เศรษฐกิจพอเพียงในร่างรธน.กับมุมมองนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่


ไม่ว่า ร่าง รธน.นี้จะผ่านหรือไม่ ประเด็นที่ ดร.วีรไท ยกขึ้นมาก็เป็นเรื่องน่าขบคิดสำหรับผู้ต้องการสร้างนโยบายบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

จากการอ่านข่าว นสพ. ในช่วงสัปดาห์นี้ ทำให้รู้ว่านอกจาก ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ จะเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ไฟแรง อย่าง ดร.วีรไท สันติประภพ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว

ในบทความที่ ดร.วีรไท เขียนลงกรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 13 มิย. เรื่อง "ประเด็นทางเศรษฐกิจในร่างรัฐธรรมนูญใหม่" ในตอนหนึ่ง ดร.วีรไทกล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ระบุให้มีการส่งเสริมให้ดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดย ดร.วีรไท กล่าวว่า

"ผมเชื่อมั่นว่า การดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาได้อย่างสมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน"

แต่ ดร.วีรไท ก็มีมุมมองและข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า

"แต่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่แต่ละบุคคล ชุมชน หรือองค์กรจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง การกำหนดให้รัฐบาลต้องส่งเสริมให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการส่งเสริมแบบบนลงล่าง (Top down) ตามแนวทางของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ เป็นการปฏิบัติที่เบี่ยงเบนไปจากหลักการสำคัญของแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"

นอกจากนี้ ดร.วีรไท ยังได้พูดถึงการที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบุว่า แรงงาน เกษตรกร ภูมิปัญญาท้องถิ่น จะต้องได้รับความคุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ และได้รับความส่งเสริมจากรัฐบาล นั้น "อาจจะทำให้เกิดการตีความได้ว่า ภาคเศรษฐกิจที่ถูกระบุนั้นจะได้รับความคุ้มครองเหนือภาคเศรษฐกิจอื่นเมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้น" ในขณะที่ภาคเกษตรเล็กลงโดยเปรียบเทียบ และจะมีการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างสาขาการผลิตต่างๆมากขึ้น

เป็นอีกมุมมองที่น่าคิดตาม โดยเฉพาะประเด็นว่า แนวทางการส่งเสริมของรัฐอาจออกมาเป็นลักษณะ Top down ซึ่งเราเห็นด้วยว่าเป็นข้อพึงระวังจริงๆ

เพราะจากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง 200 เล่ม พบว่า ในงานประเมินผลโครงการส่งเสริมของรัฐ เช่น โครงการเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือโครงการของกระทรวงมหาดไทย ผู้วิจัยก็มักเขียนออกมาในแนวทางคล้ายกับว่า รัฐต้องให้การอุดหนุนการขุดสระบ้าง ต้องให้เจ้าหน้าที่ไปส่งเสริมอบรมชาวบ้านบ้าง คล้ายกับว่า ชาวบ้านไม่รู้จักเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่หยิบยื่นจากรัฐลงไปให้ชาวบ้าน

มีงานศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงน้อยชิ้นมาก ที่จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อการพึ่งตนเองและเติบโตอย่างมีขั้นตอน ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่า

ส่วนข้อที่ว่า การคุ้มครองแรงงาน เกษตรกร ภูมิปัญญา เป็นการคุ้มครองบางสาขาเศรษฐกิจเหนือสาขาอื่นนั้น เป็นประเด็นที่ต้องคิดวิเคราะห์กันต่อไป

ไม่ว่า ร่าง รธน.นี้จะผ่านหรือไม่ ประเด็นที่ ดร.วีรไท ยกขึ้นมาก็เป็นเรื่องน่าขบคิดสำหรับผู้ต้องการสร้างนโยบายบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

หมายเลขบันทึก: 103135เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2007 00:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 00:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ชาวบ้านในชุมชนเคยมีปรัชญาแบบพอเพียง
  • แต่ปรัชญาแบบบริโภคนิยมมา กลบสิ่งนั้นให้ลืมไป
  • ทำอย่างไรให้ภาพแห่งความพอเพียงกลับมา
  • ในมุมมองของผม นักวัฒนธรรมน้อย ๆ ผมว่าต้องมาช่วยฟื้นแนวคิดแห่งวิถีวัฒนธรรมไทๆด้วยนะครับ
  • เขียนให้ตายในรัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางเกิดหากไม่ไม่เกิดที่คน (สรุปดิบไปไหมครับ)
ชาวบ้านเขาอยากได้เศรษฐกิจพอเพียงไหมครับ?

หรือแค่ไม่ได้อยากเกิดมาจน มีโอกาสทางสังคมน้อยกว่าคนอื่นเขา?


ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ขอบคุณคุณออตกับอ.ธร ค่ะ

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นวัฒนธรรม  ตรงนี้มีทั้งบทความและผลการศึกษาที่ยืนยัน   แต่การจะทำให้วัฒนธรรมนี้อยู่ได้  คงต้องมีความยืดหยุ่นในรูปแบบ (แต่มั่นคงในหลักการ)  ธุรกิจขนาดใหญ่ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้ ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างมีความพอประมาณ (คล้าย optimality) มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ใช้ความรู้คู่คุณธรรม

ในสังคมที่มีสวัสดิการพื้นฐานที่ดี และมีกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข  พบว่า วิถีชีวิตและวิธีคิดของคนมีความ "พอเพียง" อยู่สูงค่ะ

พระไพศาล วิสาโล พูดถึง การเสริมสร้างความพอเพียงต้องมีทั้งมิติภายในคือจิตใจ และมิติแวดล้อมทางสังคม ซึ่งดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ความพอเพียงไม่ใช่เป็นเรื่องเชิงสถิตย์  สิ่งหนึ่งที่เป็นแกนหลักในการมองเรื่องนี้  ก็คือ การมีภูมิคุ้มกัน (หลายคนสรุปว่าเกิดจาก การมีสติ และปัญญา) และการเติบโตอย่างมีขั้นมีตอนค่ะ

ไม่ได้หมายความว่า จงพอใจในความยากจน  เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักปรัชญาหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาความยากจน  ทั้งโดยสัมบูรณ์และโดยเปรียบเทียบ  โดยเฉพาะ ความยากจนโดยเปรียบเทียบ  เพียงแต่เน้นการใช้เครื่องมือภายในตัวตนของคน ภายในครอบครัว ภายในหน่วยธุรกิจ

 การมุ่งขยายความ "พอเพียง" ไปสู่ทุกภาคส่วน หมายถึง การลดการเบียดเบียนกัน   คนใหญ่คนโตที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมมีคุณธรรมและช่วยสร้างสังคมที่เป็นธรรมกว่านี้ได้

โจทย์สำคัญกว่า คือ จะขยายแนวคิดเรื่อง "ทางสายกลาง (พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัว) ความรู้ และคุณธรรม"  ไปสู่ทุกส่วนในสังคมได้อย่างไร

เรียน อาจารย์ปัทมาวดี ที่เคารพ

ในประเด็น การวิจัยกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ที่อาจารย์บอกว่ามีน้อยชิ้นนั้ หมายความว่าอย่างไรครับ

หรือว่า กระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงโดยชุมชนเพื่อชุมชน น่าทำเป็นงานวิจัย ใช่ไหมครับ

ขอบคุณครับ

แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่เห็นผมว่ามันเหมือน ศีล

ในพุทธศาสนา ที่บอกว่าเราต้องทำโน่นทำนี่

แต่จริงแล้วแก่นมันอยู่ที่ไหน....น่าสงสัย

ตามความเห็นส่วนตัว

ถ้าเราไม่โลภมากนัก ทำงานเพียงให้ตัวมีความสุข อยู่ได้ เหลือก็ให้ทานไป  คิดที่จะแก้ไขปัญหาที่ตนเองประสบเสมอ พัฒนางานที่ตนทำอย่างเสมอ เพื่อให้ปัจจุบันดีที่สุด สุขที่สุด

ผลที่เกิดขึ้นก็น่าจะมีความสุข และรวยที่สุดเสมอ

กุญแจสำคัญคือไม่โลภมากนัก

ดังนั้นการทำให้เศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นและยั่งยืน  น่าจะเป็นการทำให้ผู้คนเข้าใจแก่นและมีชีวิตในร่มเงาของพุทธศาสนา

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ  ว่าแก่นของเศรษฐกิจพอเพียงคือแนวคิดของพุทธศาสนา   มีงานศึกษาบางชิ้น บอกว่า  เศรษฐกิจพอเพียงสอดคล้องกับแก่นของศาสนาอื่นๆ เช่นกัน  เช่น ศาสนาอิสลาม  (จากการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้)

สภาพัฒน์ฯ สรุปความว่าเป็นสามห่วงสองเงื่อนไข คือ พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน โดยมี ความรอบรู้และคุณธรรม   ซึ่งออกจะตีความยากอยู่ และเข้าใจเหลื่อมๆกันอยู่ค่ะ

 

 

สวัสดีครับอาจารย์ปัทมาวดี

ผมคิดว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นดีมากครับ

แต่ผมว่ามันยากมากเลยครับในทางปฏิบัติ ที่มันยาก เพราะเราไม่มีมาตรวัด (measure) มาบอกได้ว่า พอเพียง มันอยู่ที่ตรงไหน เมื่อเราไม่มีมาตรวัด เราไม่สามารถที่จะจัดการระบบเศรษฐกิจของประเทศ ของชุมชน ของครัวเรือน และของตัวเองให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ครับ

ซึ่งผมคิดว่านี่คือปัญหาหลักสำหรับเราครับ ผมพยายามที่จะศึกษาว่าเศรษฐกิจพอเพียงวัดกันได้ยังไงว่าพอแล้ว เราพอเพียงแล้ว แต่ผมยังไม่เจอครับ 

สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่ต่างอะไรไปจาก ปัญหาด้าน risk optimization ครับ คือปัญหาด้านการจัดการความเสี่ยงให้ได้ดีที่สุด

ด้วยความเคารพครับ ผมคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงมีสามส่วน

  1. รู้ว่าทรัพยากรมีจำกัด
  2. ในเมื่อมีจำกัด เราก็ต้องรู้จักใช้ทรัพยากรให้เหมาะสมที่สุด
  3. ในโลกมีความไม่แน่นอน เราก็ต้องป้องกันความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นให้ได้ดีที่สุด

ดังนั้นสำหรับผม ผมแลยมองและสรุปง่ายๆว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั้นคล้ายๆกับการจัดการความเสี่ยง ซึ่งผมคิดว่าถ้าเรานิยาม หรือหา มาตรวัดความเสี่ยง (risk measures) ที่เหมาะสมมาได้

เราก็สามารถที่จะสร้างแผนเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ ที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงทั้งต่อประเทศ ต่อชุมชน ต่อครัวเรือน และต่อตัวเองครับ

ยิ่งไปกว่านั้น ในโลกโลกาภิวัฒน์เมื่อทุกอย่างเข้าถึงกันด้วยลัดนิ้วมือ เราไม่สามารถโยนคำว่าเศรษฐกิจทุนนิยมทิ้งไปได้โดยสิ้นเชิงครับ

แต่ผมก็เชื่อว่านิยามที่ผมได้เสนอมานั้น สอดคล้องกับเศรษฐกิจแนวทุนนิยมและเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมเหตุสมผลครับ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มุมมองที่ผมมองนี้ ผมมองจากมุมมองของคนที่เรียน Decision Sciences and Engineering Systems นะครับ ผมไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์มาครับ  

ขอบพระคุณอาจารย์สำหรับเวทีความคิดเห็นและเรื่องที่น่าสนใจครับ

 

ขออภัยที่ตอบช้านะคะ

คิดว่าการมีมาตรวัดก็จะเป็นประโยชน์  เพียงแต่ยึดติดนักก็ไม่ได้เพราะมาตรวัดย่อมมีข้อจำกัด และทำให้การตีความแคบลง  โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจพอเพียงมีมิติทั้งเชิงจิตใจและเชิงระบบ 

ยิ่งมองลงไประดับจุลภาคเท่าไร ยิ่งดูจะวัดยากขึ้นเท่านั้น  แต่ถ้าวัดกว้างๆ  เช่น  "คุณธรรม" ในเชิงเศรษฐกิจ (เงื่อนไขหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียง)  วัดด้วยการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม  แค่นี้ประเทศไทยก็สอบตกแล้วค่ะ

" คุณธรรม"  ในตัวบุคคล  มาตรวัดหนึ่งก็ต้องมองที่พฤติกรรมค่ะ  บางคนบอกว่า  อย่างน้อยรักษาศีล 5  แต่คิดว่ายังไม่พอค่ะ  ต้องมี ธรรม 5 ข้อด้วย เช่น สัมมาอาชีวะ (+ความเพียร)   มีสติ

ความเสี่ยงเป็นเพียงมิติหนึ่งในเศรษฐกิจพอเพียงค่ะ 

ดิฉันอยู่ที่ญี่ปุ่น  ยังคิดว่าสังคมภายในเขามีความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่าสังคมไทยอีกค่ะ  ส่วนหนึ่งเพราะการออกแบบกลไกทางสังคมเขาเข้มงวดด้วย

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นที่น่าสนใจนะคะ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท