(รายงานตอนที่ 4)
การพัฒนา roadmap ควรทำทั้ง 2 ระดับ คือ ระดับ Micro และระดับ Macro โดยเริ่มต้นที่คนไทยแต่ละคน (และทุกภาคส่วน) มีความเข้าใจ “เศรษฐกิจพอเพียง”อย่างแท้จริง เริ่มที่ตัวเองได้ ไม่ต้องรอให้ภาครัฐเป็นคนขับเคลื่อนอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็ต้องมีภาพรวมของประเทศด้วย
โดยให้ “(ระดับ Micro) คนไทยทุกภาคส่วนมีวิถีชีวิตอย่างพอเพียงสอดคล้องกับภูมิสังคมของไทยในด้าน การบริโภค, การก่อหนี้, การดูแลสุขภาพ, การดูแลสมาชิกในครอบครัว, การทำเพื่อส่วนรวม, การดูแลสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิตประจำวัน
และ (ระดับ Macro) ประเทศขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงที่สร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างมีเสถียรภาพ โดยสร้างความสมดุลของการพึ่งพา(ทุนและเทคโน)ภายนอกและภายใน, ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม, รักษาความสมดุลของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม”
ที่ประชุมเห็นพ้องว่ากระบวนการ (Process) เป็นปัจจัยสำคัญอันจะทำให้เกิดผลได้จริง มากกว่าการตั้งธงไว้นิ่งๆ ดังนั้นจึงเสนอให้สร้างกระบวนการที่ไม่ใช่การกำหนดแผนด้วยกลุ่มคนไม่กี่คน หากแต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาร่วมคิดร่วมกำหนดเป้าหมาย ตลอดจนรายละเอียดขององค์ประกอบที่วางไว้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันกับแผนการเศรษฐกิจพอเพียง และต้องเป็นการบูรณาการอย่างครอบคลุมทุกภาคส่วน
เมื่อกำหนดแผนแม่แบบอย่างกว้างที่เกิดจากการทำงานร่วมกันสำเร็จ แผนนี้ยังไม่สามารถนำไปใช้กับทุกภาคส่วนได้ทันที แต่เป็นเพียงแนวทางให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแผนเฉพาะของภาคส่วนตน ในแง่นี้ภาคส่วนจึงมีบทบาทและเป็นผู้กำหนดตัวเอง แผนของแต่ละภาคส่วนจะเป็นแผนที่มาจากความรู้ความเข้าใจต่อสภาพปัญหาที่ภาคส่วนประสบ ในแง่หนึ่งการวางกรอบจะทำให้การวางแผนของแต่ละภาคส่วนไม่ละเลยประเด็นที่แผนระดับมหภาคให้ความสำคัญ
ไม่มีความเห็น