ที่ทางความยุติธรรมของ "คนพลัดถิ่นข้ามแดน"....ตอน 2


เมื่อมานึกย้อนอีกครั้งภาพของผู้คนที่นั่นจริงๆแล้วก็อาจจะเป็นเหมือนที่เขาตอบ เพราะที่นั่นคือดินแดนที่คนภายนอกไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปหรือรับรู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้นหากไม่ได้บัตรผ่านเข้า-ออก (Camp pass)จากกระทรวงมหาดไทย เจ้าภาพหลักที่ดูแลอยู่

ที่ทางของความยุติธรรม...ตาก

สัปดาห์ถัดมา (28 พ.ย.-1 ธ.ค.49) เรามุ่งหน้าสู่จังหวัดตากปลายทาง คือ พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านแม่หละ อยู่ในเขตรับผิดชอบของอำเภอท่าสองยาง  จังหวัดตาก ผู้หนีภัยฯ ส่วนใหญ่ คือ ชนเผ่า กะเหรี่ยง (Karen)” 

ภาพบ้านหลังเล็กๆ มุงหลังคาด้วยใบตองตึง แฝงตัวอยู่ใต้เงาป่าเรียงรายทอดยาวตามไหล่ทางถนนแม่สอด-ท่าสองยาง กว่า 10 กิโลเมตร  ขนาบหลังด้วยทิวเขายังแจ่มชัดสำหรับข้าพเจ้า  ดูเผินๆ คนผ่านทางอาจนึกคิดไปว่าเป็นหมู่บ้านของชนเผ่าทั่วไปที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ อาจจะดูแปลกตาบ้างที่บ้านดูเบียดเสียดหนาแน่น และดูเป็นชุมชนขนาดใหญ่ หากแต่ความจริงที่นี่ คือ พื้นที่สำหรับรองรับผู้คนที่ระหกระเหินหนีความตายและความยากแค้นจากภัยสงครามในฝั่งพม่า กว่า 40,000 คน เป็นพื้นที่พักพิงฯ ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาพื้นที่พักพิงฯ 9 แห่ง[i] ตามแนวชายแดนไทย-พม่า

บางทีไม่รู้ว่าคดีเกิด เพราะคนเยอะดูแลไม่ทั่วถึง กว่าจะรู้หลักฐานอะไรไม่มีแล้ว...”  อัครพันธุ์  พูลศิริ ปลัดอำเภอท่าสองยาง หัวหน้าพื้นที่พักพิงฯ บ้านแม่หละ เปิดฉากการสนทนา

พื้นที่พักพิงฯ บ้านแม่หละ อยู่ในเขตอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก  ระยะทางห่างจากพื้นที่พักพิง 30 กิโลเมตร เป็นพื้นที่พักพิงที่ตั้งอยู่ติดถนนแม่สอด-แม่สะเรียง   มีเจ้าหน้าที่อส.ประจำอยู่ 80 นาย

ผู้หนีภัยฯ บางส่วนได้รับการผ่อนผันให้สามาถเดินทางออกมานอกพื้นที่พักพิงฯ เพื่อไปรับจ้างทำงานรายวันในชุมชนใกล้เคียง แต่ก็ปรากฎว่ามีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ลักลอบ หลบหนีออกนอกพื้นที่พักพิงฯ  เนื่องจากผู้หนีภัยฯ มีจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถควบคุมดูแลและระบุจำนวนได้แน่นอน

พื้นที่พักพิงฯ บ้านแม่หละ อยู่ภายใต้การดูแลของสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าสองยาง  ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ  60 นาย โดยมีจุดตรวจบ้านแม่หละ อยู่ใกล้ๆ กับพื้นที่พักพิงฯ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการอยู่ 1 นาย เพื่อรับแจ้งเหตุและดูแลความเรียบร้อย โดยจะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่พักพิงฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อส. เมื่อได้รับการประสานงานจากปลัดอำเภอ

ถนนลาดยางที่ทอดยาวห่างออกมา 50 กิโลเมตรจากพื้นที่พักพิงฯ บ้านแม่หละ มุ่งสู่อำเภอแม่สอด  อำเภอที่มีประชากรแฝงเป็นแรงงานจากพม่ามากกว่าผู้คนดั้งเดิม เป็นเรื่องราวที่อาจจะพอปะติดปะต่อได้ว่าจำนวนประชากรแฝงที่ถูกเรียกขานว่า แรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานต่างด้าว เหล่านั้นอาจจะรวมไปถึงผู้หนีภัยฯ ที่เดินทางออกมานอกพื้นที่พักพิงฯ ที่ออกมาเพื่อรับจ้างหางาน

จากการพูดคุยในช่วงสั้นๆ กับรองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่สอด  พบว่าในรอบปีที่ผ่านมามี คดีแรงงานต่างด้าว ประมาณกว่า 1,000 คดี ส่วนใหญ่เป็นกรณีแรงงานที่ไม่มีบัตรประจำตัวใดๆ เลย โดยลักษณะคดีส่วนใหญ่เป็นคดีทำร้ายร่างกาย ลักขโมยเล็กน้อย คดีร้ายแรงคือฆ่าคนตายมีเพียงหนึ่งคดี

ถ้าจับคนที่ทำผิดได้ก็ไม่ได้เอาชื่อไปตรวจกับพื้นที่พักพิงฯ เพราะเขาก็ไม่มีระบบที่ดี ตัวเลขไม่แน่นอน ถ้าเราจับได้ก็ดำเนินคดีแล้วก็ส่งด่านตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการต่อ ส่วนใหญ่คนที่ถือบัตรแรงงานเขาไม่ค่อยทำผิดหรอก... รองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่สอดให้ข้อมูล

ในส่วนของตำรวจกองตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลกวดขันคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ในกรณีผู้หนีภัยฯ ที่ลักลอบออกจากพื้นที่พักพิงฯ หากถูกจับกุมแล้วจะถูกดำเนินคดีในฐานความผิดเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง และจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง 

ทีมวิจัย พบว่าข้อมูลลักษณะการกระทำความผิดส่วนใหญ่ คล้ายคลึงกับที่พบในพื้นที่พักพิงฯ บ้านใหม่ในสอย  คือ การทะเลาะวิวาทระหว่างผู้หนีภัยฯ กับผู้หนีภัยฯ และผู้หนีภัยฯ กับเจ้าหน้าที่อส. หรือกับคนไทยจากชุมชนใกล้เคียง การทำร้ายร่างกายเล็กน้อยไปจนถึงร้ายแรง เช่น การฆาตรกรรม การขโมย การตัดไม้มาซ่อมแซมบ้านและการรับจ้างลักลอบตัดขาย การทำร้ายร่างกายในครอบครัว ปัญหาความสัมพันธ์ชู้สาว การข่มขืน ฯลฯ

เช่นเดียวกับการระงับข้อพิพาทในพื้นที่พักพิงฯ บ้านใหม่ในสอย เมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้นในพื้นที่พักพิงฯ กระบวนการยุติธรรมชุมชนจะเป็นกลไกที่ถูกนำมาใช้ก่อน โดยจะแจ้งให้หัวหน้าป๊อก (section leader) เป็นผู้ไกล่เกลี่ย หากไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ข้อพิพาทดังกล่าวจะถูกส่งต่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมชุมชน ในระดับโซน โดยหัวหน้าโซน (zone leader) จะทำหน้าที่เป็น ผู้ไกล่เกลี่ย  หากยังไม่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย ข้อพิพาทจะถูกส่งเข้าสู่ คณะกรรมการด้านการระงับข้อพิพาท (camp justice) โดยเจ้าหน้าที่อส. จะเข้ามีส่วนร่วมรับฟังการระงับข้อพิพาทในทุกระดับ ในฐานะพยาน

บางทีไปกดดันเขามากไม่ได้ ผู้นำเขามี ให้เขาจัดการกันเองก่อน เขาสนใจเรื่องความเป็นอยู่ของเขา กลัวคนข้างนอกมองเขาไม่ดี แล้วพื้นที่พักพิงฯ จะอยู่ไม่ได้…”บางถ้อยคำของอัครพันธุ์  พูลศิริ ปลัดอำเภอท่าสองยาง หัวหน้าพื้นที่พักพิงฯ บ้านแม่หละ 

แม้แต่คนไทยเองก็พยายามทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก กรณีที่ขึ้นศาล คือเขาตกลงกันไม่ได้จริงๆ เราต้องยอมรับว่ากระบวนการในการดำเนินคดีของเรามันมีปัญหา ล่าช้า ยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายเยอะ จริงๆ แล้วผู้เสียหายเขาต้องการค่าชดเชย เพราะเขามีปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องเห็นแก่เงิน เขาต้องการให้ชดเชยสิ่งที่เขาเสียหาย ติดคุกเขาไม่ได้รับการชดเชยอะไรเลย...บางถ้อยคำของ รองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่สอด 

มันมีกระบวนการภายในที่ทำให้เขาอยู่กันอย่างสมานฉันท์ได้ ก็ควรให้เรื่องจบไปดีกว่า ถ้าต้องทำตามหลักกฎหมายจริงๆ คดีก็คงจะเยอะแยะไปหมด ถ้าสำคัญจริงๆ คดีร้ายแรงจริงๆ ก็ต้องพามาโรงพัก..บางถ้อยคำของ รองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าสองยาง 

และเมื่อข้อพิพาทเดินออกนอกพื้นที่พักพิงฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบบกฎหมายไทย พบว่า ก็มีอุปสรรคเช่นกัน  เริ่มตั้งแต่ งบประมาณของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่มีการจัดสรรเพื่อรองรับผู้หนีภัยฯ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าชาวบ้านไทยในพื้นที่  สภาพของยานพาหนะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าพื้นที่  และเมื่อคดีมาถึงมือเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ยังมีความยากในการติดตามตัวผู้กระทำผิด ซึ่งอาจหลบหนีออกไปนอกพื้นที่พักพิงฯ ไปแล้ว ตลอดจนปัญหาการรวบรวมพยานหลักฐาน เนื่องจากระยะเวลาที่เกิดเหตุได้ผ่านพ้นไปนานแล้วกว่าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุ

นอกจากนี้ รวมทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง และไม่มีล่ามในการสื่อสาร แม้ว่าจะมีการไหว้วานให้ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงมาช่วย แต่ก็ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างสมบูรณ์  ไปจนถึงความกังวลใจที่ว่าหากมีการดำเนินคดีกับผู้หนีภัยฯ แล้วมีผู้หนีภัยฯ ถูกตัดสินจำคุกมากขึ้น เรือนจำอาจไม่สามารถรองรับได้ และการที่ผู้หนีภัยฯ ได้รับความเป็นอยู่ที่ดีในเรือนจำ อาจทำให้ผู้หนีภัยฯ ไม่เกรงกลัวต่อการลงโทษนอกจากนี้

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลอีกหนึ่งหน่วยงานคือ  หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 7 (ฉก.ร. 17)  ซึ่งมีภารกิจในการดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน และรอบนอกพื้นที่พักพิงฯ ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำภายในจากเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างกลุ่มวัยรุ่นและเจ้าหน้าที่อส.ในพื้นที่พักพิงฯ แม่หละ ซึ่งบานปลายจนเป็นเหตุให้มีการเผาทำลายสถานที่ของราชการในพื้นที่พักพิงฯ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเหตุการณ์ข้อพิพาทดังกล่าวดูจะเลือนลางไปจากความรับรู้และคงทิ้งไว้เพียงร่องรอยบางอย่าง

ต้องใช้อำนาจเถื่อนถึงจะเอาอยู่ ให้สิทธิเสรีภาพมากเกินไปไม่ได้ พื้นที่นี้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก คนที่ใช้อำนาจคือทหาร ตำรวจใช้อำนาจไม่ได้...บางถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ทหาร หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 7 (ฉก.ร. 17) 

………………………………………………………..

ข้อสังเกตเพื่อมองต่อ...การเดินทางของกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่พักพิงฯ         

เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมวิจัย ซึ่งมีระยะเวลาอันสั้นเพียง 1 เดือนนั้น ในการติดตามเสาะหาข้อเท็จจริงทั้งจากเอกสารต่างๆ  รวมทั้งหน่วยงาน บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวพันกับโจทย์ที่ได้รับ  เป็นข้อจำกัดและข้อกังวลใจอย่างมากว่าคณะของเราจะสามารถสืบเสาะหาข้อเท็จจริงจากโจทย์ที่ได้รับมากน้อยเพียงใด ไปจนถึงแนวทางที่จะมองต่อจากนี้ต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่จะนำมาใช้กับการกระทำความผิดทางอาญาที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่พักพิงฯ         

จนกระทั่งเมื่อทีมวิจัยได้เดินทางลงพื้นที่ในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ได้พบข้อกังวลใจอีกส่วนหนึ่งที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่อาจเข้าใกล้ความจริงได้อย่างเพียงพอ คือ บุคคลต่างๆ ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวตอบโจทย์ให้ทีมวิจัยนั้นล้วนเป็นบุคคลในระดับบริหาร หรือในระดับผู้นำ  ความจริงที่พบและประมวลได้ในขณะนี้อาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ทีมวิจัยได้พบผู้เสียหายบางส่วนในพื้นที่พักพิงฯบ้านแม่หละ ส่วนพื้นที่พักพิงฯ บ้านใหม่ในสอย ทีมวิจัยไม่ได้รับใบอนุญาตให้เดินทางเข้าไปในพื้นที่พักพิงฯ

และเจ้าหน้าที่ที่ให้ข้อมูลนั้นเจ้าหน้าที่ของ UNHCR เป็นผู้เลือกและติดต่อประสานงาน  ซึ่งเป็นข้อจำกัดหนึ่งของงานวิจัยชิ้นนี้เนื่องจากขาดองค์ประกอบสำคัญ คือ ผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่อส. ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้หนีภัยฯ  เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่สืบสวนในพื้นที่พักพิงฯ ฯลฯ  เพื่อที่จะตอบโจทย์สำคัญที่ว่า 

ประการแรก ความยุติธรรมนั้นขึ้นอยู่กับใคร? ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนสำคัญเบื้องต้นที่ว่าใครเป็นคนเลือกและตัดสินใจว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นควรจะไปตรงไหน และเมื่อผลของการแก้ไขข้อพิพาทเบื้องต้นไม่เป็นที่พอใจของผู้เสียหาย เขาควรจะได้รับสิทธิในการเลือกว่าจะมีกระบวนการอย่างไรต่อไปหรือไม่

และประการที่สอง ความยุติธรรมนั้นเป็นอย่างไรกัน และมีอยู่จริงหรือไม่? ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นอีกโจทย์สำคัญหนึ่งที่อาจจะต้องหาคำตอบให้ได้เพื่อให้การจะมองต่อนั้นควรจะเป็นอย่างไร  เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ที่นำมาประมวลนั้นไม่ได้มาจากผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ทำให้ข้อดีและข้อด้อยของกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่พักพิงฯ ที่เป็นอยู่ ไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจน

ซึ่งระบบของกระบวนการยุติธรรมทางคดีอาญาที่จะถูกนำมาใช้ในพื้นที่พักพิงฯ จากนี้ไป ควรจะมีทิศทางอย่างไรที่เพื่อตอบสนองและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้หนีภัยฯ อย่างแท้จริง ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว ข้าพเจ้าเห็นว่ามีข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรมทางคดีอาญาในอนาคต คือ

1. กระบวนการยุติธรรมต้องตระหนักและคำนึงถึงความพร้อมของชุมชนผู้หนีภัยฯ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ ความเข้าใจที่มีต่อระบบกฎหมายไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐเองก็เห็นถึงความสำคัญ ว่าต้องมีการดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างความรู้  และต้องยอมรับว่าในชุมชนผู้หนีภัยฯ มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์  ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต ฯลฯ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบบกฎหมายไทยอาจไม่สอดคล้อง อันจะนำมาซึ่งปัญหาในชุมชนต่อไปหรือไม่

2. หากมีการนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายไทยมากขึ้น บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องตระหนักถึงความพร้อม หรือข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ ดังที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบบกฎหมาย ณ ปัจจุบัน มีความพร้อมมากน้อยเพียงใดที่จะนำพาความยุติธรรมมาสู่ชุมชนผู้หนีภัยฯ อย่างแท้จริง

………………………………………………………… 

รู้มั้ยเมื่อกี้เราไปไหนมา ข้าพเจ้าลองเอ่ยถามคนขับรถตู้ที่เช่ามาสำหรับการเดินทางในครั้งนี้รัฐอิสระ เป็นแนวกันชนพม่า พวกกันที่ขับรถทัวร์เขาว่างั้น  ชายหนุ่มนักขับกล่าวตอบเสียงดังชัดเจนขณะรถเลี้ยวออกมาจากพื้นที่พักพิงฯ 

เมื่อมานึกย้อนอีกครั้งภาพของผู้คนที่นั่นจริงๆแล้วก็อาจจะเป็นเหมือนที่เขาตอบ  เพราะที่นั่นคือดินแดนที่คนภายนอกไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปหรือรับรู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้นหากไม่ได้บัตรผ่านเข้า-ออก (Camp pass)จากกระทรวงมหาดไทย  เจ้าภาพหลักที่ดูแลอยู่

----------------------------------------------------



[i] ได้แก่ พื้นที่พักพิงฯ บ้านใหม่ในสอย, บ้านแม่สุรินทร์, บ้านแม่ละอูน, บ้านแม่ลามาหลวง จังหวัดแม่ฮ่องสอน, บ้านแม่หละ, บ้านอุ้มเปี้ยม, บ้านนุโพ จังหวัดตาก, บ้านต้นยาง จังหวัดกาญจนบุรี และบ้านถ้ำหิน จังหวัดราชบุรี
คำสำคัญ (Tags): #ผู้ลี้ภัย
หมายเลขบันทึก: 102962เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2007 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ

  • ผมทำงานอยู่ที่ อ.แมสอด จ.ตากครับ
  • ดีใจที่เจอคนมีอุดมการณ์การเดียวกัน
  • ถ้ามาแถวๆแม่สอดอีกแวะมาทักทายบ้างนะครับ

Dscf0414

พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านแม่หละ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท