ใช้ตัวชี้วัดผลงานเป็นเครื่องมือทำ KM


ใช้ตัวชี้วัดผลงานเป็นเครื่องมือทำ KM

         ผมได้มุมมองนี้จากการเข้าประชุมสภา มวล.   เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.48   ที่จริงจะว่าเป็นการใช้ตัวชี้วัดผลงานเป็นเครื่องมือทำ KM ก็ได้   จะว่าเป็นการใช้ KM และตัวชี้วัดผลงานเป็นเครื่องมือพัฒนาองค์กรหรือพัฒนาผลสำเร็จของหน่วยงาน ก็ได้

         มวล. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบตรวจสอบและประเมินผล   โดยมีกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ   คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นประธาน  เพื่อพัฒนารูปแบบการประเมินผล  จัดวางระบบการประเมินและกำหนดตัวชี้วัดผลงานของมหาวิทยาลัย

         คณะกรรมการฯ ได้เสนอตัวชี้วัดผลงานตามหลัก Balanced Scorecard   โดยมีตัวชี้วัดรวม 79 ตัว   ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นตัวชี้วัดเชิงปริมาณ   อีกครึ่งหนึ่งเป็นตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ

         ที่ประชุมสภาฯ ได้ตกลงกันว่า   ให้ใช้ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือในการพัฒนา   ทั้งเพื่อพัฒนาองค์กร  พัฒนาคน  และพัฒนางาน   รวมทั้งพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้   คือเน้นตามคำของคุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม ว่า "เป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้  การพัฒนา  และการสร้างระบบการจัดการที่ดี"

ผมได้เสนอต่อที่ประชุม  ดังนี้
     1. ยุทธศาสตร์ตัวชี้วัด   เน้นการใช้ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือทำ OD และเป็นเครื่องมือสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการใช้การประเมินเป็นเครื่องมือของการพัฒนา   ไม่ใช่เน้นการตรวจสอบประเมินผล
         ยุทธศาสตร์สำคัญคือการใช้ตัวชี้วัดในระดับหน่วยงานย่อย   นำตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับหน่วยงานของตนไปใช้   โดยใช้แบบตีความ   และใช้สำหรับเป็นตัวชี้นำการพัฒนางาน   หรือการสร้างพลวัตของการพัฒนางานของหน่วยงานย่อยนั้น ๆ   แล้วนำเอาเรื่องราวของการดำเนินการพัฒนาและความสำเร็จในระดับ 4 - 5 ดาวออกเผยแพร่ทางระบบไอทีของมหาวิทยาลัย   ซึ่งดีที่สุดคือเผยแพร่ทางบล็อก
         และยุทธศาสตร์การดำเนินการในระดับมหาวิทยาลัยคือ   คอยส่งเสริม,  empower,  และยกย่องการดำเนินการยุทธศาสตร์ตัวชี้วัดในระดับหน่วยงานย่อย   ซึ่งก็คือส่งเสริมการ ลปรร. หรือ KM ในระดับหน่วยงานย่อย   โดยใช้ตัวชี้วัดความสำเร็จเป็นตัวเดินเรื่อง   กุศโลบายในการเดินเรื่องแบบนี้ สคส. มีอยู่พอสมควร   ติดตามในบล็อกนี้ได้   และรางวัลต่าง ๆ ที่ให้เสื้อสามารถแก่ผู้มีผลดำเนินการดีเด่นหลากหลายด้าน  ได้ผลดีมากครับ   คือเน้นการสร้างความคึกคัก   เน้นการยกย่องให้เกียรติ   เน้นคุณค่า  ไม่เน้นมูลค่า   คือไม่ให้รางวัลเป็นเงิน
         ย้ำอีกที   ผมคิดว่าถ้ามหาวิทยาลัยเน้นดำเนินการใช้ตัวชี้วัดในระดับมหาวิทยาลัยจะผิด   ต้องเน้นการดำเนินการระดับหน่วยงานย่อย   ส่วนระดับมหาวิทยาลัยทำ 2 อย่าง   (1) คอยส่งเสริมการดำเนินการของหน่วยงานย่อย   (2) คอยสังเคราะห์เป็นภาพรวม และคอย "ชี้เป้า" แก่หน่วยงานย่อย
     2. การพัฒนาจากตัวชี้วัดที่เป็นนามธรรม  สู่รูปธรรม  โดยผู้ปฏิบัติ     คือผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัยต้องยุยงส่งเสริมให้ระดับหน่วยงานย่อยตีความตัวขี้วัดแต่ละตัวให้เหมาะสมต่องานของตน   แล้วทดลองดำเนินการเพื่อพัฒนาผลงานตามตัวชี้วัดนั้น    แล้วเขียนบล็อกเล่าความคิด,  การปฏิบัติ,  และผลการปฏิบัติของหน่วยงานโดยเล่าเป็นระยะ ๆ  และเมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งก็เสนอปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาถ้อยคำของตัวชี้วัดตัวนั้นให้มีลักษณะเป็นรูปธรรมมากขึ้น
         ในระดับมหาวิทยาลัยคอยสังเคราะห์ภาพรวม   และนำมาปรับปรุงตัวชี้วัดของมหาวิทยาลัย   และนำเสนอที่ประชุมเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อน "นโยบายสาธารณะ" ภายในมหาวิทยาลัย   รวมทั้งเอาขึ้นบล็อกเผยแพร่   และสร้างวาทกรรม (discourse) ภายในมหาวิทยาลัยและในสังคมวงกว้าง
     3. พัฒนานวัตกรรมในการสร้างผลงาน   โดยคิดทั้งนวัตกรรมเชิงกระบวนการ  คือวิธีทำงาน   กับนวัตกรรมเชิงผลลัพธ์   คือได้ผลลัพธ์ของงานที่แปลกใหม่   โดยเน้นการสร้างนวัตกรรมเล็ก ๆ ระดับหน้างาน   แล้วผู้บริหารระดับสูงจัดระบบให้นวัตกรรมเล็ก ๆ นั้นรวมตัวกันเป็นนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูงระดับสถาบัน   และเป็นไปตามวิสัยทัศน์หรือปณิธานความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัย
         เน้นการเสริมพลังระหว่างจุลภาคกับมหภาคในการสร้างนวัตกรรม
     4. เพิ่มตัวชี้วัดด้านการเรียนรู้จากการทำงาน   ในมิติด้านกระบวนการภายใน (Internal Process) คือจะต้องมีการจัดระบบการทำงานให้เกิดการเรียนรู้จากการทำงานประจำ
     5. เพิ่มตัวชี้วัดด้านการเกิดนวัตกรรมจิ๋ว (micro innovation) ในมิติด้านการเรียนรู้และพัฒนา   โดยมุ่งให้เกิดนวัตกรรมจิ๋วในทุกพันธกิจ
     6. เน้นการประเมินแบบ non - formal และการประเมินตนเอง   ประเมินกลุ่ม   โดยมีเป้าหมายค้นหาความสำเร็จจิ๋ว (micro success) เอามา ลปรร. ต่อยอดจนกลายเป็นความสำเร็จยักษ์ (macro success)

         ท่านนายกสภามหาวิทยาลัย  ศ. นพ. จรัส  สุวรรณเวลา  สรุปว่าเน้นการได้ประโยชน์จากกระบวนการในการใช้ตัวชี้วัด   มากกว่าจากตัวเครื่องมือเอง

วิจารณ์  พานิช
 20 ธ.ค.48

หมายเลขบันทึก: 10401เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2005 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สนใจเรื่องตัวชี้วัดการจัดการความรู้มากค่ะ และอยากจะพัฒนาเป็นวิทยานิพนธ์ด้วย  ไม่ทราบว่าพอจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ หากอาจารย์พอจะมีเวลาช่วยชี้แนะด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งค่ะ

เรียนอาจารย์หมอวิจารณ์ที่เคารพอย่างสูง

       ผมขออนุญาตคัดลอกไปเผยแพร่ในwww.bantakhospital.com ครับ

ตอนนี้กำลังคิดจะทำ web เกี่ยวกับ km ทีพัฒนาชุมชน คืออยากทราบว่าเราจะต้องเริ่มทำจากตรงไหนคะ

concept หลักคืออะไร แล้วเราจะจัดการ web เราด้วยวิธีใดคะ

เรียนหมอพิเชฐ

ยินดีครับ    และขอส่งความสุขปีใหม่มายังชาว รพ. บ้านตากทุกคนครับ

วิจารณ์

เป็นน้องใหม่ เพิ่งเข้ามาเจอ เวปนี้ครับ

อ่านไปเรื่อยๆจนมาถึง บทความนี้

มีความสนใจ ในเรื่องการวัด การจัดการความรู้ครับ อยากได้คำแนะคำครับ และ จากความเห็นของคุณสุกัญญา ไม่ทราบคิดได้หรือยังครับสนใจจะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยครับ

ขอบคุณครับ อาจารย์ หมอวิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท