เหตุผลของการสนับสนุน พรบ.สภาองค์กรชุมชน


พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ของการมีส่วนร่วมของประชาชนให้สามารถขยายศักยภาพในการเข้ามาดูแลและกำหนดอนาคตของตนเองได้อย่างแท้จริง

blog km4fc กล่าวถึงการทำจดหมายเปิดผนึกของนักวิชาการเพื่อสนับสนุน พรบ. สภาองค์กรชุมชน  ซึ่งอาจารย์อนุชาติ พวงสำลี จากมหาวิทยาลัยมหิดลและทีมนักวิชาการได้ให้เหตุผลของการสนับสนุน พรบ.สภาองค์กรชุมชน  ดังนี้

"พวกเรามีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน ดังกล่าว จะเป็นมาตรการรองรับทางกฎหมายที่มีความสำคัญ ในการส่งเสริมความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนฐานราก เนื่องจาก

  • พ.ร.บ. ฉบับนี้ ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐในการพัฒนาที่ยั่งยืนและยุทธศาสตร์สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
  • พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ของการมีส่วนร่วมของประชาชนให้สามารถขยายศักยภาพในการเข้ามาดูแลและกำหนดอนาคตของตนเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งนับเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญและการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน
  • พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะไม่ซ้ำซ้อนกับการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซ้ำยังจะช่วยเป็นการหนุนเสริม สร้างความสมดุล และการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของชุมชนและประชาสังคม
  • พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเป็นหลักประกันอันสำคัญในการส่งเสริมให้ชุมชนทั้งมวลเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาเศรษฐกิจฐานราก ความมั่นคงทางสังคม วัฒนธรรม ตลอดจนการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
  • พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะช่วยลดความขัดแย้งภายในท้องถิ่น และส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมและเป็นระบบอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ............."

หมายเลขบันทึก: 102964เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2007 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ผมเห็นว่าหลังจากที่ร.5รวบอำนาจเข้าส่วนกลาง   เพื่อต้านภัยจักรวรรดินิยมนั้น ชุมชนท้องถิ่นยังไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก (อำนาจส่วนกลางยังลงมาไม่ถึงท้องถิ่น) ปัจจัยเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนท้องถิ่นอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐส่วนกลางคือ
1)ปฏิวัติ2475เริ่มระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง เกิดกลไกรัฐราชการ
2)เริ่มศักราชแผนพัฒนาฉบับที่1เป็นต้นมา 
3)เทคโนโลยี ถนน ไฟฟ้า ปฏิวัติเขียว ฯลฯซึ่งเป็นกลไกของตลาดที่เชื่อมโยงทุนเข้ากับอำนาจรัฐ

แม้อำนาจจะถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นตามพรบ.กระจายอำนาจ แต่ก็ยังอยู่ในวังวนของระบอบการเมืองใหญ่ที่อิงอยู่กับอำนาจรัฐจากส่วนกลาง

พรบ.สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นน่าจะเป็นกฏหมายที่ย้ายน้ำหนักกลับมาอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่นโดยขึ้นต่อรัฐส่วนกลางน้อยที่สุด จึงเป็นพรบ.เชิงกระบวนทัศน์หรือการช่วงชิงพื้นที่ นิยามความหมายของการพัฒนาครับ

แม้จะเห็นด้วยกับ การมี พรบ. สภาองค์กรชุมชน  แต่ควรฟังความเห็นต่างของฝ่ายต่างๆไว้ด้วยเหมือนกัน เพื่อให้มีข้อมูลรอบด้าน

เรามีตัวอย่างและทฤษฎีว่าด้วย "ความล้มเหลวของตลาด"

เรามีตัวอย่างและทฤษฎีว่าด้วย "ความล้มเหลวของรัฐ"

และ เราก็มีตัวอย่างและข้อเสนอเชิงทฤษฎีว่าด้วย "ความล้มเหลวของชุมชน" เช่นกันค่ะ

ว่างๆ จะเอามาเล่าให้ฟัง

  • ส่วนตัวผมยังไม่ได้ศึกษาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้นะครับ แต่ก็กำลังติดตาม พรุ่งนี้เข้าประชุมเครือข่ายเอ็นจีโอแม่ฮ่องสอน คงถกกันเรื่องนี้ จากข่าว เห็นภาคีต่างๆที่ออกมาเคลื่อนไหวแล้วก็คิดว่าต้องเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ผมก็พร้อมร่วมสนับสนุน

 

  • อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่คิดและไม่อยากให้ใครหวังมากนักกับ พ.ร.บ หรือกลไกทางกฏหมายอื่นๆที่จะมาเป็น "เครื่องมือ" ในการทำงานกับชุมชนมากนัก คำตอบในการพัฒนาชุมชนไม่ได้มีคำตอบเดียว และมันก็ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะมันจะกลายเป็นว่า พอเราไม่มี "เครื่องมือ" ไม่มีงบ เราก็ตายเลย ทำอะไรไม่เป็น อันนี้ก็เป็นดาบสองคม

 

  • ลำพังกฏหมายหรือ พ.ร.บ โดยตัวมันเอง ไม่สามารถทำงานเดี่ยวๆได้ มันต้องมีการประกอบร่างกับเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ ซึ่งผมยังไม่ชัดว่ามันคืออะไรบ้าง (อาจช่วยกันคิดต่อ) ลำพัง พ.ร.บ ผ่านฉลุย แต่คนจะลุยไม่เอาไหน หรือไม่เอาด้วย ก็บ๊วยเหมือนกัน ดังนั้น ต้องคิดถึงการหนุนเสริมกลไกที่ทำให้ พ.ร.บ ทำงานอย่างมีชีวิตด้วย

 

  • แต่มีทางเลือกหลายทางน่าจะดีกว่า ดังนั้นมี พ.ร.บ. นี้เอาไว้ก่อน ดีกว่าไม่มีครับ

 

 

ส่วนตัวผมยังสงสัย และมองโลกในแง่ร้ายกับเรื่องนี้อยู่

นี่เป็นแค่การขยายอำนาจรัฐเข้าแทรกแซงภาค "ประชาสังคม" หรือเปล่า

เราทำเหมือนว่า "ประชาสังคม" ต้องมีกฏหมายรองรับ

เราจะทำให้ชุมชน เมื่อกลายมาเป็น "สภา" ที่ได้รับการสับสนุนจากรัฐแล้ว ถูกแทรกแซงทางความคิดและบทบาทหน้าที่ไหม

ถ้าชุมชนแข็งแรงอยู่แล้ว อำนาจต่อรองกับรัฐเขาก็มีอยู่แล้วไม่่ว่าจะมีฐานะเป็นสภาที่ถูกต้องทางกฏหมายหรือไม่

หรือถ้าชุมชนไม่แข็งแรง มีสภาที่ถูกรับรองโดยกฏหมายนี้ขึ้นมาแล้วจะมีประโยชน์อะไร ก็เสร็จให้กับการเมืองท้องถิ่นอีก

สรุปว่า ผมเองยังสงสัยอยู่มากว่ากฏหมายนี้มันจะช่วยอะไรให้ชุมชนแข็งแกร่งขึ้นได้มากจริงหรือ

หรือจะเป็นเพียงลายลักษณ์อักษรที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในการเข้าแทรกแซงชุมชน

เรียน อาจารย์ ปัทมาวดี ที่เคารพ

อ่านดุแล้ว อยากเข้าไปร่วมฟังร่วมแสดงความคิดเห็นจังครับ เพราะเสื่อมศรัทธากับสภาจัดตั้งอื่น ๆ แต่ทุกอย่างก็มีพัฒนาการของมัน ครับ ขอให้สภาฯ ใหม่อันนี้ราบรื่นทีเถิด

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท