จากการอ่านข่าว นสพ. ในช่วงสัปดาห์นี้ ทำให้รู้ว่านอกจาก ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ จะเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ไฟแรง อย่าง ดร.วีรไท สันติประภพ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว
ในบทความที่ ดร.วีรไท เขียนลงกรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 13 มิย. เรื่อง "ประเด็นทางเศรษฐกิจในร่างรัฐธรรมนูญใหม่" ในตอนหนึ่ง ดร.วีรไทกล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ระบุให้มีการส่งเสริมให้ดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดย ดร.วีรไท กล่าวว่า
"ผมเชื่อมั่นว่า การดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาได้อย่างสมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน"
แต่ ดร.วีรไท ก็มีข้อสังเกตว่า
"แต่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่แต่ละบุคคล ชุมชน หรือองค์กรจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง การกำหนดให้รัฐบาลต้องส่งเสริมให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการส่งเสริมแบบบนลงล่าง (Top down) ตามแนวทางของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ เป็นการปฏิบัติที่เบี่ยงเบนไปจากหลักการสำคัญของแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"
นอกจากนี้ ดร.วีรไท ยังได้พูดถึงการที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบุว่า แรงงาน เกษตรกร ภูมิปัญญาท้องถิ่น จะต้องได้รับความคุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ และได้รับความส่งเสริมจากรัฐบาล นั้น "อาจจะทำให้เกิดการตีความได้ว่า ภาคเศรษฐกิจที่ถูกระบุนั้นจะได้รับความคุ้มครองเหนือภาคเศรษฐกิจอื่นเมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้น" ในขณะที่ภาคเกษตรเล็กลงโดยเปรียบเทียบ และจะมีการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างสาขาการผลิตต่างๆมากขึ้น
เป็นอีกมุมมองที่น่าคิดตาม โดยเฉพาะประเด็นว่า แนวทางการส่งเสริมของรัฐอาจออกมาเป็นลักษณะ Top down ซึ่งเราเห็นด้วยว่าเป็นข้อพึงระวังจริงๆ
เพราะจากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง 200 เล่ม พบว่า ในงานประเมินผลโครงการส่งเสริมของรัฐ เช่น โครงการเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือโครงการของกระทรวงมหาดไทย ผู้วิจัยก็มักเขียนออกมาในแนวทางคล้ายกับว่า รัฐต้องให้การอุดหนุนการขุดสระบ้าง ต้องให้เจ้าหน้าที่ไปส่งเสริมอบรมชาวบ้านบ้าง คล้ายกับว่า ชาวบ้านไม่รู้จักเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่หยิบยื่นจากรัฐลงไปให้ชาวบ้าน
มีงานศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงน้อยชิ้นมาก ที่จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ให้ชาวบ้านเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อการพึ่งตนเองและเติบโตอย่างมีขั้นตอน ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่า
ส่วนข้อที่ว่า การคุ้มครองแรงงาน เกษตรกร ภูมิปัญญา เป็นการคุ้มครองบางสาขาเศรษฐกิจเหนือสาขาอื่นนั้น เป็นประเด็นที่ต้องคิดวิเคราะห์กันต่อไป
ไม่ว่า ร่าง รธน.นี้จะผ่านหรือไม่ ประเด็นที่ ดร.วีรไท ยกขึ้นมาก็เป็นเรื่องน่าขบคิดสำหรับผู้ต้องการสร้างนโยบายบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ไม่มีความเห็น