ลุงพูน
นาย พูลสวัสดิ์ ฉันทธำรงศิริ

บันทึกแรก กับการเกษตรแบบธรรมดาๆ


     หลังจากที่ได้เข้าไปคุยใน blog ของเพื่อนๆ ก็ได้รับคำแนะนำว่า ให้ออกมาสร้าง blog เป็นของตัวเองสักอัน

     จนกระทั่งวันนี้ พรรคพวกที่แสนดีก็จัดการแนะนำการสมัครให้จนเรียบร้อย ก็เลยหาอะไรมาเขียนให้คนที่สนใจได้อ่านกัน

     ตอนนี้ก็เป็นชาวสวนยางธรรมดาๆ เพียงแต่ว่าไม่ได้กรีดเอง เพราะ เฒ่าแล้ว ไปทำเองคงไม่ไหว จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็เห็นว่าชาวสวนยางมักจะใส่แต่ปุ๋ยเคมีกันเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่กระแสของเกษตรกรรมธรรมชาติ กำลังมาแรง ก็เลยลองดูว่า ระหว่างการใช้ปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ในการทำสวนยาง ผลจะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ก็เริ่มมาฝึกหัดทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ทำน้ำชีวภาพ โดยเข้ารับการอบรมจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง ที่อยู่ใกล้ๆ สวน เมื่อต้นปี 49 หลังจากได้เรียนรู้ ก็เริ่มทำและทดลองใช้เองบ้าง แจกจ่ายแก่คนรู้จัก ไปทดลองใช้บ้าง ก็พอจะบอกได้ว่า ระยะเวลาการสังเกตุผล ประมาณ 1 ปี สำหรับต้นยางเล็กที่เริ่มปลูกใหม่ การให้น้ำปุ๋ยชีวภาพ ทำให้ต้นยางเจริญเติบโตได้ ไม่แตกต่างไปจากการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ตามคำแนะนำ ของ กสย มากนัก แต่ว่าต้นทุนค่าปุ๋ย หากต้องซื้อด้วยเงินของเราเองแล้ว นำชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพย่อมถูกกว่าแน่นอน ที่สำคัญคือ เงินตราไม่รั่วไหลไปต่างประเทศ (แต่ก็อย่าเพิ่งชล่าใจ หากรัฐบาลไปทำ FTA กับประเทศต่างๆ เราอาจจะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ในการใช้จุลินทรีย์ ที่มีพื้นเพอยู่ในเมืองไทยก็ได้)

     สิ่งต่างๆ ที่เป็นความรู้ที่แท้จริงในท้องถิ่นยังมีอีกมาก นักวิชาการอาจจะไม่สนใจในสิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ แต่หากมีการเก็บรวบรวมข้อมูลให้มีระบบ เราก็จะได้ตัวความรู้มากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและนักวิชาการได้

คำสำคัญ (Tags): #เกษตรกรรม
หมายเลขบันทึก: 100344เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2007 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์

  • เข้ามาสวัสดีทักทายนะครับ
  • บ้านผมอยู่แถวๆ อ.จุฬาภรณ์ หลัง ที่ทำการ อบต. ตำบล ทุ่งโพธิ์ หมู่ที่หนึ่งนะครับ
  • เผื่ออาจารย์แวะผ่านไปแถวนั้น แวะดื่มน้ำทานข้าวได้เต็มที่ ยินดีต้อนรับนะครับ
  • ผมเรียนเกษตรแบบวิชาพื้นฐานแฝงกับวิทยาศาสตร์มาในระดับชั้นมัธยมครับ แต่ชีวิตพัดพาให้ทิ้งเกษตรเพราะเรียน ป.ตรีในคนละเรื่องครับ แต่ก็ยังไม่ได้ลืมในแนวทางแต่ขาดตกบกพร่องเรื่องการปฏิบัติครับ พักหลังมานั่งแต่หน้าจอคอมพ์ แทนครับ จนวันหนึ่งได้มีโอกาสเอา ป.ตรี กับ มัธยม มาผสมกัน จนทำให้รู้สึกว่าที่ได้ค้นๆ เรียนๆ มายังมีทางเชื่อมกันได้ครับ
  • แต่ก็ยังต้องพัฒนาอีกไกลครับ แต่ผมก็เชื่อว่าแนวทางตามธรรมชาตินั่นหล่ะครับ คือคำตอบที่ยั่งยืนที่สุด การสังเคราะห์ที่สุดยอด น่าจะคือการสังเคราะห์มาจากธรรมชาติ หรือหมายถึงธรรมชาติสังเคราะห์ธรรมชาติครับ ส่วนคนเราคงเข้าไปร่วมอยู่ในกระบวนการที่การทำและทดลองที่ช่วยให้ระบบเป็นไปในทางที่ดีมากขึ้น แต่ไม่ควรจะเน้นในเรื่องการทำลายจนสูญพันธุ์ครับ
  • อาจารย์ผมหลายๆ ท่านมาช่วงหลังๆ ไม่ได้มีโอกาสติดต่ออาจารย์ที่สอนเกษตรมาเลยครับ กลับไปต้องหาโอกาสไปพบหาครับ
  • คงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกนะครับ

สวัสดีครับคุณเม้ง
ขอบคุณที่เข้ามาทักทายกันนะครับ
     ผมเรียนมาทางการเกษตรโดยตรงครับ ก็จะเป็นเกษตรเคมีเป็นส่วนใหญ่ ดีที่ว่าได้เรียนวิชาจุลินทรีย์มาด้วยในระดับปริญญาตรี เลยทำให้เกิดความเข้าใจในการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ หรือการนำเอาจุลินทรีย์มา ห้ำหั่นจุลินทรีย์ด้วยกัน
     ด้วยความได้เปรียบในด้านความรู้ที่ผมพอมีติดตัวอยู่บ้าง และผมคลุกคลีอยู่กับการค้นคว้าทดลองในด้านการเกษตรทั้งที่ทำเองและคอยดูแลคนอื่นเขาทำกัน ทำให้มีความได้เปรียบเพิ่มขึ้น ในการที่จะไปบอกใครๆว่า เกษตรกรรมแบบธรรมชาติ ดีกว่าเกษตรกรรมแบสารเคมีอย่างไร

     เสียอยู่อย่างเดียว ตอนนี้ไม่มีมือมีตืน ที่จะคอยรับงานวิจัยไปค้นคว้าทดลองต่อไป แต่ก็คิดว่า ไอเดียต่างๆที่เสนอออกไปในโลกกว้างนี้ อาจจะมีใครนำไปศึกษาค้นคว้าทดลองหรือต่อยอด ก็จะได้ผลสรุปออกมาได้บ้าง

     ยกตัวอย่างสักอันหนึ่ง ในถังหมักปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพหากแมลงวันวางไข่ ก็จะมีหนอนเกิดขึ้น และหนอนนั้นจะไม่กลายเป็นตัวแมลงวัน คงสภาพเป็นหนอนอยู่อย่างนั้นซึ่งไม่ทราบว่ามีการล้มหายตายจากกันไปบ้างหรือไม่
     บางคนบอกว่า หนอนนี้จะตายไปแล้วก็ให้โปรตีนแก่น้ำหมักชีวภาพที่เราทำ ผมคิดไปว่า หากหนอนในน้ำหมักชีวภาพไม่สามารถเข้าดักแด้ จนกลายเป็นตัวเต็มวัยของแมลงวันได้ น่าจะเกิดจากสิ่งที่อยู่ในน้ำหมักชีวภาพนั้นได้หรือไม่
     หากรู้ว่า สารตัวนั้นคืออะไร ที่สามารถยับยั้งไม่ให้หนอนแมลงวัน กลายมาเป็นตัวเต็มวัยได้ สารตัวนี้น่าจะมีประโยชน์ในการป้องกันกำจัดแมลงวันต่อไป (แต่ทำไปทำมา ทำไมเกษตรกรรมธรรมชาติ จะออกมาเป็นเกษตรกรรมสารเคมีอีกละนี่)

สวัสดีครับท่านอาจารย์

  • ยอดมากๆ เลยครับ เรื่องเคมีกับอินทรีย์นะครับ 
  • เป็นสิ่งดีๆ มากๆ เลยครับ ที่อาจารย์ได้มีโอกาสศึกษาหลายๆ อย่างทั้งทฤษฏีและวิจัยปฏิบัติ และบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติเอา แต่ฟังเพื่อนมาก็สู้ทำเองไม่ได้ครับ เพราะหากได้เอามาทำเองจะได้สัมผัสเอง เราอาจจะโง่กว่าคนที่เคยทำมาแล้ว หรือเราอาจจะรู้มากกว่า หรือเราอาจจะรู้อะไรมากๆ ขึ้นกว่านั้นและโยงใยได้มากขึ้น กว้างขึ้นครับ 
  • คิดได้สุดยอดครับผม สำหรับเรื่องน้ำหมักครับ ผมว่าหากให้ชัดเจนนะครับ จัดถังหมักให้เข้าที่แล้วต่อกล้องเว็บแคมชุดหนึ่งครับ ไว้ที่หัวจุกนะครับ ที่เป็นกระจกแล้วอาจจะมีการถ่ายภาพความแตกต่างแบบสามทิศทางครับ หรือจะทำในระดับห้องทดลองก็ได้ครับ แล้วจะติดตามได้คับ ถึงความเปลี่ยนแปลง เราศึกษาเรียนรู้เพื่อทำความเข้าในในกล่องดำครับ เพราะสิ่งที่เราใส่เข้าไป กับสิ่งที่ได้มาตอนเปิดฝาแล้ว เราไม่ทราบกระบวนการภายใน
  • หากให้ยอดกว่านั้นนะครับ มีการสแกนด้วยเครื่องมือสแกนสามมิติ (อิๆๆ อันนี้แพงครับ ผมเคยสแกนรากต้นไม้ทั้งกระถางเพื่อหาดูว่ารากเป็นอย่างไร โดยต้นไม้ไม่ตาย ติดตามการโต) แบบนี้อาจจะได้แนวทางไปเลยครับ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ส่วนผลลัพธ์เป็นอย่างไร น่าสนใจครับ
  • อิๆๆๆ พอท้ายที่สุดแล้ว อินทรีย์ก็คือเคมีครับ เพราะสิ่งที่เรากิน เรากินอินทรีย์ก็จริงครับ แต่ท้ายสุดเราก็ได้เคมี ดูดซึมเคมีไปใช้ครับ ต้นไม้ก็เช่นกันครับ ใส่จุลินทรีย์ให้ย่อยซากในดิน ท้ายที่สุด รากพืชนำเข้าด้วยแนวไอออนใช่ไหมครับ มันต้องแตกตัวก่อนจะเข้าสู่รากพืช แล้วเข้าไปแบบเคมีด้วยใช่ไหมครับ เพราะน้ำ ก็คือ H2O ก็เป็นเคมีเช่นกันครับ
  • ดังนั้นท้ายที่สุดคือเคมี ซึ่งเราหนีไม่พ้นครับ แต่ก่อนจะมาถึงปลายสุดเคมีนี้ ขอให้เป็นอินทรีย์มาก่อน เพราะมันจะครบวงจรกว่า ดีกว่าการให้เคมีตั้งแต่เริ่มต้น เพราะจะมีผลต่อระบบนิเวศน์มากกว่า หรือเปล่าครับ ไม่แน่ใจผมเอาพร้าวห้าวมาขายสวนหรือเปล่า และผมก็เชื่อว่าอาจารย์ทราบดีกว่าผมเยอะครับ
  • กราบขอบพระคุณมากครับผม ได้ประโยชน์มากๆ เลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท