เมื่อเริ่มคิดถึงเกณฑ์ ก็เริ่มขาดอิสรภาพ


GotoKnow.org น่าจะเป็นเวทีเสมือนที่เปิดโอกาสให้อย่างอิสระในการนำเสนอออกมาตามศักยภาพที่เขามีอย่างเป็นธรรมชาติ ได้ไหม?

     “บ้านเมืองจำเป็นต้องมีขื่อมีแป จึงจะสงบเรียบร้อย” ผมมองยังไงก็ว่าเป็นเชิงลบครับ แต่ก็ยอมรับได้เพราะเมื่อมีคนหมู่มากมาอยู่รวมกัน ก็จำเป็นต้องมีอะไรสักอย่างมากำหนดกฎเกณฑ์ให้เกิดความยำเกรง และเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้น กฎเกณฑ์ที่ว่านี้ในอดีตที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ คือ ปทัสฐานทางสังคม (Norm) สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการตกผลึกการปฏิบัติ การคิด การปฏิบัติซ้ำ ผ่านการปรับปรุงครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉวบฉวย และแอบแฝงอย่างเช่นในปัจจุบัน

     ไม่ได้ต้องการพูดถึงกฎหมายบ้านเมืองอย่างที่เกริ่นข้างต้น แต่เป็นเพียงสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างซึ่งอยากให้พิจารณากันเอง ที่จะกล่าวในบันทึกนี้ก็เป็นเพียงเพราะได้เห็นความพยายามที่จะสร้างเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อ GotoKnow.org เช่น ลองคิดดังๆ เรื่อง "ตัวชี้วัด" ใน GotoKnow  ในบันทึกของ อ.ดร.ประพนธ์ หรือ ทำไมจึงต้องมีดัชนีชี้วัด GotoKnow.org ของ อ.ดร.จันทวรรณ หรือบันทึกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ รวมถึงข้อคิดเห็นท้ายบันทึกนั้นด้วย

     จริง ๆ ในเนื้อแท้แล้วเห็นด้วยเป็นอย่างมากหากจะดำเนินการเพื่อเฟ้นหา “บันทึกคุณภาพ” แต่ก็กริ่งเกรงว่าจะนำพาให้ท้อถอยเสีย เพราะกังวลกับเกณฑ์คุณภาพที่ว่าจนไม่กล้าบันทึก ผมอาจจะพูดแทนคนอื่นบ้างในทีมงานไตรภาคีฯ คงไม่ต้องพิสูจน์ว่าเขาคือใคร แต่มีแน่ ๆ ดังเช่นถ้อยคำที่ว่า “ไม่กล้าเขียนเพราะรู้สึกว่าคนอื่น เขาเขียนดี ๆ อายเขา ขอแค่เป็นคนอ่านก็พอแล้ว”

     ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ อาจจะไม่มีคุณภาพก็ได้หากใช้เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งที่แข็ง ๆ ทื่อ ๆ มาวัดเขา แต่จะมีคุณภาพและมีคุณค่ากับใครก็ได้หากเขาคนนั้นอ่านแล้ว Get Idea จนนำไปสานต่อหมุนวนเป็นเกลียว เกิดความรู้ใหม่เป็นพลวัตร (Dynamic) อย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเขาใช้เกณฑ์ของเขาเอง ในใจของเขาเอง หาใช่เกณฑ์กลางที่ตั้งขึ้นไม่ ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติจากนักบันทึกเหล่านี้ไม่ใช่หรือที่เราแสวงหา และอยากให้เขาได้เข้ามาสู่สังคม GotoKnow.org ให้มาก ๆ ฉะนั้นเราจะมาสกัดเขาเสียแต่ต้นทำไม

     รางวัลเพื่อสร้างแรงใจ ก็เห็นด้วยอยู่ว่ามีความจำเป็นและเป็นการเสริมแรงเชิงบวก เป็นเรื่องที่ดี แต่หากเมื่อไหร่เราได้หลงลืมวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของรางวัลที่ถูกกำหนดขึ้นเสียแล้ว เมื่อนั้นรางวัลซึ่งเป็นธรรมดาที่คนได้จะมีน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ ก็จะเกิดการท้อถอย นั่นก็คือคนที่ท้อถอยไปตามสมมติฐานนี้น่าจะมากกว่าคนที่อยู่ต่อ อย่างนี้น่าจะเรียกว่าแรงใจเทียม ฉะนั้นแรงใจแท้ในความหมายของผมคือการทำให้คนส่วนใหญ่อยู่ต่อ อยู่เพื่อร่วม ลปรร.กัน

     คนส่วนใหญ่จะอยู่ต่อได้ ก็ต้องมีอิสรภาพในการบันทึกโดยไม่ต้องสนใจว่าเกณฑ์จะเป็นเช่นไร ทางที่ดีผมจึงมองว่าสำหรับ GotoKnow.org น่าจะเป็นเวทีเสมือนที่เปิดโอกาสให้อย่างอิสระในการนำเสนอออกมาตามศักยภาพที่เขามีอย่างเป็นธรรมชาติ ได้ไหม? กฎเกณฑ์ใด ๆ ถ้าไม่มีได้ก็จะดี หากจะมีก็อย่าได้เคร่งครัดจนไปปิดกั้นโอกาสที่ดีงามนั้นเสีย เพราะเหมือนจะไปขัดแย้งเสียเองกับหลักการที่พยายามจะให้ “คน” นำความรู้/ภูมิปัญญาฝังลึกที่ทรงคุณค่าออกมาให้มากที่สุด เพื่อแลกเปลี่ยนกัน และพัฒนาความรู้ต่อยอดกันออกไปอย่างต่อเนื่อง ใช่ไหมครับ?

หมายเลขบันทึก: 16473เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2006 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

โดนใจ..อย่างจัง

ขณะงัวเงีย...และเซื่องซึม..อยู่ในความรู้สึก
เมื่อเข้ามาเจอ.."เมื่อเริ่มคิดถึงเกณฑ์ ก็เริ่มขาดอิสระ"...
ความง่วงในอารมณ์...พลันหายไป
ความตื่นตัว..และพลังกลับมา ณ จุดเดิม
อยากจะตะโกน...ไปให้สุดดวงจิต...และความคิดคำนึง
"ขอบคุณ"...คุณชายขอบ
ที่ยังไม่ละ...จิตวิญญาณ...แห่งการ..เรียนรู้
เพื่อแลก..กับบางสิ่งบางอย่าง...
แต่..หากยังคง...พลังแห่งการบันทึก
ด้วยจิต...และใจ...ที่จะถ่ายทอด
โดยปราศจากเงื่อนไขใดใด...ในการ ลปรร.

   สะท้อนมุมมองอีกด้านหนึ่งดีครับ เรื่องเกณฑ์ผมค่อยข้างจะเห็นด้วยในหลักการ แต่ผมกลัวเหมือนคุณชายขอบเหมือนกันคือ มันจะไปปิดกั้นความอยากเขียนของ "ดาวดวงใหม่" ด้วยเหตุผลเพียงว่า "อายเขา"    ขนาดยังไม่มีเกณฑ์หรือดัชนีชี้วัด ก็ยังไม่มี "ฉันทะ" ในการเขียน แต่ขอเป็น "ผู้อ่านก็พอ"

  ดังนั้นสำหรับ "นักเขียนหน้าใหม่" อย่าไปสนใจเรื่องเกณฑ์เลยครับ ตั้งหน้าเขียนเพื่อพัฒนาตัวเอง และแบ่งปันความรู้ให้คนอื่นๆ เถอะครับ ขอให้กำลังใจและเอาใจช่วยครับ..

เมื่อโดนใจ...ก็ขอเติม...ต่อ

เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือในการสร้างจัดเก็บ และเผยแพร่ความรู้โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้คนในสังคมเกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ สะสมความรู้ ตลอดจนสามารถสร้างความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมที่เป็นทรัพย์สินที่มีค่ายิ่ง หรือเกิดแนวทางการปฏิบัติงานที่ดีที่สุด (Work Process) ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด นอกจากนี้การบูรณาการ ICT มาใช้ในการจัดการความรู้ในสังคมฐานความรู้ยังมีจุดมุ่งหมายของการใช้ระบบการจัดการความรู้ สรุปได้ดังนี้ 


   1.เพื่อทำให้เกิดการแบ่งปันและการประยุกต์ใช้ความรู้
   2.ระบุผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายบุคคลอย่างไม่เป็นทางการ
   3.เพื่อการมีส่วนร่วมในเครือข่ายและชุมชน
   4.เพื่อการสร้างและการแลกเปลี่ยนความรู้ในเครือข่ายต่างๆ
   5.เพื่อเพิ่มความสามารถของคนในการเรียนรู้
   6.เพื่อเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ คน และกระบวนการ

ดังนั้น บทบาทของนักเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ นักเทคโนโลยี การศึกษาหรือนักเทคโนโลยีการสอนที่มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในการออกแบบสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ของมนุษย์นั้น ต้องเน้นตระหนัก "ในการให้ความรู้ได้เกิดการถ่ายโอนความรู้ หรือมีการเคลื่อนย้ายของความรู้" มากกว่าหรือไม่?

ในความเห็นส่วนตัว ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับการที่จะมีดัชนีชี้วัด เพื่อใช้ในการพัฒนาการบันทึกให้มีคุณภาพมากขึ้น แต่ประเด็นของคุณชายขอบก็น่าสนใจ เอาเป็นว่าเราพบกันตรงกลางดีมั้ยครับอาจารย์จันทรวรรณ ว่าทำเป็น option ให้เลือกว่าจะให้แสดงดัชนีชี้วัดหรือไม่ ใครที่อยากเห็นก็คลิ๊กเลือกให้แสดง ใครที่ยังไม่พร้อมที่จะเห็นก็ไม่ต้องคลิ๊กให้แสดง ผมมองว่าดัชนีชี้วัดเหล่านี้ นอกจากเป็นประโยชน์ต่อเจ้าตัวโดยตรงในการพัฒนาการเขียนบันทึก แล้วยังเป็นประโยชน์ต่อ gotoknow ด้วยในการ monitor การบันทึกและคุณภาพของการบันทึก ซึ่งช่วยให้เรารู้คุณภาพของคลังความรู้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต

Blog...อาจเสมือน..เป็น "เวที"

 

ที่มีการ...ถ่ายทอด..สิ่งที่อยู่ข้างใน..ตัวเรา

ผ่านการ "เขียน"...แต่หากบางครั้ง..อาจถนัด.."พูด"

ที่มากกว่า..ที่จะเขียน...

สิ่งที่...อยู่..ภายใน..และอาจ..อยากถ่ายทอดออกมา

จำเป็นหรือไม่..ที่เราจะมามองว่า...นั่นคือ ความเข้าท่า..หรือไม่ แต่..."เวที"...ที่สร้างขึ้น...จำเป็น...ต้อง "วัด"...ว่า...

สร้างขึ้นมาได้เหมาะสม...กับ..การ...ลปรร. หรือไม่

นั่นคือ...อาจมองไปที่ว่า...

    "เวที...นี้เข้ามาง่าย..หรือไม่..."

    "เวทีนี้...มีจุดความสะดวก...มากน้อยอย่างไร..."

    "เวที..นี้สอดรับความต้องการ...ของคนที่อยากมาใช้...หรือไม่อย่างไร"

...อย่างไรก็ตาม...ก็ยังเกิดข้อกังขา...ในส่วนตัว...

อยู่ว่า..."ความรู้"...ที่สะท้อนออกมาเป็น "ความคิด"...และมีการอยากบันทึกไว้...นั้น...จำเป็น..ต้องสะท้อนออกมา..ว่า.."มีคุณภาพหรือไม่"...ก็ยังค้น..และพยายามหา..คำตอบ...อยู่ว่าวิถีทางที่เหมาะสม...และ "ไร้ระเบียบ"..แต่หาก "สมดุล" นั้นควร...ออกมาในรูปแบบใด...

สวัสดีค่ะ  ดิฉันก็เพิ่งจะเริ่มเขียน blog ได้ 4-5 ครั้งเอง เห็นด้วยกับคุณชายขอบนะคะ  ตอนแรกคิดเหมือนกันว่าจะเขียนอะไรดี  จะอายเค้าไม๊นะถ้าเขียนอะไรที่มันดูแล้วไม่ฉลาด  แต่คิดไปคิดมา ลองเขียนดูดีกว่า เพราะเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ถ่ายทอด มันไม่จำเป็นต้องฉลาดก็ได้นี่ แต่คนอื่นเค้าสามารถหยิบเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์  มันเป็นการ ลปรร. เรื่องราวดีๆ  ที่เราเคยประสพพบเห็น  ให้ผู้อื่นได้รับรู้และนำไปใช้ประโยชน์  ดิฉันไม่ค่อยซีเรียสเท่าไร ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร  คิดแค่ว่าการเขียน blog  คือการแสดงความคิดเห็นในสังคม  เป็นการพัฒนาตัวเองทางด้านทักษะในการเขียน และการเล่าเรื่อง  ซึ่งก็เป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่ง ของ KM  วันนี้อาจจะยังเขียนกันไม่ดี ถ่ายทอดเรื่องราวได้ไม่ครบถ้วน  จับต้นชนปลายไม่ถูก  แต่หากเขียนต่อไปเรื่อยๆ  เราจะดีขึ้นเอง  และเรื่องราวดีๆ ก็ยังได้ถ่ายทอดไปยังผู้อื่นให้ได้ขบคิด หรือต่อยอดกันต่อไป   สิ่งที่คิดอย่างเดียวในตอนนี้ คือ อยากแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ให้ผู้อื่นได้รู้สึกดีๆ บ้าง ก็เท่านั้นเองค่ะ

     ดูเหมือนว่าจะได้ข้อสรุป โดยผมคงไม่ต้องสรุปอะไรเพิ่มเติมมากนัก เพียงอยากเข้ามาเพื่อบอกว่า "ขอบคุณ" สำหรับการ ลปรร.กัน

     และแถมท้ายว่า "คุณภาพของความรู้ จะอยู่ที่การนำไปหมุนเกลียวความรู้ จนเกิดเป็นความรู้ใหม่" และคุณภาพของบันทึก ไม่เกี่ยวกับคุณภาพของความรู้

บันทึกนี้น่าจะเป็นบันทึกที่มีอิสรภาพ

ตอบคุณสมศักดิ์นะครับ ผมตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นครับ และคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ครับ ตามความรู้สึกของผู้เขียน (ยิ้ม)

     อยากเข้ามาเพื่อให้กำลังใจคุณดอกหญ้า อีกครั้ง...ขอได้โปรดกล้า...และอย่ากลัว...เมื่อวานตอนที่ทำ AAR หลังการเป็นวิทยากรกระบวนการ "โครงการพัฒนาศักยภาพทีมสุขภาพภาคประชาชน" ให้แก่ สอ.เขาปู่ อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง ณ ณ สถานีพัฒนาอาหารสัตว์ จังหวัดพัทลุง แล้ว Dr.Ka-poom ซึ่งมาเป็นวิทยากรร่วม และเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วย ได้กล่าวไว้ว่า "อสม.และผู้นำฯ ที่นี่ เขามีทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการคิด และการนำเสนอดีมาก คงเป็นที่เรา (จนท.) ต้องให้โอกาสเขา จัดเวทีให้เขา อย่างจริงใจ ไม่ต้องเป็นพิธีการอะไรมาก"

     ใช่ครับความรู้ใหม่ ๆ เกิดจากการที่เรากล้าที่จะคิดให้มันแตกต่างต่างหาก --> หลุดกรอบ หรือออกนอกกรอบเสียบ้าง...(ยิ้ม ๆ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท