จดหมายจากท่ายาง


การที่เราจะทำอะไร ต้องรู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร พูดง่ายๆทำไปทำไม

          ผมกับพี่ตุ๊(เทพทวย)และพี่ตุ๊ก(ภิพาภรณ์) เคยไปเป็นทีมเพื่อช่วยเพื่อน(peer assist)ให้กับโรงพยาบาลท่ายาง เมื่อหลายเดือนก่อน และทราบว่าโรงพยาบาลท่ายางได้มีการพัฒนาคุณภาพไปดีมากขึ้น

          ผมได้รับจดหมายจากน้องที่ท่ายาง ถามเกี่ยวกับHAก็เลยนำลงมาในที่นี้ด้วย ดังนี้ครับ

สวัสดีค่ะ  คุณหมอพิเชฐ
             คุณหมอสบายดีรึเปล่าคะ ไม่ได้ติดต่อไปเสียนาน ตอนนี้ รพ.ท่ายางก็กำลังเดินหน้าในการทำ HA อย่างเต็มที่ค่ะ กำลังรอประกาศผ่านขั้นที่ 1 อยู่ค่ะ ก็ทำให้มีกำลังใจทำงานคุณภาพในขั้นต่อ ๆ ไปค่ะ  มีเรื่องที่สงสัยในการทำแบบประเมินตนเองค่ะ ขอเรียนถามดังนี้นะคะ
1. ทีมคร่อมต่าง ๆ เช่น IM , RM , IC  ต้องทำ unit profile ของแต่ละทีมเหมือนกับทีม PCT ด้วยรึเปล่าคะ
2. หน่วยงานห้องผ่าตัด ต้องแยกทำ unit profile กับวิสัญญี หรือเปล่าคะ หรือแล้วแต่บริบทของ รพ. เคยถามอาจารย์บางท่านบอกว่าให้แยกกันทำ
รบกวนให้คุณหมอตอบข้อสงสัยให้หน่อยนะคะ
ฝากความคิดถึงพี่ ๆ ที่ รพ.บ้านตากทุกคนด้วยค่ะ / เภสัชโอ๋ รพ.ท่ายาง

คำตอบ
                การพัฒนาคุณภาพของแต่ละโรงพยาบาลจะประสบความสำเร็จได้ดีเมื่อทำตามบริบทของโรงพยาบาลตนเอง คนภายนอกเป็นแค่ผู้ชี้แนะหรือให้ความคิดเห็นเท่านั้น จะทำตามหรือไม่เป็นการตัดสินใจของเราเอง

               การที่เราจะทำอะไร ต้องรู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร พูดง่ายๆทำไปทำไม  คำตอบที่ได้ต้องส่งผลที่ดีต่อคนไข้ โรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่  เหมือนกับเวลาเราทำ 5 ส บอกว่าสะดวกต้องมีป้าย แล้วก็ไปเขียนป้ายติดที่ทีวี ว่าเป็นทีวี อย่างนี้ไม่รู้ว่าจะได้ประโยชน์อะไรมากขึ้น เพราะใครๆก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นทีวี ทำกับไม่ทำก็จะไม่แตกต่างกันในผลของมันแต่ทำแบบนี้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรมากขึ้น

                Self assessment เป็นการทำเพื่อพิจารณาว่าเราเป็นยังไงบ้าง ทำอะไรได้ดีแล้ว มีอะไรที่ยังเป็นโอกาสในการพัฒนา

                Unit profile เป็นสิ่งที่จะบอกว่าเราเป็นใคร มีหน้าที่อะไรที่ต้องทำ ทำยังไงบ้าง และที่ทำนี่ทำให้ใคร การเขียนUnit profileจึงเป็นการพิสูจน์ว่าเรารู้จักตัวเราเองหรือเปล่า หากเราไม่รู้จักตัวเองแล้วเราจะไปประเมินตนเองได้อย่างไร 

                ในความเห็นของผม จึงอยากให้ทีมคร่อมทุกทีมทำUnit profile เพื่อให้ทีมยืนยันได้ว่า เขารู้จักตัวเองดีพอ ซึ่งจะทำให้เขาเข้าใจตนเองและทำงานได้ตรงภารกิจมากขึ้น มองขอบเขตของตนเองชัดขึ้น

                ในส่วนของข้อ 2 ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของโรงพยาบาล หากภารกิจของวิสัญญีมีไม่มากนักและช่วยกันทำอยู่กับงานผ่าตัดจะเขียนรวมกันก็ได้ แต่หากภารกิจมีมากหรือต้องการความชัดเจนของเนื้องานเพราะมันก็ไม่เหมือนกันเลยทีเดียว อยากแยกออกมาให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นหรือเพื่อให้สามารถกำหนดจุด focusได้ชัดเจนขึ้น เวลาถูกถาม การแยกเขียนก็จะช่วยได้มาก ผมยกตัวอย่างฝ่ายบริหารงานทั่วไปของโรงพยาบาลบ้านตาก ตอนแรกเขียนร่วมกันทั้งฝ่าย เวลาที่ปรึกษาถาม ทุกคนก็จะต้องตอบได้ทั้งหมดในส่วนที่ฝ่ายเกี่ยวข้อง ปรากฎว่าบางงานจะจำไม่ค่อยได้  ตอนหลังเขาขอเขียนแยกออกมาเป็นการเงิน ธุรการ พัสดุ ทำให้เขาสามารถFocusงานของเขาที่เขารับผิดชอบได้ดีขึ้น พูดง่ายๆไม่ต้องจำมาก ไม่ต้องไปจำของคนอื่น จำและทำและพัฒนาในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบอย่างเดียว เป็นต้น

                ดังนั้น หากไม่เป็นภาระมากและเพื่อให้เจ้าของงานรู้จักตัวตนของงานตนเองอย่างดี ควรจะเขียนครับ

                สำหรับท่านผู้อ่านที่มีคำตอบอื่น ช่วยนำเสนอลงในข้อคิดเห็นด้วยครับ จะได้เป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ขอบคุณล่วงหน้าครับ

หมายเลขบันทึก: 10156เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2005 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท