ชมผ้าแพรวา ที่บ้านโพน


คนทอจกที่นี่ชำนาญมาก ใช้นิ้วเกี่ยวเส้นยืนขึ้นมา แล้วสอดด้ายจกเข้าไป ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยอย่างไม้ไผ่ หรือขนเม่นเลย

   การเดินทางไปดูผ้าทอที่ภาคอีสานเที่ยวนี้ใช้เวลาหลายวัน แต่ก็ยังไม่หมดแรง เพราะมีแหล่งผ้าทอที่น่าสนใจกระจายไปทั่วที่ราบสูงผืนกว้างนี้ วันนี้จะเล่าเรื่องแหล่งผ้าแพรวา ที่หลายท่านคงเคยได้ยิน ถ้าเป็นแฟนพันธุ์แท้ผ้าทอมือ ก็คงมีไว้หลายๆ ผืนแน่ๆ

แหล่งแพรวาที่จะไปนี้ อยู่ที่บ้านโพ้น อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์โน่น พวกเราออกเดินทางจากนครพนม ถามทางเขาไปเรื่อยๆ (แต่ไม่หลง อิๆ) เหมือนกัน เส้นทางนี้นับว่าคดเคี้ยวมากทีเดียวเมื่อเทียบกับเส้นอื่นๆ ที่ผ่านมาในอีสาน โดยเฉพาะตอนที่ผ่านภูพาน ก็คดพอดู แต่ร่มรื่น มีต้นไม้รายทาง เราได้เห็นเขตพระตำหนักด้วย ระหว่างทางคอยลุ้น อยู่ตลอด เนื่องจากเลยเวลาที่นัดไปมากแล้ว บอลโทรไปติดต่อเขาตลอดเวลา

ความจริงเส้นทางนี้ค่อนข้างดี ถนนลาดยาง แต่ทางแคบ และคดเคี้ยว ทำให้เดินทางได้ช้ากว่าที่คิดมาก ผ่านไปที่อำเภอสมเด็จ แล้ววกขึ้นไปที่อำเภอคำม่วง ระหว่างนี้เส้นทางไม่สู้ดีนัก โชคดีที่รถน้อย สองข้างทางเป็นทุ่งนา มีฝนตกปรอยๆ พอให้เย็น

เมื่อไปถึงคำม่วง ทางเริ่มแคบ เลี้ยวไปเลี้ยวมา โชคดีที่มีป้ายบอกตลอดทาง ไม่ต้องคอยถามเหมือนที่อื่นๆ ไปถึงบ้านโพนก็ห้าโมงกว่า ที่นั่นเป็นศูนย์ผ้าแพรวา มีสาวๆ คอยอยู่ราวสิบกว่าคน แต่งชุดผู้ไทอย่างดี เสื้อสีดำ มีผ้าแพรวาพาดไหล่ ส่วนผ้านุ่งนั้นเป็นผ้ามัดหมี่สีคล้ำ ดูงามตา

เนื่องจากแสงเริ่มใกล้จะหมด พวกเขาเตรียมการแสดงไว้สองชุด คือ รำละคร และฟ้อนผู้ไท จึงขอให้แสดงก่อน แล้วค่อยไปถ่ายเรื่องผ้า การแสดงชุดแรก มีด้วยกัน 3 คน เป็นผู้หญิงใส่เสื้อสีขาว มีผ้าแพรวาคล้องคอและคาดเอว ผ้านุ่งคล้ายโจงกระเบนสีแดงเข้ม ใส่ถุงเท้าขาว รองเท้าผ้าใบ และมีผ้าแพรวาอีกนั่นแหละ คลุมหัว และใส่เล็บยาวเฟื้อย เปิดเพลงประกอบ แล้วนึกถึงไทยดำที่เพชรบุรี แต่ท่วงทำนองไม่ค่อยจะใกล้เคียงกันเท่าไหร่

ชุดต่อไปเป็นฟ้อนผู้ไทย เป็นผู้หญิง 6 คน สวมชุดที่เห็น คือเสื้อดำ นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สีแดงเข้ม รำฟ้อนได้สวยงาม ถ่ายทำการแสดงเสร็จแล้ว สาวผู้ไทยสองคน (ความจริงไม่สาวแล้วล่ะ อายุสักสี่สิบ) พาพวกเราไปที่บ้านชาวผู้ไทย ดูเขาทอผ้า ทั้งผ้าขิด ผ้าจก คนทอจกที่นี่ชำนาญมาก ใช้นิ้วเกี่ยวเส้นยืนขึ้นมา แล้วสอดด้ายจกเข้าไป ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยอย่างไม้ไผ่ หรือขนเม่นเลย สอบถามได้ความว่า ต้องใช้นิ้วเท่านั้นถึงจะเป็นแพรวา แต่เท่าที่เคยเห็นในพระตำหนักจิตรลดาฯ เขาใช้ไม้ไผ่ช่วย และมีกระจกคอยส่องลาย เพราะการทอผ้าแพรวา (และผ้าจกบางแห่ง) นั้นลวดลายอยู่ด้านล่างของกี่ทอ แต่ที่บ้านโพนไม่เห็นมีกระจกส่องเลย

กลุ่มทอผ้าที่นี่ได้รับการส่งเสริมจากมูลนิธิศิลปาชีพฯ มีลวดลายผ้าที่สวยงาม ทั้งฝีมือการทอ ตัวลายเอง และการให้สีสันต่างๆ เหมาะเจาะเข้ากันดีมาก

ถ่ายทำการทอผ้าอยู่พักหนึ่ง ต้องอาศัยไฟสปอตไลต์ตลอด เพราะเริ่มมืดแล้ว ถ่ายทำเสร็จก็กลับไปที่ศูนย์วิจิตรแพรวาอีก เพื่อถ่ายภาพผ้าแพรวา ที่นี่มีผ้าแพรวาที่ยาว 99 เมตร มีลาย 60 ลาย ทำไว้ตั้งแต่ปี 2537 และเสร็จปี 2539 เขาม้วนผ้าไว้กับหลักไม้ หมุนขึ้นลงได้ เพราะมีสองแกน ผ้าทอที่นี่ฝีมือดี ราคานับว่าสูง แต่ไม่ได้แพงเกินฝีมือ เพราะทั้งลวดลาย สีสัน และเนื้อผ้า คือผ้าไหมนั้น งดงามมาก ผ้าที่ทอมักจะเป็นลายสองเมตร พื้นสองเมตร เพื่อใช้ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าต่างๆ แต่แพรวาของเดิมแคบกว่านี้ และเป็นลายเต็มผืน

ผ้าแพรวาของเดิมนั้น มีสีหลักๆ คือ ดำ แดง เป็นสีทึบๆ สมัยหลังๆ มีการใช้สีอ่อน และหลากสีมากขึ้น นอกจากที่บ้านโพน ยังมีการทอผ้าแพรวาในท้องที่อื่นๆ ในภาคอีสาน แต่ถ้าฝีมือไม่ดีจริง ผ้าจะออกมาไม่สวยงาม เลย สีสันก็เหมือนกัน การใช้สีสันฉูดฉาด ไม่เข้ากัน อ่อนไป เข้มไป ก็ทำให้ผ้าเสียราคาไปได้

ตอนหน้ายังย่ำแหล่งผ้าถิ่นอีสานครับ รอติดตามอ่านนะครับ ;)

หมายเลขบันทึก: 141595เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2007 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)
  • มีชุดเป็นผ้าแพรวาหลายชุดเลยค่ะ
  • แต่ช่วงนี้ใส่แต่เสื้อเหลืองเลยไม่ได้นำชุดพวกนั้นมาใส่เลย...
  • อยากมีเวลาไปเยี่ยมชมบ้างจังเลยค่ะ  เห็นแต่ผ้าที่สำเร็จแล้ว....

สวัสดีครับคุณธ วั ช ชั ยP

  • อ่านจบแล้ว ยังไม่เห็นชุดรำที่ท่านบอกเลยครับ
  • เดี๋ยวจะเข้ามาชมอีกรอบนะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ 
P

อ.ลูกหว้า ไม่เจอเสียหลายวันนะครับ

ถ้ามีสมาชิกสนใจเรื่องทอผ้า

วันหลังจัดทัวร์ไปดูเขาทอผ้า ก็คงสนุกดีนะครับ

คงมีไกด์กิตติมศักดิ์หลายท่านเลย

ไม่มีรูปเหรอคะอยากเห็นค่ะ เล่าเสียอยากเห็นของจริงค่ะ
สวัสดีครับ พี่
P

 สะ-มะ-นึ-กะ ว้า วันก่อนยังเรียกน้อง วันนี้เรียนท่านซะแล้ว ไม่เอาๆ ครับ ไว้สำหรับผู้อาวุโสดีกว่า ;)

กะว่าจะไปต่อความคิดเห็นเรื่องแตงอวบที่พี่เขียน  ปรากฏว่าช้าไป พี่มาแวะที่นี่ก่อน ..

ภาพค่อยหามาใส่ทีหลังครับ ตอนนี้ต้องจินตนาการก่อนครับ ขอบคุณมากครับ 

สวัสดีครับ พี่
P

 sasinanda เป็นสมาชิกคนนอนดึกเหมือนกันนะครับ

เอ  สงสัยต้องหาภาพมาลงไว้เสียแล้ว ผมว่า ถ้าได้เห็นภาพการทอผ้า การสอดเส้นด้ายทีละช่อง ทีละเส้น นักซื้อผ้าคงไม่อยากจะต่อราคาเลยล่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยียนนะครับ ช่วงนี้สมองปลอดโปร่งโล่งๆ คงได้ทยอยเล่าเรื่องต่อได้อีกสักพักครับ

สวัสดีค่ะ

  • ตามมาดู ผ้าแพรวา ค่ะ
  • แต่ก็ไม่เห็น ...(ต้องจินตนาการอย่างเดียว)
  • เห็นด้วยค่ะ ..ว่าน่าจะมีรูปด้วย ..
  • อ่านอย่างเดียว มันแห้ง ๆ ไงไม่รู้
  • อิอิอิ
  • สวัสดีครับ คุณแม่หอยโข่ง P 
  • กำลังหาวิธีโหลดภาพอยู่ครับ
  •  สนใจแพรวาสักผืนไหมครับ ;)
เป็นการทำงานที่สนุกนะคะ ได้ไปสัมผัสผู้คนจริงๆที่เขาทำงานด้วยหัวใจและความชำนาญ จะรอชมภาพค่ะ
  • ผ้าแพรวาแบบกาฬสินธุ์งามครับ
  • พัฒนาไปได้อีกมาก
  • แต่ขอไปเรียนรู้เทคนิคเดิม ๆ แบบพื้นเมืองก่อนเพราะทำไม่เป็นเลยครับ

ผมเป็นคนกาฬสินธุ์ ...

ผ่านบ้านโพนบ่อยครั้ง .. แถวนั้นถนนแคบ  บ้านเรือนติดถนนก็มีมาก

ผ้าแพรวา ..เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวเมืองกาฬสินธุ์

ครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยก็มีชมรม "แพรววาคืนถิ่น"  ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชาวกาฬสินธุ์  แต่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น "ชมรมรักษ์พัฒนา" ...  ทำกิจกรรมด้านบำเพ็ญประโยชน์ หรืออาสาพัฒนา ...

สวัสดีครับ คุณพี่ P
 คุณนายดอกเตอร์ เสียดายที่ไม่ได้มีเวลามากนัก ก็เลยต้องกลับมาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมครับ ที่นี่มีคนมาดูงานเยอะ  ภาพต้องรอสักพักครับ ;) ต้นปีผมอาจจะไปที่นั่นอีกครั้ง อาจจะไปเรณูด้วย เขามีงานผู้ไทครับ
สวัสดีครับ คุณ P  ออต ถ้ามีเวลาล่ะก็ไปเลยครับ มีพื้นฐานอยู่แล้ว สบายเลย ผมว่าเรื่องทอคงไม่เหลือบ่ากว่าแรง แนวเดียวกับจกทางเหนือ หรือราชบุรี แต่เรื่องลวดลาย และสีสัน ชาวบ้านยังไม่ค่อยมีหัวทางออกแบบเท่าไหร่ แล้วเขาไม่ได้มองไปที่ผลิตภัณฑ์ปลายทาง พอประยุกต์ลาย แล้วมันออกไปทางหัวมังกุท้ายมังกร คุณออตไปศึกษาคงมีไอเดียอีกเยอะเลยครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ P แผ่นดิน เส้นทางนั้นดูเป็นธรรมชาติดีครับ แพรวาเป็นชื่อที่คนได้ยินบ่อย แล้วหลายคนก็ชอบ บางคนเอาไปเป็นนามปากกา ไม่ก็เอาไปใช้เป็นชื่อตัวละคร แต่ส่วนมากยังไม่เคยเห็นผ้าแพรวาจริงๆ สมเด็จพระราชินีฯ ทรงสนับสนุนให้แกะลายเดิม และปรับปรุงการทอ ทำให้แพร่หลายมากขึ้น ท่านชื่นชมผ้าแพรวามากเลยครับ

มาอีกคร้งค่ะ มาบอกว่าได้tagคิดถึงคุณธวัชชัยนะคะที่

http://gotoknow.org/blog/riverlife/142087

สวัสดีครับ คุณพี่ P คุณนายดอกเตอร์ เข้าไปอ่านเรียบร้อยแล้วครับ ขอบคุณมากครับที่นึกถึง อันนี้เรียกว่า km ผ้าทอมือหรือเปล่าครับ ;)

สวัสดีค่ะอาจารย์ธวัชชัย

  • ตามมาดูผ้าแพรวาค่ะ......  และลายนี้ดูจะเป็นที่หนึ่งของผ้าไหมค่ะ  สนนราคาก็แพงก็กว่าด้วยค่ะ    
  • ปกติ ชอบผ้าไทยค่ะ ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม  ถึงแม้ว่าจะต้องพิถีพิถันเรื่องการดูแล  บางครั้งก็ยอมค่ะ   แต่มีไม่มากค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีครับ P อ.หญ้าบัว

  • แพรวา สุดยอดฝีมือจริงๆ ครับ
  • ลวดลายแพรวพราว ฝีมือประณีต
  • เส้นไหมเนียน ไม่ใช้เส้นสาวหยาบทั่วไป
  • ราคาก็ตามคุณภาพครับ
  • มีเวลาแล้วจะเล่าเรื่องผ้าที่อื่นต่อครับ ช่วงนี้ยังไม่ได้เพิ่มบันทึกเลย :)

เคยอยู่จังหวัดสุรินทร์ ได้เห็นฝีมือของคนแถวนี้ยอมรับว่าสุดยอดค่ะ  เหมือนใส่หัวใจลงในการทอผ้า  แถบอีสานจะมีผ้าทอที่ขึ้นชื่ออยู่แล้วค่ะ   จานแดง

สวัสดีครับ  คุณจานแดงP

ผ้าสุรินทร์ฝีมือดี ยกย่องกันมานาน แต่ช่วงหลังจะกล่าวถึงแต่ผ้ายกลวดลายซับซ้อน ผ้าดั้งเดิมที่เล่นสีด้าย อย่างผ้าสมอ สาคู อันปรม ฯลฯ คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักกัน ถ้าคนไม่รู้จัก ไม่สนใจ ก็อาจไม่มีการทอกันอีก ก็น่าเสียดาย 

มีโอกาสผมคงได้นำภาพผ้าลายเก่าแก่แบบนั้นมานำเสนอครับ ;) 

สนใจอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับ ราคา การขายผ้าของกลุ่มค่ะ

ถ้ายังไงกรุณาส่งข้อมูลมาตาอีเมล์นี้ได้ไหมค่ะ [email protected]

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท