หลากวจนะ "อริยสัจ"(๑)


ความหมายของอริยสัจ๔

เหล่านี้เป็นการรวบรวมข้อเขียนเกี่ยวกับศาสนาพุทธในข้อธรรม อริยสัจ ๔ และการปริวัฏฏ์ ๓ ( หมุนเวียน ) จากการรจนาของอริยะบุคคลต่างๆโดยพยายามเรียบเรียงให้เนื้อความติดต่อและสอดคล้องกัน เสมือนหนึ่งรจนาโดยบุคคลคนเดียว เพื่อความเข้าใจในศาสนาที่ดียิ่งขึ้น และเพื่อเป็นหลักฐานทางการศึกษา

........................................................................

ทำไมจึงต้องเรียนรู้ศาสนาพุทธ

และธรรมข้อ อริยสัจ

.............................................................

ในระยะแรกๆ คำสั่งสอนทั่วไปก็เรียกว่าศาสนา คำว่าศาสนายังไม่มีความหมายอย่างที่เข้าใจกันอยู่ในปัจจุบัน แต่นี้มิได้หมายความว่าในสมัยนั้นยังไม่มีศาสนา ความจริงมีศาสนาเป็นปึกแผ่นแล้ว แต่ท่านใช้คำอื่นแทนศาสนา เช่นคำว่า ธรรม ติตถะ (สันสกฤตเป็นติรถะ) ซึ่งแปลว่า ท่าน้ำ ท่าเรื่อ ศาสดาของศาสนาเรียกว่า ครู บ้าง ติตถังกร บ้าง สำหรับพระพุทธศาสนานิยมใช้คำว่า ธัมมวินัย เป็นพื้น เช่น ภิกษุในธรรมวินัยนี้ หรือบวชในพระธรรมวินัย เป็นต้น คำว่า พุทธศาสนา เกิดขึ้นทีหลัง แต่ยังไม่ทราบว่าเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อใด

รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม ประทีปธรรม ( หน้า๓๑ ) พิมพ์ครั้งที่สาม สร้างสรรค์บุ๊คส์ ๒๑๗ ซอยสุขุมวิท ๒๐ ( สายน้ำผึ้ง ) แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพ ๑๐๑๑๐ พ.ศ. ๒๕๔๔

.......................................................................

กระบวนการชีวิตเป็นวิบากหรือผล ซึ่งเกิดมาจาก ตัวประกอบ ๒ ประการ คือ กิเลสและกรรม ตราบใดที่ยังมีกิเลส ( อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ฯลฯ ) ตราบนั้นก็ยังมีการทำกรรม เมื่อยังมีกิเลสและกรรม กระบวนการชีวิตก็จะดำเนินต่อไป ความเกิดเป็นแต่เพียงการปรากฏตัวของกระบวนการชีวิตอย่างเต็มที่ ความตายเป็นเพียงการยุติของกระบวนการชีวิตนั้น เพื่อที่จะไปก่อกำเนิดแก่กระบวนการชีวิตในภพใหม่ ฉะนั้น ความตายจึงไม่ใช่วาระสุดท้ายของทุกสิ่ง กระบวนการชีวิตจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อบุคคลละความชั่วเป็นอันดับแรก กระทำความดีเป็นอันดับสอง และละเสียทั้งดีและชั่วเป็นอันดับสุดท้ายเมื่อนั้นกระบวนการชีวิตจะสิ้นสุดลงที่นิพพานอันเป็นจุดหมายปลายทางของกระบวนการชีวิต ฉะนั้นชีวิตจึงเกิดมาตามเหตุ ถ้าต้องการจะไม่ให้กระบวนการชีวิตแบบนี้ดำเนินไป ก็ต้องกำจัดเหตุ หน้าที่ของชาวพุทธก็คือ พยายามรู้ความจริงของชีวิต พยายามกำจัดกิเลส เพื่อตัดวงจรชีวิต จะได้ถึงจุดหมายปลายทางคือนิพพานเร็วขึ้น

รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม ประทีปธรรม ( หน้า ๒๒ ) พิมพ์ครั้งที่สาม สร้างสรรค์บุ๊คส์ ๒๑๗ ซอยสุขุมวิท ๒๐ ( สายน้ำผึ้ง ) แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพ ๑๐๑๑๐ พ.ศ. ๒๕๔๔

.......................................................................

คนเราเมื่อตายลง จิตของเขาจะไปเกิดในภูมิใดภูมิหนึ่งตามคุณภาพแห่งจิตที่เขาสร้างไว้ ถ้าจิตใจเขามีคุณภาพต่ำ ก็จะถูกภูมิต่ำๆดึงดูดไปเกิด เช่น นรก เปรต อสุรกาย กำเนิดเดียรฉาน ถ้าจิตใจเขามีคุณภาพสูง ก็จะถูกภูมิสูงดึงดูดไปเกิด การไปเกิดนี้เป็นไปเองตามกฎธรรมชาติ ไม่มีทางเลือก ไม่มีการขัดขืนหรือผ่อนปรนแต่อย่างใด

องศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม ประทีปธรรม ( หน้า ๑๐๒ ) พิมพ์ครั้งที่สาม สร้างสรรค์บุ๊คส์ ๒๑๗ ซอยสุขุมวิท ๒๐ ( สายน้ำผึ้ง ) แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพ ๑๐๑๑๐ พ.ศ. ๒๕๔๔

................................................................

ความหมายของอริยสัจ

................................................................

"พระพุทธศาสนาแยกไว้ว่า ความอยาก มี ๒ ประเภท คือความอยากที่เป็นกุศล กับความอยากที่เป็นอกุศล

๑ ความอยากที่เป็นอกุศลเรียกว่า ตัณหา ความอยากแบบนี้ ถ้าเราตกเป็นทาสของมันแล้วจะไม่พัฒนา ได้แต่จมปลักอยู่กับความสุขและความทุกข์จากความชอบใจและไม่ชอบใจ

๒ ความอยากที่เป็นกุศลเรียกฉันทะ ถ้าเราพัฒนาปัญญา ความปรารถนาที่เป็นแรงจูงใจชนิดใหม่ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เราได้ความสุขชนิดใหม่ และจะนำเราก้าวหน้าไปในการพัฒนาชีวิต

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต ) ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น ( หน้า ๑๐๓ ) สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๕ อมรินทร์บุ๊คพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ๖๕/๑๖ ถนนชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ ๑๐๑๗๐ พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗

....................................................................

"ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก, ความติดใจ, ความยึดติด

ตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกข์เกิด ทำให้ดิ้นรน ทำให้เดือดร้อนวุ่นวาย ไม่สงบ และไม่รู้จักพอ

ความอยากที่เป็นตัณหา คือความอยากที่เป็นไปเพื่อเพิ่มราคะ เพิ่มกิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ ก่อภพก่อชาติ ประกอบด้วยความกำหนัดยินดี เพลิดเพลิน ติดใจอยู่กับสิ่งที่อยากได้ และที่ได้มาแล้ว

ความอยากที่ไม่เป็นตัณหา คือความอยากที่เป็นไปเพื่อขจัดทุกข์ เพื่อสละละวาง เพื่อหลุดพ้นจากราคะ จากกิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ เช่นหิวข้าวอยากทานข้าว เจ็บป่วยอยากรักษา อยากทำบุญ อยากไปนิพพาน

พระธรรมกิตติวงศ์ ( ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต ) หน้า ๒๕๗ พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธพุทธศาสนา ธรรมสภา ๑/๔-๕ ถนนบรมราชชนนี ๑๑๙ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ ๑๐๑๗ พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๑

.......................................................................

" ความจริงโดยธรรมชาติ ที่ทางพระพุทธศาสนาต้องการให้คนเห็น ก็คืออริยสัจจะ ๔ ประการ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ความจริง ๔ ประการนี้เรียกว่า อริยสัจจะ ก็เพราะเป็นความจริงอันประเสริฐ สามารถทำให้คนที่รู้ความจริงเหล่านี้กลายเป็นบุคคลประเสริฐ คนจะประเสริฐหรือไม่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเขา ถ้าเขามีความสะอาด สว่าง สงบ อยู่ในตัว ขาก็เป็นคนประเสริฐ การรู้ความจริงระดับอื่นๆไม่สามารถจะทำให้เป็นคนสะอาด สว่าง สงบได้ ฉะนั้นท่านจึงไม่นิยมยกย่องว่าเป็นอริยสัจจะ ฉะนั้นหน้าที่ของชาวพุทธก็คือ การพยายามสร้างความเห็นชอบให้มากขึ้น โดยพยายามเห็นอริยสัจจะให้ได้ก่อนสิ่งใดหมด

องศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม ประทีปธรรม ( หน้า ๗๑ ) พิมพ์ครั้งที่สาม สร้างสรรค์บุ๊คส์ ๒๑๗ ซอยสุขุมวิท ๒๐ ( สายน้ำผึ้ง ) แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพ ๑๐๑๑๐ พ.ศ. ๒๕๔๔

........................................................................

ทุกข์คือตัวปัญหา เป็นสิ่งที่เราไม่เอา แต่เรายังไม่ต้องปฏิบัติ เราต้องรู้ให้ชัดว่าอะไรเป็นปัญหาที่เราจะต้องไปให้พ้น

สมุทัยคือตัวเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งต้องสืบสาวให้รู้ตามหลักความจริงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยว่า อ๋อ ทุกข์เกิดจากเหตุ และเหตุนั้นคืออะไร เหตุนั้นเรารู้ว่าจะกำจัด แต่เรายังไม่ได้ทำอะไร

ากนั้นเราก็รู้ด้วยว่าเมื่อกำจัดเหตุแห่งทุกข์ได้ เราจะเข้าถึงจุดหมายคือนิโรธ

แต่ทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ก็ด้วยการลงมือทำในข้อสุดท้ายคือมรรค

ฉะนั้น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สามอย่างนี้เราเข้าใจว่ามันคืออะไร และเราจะต้องทำอะไรต่อมัน แต่เราปฏิบัติไม่ได้ สิ่งที่จะปฏิบัติได้คือข้อที่ ๔ ได้แก่ มรรค

เมื่อเราปฏิบัติตามมรรค เราก็จะกำจัดสมุทัย.... แก้แหตุแห่งทุกข์ได้ เราก็พ้นจากทุกข์....หมดปัญหา และเราก็บรรลุนิโรธ....เข้าถึงจุดหมายได้

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต ) ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น ( หน้า ๒๐ ๒๑ ) สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๕ อมรินทร์บุ๊คพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ๖๕/๑๖ ถนนชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ ๑๐๑๗๐ พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗

........................................................................

นิโรธ ที่แปลกันมาว่าความดับทุกข์ ซึ่งจะต้องเข้าใจลึกลงไปให้ถูกต้องว่าเป็น การทำให้ไม่มีทุกข์ที่จะต้องดับ หรือทำให้เกิดภาวะไร้ทุกข์ มิใช่เป็นเพียงการกำจัดทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว

พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ) สมาธิ ฐานสู่สุขภาพจิตและปัญญาหยั่งรู้ ( หน้า ๑๐๙ ) สำนักพิมพ์ศยาม ๑๑๗ ๑๑๙ ถนนเฟื่องนคร เขตพระนคร กรุงเทพ ๑๐๒๐๐

..........................................................................

(ยังมีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 293960เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2009 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2013 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณสำหรับการพยายามเรียบเรียงครับ

แต่เนื่องจากอ่านกระโดดหน่อยๆ ผมจึงตัดต่อเป็น word เพื่อให้อ่านติดต่อกันง่ายขึ้น

จึงเรียนมาเพื่อทราบครับ

          

ขอบคุณค่ะ..พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเรื่องทุกข์ และวิธีพ้นทุกข์เท่านั้น...หนทางจะบรรลุอริยมรรคได้คือการลงมือปฏิบัติให้เร็วที่สุดหลังจากเข้าใจในทางปริยัติแล้ว...เวลาของพวกเราเหลือน้อยนะคะ...หนทางสุ่สุคติยังอีกยาวไกล...

สวัสดีค่ะ...หนูยังสงสัยว่าคนตายแล้วร่างกายเป็นผงธุรีลงดิน...แล้วส่วนที่เป็นจิตเป็นความรู้สึกยังคงอยู่วนเวียนอยู่ไหนหรือไม่...พออ่านตอนหนึ่งของ...รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม...ในประทีปธรรม เลยทำให้คิดต่อ...

ขอบพระคุณคุณหมอค่ะที่กรุณาเตือนเรื่องข้อความที่กระโดดไปมา พอดีโพสต์เสร็จ ต้องรีบไปทำอย่างอื่น เลยไม่ได้แก้เพื่อความเรียบร้อย

แก้ไขแล้วค่ะ ขอบคุณอีกครั้งนะคะ

อนุโมทนาบุญ...คุณณัฐรดา              ให้ธัมมาสาธุชน

เผยแผ่ไปได้กุศล                             จิตสูงพ้นคนผ่องใส

เป็นคนดีมีทางธรรม                          ไม่ถลำนำหลงไหล

พุทธองค์ทรงนำไป                           ให้รู้เหตุเป็นต้นทาง

เมื่อรู้เหตุว่าเป็นทุกข์                          ทางใดสุขรุกถากถาง

ถึงจุดหมายที่ปลายทาง                     อริยสัจสร้างรู้ทางธรรม 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท