ของฝากคนห้องแล็บจากการประชุมที่เขื่อนรัชชประภา สุราษฎร์ธานี (2)


วันที่สองของการประชุม Approach the laboratory test by Professional Medical Technologist ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท PCL Holding Co., Ltd. และจัดขึ้นที่เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นวันสุดท้าย (25 พ.ค.50) ก็เป็นวันที่เต็มอิ่มมาก ต้องขอนำมาเล่าฝากไว้ให้ชาวห้องแล็บอ่านกันต่อจากวันแรกด้วยค่ะ

คณะวิทยากรจากคณะเทคนิคการแพทย์ม.มหิดล ทั้ง 5 ท่านนำโดย ผศ.กุลนารี สิริสาลีและผศ.ดร.นพ.ไพโรจน์ ลีฬหกุล, ผศ.ดร.สุดารัตน์ มโนเชี่ยวพินิจ, ผศ.ดร.ปานทิพย์ วัฒนวิบูลย์, ผศ.ดร.วิจิตร วงค์ล่ำซำ ในการเข้าร่วมประชุมวันนี้ สามหนุ่มน้อยก็ไปนั่งฟังด้วย ช่วงเปิดรายการซึ่งนำเสนอโดยท่านอาจารย์กุลนารีนั้น ท่านนำเสนอเปรียบเทียบการเลือกดำเนินชีวิตโดยใช้การ์ตูนกบกับอ่างน้ำ ให้เรารู้จักคิดว่าการดำเนินชีวิตแบบรู้ตัว รู้จักคิด รู้จักมองสิ่งแวดล้อมและปรับตัวเปลี่ยนแปลงตอบสนองให้เหมาะสมนั้นคือทางเลือกที่ เราเอง คือผู้กำหนด ท่านอาจารย์สื่อสารด้วยใจจนเราเกิดพลังที่จะประพฤติปฏิบัติตนในฐานะนักเทคนิคการแพทย์ หรือบุคลากรในห้องแล็บได้อย่างเต็มภาคภูมิ ภูมิใจในตนเองเห็นคุณค่าของงานที่ทำ และต้องเรียนรู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้ทางด้านงานตรวจทางห้องแล็บด้วยไม่ใช่เป็นเพียงคนทำแล็บเท่านั้น อาจารย์มีความเป็นนักพูดที่ยอดเยี่ยมมากจนทำให้คนฟังทั้งเด็กและผู้ใหญ่รู้สึกสนุกสนานและได้ใช้ความคิดไปพร้อมๆกัน

งานครั้งนี้เน้นหนักถึงการวิเคราะห์ผลแล็บแบบองค์รวม โดยอาจารย์หมอไพโรจน์มาเล่าให้พวกเราฟังว่าคุณหมอคิดอะไรและคาดหวังอะไรในการตรวจ และคนห้องแล็บคิดอะไร ทำอย่างไร ซึ่งการรู้เขารู้เราเหล่านี้จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างเกื้อกูลกัน และก่อประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ป่วย โดยใช้ระบบการทำงานของตับเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นการผิดปกติจากอวัยวะที่สำคัญและทำหน้าที่หลากหลายมากที่สุดอวัยวะหนึ่ง โดยอ.หมอไพโรจน์เริ่มตั้งแต่ยกตัวอย่างเคสของลุงทอมที่มาด้วยอาการตัวเหลือง ตาเหลือง อาเจียนเป็นเลือดที่ห้องฉุกเฉินตอนตี 2 ติดใจเคล็ดลับหรือข้อเตือนใจที่อาจารย์บอกว่า พื้นฐานของวิชาชีพของเราคือ Art & Science ดังนั้นเราต้องมีจินตนาการ คิดให้ทุกอย่างเกี่ยวข้องกัน ถึงคนไข้มาหาหมอด้วยอาการใดอาการหนึ่ง เราก็ต้องพิจารณาคนไข้ทั้งร่างกาย รวมทั้งต้องทำความเข้าใจจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกของคนไข้ด้วย
 ประทับใจวิธีการเล่าเรื่องขั้นตอนในการคิด ระหว่างการตรวจคนไข้ในเบื้องต้นของอาจารย์หมอไพโรจน์เป็นอย่างยิ่ง ท่านอธิบายอย่างละเอียดมาก จากข้อมูล vital signของลุงทอม ที่มี BP = 90/60 ซึ่งในคนหนุ่มสาวปกติควรจะเป็น 120/80 แต่คนแก่ชาย เส้นเลือดแดงเริ่มแข็งแล้ว สัก 120-130 ก็โอเค ถ้าตัวล่างสูงไม่ควรเกิน 90 ถ้าสองตัวนี้ลบกันได้ 30 แสดงว่าแรงดันขณะหัวใจบีบตัวคลายตัวโอเค แต่ถ้าน้อยกว่า 20 คนไข้อาจช้อคเกิด circulation collapse ส่วน pulse = 120 ซึ่งในคนปกติประมาณ 80-90 แสดงว่า volume ไม่พอ ส่วน RR = 24 หายใจเร็วนิดหน่อย ฯลฯ ไปจนถึงลักษณะอาการที่ซีเรียสจนลุงทอมถูกพามาพบแพทย์ คืออาเจียนเป็นเลือด และการที่หมออยากได้ค่า Hematocrit ด่วนรวมทั้ง Complete blood count เพื่อตัดสินใจในการช่วยเหลือด่วนนี้ก่อน แล้วจึงดูรายละเอียดอย่างอื่นประกอบต่อไป เรียกได้ว่าอาจารย์เล่าความคิดอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน ทำให้เราจินตนาการตามไปได้ ถึงความรู้สึกนึกคิดของแพทย์ ในตอนที่คิดสั่งตรวจ test ต่างๆในช่วงต่อๆมา 
หลังจากนั้นอาจารย์ก็รื้อฟื้น Histology ของตับกลับมาให้เราได้ร่วมกันจินตนาการว่า ในภาวะปกติตับทำงานยังไง มีอะไรเข้าออกตรงไหน ถ้ามีพยาธิสภาพตรงไหน จะเกิดอะไรขึ้น ควรจะตรวจพบอะไรในเลือด เรียกว่าเป็นการหมุนนาฬิกากลับไปเหมือนตอนที่เราเรียน ซึ่งตอนนั้นเราจะไม่เกิดความลึกซึ้งกับเรื่องราวและผลแล็บที่ได้เท่าตอนนี้ จำได้ว่าแม้แต่ตอนเรียนโทก็มีเรื่องที่เราต้อง discuss เรื่องของระบบนี้เช่นกัน แต่รู้สึกเลยว่าการมองเรื่องนี้จากมุมของการดูที่คนไข้โดยรวม และใช้จินตนาการถึงความเชื่อมโยงกันแบบที่อาจารย์นำมาเล่านี้ ทำให้เรามองคนละแบบกับที่มองจากผลแล็บกลับมา ชอบวิธีการสอนแบบนี้มากเลยค่ะ
 

ผลพลอยได้จากการอบรมในช่วงนี้ก็คือ แนวทางที่ใช้....คิด ของอ.หมอไพโรจน์ ลีฬหกุล ซึ่งอยากเก็บมาฝากพวกเราทั้งชาวห้องแล็บ และชาว GotoKnow ที่อยากรู้เรื่องเวลาได้ผลตรวจตับมาดู ที่นี่ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 103954เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2007 00:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 02:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท