ข้อจำกัดใหม่(Treat)ของโรงพยาบาลบ้านตากเนื่องจากระบบGISของกระทรวงสาธารณสุข


บางที่อาจมีคนไข้ (ในโรงพยาบาล)น้อย แต่อาจมีคนป่วย(ในอำเภอ)มากก็ได้

             สำหรับโรงพยาบาลบ้านตาก เมื่อกระทรวงนำระบบGISมาใช้ก็ถูกจัดอยู่ในระดับ 2.1 มาสองปีแล้ว ไม่สามารถมีแพทย์เฉพาะทางได้ ซึ่งผมก็ทำใจไปแล้ว เพราะอย่างไรก็คงยากที่จะไปต่อรองเนื่องจากประชากรก็มีแค่ 50,000 คน และระยะทางจากตัวจังหวัดแค่ 24 กิโลเมตร แต่ในรอบนี้ความชัดเจนของกติกามีมากขึ้น ตัวเลขที่ออกมาก็คือนอกจากจะเป็นแค่ 2.1 แล้ว จำนวนเตียงที่ควรจะเป็นก็มีได้แค่ 35 เตียง จากปัจจุบัน มี 60 เตียง และก็เติบโตมาจากเงินบริจาคโดยไม่ได้พึ่งงบประมาณจากรัฐบาลเลย และให้มีแพทย์ได้ไม่เกิน 5 คน  ตอนนี้เรามีอัตราครองเตียงล่าสุดที่ 93 % เมื่อคิดที่ 60 เตียง   หากได้รับการจัดสรรทรัพยากรแค่ 35 เตียง คงยากที่จะอยู่ได้  

หากจะมองว่าคนไข้เยอะแสดงว่าสร้างสุขภาพไม่ดี ก็คงต้องดูว่าการเจ็บป่วยในวันนี้ ไม่ใช่เป็นผลของวันนี้เท่านั้นแต่น่าจะเป็นผลของเมื่อ10-15 ปีที่แล้ว ที่เราไม่สามารถไปป้องกันได้แล้ว มีแต่จะคอยรักษาเขา และต้องมองด้วยว่า การเข้าถึงบริการก็มีผลให้คนไข้มากได้เช่นกัน บางแห่งมีประชากรมากจริง แต่ตัวคนจริงๆมีอยู่ในอำเภอแค่ไหน หรือ ประชาชนมีโอกาสหรือมีความเชื่อมั่นในการเข้ามาใช้บริการแค่ไหน  บางที่อาจมีคนไข้ (ในโรงพยาบาล)น้อย แต่อาจมีคนป่วย(ในอำเภอ)มากก็ได้  การจำกัดแบบนี้จึงกลายเป็นข้อจำกัดอันยิ่งใหญ่สำหรับโรงพยาบาลบ้านตากและมีผลต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาในอนาคตต่อไป

                ที่นำเสนอมานั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะต่อต้านกฎเกณฑ์นี้ นั่นไม่ใช่วิสัยของผม ไม่ว่ารัฐบาลหรือกระทรวงจะออกอะไรมา ผมไม่เคยต่อต้าน แต่ผมจะมองว่าสิ่งนั้นๆเป็นโอกาสหรือข้อจำกัดของเรา แล้วก็พยายามยอมรับสิ่งนั้นพร้อมทั้งหาทางดิ้นรนเพื่อให้โรงพยาบาลพัฒนาไปให้ได้  พยายามที่จะเล่นให้ได้ตามกติกาที่กำหนด  เมื่อมองในแง่การวางแผนยุทธศาสตร์ การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก นโยบายGISนี้ จึงเป็นข้อจำกัดในส่วนของนโยบายหรือP ใน PEST Model เมื่อเราต้องทำงานเชิงยุทธศาสตร์ เราจะหลบหลีกข้อจำกัดนี้ได้อย่างไร เพราะคำว่ากลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ หมายถึง การทำงานให้สำเร็จภายใต้ข้อจำกัด

                ข้อจำกัดเรื่องไม่ให้มีแพทย์เฉพาะทาง นี้ ทำให้โรงพยาบาลบ้านตากเกิดจุดอ่อน (Weakness) ในเรื่อง ขาดแพทย์ เฉพาะทาง และยิ่งถามความต้องการของคนบ้านตากด้วยแล้ว ความต้องการอันหนึ่งคืออยากให้มีแพทย์เฉพาะทาง ถ้าเราจะจัดให้มีแพทย์เฉพาะทางก็เป็นการยากเพราะกระทรวงไม่ให้เรา การทำกลยุทธ์ก็ต้องทำอย่างไรให้ชาวบ้านรู้สึกอุ่นใจว่าไม่มีแพทย์เฉพาะทางเราก็บริการเขาได้

                เมื่อไม่ให้มีแพทย์เฉพาะทาง การบริการที่ต้องอาศัยแพทย์ก็จะถูกจำกัด ทำให้เราไม่สามารถเพิ่มรายได้จากการบริการที่ยากขึ้นไปได้ คนไข้เบิกได้หรือจ่ายเงินเองก็จะไม่ค่อยมา  ทางที่ดีเราจึงต้องเปลี่ยนเป้าหมายไปเพิ่มศักยภาพบริการด้านอื่นๆที่ไม่ต้องพึ่งแพทย์เฉพาะทางเช่น บริการทันตกรรม บริการกายภาพบำบัด การดูแลผู้พิการ การดูแลผู้สูงอายุ บริการแพทย์แผนไทย บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ  บริการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น
                ยิ่งการจัดสรรเงินในระบบบริการ 30 บาทรักษาทุกโรคแล้วก็พบว่าเป็นข้อจำกัด (Treat) เช่นกัน หากเปรียบเทียบกับการได้รับเงินUCโดยรวมของโรงพยาบาลในจังหวัดตาก พบว่าบ้านตากได้เงินน้อยกว่าแม่ระมาดที่ขนาดประชากรและขนาดเตียงและปริมาณงานเท่าๆกันถึง 10 ล้านบาท บ้านตากได้ 18 ล้าน แม่ระมาดได้ 29 ล้าน พบพระได้ 27 ล้าน ท่าสองยางได้ 29 ล้าน อุ้มผางได้ 38 ล้าน โดยสามเงาที่มีประชากรน้อยกว่า ขนาดเตียงและปริมาณงานน้อยกว่าได้ 17 ล้านบาท  ทำให้เงินงบประมาณที่ได้รับอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เพียงพอ ทำให้โรงพยาบาล บ้านตาก ไม่มีการลงทุนในด้านสิ่งก่อสร้างใดๆมากว่า 5 ปีเพราะไม่มีเงินทำและไม่ได้งบสนับสนุน ขนาดแฟลตพักพยาบาลซึ่งต้องมีตั้งแต่เป็น 30 เตียง ณ บัดนี้ก็ยังไม่มี  สิ่งเหล่านี้จึงเป็นข้อจำกัด และส่งผลให้โรงพยาบาลมีเงินบำรุงน้อยและหนี้สินมากกลายเป็นจุดอ่อนไปอีก ขนาดพี่ศุภกิจ รองนายแพทย์สาธารรสุขจังหวัด เห็นยอดเงินที่บ้านตากได้รับแล้ว ยังเคยพูดว่าอยู่ได้ยังไง

                ผมถามเจ้าหน้าที่ว่า เราจะสู้หรือถอย ถ้าถอยก็ปล่อยไปตามที่มันต้องเป็น อาจต้องยุบเตียง แล้วส่งคนไข้ที่ต้องนอนโรงพยาบาลแต่ไม่หนักมากจนต้องไปตัวจังหวัด ให้ไปนอนแออัดที่ตัวโรงพยาบาลจังหวัด แต่ถ้าสู้ก็ต้องทำให้อยู่ได้และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีคืออยู่ได้แล้วต้องดีด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่เราเลือกทางหลัง ตั้งแต่ปี 2540 เรามีเงินน้อยมาตลอดแต่ก็พัฒนามาได้ แต่มาปี 2549 นี่ ผมว่ามันหนักกว่าเดิม ก็ไม่รู้ว่าเราจะสู้ได้แค่ไหน แต่เราก็ได้ทำSWOT Analysis และวางยุทธศาสตร์ไว้แล้ว ก็ติดตามดูว่าจะทำได้แค่ไหน

                เมื่อต้องสู้ ก็ต้องมาดูจุดแข็งและโอกาส  เรามีโอกาส(Treat) ที่โรงพยาบาลเป็นที่รู้จักของชุมชน ท้องถิ่น สื่อมวลชน  เป็นทางผ่าน มีจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว  เรามีจุดแข็ง (Strenght) ที่ทีมงาน อาคารสถานที่ ความใกล้ชิดกับชุมชน มีสองทางหลักเพื่อความอยู่รอดคือการลดรายจ่าย โดยต้องพยายามลดคนเจ็บป่วยลง ทำให้เขามีสุขภาพดีขึ้น ส่วนการลดรายจ่ายที่เกี่ยวกับค่าดำเนินการอื่นๆผมคิดว่าถ้าลดจากนี้ก็ลดคุณภาพแล้ว รายได้เจ้าหน้าที่ถ้าลดลงกว่านี้กระทบขวัญกำลังใจแน่ เราจึงไม่ลด  อีกทางคือการเพิ่มรายได้ โดยเอาส่วนบริการที่เป็นสิ่งที่เราเพิ่มได้มาทำมากขึ้น ดึงงบประมาณสนับสนุนจากแหล่งอื่นๆมากขึ้น
                นับแต่ปีนี้เป็นต้นไป เราชาวโรงพยาบาลบ้านตากคงต้องเจอศึกหนักกันอีกเพื่อคงคุณภาพบริการและสถานะของโรงพยาบาลไว้ให้ได้
คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 10153เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2005 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท