ไปคนละ 17% > คนละ 124.10 บาท
  • เจ้าของสัมปทานได้ไป 233.60 บาท

ภาพที่ 6: "ถ่ายภาพหลวงพี่หน่อย"...

ทัวร์นี้มีคนใจดีออกค่าเสลี่ยงถวายพระทุกรูป เข้าใจว่า เป็นบริษัทเอเยนต์ของพม่าออกให้... ขออนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุหน่อย ลูกหาบดูจะพยายามบริการให้ดีที่สุด เช่น ถ่ายภาพให้ลูกทัวร์ ฯลฯ (ดังในภาพ)

ส่วนพระจะนั่งเสลี่ยง หรือยานที่มีสัตว์ลากไปได้หรือไม่ คงต้องตรวจสอบ เทียบเคียงกับพระวินัย อรรถกถา และฎีกาต่อไป (ขอไม่กล่าวถึงครับ)

ระบบลูกหาบที่นี่แบ่งเป็นชุดหรือทีม ลูกทัวร์จะได้หมายเลขไว้ ถ้าลูกหาบมีความประพฤติอะไรไม่ดี บอกหัวหน้าเขาได้

ข่าวว่า มีการคาดโทษ และลงโทษกันด้วย... ผู้เขียนขอเรียนเสนอว่า ถ้าไม่หนักหนาจริงๆ มาทำบุญกันก็ให้อภัยเป็นทานเถอะครับ รายได้เขาไม่มากมายอะไรเลย

ภาพที่ 7: "เตะตะกร้อกลางหมอก"...

ชาวบ้านข้างบนเตะตะกร้อกันกลางหมอก... พม่าเป็น 1 ในมหาอำนาจด้านตะกร้อของโลก กล่าวกันว่า คนพม่าเล่นตะกร้อเก่งมาก ไม่แพ้มาเลเซียและไทยทีเดียว

ภาพที่ 8: "แผงขายหมาก"...

แม่ค้าขายหมากยิ้มแย้มทันทีที่เห็นลูกหาบขึ้นไป... ลูกหาบหลายคนปากแดง ฟันแดง เหงือกแดง ดูน่ากลัวนิดหน่อย เพราะเขานิยมกินหมากกัน

ผู้เขียนคิดว่า ถ้าลูกหาบปรับปรุงตัวหน่อย เช่น บ้วนปากให้เรียบร้อย อย่าให้ปากแดง ฟันแดง เหงือกแดง ซึ่งอาจดูน่ากลัว ฯลฯ

หัดพูดภาษาไทยหน่อย เช่น สวัสดีครับ ขอบคุณครับ ฯลฯ หัดยิ้ม (ฝืนยิ้มก็ยังดีกว่าไม่ยิ้ม) และถ้าจะให้ดีกว่านั้น... ยอมฝืนธรรมเนียมพม่าที่จะไม่ไหว้คนอื่นชั่วคราว ไหว้ลูกทัวร์เสียหน่อย

ถ้าอยากให้ลูกค้าให้ทิปจริงๆ ก็ยกมือไหว้เสียหน่อย และพูดไทยสักคำสองคำ เช่น "ช่วยผมหน่อยครับ" ฯลฯ

รับรองว่า จะได้ทิปเพิ่มขึ้นเพียบเลย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ใจดีโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

ผู้เขียนสนับสนุนให้พวกเราทิปลูกหาบไปบ้าง เพราะแบกเสลี่ยงขึ้นลงที่ชันขนาดนี้ เที่ยวละครึ่งชั่วโมง ลองคิดดูว่าใครได้ไปเท่าไหร่...

  • ลูกหาบได้ไป 4 คน คนละ 17% = 124 บาท 10 สตางค์
  • เจ้าของสัมปทานได้ไป 32% = 233 บาท 60 สตางค์

ทำบุญกับคนตกทุกข์ได้ยาก... ชีวิตคนเราเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์มีขึ้นมีลง บางทีสูงส่ง บางทีตกต่ำ

ชาติไหนที่เราตกต่ำ ต้องทำงานหนักเช่นนี้ ผลบุญคงจะตามให้ผล เกื้อกูลให้หาเลี่ยงชีวิตได้โดยไม่ลำบากนัก

ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ว่า จะสรรเสริญ หรือยกย่องการตั้งความปรารถนาอะไรในชาติหน้า... ธรรมดาการทำบุญควรตั้งความปรารถนาเพื่อมรรค ผล นิพพานจึงจะดีที่สุด

ทว่า... แม้จะไม่ได้ตั้งความปรารถนาเพื่อสุขในชาติหน้า ถ้าทำดีก็ย่อมได้รับผลดีแน่นอนไม่เร็วก็ช้า

ลองมาดูอานิสงส์ของทานบ้าง... ทานย่อมให้อานิสงส์ 5 ประการคือ อายุ(อายุยืน) วรรณะ(ผิวพรรณดี) สุขะ(มีความสุข) พละ(มีแรง มีกำลัง) และปฏิภาณ(ฉลาด มีสติปัญญาดี)

อานิสงส์(กำไร)ของการให้ทานมีดังต่อไปนี้...

  • ให้สัตว์เดรัจฉาน 500 ชาติ (นับอานิสงส์ 5 ข้อ คูณด้วย 100 ชาติ จึงสงเคราะห์เป็น 500 ชาติ)
  • ให้คนทุศีล (คนเลว ไม่มีศีล) 1,000 ชาติ
  • ให้คนมีศีล นอกพระพุทธศาสนา 100,000 ชาติ
  • ให้คนได้ฌานสมาบัติ นอกพระพุทธศาสนา 1 ล้านล้านชาติ (แสนโกฏิ)
  • ให้ผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระโสดาบันขึ้นไป (ถึงไตรสรณคมน์ หรือพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์อย่างมั่นคง) อานิสงส์นับชาติไม่ได้ (infinite)

 

ลูกหาบเหล่านี้นับถือพระพุทธศาสนาทุกท่าน หรือเกือบทุกท่าน... ดูหัวเพิ่งโกนบวชมาหลายท่านทีเดียว

ถ้าท่านเหล่านี้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างมั่นคง... การให้ทานของเราก็สงเคราะห์เข้าข้อที่ให้กับผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระโสดาบันขึ้นไปได้

หรือถ้าคิดตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า เมตตามีผลมากมีอานิสงส์มาก และให้ไปโดยมนสิการ(คิด)ว่า ขอผู้รับและญาติทั้งหลายพึงมีความสุข

การให้ที่มีเมตตาเป็นปุเรจาริก (นำไปข้างหน้าก่อนให้ทาน) ทานนี้ก็มีผลมากมีอานิสงส์มากมหาศาลเช่นกัน

หรือถ้าคิดว่า เราจักให้ทานนี้ถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อบูชาความตรัสรู้ดี และการบำเพ็ญพุทธกิจดีของพระพุทธเจ้า ขอถวายบุญนี้สักการะบูชาพระธาตุของพระพุทธเจ้า

คิดให้ดี... มีพุทธานุสสติ (พระคุณของพระพุทธเจ้า) เป็นปุเรจาริก (นำไปข้างหน้าก่อนให้ทาน) ทานนี้ก็มีผลมากมีอานิสงส์มากเช่นกัน

ถึงตรงนี้... ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านผู้อ่านทุกท่านครับ... สาธุ สาธุ สาธุ

ทีนี้เราจะเดินขึ้นไปเอง หรือจะจ้างลูกหาบดี... มีข้อคิดต่างกันแบบนี้ ผู้เขียนขอนำข้อคิดดีๆ มาฝากครับ

อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า ประหยัดไว้ละดี ถ้าเราประหยัดได้ 730 บาทเท่ากับเราหาเงินได้ 730 บาท อันนี้คงจะถูกแน่นอน แถมยังได้ออกกำลังไปในตัวด้วย

สหายธรรมท่านหนึ่งถามผู้เขียนว่า ค่าจ้างเสลี่ยงตกคนละเท่าไหร่ ลูกหาบได้ไปเท่าไหร่

พอท่านรู้ว่า ผู้เขียนไม่ได้นั่งเสลี่ยง ท่านเลยต่อว่า นิดหน่อยว่า ทำไมไม่นั่งไปโดยคิดว่า เราจักนั่งเพื่ออนุเคราะห์(ให้เขามีรายได้)

ข้อคิดนี้ก็ถูกต้องเช่นกัน เพราะคนเราควรมีจิตกรุณา ปรารถนาให้สัตว์อื่นบรรเทาทุกข์จากความยากจน หรือไม่มีรายได้

ผู้เขียนคิดว่า ถ้าใครมีใจใหญ่จริงๆ คิดจะอนุเคราะห์ลูกหาบด้วย ต้องการออกกำลังด้วยคงจะต้องเหมาเสลี่ยงไปแบบ "พอเป็นพิธี"

กล่าวคือ ให้เขาแบกไปสัก 4-6 ก้าว แล้วขอลง เดินไป ให้เขาแบกกระเป๋านิดหน่อยพอเป็นพิธี

พอถึงที่แล้วก็ให้ค่าทิปบ้าง ให้ค่าเสลี่ยง(จ่ายที่ไกด์) แบบนี้คงจะได้ออกกำลังด้วย ได้บุญด้วย

ผู้เขียนอยากรู้ว่า ลูกหาบแบกคนนี่หนักขนาดไหน... พอดีมีคุณป้าท่านหนึ่งเข่าไม่ดี ท่านเหมาจากโรงแรมไจ้ท์โถ่ไปลานพระธาตุอินทร์แขวน

ทางตรงนั้นค่อนข้างราบ เป็นทางลง ความชันไม่น่าจะเกิน 10-20 องศา ผู้เขียนขอให้ไกด์บอกลูกหาบว่า อยากลองแบกดูว่า หนักกี่มากน้อย

ปรากฏว่า แบกได้สัก 6 ก้าว 8 ก้าวก็รู้ว่า ท่าจะไม่ไหว ขืนแบกต่อไปคงเจ็บไหล่ไปหลายวัน ดีไม่ดีถ่ายภาพไม่ได้ หรือมือสั่นจนถ่ายภาพไม่ได้ เลยขอเลิก

เราอาจจะคิดว่า การแบกคนขึ้นลงเขา แบกขึ้นครึ่งชั่วโมง แบกลงครึ่งชั่วโมง ได้ค่าจ้าง 124 บาท 10 สตางค์นี่มากสำหรับลูกหาบ

เรื่องนี้อาจารย์กวางท่านบอกว่า ไม่มากหรอก... เพราะเงินพม่า (จัต / kyat) ถูก ทำให้ดูว่า เขาได้สตางค์ไปหลายพันจัตก็จริง ทว่า... "เงินถูก ของไม่ได้ถูกตาม"

ก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งในพม่าปกติก็ 1,000 จัตขึ้นไป (ประมาณ 37 บาท) เพราะฉะนั้นการที่เราช่วยให้ลูกหาบมีรายได้นี่... ขอให้คิดว่า ทำบุญทำกุศล และนำบุญนี้ไปกราบถวายบูชาพระธาตุอินทร์แขวนไว้ก่อนน่าจะดี

ปกติเราจะนำดอกไม้ ธูปเทียน ของหอมไปบูชาพระธาตุก็ได้ นั่นเป็นการบูชาสิ่งที่เลิศ (พระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์) ทว่า... การนำบุญขึ้นไปบูชาย่อมมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า

ผู้เขียนอาศัยทำบุญคราวละเล็กละน้อย ก่อนทำจะนึกว่า ขอถวายบุญนี้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บูชาการบำเพ็ญบารมีอย่างเลิศ บูชาการตรัสรู้อย่างเลิศ บูชาการบำเพ็ญพุทธกิจอย่างเลิศของพระพุทธเจ้า

ขอถวายบุญนี้บูชาพระธรรม บูชาความเป็นธรรมดี เป็นนิยยานิกธรรม หรือนำสัตว์ออกจากสังสารวัฏฏ์ของพระธรรม

ขอถวายบุญนี้บูชาพระสงฆ์(หมายถึงพระอริยบุคคล ไม่ใช่พระภิกษุ) ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เป็นนาบุญอันเลิศไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

ไปกราบพระธาตุอินทร์แขวนครั้งนี้ ผู้เขียนขอถวายเลือดที่บริจาคไว้เป็นพุทธบูชา ก่อนไปก็แวะคลังเลือดโรงพยาบาลย่างกุ้ง นำพลาสเตอร์ยา 500 แผ่น เงินนิดหน่อย (27,500 จัต) ไปบริจาคที่นั่น

การบริจาคเลือดของผู้เขียนมีครั้งหนึ่งพิเศษมาก เพราะมีโอกาสถวายการสอนเรื่อง "โกฏฐาส (อาการ 32)" คณะสงฆ์มาก่อน

ตอนนั้นไม่มีเลือดตัวอย่างไปใช้ประกอบการอธิบาย เลยขอให้คนอื่นเจาะเลือดตัวเองใส่หลอดไปประกอบการสอน เพื่อเทียบเคียงกับอรรถกถา(คำอธิบายพระไตรปิฎก)

บุญทุกอย่างที่ผู้เขียนได้ทำมา ทำอยู่ และจะทำต่อไป... ขอท่านผู้อ่านมีส่วนแห่งบุญทั้งหมดนี้ด้วยครับ

โปรดคลิกที่นี่...                                                

<ul>

  • โปรดคลิกที่นี่ เพื่ออ่านตอนที่ 4
  • [ Click - Click ]
  • โปรดคลิกที่นี่ เพื่ออ่านตั้งแต่ตอนแรก (ตอนที่ 1)
  • [ Click - Click ]
  • ตำนานพระธาตุอินทร์แขวน / ไจ้ก์ทิโย จากสารานุกรมวิกิพีเดีย ภาคภาษาไทย
  • [ Click - Click ]
  • เรื่องพระธาตุอินทร์แขวน "ไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวน" ศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • http://www.myanmar.nu.ac.th/ > วัฒนธรรม 
  • </ul>

    แหล่งที่มา...                                                    

    • ขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์องค์ บรรจุน. ต้นทางจามะละแหม่ง. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง (www.amarinpocketbook.com). พิมพ์ครั้งที่ 1. 2549. 
    • ขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช. พม่าเสียเมือง. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ (www.nanmeebooks.com).  พิมพ์ครั้งที่ 1. 2548.
    • ขอบพระคุณ > เว็บไซต์มอญศึกษา > http://www.monstudies.com/ > 23 มิถุนายน 2550.
    • ขอบพระคุณ > มอญ > ศาสนพิธีและพิธีกรรม > http://www.samutsakhon.go.th/mis/tour/piti04.htm > 23 มิถุนายน 2550.
    • ขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์พงศกร เบ็ญจขันธ์ > มอญ: ชนชาติเจ้าของอารยธรรมอันเก่าแก่ในพม่า > ศูนย์พม่าศึกษา > http://gotoknow.org/blog/mscb/15498 > 23 มิถุนายน 2550.
    • ขอบพระคุณท่านอาจารย์สามารถ ปราบกรี ([email protected]) >  15-18 มิถุนายน 2550.
    • ขอบพระคุณอาจารย์กวาง และคุณฟองนวล ไกด์ไทยใหญ่ > [email protected] > 15-18 มิถุนายน 2550.
    • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 21 มิถุนายน 2550.

    </span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span></span>

    หมายเลขบันทึก: 105236เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2007 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท