BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๓๒ : คุณธรรมของผู้สูงอายุ (ต่อ)


ปรัชญามงคลสูตร

ขันติ คือ ความอดทน เป็นศัพท์ธรรมะ ซึ่งพุทธศาสนิกชนทั่วไปรู้จักกันดี เพราะเป็นธรรมประกอบอยู่ในหลายหมวดธรรม เช่น

ธรรมก่อให้เกิดความงาม ๒ ประการ กล่าวคือ

  • ขันติ ความอดทน
  • โสรัจจะ ความสงบเสงี่ยม

อธิบายสั้นๆ ได้ว่า คนที่ไม่มีความอดทนมักจะแสดงความระอาใจ ความขึ้งเครียด ความหดหู่ เป็นต้นออกมาทางใบหน้าและกิริยาอาการอื่นๆ... ส่วน ความเสงี่ยม ก็คือการรู้จักเก็บสิ่งต่างๆ ไว้ภายในไม่พยายามแสดงออกมาทางใบหน้าหรือกิริยาอาการอื่นๆ ... ใครก็ตามถ้ามีคุณธรรมสองประการอยู่ประจำตัวก็จะก่อให้เกิดความงามกายและงามใจได้.... ประมาณนี้

.......

ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน ๔ ประการ กล่าวคือ

  • ขันติ ความอดทน
  • ทมะ ความข่มใจ
  • สัจจะ ความจริงใจ
  • จาคะ ความเสียสละ

อธิบายสั้นๆ ว่า คู่ครองเรือนคือสามีภรรยา ต้องอดทนในการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต... บางสิ่งบางอย่างที่กระทบจิตก็จะต้องรู้จักข่มไว้ เพื่อมิให้ลุกลามกลายเป็นเรื่องเป็นราวต่อไป... ต้องมีความจริงใจซึ่งกันและกัน... และรู้จักเสียสละในสิ่งที่จะขัดขวางความราบรื่นแห่งชีวิตคู่... เป็นต้น

......

ในบารมี ๑๐ ทัศ ก็มีขันติเป็นลำดับ ๖ โดยมีวิริยะเป็นที่ ๕ และมีสัจจะ เป็นที่๗ ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกันดังต่อไปนี้..

วิริยะ คือ ความเพียร นั่นคือ จะต้องมีความมุมานะ พยายาม บากบั่น เพื่อการเสริมสร้างบารมี... ขันติ คือความอดทน จะเป็นตัวสนับสนุนให้ความเพียรดำเนินการต่อไปได้... ส่วน สัจจะ ความความจริงใจ จะสร้างความหนักแน่นคอยตอกย้ำให้ความมุ่งหวังในบารมีธรรมเจริญเติบโตต่อไป.... ประมาณนี้ (ผู้สนใจเรื่องบารมี๑๐ ทัศ โดยละเอียด ดู  http://www.bodhisattva.name/Jariya/index.html )

........

เมื่อพิจารณาความอดทนในฐานะคุณธรรมของผู้สูงอายุ จะเห็นได้ว่าสำคัญยิ่ง และมีนัยที่จะขยายความได้หลากหลาย เช่น

ร่างกายที่ทรุดโทรม ไม่ควรแก่งานดังคนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุจึงต้องทนลำบากเพื่อจะต้องกระทำกิจบางอย่าง เช่น เคี้ยวอาหารก็อาจไม่ค่อยสะดวก จะหยิบจับสิ่งโน้นสิ่งนี้ หรือไปมาก็ไม่คล่องแคล่ว....

ผู้สูงอายุบางท่าน มีโรคาพยาธิเบียดเบียน ก็ต้องทนตรากตรำ หรือจำทนทำสิ่งนั้นๆ เช่น บางท่านต้องให้หมอมาบีบมานวดทุกวัน หรือต้องมีกายภาพบำบัดทุกวัน เป็นต้น แม้จะเบื่อก็ต้องทนตรากตรำไปเรื่อยๆ....

ในบางกรณี ผู้สูงอายุ อาจถูกคนรุ่นหลังเยาะเย้ย ถากถาง เสียดสี ด้วยวาจาหรือการกระทำบางอย่าง ผู้สูงอายุก็ต้องทนเจ็บใจ เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม  หรือจะโต้ตอบกระทำคืนก็มิใช่สิ่งที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ  .....

ดังนั้น ทนลำบาก ทนตรากตรำ และ ทนเจ็บใจ คือคุณธรรมว่าด้วยความอดทนที่ผู้สูงอายุต้องหมั่นสร้างให้มีอยู่เป็นอยู่ในตนให้ได้... ผู้สูงอายุคนใดสามารถมีความอดทนทำนองนี้ได้ก็จัดว่าเป็นมงคลสำหรับท่านในชาตินี้

อนึ่ง เมื่อมองไปยังชาติหน้า ผู้สูงอายุท่านใดที่ฝึกขันติธรรมในบั้นปลายชีวิตแล้ว ก็จะเป็นวาสนาบารมีติตตัวไปในชาติหน้าอีกด้วย กล่าวคือ จะมีพื้นฐานทางใจเป็นคนอดทน หนักแน่น ในชาติต่อไปนั่นเอง..    

หมายเลขบันทึก: 103172เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2007 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • นมัสการครับหลวงพี่
  • เป็นครั้งแรกที่ได้อ่านบันทึกของหลวงพี่ครับ
  • ดีใจมากครับ

กราบนมัสการค่ะ

P

ชาติก่อนคงบำเพ็ญเรื่องนี้มาไม่มาก แต่ชาตินี้ มาบำเพ็ญ ตอน 15 ปีหลังนี้ ก็ยังรู้สึกดีมากขึ้นมากค่ะ ปกติจะใจร้อน และไม่ค่อยยอมอะไรง่ายๆ แต่ตอนนี้ ระงับใจและเย็นมากค่ะ ไม่ค่อยวุ่นวายใจแล้วค่ะ จริงๆคือ ปรับใจตัวเองได้ค่ะ

อ่านแล้ว เตือนใจดีค่ะ

P

ถ้าว่าตามหลักพระพุทธศาสนา ความใจร้อน ใจเย็น เป็นพื้นฐานทางจิตของแต่ละคน เพราะ วาสนา แตกต่างกัน...

ตามหลักจริยา ๖ คนใจร้อนมักจะเป็นคนฉลาด ซึ่งประเด็นนี้คำสอนก็จำแนกไว้ละเอียด ว่างๆ อาตมาค่อยนำมาเล่า....

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท