Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

อุปนิสัยที่ 6 ประสานพลัง (Synergize)


อุปนิสัยของการร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ : เกิดพลังร่วม เป็น team work ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน สามารถทำงานร่วมจนเกิดผลลัพธ์ทำให้ 1+1 ได้มากกว่า 2

หลักการร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ (Creative Collaboration)” 

 เมื่อเข้าใจผู้อื่นแล้วจะเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคล แล้วจะให้คุณค่าในความแตกต่างเหล่านั้น อันจะนำไปสู่ความสามารถในการใช้ความแตกต่างนั้นมาผนึกพลัง ประสานความต่างได้ เมื่อเกิดความร่วมมือกัน (Synergy) เราจะสามารถพึ่งพากันได้ และเมื่อนั้นเราจะมีชัยชนะ

การประสานพลัง (Synergize) หมายถึง การผนึกพลังผสานความต่าง โดยการร่วมมือกันกับคนอื่นอย่างสร้างสรรค์ เป็นการนำข้อดีของอุปนิสัยทั้งหมดมารวมเข้าด้วยกันเพื่อทำงานใหญ่ให้สำเร็จ  กุญแจสำคัญของการประสานพลังระหว่างบุคคล คือ การประสานพลังในตัวบุคคลนั่นเอง เป็นการประสานพลังภายในตัวเองโดยการทำให้อุปนิสัยทั้ง 3 ข้อแรกฝังอยู่ในตัวเราให้ได้ ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกมั่นคงเพียงพอที่จะรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น  เมื่อเรามีหลักการทั้งสามอยู่ในใจแล้ว ก็เหมือนกับเราได้พัฒนาจิตใจที่เอื้อเฟื้อ และมีความคิดแบบ ชนะ / ชนะ อันเป็นพลังของอุปนิสัยที่ 5 ในการสื่อสารแบบประสานพลัง เราต้องเปิดใจ เปิดความคิดให้กว้างและเตรียมความรู้สึกให้ดี พร้อมรับมือกับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งทางเลือกใหม่และโอกาสใหม่ ซึ่งฟังดูเหมือนกับว่าจะขัดแย้งกับอุปนิสัยที่ 2 (เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ) แต่ในความเป็นจริงเรากำลังทำให้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่างหาก หรือ ผนึกพลังผสานความต่าง คนเรามักอยู่ในมุมของตัวเอง ไม่ยอมรับความเห็นของผู้อื่น ถ้าเราเปิดใจยอมรับความเห็นที่แตกต่างได้ นั่นย่อมนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง 1+1 > 2 ก็เพราะการยอมรับในความแตกต่าง

การยอมรับในคุณค่าของตนเองหรือการนับถือตนเอง (Self - esteem) หมายถึง ความรู้สึก ความเชื่อที่บุคคลที่มีต่อตนเองว่ามีความสามารถมีคุณค่า ซึ่งจะมีระดับตั้งแต่การนับถือตนเองต่ำไปจนถึงการนับถือตนเองสูง การที่บุคคลยอมรับตนเองนับเป็นทักษะสำคัญในการที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเอง และการดำเนินชีวิต  เพราะความสามารถในการรักษาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลได้ดี มีผลมาจากการที่บุคคลยอมรับหรือปฏิเสธตนเอง ทำให้สามารถใช้ทำนายสัมพันธภาพที่บุคคลอื่นมีต่อเราได้เช่นกัน การนับถือตนเอง (Self - esteem) ประกอบด้วย ความตระหนักถึงคุณค่าตนเอง (Self-respect) และ ความเชื่อมั่นในความสามารถตนเอง(Self-efficacy) จนกลายเป็น ภาพแห่งตน (Self-image)  ทำให้บุคคลรู้จักตนเอง มองโลกในแง่ดีเสมอ มองวิกฤตให้เป็นโอกาส  ประเมินตัวเราให้มีคุณค่าอยู่เสมอ  เชื่อมั่นในความสามารถตัวเอง  มองว่าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเราสามารถเปลี่ยนแปลงตามที่เราต้องการ และไม่หลงตนเอง ทำให้มีความมั่นใจ มีความหวัง มีพลังในการต่อสู้  ที่สำคัญคือเราต้องเปิดใจ เข้าใจในความแตกต่างของผู้อื่น และใช้ความแตกต่างนั้นให้เกิดประโยชน์

โบราณว่าไว้ สองหัวดีกว่าหัวเดียว ดังนั้น เมื่อคนสองคนคิดหาทางออกร่วมกัน ย่อมดีกว่าที่ต่างคนต่างหาทางออกโดยไม่ปรึกษากัน หรือตัดสินใจคนเดียวตามลำพัง ความร่วมมือร่วมใจไม่ใช่การยอมความ หากแต่เป็นการสื่อสารกันด้วยความเคารพในสิทธิและความคิดสร้างสรรค์ของกันและกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจ และสามารถหาทางออกได้ดีกว่าเดิม   จึงทำให้เกิดสูตร Synergy คือ 1+1= 3

การทำงานใดๆ คงหลีกเลี่ยงอุปสรรคปัญหาไม่ได้ แต่การทำงานร่วมกันเป็นทีม (Team  Work) ช่วยให้บุคคลหลายคนทำงานร่วมกันโดยมีความพึงพอใจในการทำงานนั้น เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ  ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพดีกว่า ตัดสินใจได้รอบคอบยิ่งขึ้น และก่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ดีกว่าคิดอยู่คนเดียว การประสานพลัง คือ การประสานความแตกต่าง โดยพยายามร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของทุกคนในทีม ... The whole is greater than the sum of its parts.

การทำงานด้วยการประสานประโยชน์อย่างสร้างสรรค์เพิ่มพูน (Synergize) จึงเป็นการแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหา  ทางเลือกที่ได้เป็นทางเลือกจากการปรึกษาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดและข้อมูลซึ่งกันและกัน  สรุปผลเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าทางเลือกของแต่ละคน เป็นทางเลือกที่มีการยอมถอยคลละก้าว  การจะทำงานแบบประสานประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ได้  จะต้องเปิดใจรับฟังกันและกัน  โดยใช้อุปนิสัยที่ 4 และ5  มาช่วยให้การประสานพลัง มีประโยชน์  สร้างสรรค์และเพิ่มพูน

เคล็ดลับ  ยอมรับในความแตกต่างว่าเป็นเรื่องธรรมดา และต้องคิดเสมอว่าเราจะนำจุดเด่นของแต่ละคน มาเสริมให้เกิดประโยชน์ซึ่งกันและกันได้อย่างไร

                       

   อ่านอุปนิสัยข้ออื่นได้ที่นี่ค่ะ  http://gotoknow.org/blog/the7habits

หมายเลขบันทึก: 293967เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2009 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท