ของฝากคนห้องแล็บจากการประชุมที่เขื่อนรัชชประภา สุราษฎร์ธานี (1)


ต้องขอบคุณพี่นุชรัตน์ที่พูดจนอยากไปค่ะ

เป็นโรคเข็ดการเดินทางตั้งแต่ไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองมาหลายๆปี อยากอยู่กับที่ไม่ไปไหนเลย แต่เป็นเพราะพี่นุชรัตน์เล่าว่าบรรยากาศที่เขื่อนเชี่ยวหลานนั้นสวยงามมากๆ ใครยังไม่เคยไปควรจะไป ประกอบกับไม่ไกลจากระนองนัก ไปทีเดียวได้ 2 งานเลย ก็เลยตัดสินใจไปร่วมการประชุม Approach the laboratory test by Professional Medical Technologist ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท PCL Holding Co., Ltd. และจัดขึ้นที่เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 24-25 พ.ค.50 น่าชื่นชมที่ทางบริษัทลงทุนจัดงานเพื่อเป็นการสมนาคุณลูกค้าไปพร้อมๆกับให้ความรู้ทางวิชาการไปด้วย หากจะถือว่าเป็นการโฆษณาก็เป็นการดำเนินการที่ชาญฉลาด พวกเราในฐานะผู้ใช้บริการก็ควรจะเก็บเกี่ยวในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานให้มากที่สุดไปพร้อมๆกัน ก็เลยเป็นที่มาของ 2 บันทึกที่เก็บเกี่ยวมาฝากพวกเราที่ไม่ได้ไปค่ะ จากมุมมองของคนห้องแล็บคนหนึ่ง (ต้องออกตัวเพราะถ้ามีความเห็นไหน"ชิ่ง"ไปกระทบใคร ขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียวค่ะ)

ในช่วงเช้าวันแรก พวกเราทั้งหมดได้มีโอกาสลงเรือไปชมบรรยากาศของกุ้ยหลินเมืองไทยกันสวยงามสมกับที่พี่นุชรัตน์เน้นย้ำทุกครั้งที่พูดถึงจริงๆ ถ้าบันทึกไม่ยาวมากค่อยเอารูปมาฝากนะคะ

ส่วนช่วงบ่ายเราจึงได้มีโอกาสรับฟังวิทยาการในส่วนของผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งจุดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราสามารถนำมาเป็นข้อมูลเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรามีเพื่อปรับใช้หรือติดตามสื่อสารกับบริษัทที่ดูแลเครื่องของเราได้ด้วย สำหรับเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ LX20 ซึ่งพี่โหน่ง (มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น เกรงว่าจะเขียนชื่อจริงพี่เค้าผิด) จากโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมาได้มาเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้เครื่องนี้มาเป็นเวลา 4 ปี (ชอบตรงนี้ เพราะดีกว่าให้ตัวแทนบริษัทมาโฆษณา) สิ่งที่พี่เขาชอบใจหลายๆเรื่องเกี่ยวกับเครื่องนี้ เมื่อนำมาเล่าให้พี่ปนัดดาฟัง เราก็จะได้รู้การเปรียบเทียบที่เป็นความรู้ไปด้วย เช่น ค่าที่ต้องทำซ้ำนั้นเครื่องนี้สามารถทำเองให้เราได้เลย โดยเราตั้งเอาไว้ว่าถ้าได้ค่าสูงหรือต่ำกว่าเท่าไหร่ (พี่ดาบอกว่า เครื่อง Hitachi 917 ที่เราใช้อยู่ก็มี แต่เวลาที่ใช้ในการทำจะเสียมากกว่าที่เราทำเอง) ส่วนเรื่อง clot detection ที่เครื่องสามารถตรวจสอบโดยการดูดซ้ำ 3 ครั้งจนกว่าจะไม่พบการ clot และทำการ correct ค่าให้ด้วย (อันนี้เครื่องของเราไม่มีแน่นอน) Throughput ก็ค่อนข้างสูง คือ 1440 test/ชั่วโมง สำหรับ test ด่วนคือ 10 นาที (ของเรา 1200 test/ชั่วโมง) เครื่องนี้ไม่มีการทำ daily maintenance จะมีเฉพาะระบบบางอย่างที่เครื่องจะมี alarm เตือนให้ผู้ใช้ทำเมื่อครบกำหนดเวลาเท่านั้น (อันนี้ต่างจากเครื่องของเรามาก ที่ขั้นตอนการ maintenance ทั้งเปิดและปิดค่อนข้างจุกจิก) ส่วนที่เป็น cuvette (ช่องที่เอาไว้ให้ sample กับน้ำยาทำปฏิกิริยากัน) ของเครื่องนี้ทำด้วยแก้ว Pyrex ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องความคงทนอยู่แล้ว ใช้มา 4 ปียังไม่ได้เปลี่ยนเลย  

 

ส่วนที่สำคัญและติดใจมากในช่วงบ่ายก็คือเรื่อง ระบบ LIS (Laboratory Information System) ซึ่งน่านิยมที่ทางบริษัทได้ดำเนินการทำ pilot project ให้กับโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมาซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์เขต 13 ซึ่งทำให้ในปัจจุบันทางโรงพยาบาลสามารถดำเนินการรับตรวจแล็บจากโรงพยาบาลชุมชนในเครือข่ายถึง 26 แห่ง  รวมทั้ง PCU ที่กระจายอยู่ตามคลินิกโดยใช้ messenger 4 คนรับสิ่งตรวจมายังห้องปฏิบัติการ จากนั้นการออกผลแล็บจะสามารถทำได้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยให้ทางศูนย์ต่างๆล็อกอินเข้าระบบโดยใช้รหัสของตนเอง ทำให้การบริการเป็นไปอย่างรวดเร็วสะดวกกับทุกๆฝ่าย นอกจากนั้น data ต่างๆยังได้รับการรวบรวมศูนย์ในรูปแบบที่การวิเคราะห์ระบบต่างๆ ซึ่งคุณมธุรส ชัยวรพรได้มาเล่าให้พวกเราฟังถึงประโยชน์จากการที่มีระบบนี้ ซึ่งทำให้เธอสามารถวิเคราะห์ปริมาณงาน เวลาที่ใช้ในการทำงาน ต้นทุนของการทำงานทั้งในด้านบุคคลากรและทรัพยากรอื่นๆโดยใช้ข้อมูลที่รวบรวมโดย LIS นี้เอง ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่สามารถทำได้โดยใช้คนและโปรแกรมเฉพาะกิจต่างๆ เพราะปริมาณที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยให้ทำได้ ฟังแล้วก็ยิ่งคิดเปรียบเทียบกับแล็บของเราที่เทียบไปแล้วปริมาณงานพอๆหรือมากกว่าที่ร.พ.มหาราชด้วยซ้ำ แต่เรายังไม่มี LIS ที่เต็มรูปแบบเลย ยังคงใช้ระบบที่เขียนเองโดยโปรแกรมเมอร์ของเราที่แสนจะงานรัดตัว ปล่อยให้พวกเราเป็นเครื่องจักรนั่งคีย์ข้อมูล 700-800 รายกดๆจิ้มๆผิดๆถูกๆกันอยู่เลย ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลใหญ่ระดับมหาวิทยาลัย

สำหรับวันที่สองของการประชุมเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน จากทีมคณาจารย์จากคณะเทคนิคการแพทย์ม.มหิดล จะเก็บมาเล่าในตอนต่อไปค่ะ

หมายเลขบันทึก: 100811เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2007 01:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • เขื่อนรัชชประภาใครๆก็ว่าสวยนักยังไม่เคยไปค่ะ อยากไปแต่คงไม่ได้ไปเพราะไกลบ้านมากมาย
  • เนื่องจากอยู่ โรงพยาบาลอำเภอและเป็นผู้เยี่ยมสำรวจภายใน ทำให้ รู้เรื่องของแลปบ้างไม่รู้บ้าง แต่ก็อยากรู้ให้มากไว้ เอาใช้เวลาไปเยี่ยมสำรวจ จะไม่ได้ให้คนห้องแลป โกหกเอาได้นะคะ
  • ขอบคุณค่ะ

ถือว่าเป็นเครื่องในฝันของพวกเราไปก่อนน๊ะค๊ะ ที่ตัวเองชอบที่สุดก็คงจะเป็นระบบ clotted detector นั่นเองค่ะ เพราะเราใช้ primary tube แล้วจึงต้องระวังอย่างมาก บางครั้งสายตาเราก็อาจพลาดได้

เป็นที่น่าเสียดายที่คนใช้งานหรือเครื่องส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เลือกเครื่องมือเครื่องใช้เอง แต่ให้คนที่ไม่ได้ใช้เป็นผู้ตัดสินใจ...สรุปว่า...ต้องทำ....ใจนิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท