นกแอ่นกินรัง บันทึกหน้าที่ 14


ความรักกับความสัตย์ซื่อ
นกแอ่นกินรังบันทึกหน้าที่ 14 อาจจะสงสัยว่าบันทึกหน้าที่ 13 หายไปไหนเนี่ย ตอบเลยว่าเขียน 2 ครั้งแล้ว saveไม่ลงบ้างละ หรือล่องหนไปเฉยๆ เลยแก้เคล็ด(นิ้ว) ด้วยการเอาเป็นบันทึกหน้าที่ 14 ซะเลย จะได้ถึงหน้าที่ 100 ไวๆ อะ(ไม่รู้ว่าจะเป็นศตวรรษไหนเนี่ย) ตั้งชื่อเรื่องซะ...โรแมนติค...มาก จะเขียนถึงคู่ครอง ความรัก ความซื่อสัตย์ของนกอีแอ่นอีกหน การจับคู่ หรือการเลือกคู่ของนกน่ะวัดได้ แต่ความรักนี่ดูไม่ออก ความซื่อสัตย์ก็ดูยาก เพราะเราเอามาตรฐานของมนุษย์มาเป็นเกณฑ์น่ะ เคยเขียนแล้วว่านกนี้จับคู่กันแบบ "ตัวผู้หนึ่ง ตัวเมียหนึ่ง" (ตรงตามอักษรแหละ "มีตัวผู้หนึ่ง" ไม่ใช้ "มีผัวหนึ่ง"และก็"มีตัวเมียหนึ่ง" ไม่ใช่ "มีเมียหนึ่ง" อิอิ เล่นลิ้นนะ) ดังนั้นถ้านกพันธุ์ใดเลือกแบบนี้ ก็เรียกว่า monogamous ซึ่งมันสอดคล้องกับรูปพรรณสีสันของทั้งตัวผู้และตัวเมียว่ามักจะเหมือนๆ กันไม่แตกต่างกันนัก ส่วนนกพันธุ์ใดที่มีเข้าเกณฑ์นี้ก็ต้องหลีกไปตั้งแถวใหม่ แถวต่อมาก็เลยเป็นของนกที่มีตัวเมียเยอะ ตัวผู้ตัวเดียว ท่านก็เรียก polygyny อย่างไก่แจ้ ป้อไปป้อมา เมียเป็นฝูง ลูกเต็มเล้า ไก่แจ้ตัวผู้ก็มีสีขนสวยงามกว่าตัวเมียนะ แล้วหน้าที่แม่บ้านเลี้ยงลูกทั้งหมดก็มักจะเป็นธุระของตัวเมีย อ้าวๆ แล้วตัวผู้ทำอะไร ก็ป้องกันพื้นที่ ไม่ให้ใครมาตีท้ายครัวไง แถวที่สามก็เป็นแถวของตัวเมียหนึ่ง ตัวผู้หลายๆ ว้าย ตายแล้วมนุษย์อยากเลือกคู่เป็นอย่างนี้ใช่ไหม อย่านี้เรียกว่า polyandry ตัวเมียผสมกับตัวผู้หลากหลายตัว แล้วเธอก็ปล่อยให้นกตัวผู้เลี้ยงลูกไป อย่างนกอีแจวนั่นปะไร ไม่มีโวยนะ ก็เลือกแล้ว(บ้างก็บอกว่าตัวผู้มันต้องกกไข่ทุกใบและเลี้ยงลูกทุกตัว เพราะมันไม่แน่ใจว่ายีนของมันอยู่ใบไหนน่ะ..ฮา) นอกจากจำนวนสัดส่วนของตัวผู้ตัวเมียแล้ว ยังต้องดูที่ระยะเวลาที่นกอยู่ด้วยกันด้วยเรียกว่า timing of pair พวกผัวเดียวเมียเดียวมักจะอยู่ด้วยกันนาน.. หรือตลอดไป อย่างนกแอ่นกินรังเนี่ยอยู่ตลอดกาลละมัง(อ่านจากบันทึกเก่าๆ) เราจึงยกย่องพวกเขาว่าloyalty in pair "เราจะ....ซื่อสัตย์ต่อกันและกันนะที่รัก" และแถมนกตัวนี้ซื่อสัตย์ต่อพื้นที่อาศัยสร้างรังอีกด้วย! (เอาซิคุณสมบัติเพียบซะปานนี้)เขาเรียกว่า nest site fidelity ถ้าคนนะไม่ซื่อสัตย์ จับได้ว่ามีกิ๊ก..เราหย่ากัน! จะเห็นว่าคนยกย่องความซื่อสัตย์มาก ถ้าไม่ซื่อสัตย์ละก็หมายความว่าอาจหมดความรัก จึงเป็นเหตุให้ไม่สัตย์ซื่อ โอ้ยเวียนหัวอยู่นะคนเนี้ย เรื่องซื่อสัตย์ต่อพื้นที่อาศัยเนี้ย เจ้าของบ้านรังนกดีใจเถอะว่า ถ้าบ้านรังนกของคุณมีนกเข้าทำรังได้ครอกหนึ่งแล้ว คู่นี้จะอยู่กับคุณตลอดไป ตลอดกาล (ตลอดอายุขัยของพวกเขา)เว้นเสียแต่ว่าบ้านของคุณมีการรบกวนนกมาก มีไรนก-เหานกมาก มีศัตรู หรือมีเหตุให้บรรยากาศไม่เป็นใจ จนนกคู่นั้นตัดสินใจทิ้งพื้นทีรังไปตายเอาดาบหน้า ...โหคุณนกที่รัก เราจะไม่เก็บค่าเช่าเป็นรังของคุณไปอีกสองฤดูกาล ตกลงอยู่ต่อไหม? บรรยากาศที่ดีก็เปรียบเสมือนฮวงจุ้ยดีนั่นแหละ ถ้าเจ้าของบ้าน มีคุณธรรมด้วย เจ๋ง แต่ monogamous บางชนิดก็มีว่า หลังเสร็จภาระกิจนี้ ก็แยกย้าย (หรือหย่าแบบภาษาคนน่ะ)และหลายคุ่ไม่ได้เจาะจงต้องบ้านหลังเดิม พื้นที่เดิม ต้นไม้ต้นเดิมอย่างคุณนกอีแอ่น อ้าวแล้วเรื่องความซื่อสัตย์ของนกกลุ่มmonogamous นี่ละ ซื่อสัตย์ต่อคู่ครองไหม ข่าวไม่ได้แจ้ง เพราะเราไม่รู้ว่าหลังจกนกออกจากรังไปแล้ว พวกเขามักไม่ได้ไปด้วยกันบ่อยๆ อย่างนกอีเอี้ยง ดังนั้นต่างคนต่างออก ไม่รู้จะเจอใครกลางทางบ้าง ก็เลยมีงานวิจัยว่านก swallow ซึ่งเป็น monogaous เขาบอกว่ายีนของลูกไม่เหมื่อนกับพ่อแม่ น่านจับได้ว่าแม่มีกิ๊กกลางอากาศ..เออแนะ ลองอ่านความคิดเห็นที่บางท่านบอกกันเข้ามาที่บันทึกหน้าก่อนๆ ถ้าไม่เอาพฤติกรรมของswallow ที่เป็น brood parasitism ด้วย(หมายความว่านกกลุ่ม swallow เป็น monogamy ที่แอบวางไข่ให้นกรังอื่นฟักให้ เช่นเดียวกับนกกาเหว่า ที่แอบให้นกกระจิบ นกจับแมลงต่างๆ ฟักไข่ให้ พฤติกรรนี้เป็นเรื่องจริง ซึ่งนก swallow มักแอบวางไข่ในรังพวกเดียวกันในกลุ่มที่มันอยู่นั่นแหละ แต่นกกาเหว่าแอบวางในรังนกพันธุ์อื่น (ถ้าอยากได้รายละเอียด เขียนบอกมานะคะ เราจะลอกที่เขียนในหนังสือมาลงเพิ่มเติม) จากพฤติกรรมbrood parasitism นี้ ลูกของนกswallow ก็ต้องมียีนไม่เหมือนพ่อแม่แน่นอน แต่ถ้ามียีนเหมือนพ่อด้วย แต่ต่างไปจากแม่ แน่นอน มีกิ๊กกกกก ฮ่ะ การผสมกับนกอื่นๆ เพื่อให้ยีนหลากหลายขึ้น ไม่อ่อนแอ เป็นการทำให้ยีนเกิด Heterogeneity มากขึ้น เป็นผลดีต่อเผ่าพันธุ์ของมันโดยรวม ดังนั้น การมีกิ๊ก จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม naturalเท่านั้นที่จะรู้ อาจเป็นความประสงค์ของ natural ก็ได้ แต่การทำหน้าที่กกไข่ เลี้ยงลูก กลับบ้านตรงเวลาเป๊ะ ของนกทั้งสองตัวไม่บกพร่อง เท่านี้ natural คงพอใจแล้วและยีนของพวกเขาก็ได้รับเลือกไว้ ด้วยความเคารพที่บันทึกนี้ยาวมาก ขอบคุณที่ติดตาม ครูเล็ก
คำสำคัญ (Tags): #นกแอ่นกินรัง
หมายเลขบันทึก: 38951เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2006 12:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เข้ามาอ่าน และจะรออ่านต่อไป ไม่รู้ว่าจะอ่านได้ถึงหน้าที่ 100 ไหมเอ่ย นาน นนนนน มาก

คนอ่านเจ้าเดิมนี่ก็ หายยยย....ไปนานนนนนนนมากเหมือนกันนา

กว่าจะเซย์ไฮ มาเนี่ย

อย่างไรก็ตามก็คิดถึงกันอยู่

ขอให้รุ่งเรืองในธุรกิจทุกเรื่องค่ะ

พรุ่งนี้เลยจะเป็นหน้าที่ 100 พรุ่งนี้ ก็หมายถึง "พรุ่งนี้จริงๆ" อะ

ขอบคุณที่ติดตามให้กำลังใจกันจ้า

อยากได้ข้อมูลเรื่อง brood parasitism ค่ะ

Brood parasitism เป็นภาวะปรสิตอย่างหนึ่งของสัตว์กับสัตว์ด้วยกัน ตัวที่เป็นกาฝากไม่ได้กินเลือกเนื้อเจ้าบ้าน แค่ฝากให้นกตัวอื่น หรือพันธุ์อื่นเลี้ยงลูกของมันเท่านั้นเอง(อย่างชาญฉลาด) แต่ อะ ตัวที่เป็นเจ้าบ้านเสียหายมาก เสียหายในระดับประชากรและเผ่าพันธุ์เลยที่เดียว.........ต่อไปนี้คือข้อมูลทึครูเล็กเขียนหนังสือไว้เตรียมสอนอะ

ภาวะปรสิต คือ การที่สิ่งมีชีวิตอย่างน้อยสองชนิดมีความสัมพันธ์กัน ผลของ

ความสัมพันธ์นั้น ปรสิตเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์และ อีกฝ่ายหนึ่งคือโฮสต์ เป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ภาวะปรสิตมีดังนี้

ก.) ปรสิตภายนอก เช่น เห็บ เหา ฯลฯ ปรสิตภายใน ได้แก่พยาธิ และโปรโตซัว ฯลฯ

ข.) กาฝากในรัง หรือ brood parasitism หรือ social parasite หรือ nest parasite

ค.) ตัวเบียน หรือ parasitoids เป็นปรสิตในระยะสืบพันธุ์ เช่น แตนเบียน

ง.) นักปล้นสะดม หรือ kleptoparasitism เช่นนกสกัวที่ขโมยอาหารของนกทะเลอื่นๆ

กาฝากในรัง หรือ ปรสิตสังคม ( nest parasite หรือ brood parasite หรือ social

parasite) พบในพวกนก นกปรสิตจะได้ประโยชน์ นกเจ้าของรัง หรือพ่อแม่อุปถัมภ์ (foster parent) จะเสียประโยชน์ ใครเป็นปรสิตแบบนี้บ้าง? ไม่ทุกเผ่าพันธุ์หรอกนะ

โดยทั่วไป นกส่วนใหญ่ จะสร้างรังและเลี้ยงลูกของมันเอง แต่มีนกบางพันธุ์ที่ไม่ทำเช่นนั้น มันวางไข่ในรังของนกพันธุ์อื่นและปล่อยให้เจ้าของรังเป็นฝ่ายเลี้ยงดูลูกของมัน เจ้าของรังอาจเป็นนกพันธุ์เดียวกันหรือพันธุ์อื่น นกที่มีพฤติกรรมกาฝากสังคมแบบนี้เรียกว่า นกกาฝากในรัง (Brood parasites)

นกเจ้าเรือนได้รับผลกระทบถึงอนาคตของเผ่าพันธุ์ เพราะว่ามันจะเลี้ยงลูกนกพันธุ์อื่นจนโต ไม่มีไข่ของมันเองเลย ไม่มีโอกาสได้สืบทอดพันธุกรรมของมันเอง ซึ่งมีผลเสียต่อขนาดประชากรโดยรวมของมันเองอย่างมาก แม้ว่านกเจ้าเรือนบางพันธุ์จะมีโอกาสเลี้ยงลูกของมันควบคู่ไปกับลูกของนกกาฝากก็ตาม แต่ก็จัดว่าความสำเร็จในการสืบพันธุ์ของมันลดลงไปมาก

brood parasites มีสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งคือพวกที่วางไข่ในรังของนกพันธุ์เดียวกัน (con specifics) เรียกว่า non-obligate parasites นกพวกนี้ได้แก่ Barn Swallows, American Weavers

กลุ่มที่สองคือ พวกที่วางไข่ในรังของนกพันธุ์อื่นเรียกว่า Obligate brood parasites พวกนี้ได้แก่ Brown-headed Cowbirds และ European Cuckoos (กลุ่มนกคัคคู, cuckoo แฟมิลี Cuculidae ดังรูปที่ 4.2-6 ก.) รวมถึง African Honeyguides ทั้งหมด กับครึ่งหนึ่งของนกกลุ่ม Cuckoos, Black-headed Duck ในอเมริกาใต้ Shiny Cowbirds, Screaming Cowbirds, Bronze Cowbirds และ Giant Cowbirds

มีรายงานว่าในธรรมชาติมีนกพวก obligate brood parasite มีประมาณ 1 % ของนกปรสิตทั้งหมด

Neotropical migrants ซึ่งได้แก่ warblers, tanagers, vireos และ thrushes ได้รับความเสียหายจากพวกนกกาฝากเช่นเดียวกัน นกกลุ่มนี้จะอพยพในฤดูหนาว จากเขตอเมริกาเหนือซึ่งเป็นพื้นที่สืบพันธุ์ของมัน ไปยังเขตอเมริกากลางซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยหากินของมัน ประชากรของนก Neotropical migrants ลดลงอย่างมากเนื่องจากถูกอิงอาศัยโดยนกกลุ่ม cowbirds

นกกาฝากในรัง ทำลายความสำเร็จในการสร้างรัง (breeding success) ของนกเจ้าเรือน เพราะว่ามันมักจะกินไข่หรือเอาไข่ของเจ้าบ้านทิ้งไปขณะแอบวางไข่ในรัง เมื่อลูกนกปรสิตออกมาแล้ว ก็ยังเขี่ยไข่ใบอื่นๆทิ้งไปหมด (ถ้าโชคดี ถ้าไข่ของนกเจ้าบ้านฟักออกมาได้ ลูกนกปรสิตจะแก่งแย่งกับลูกนกเจ้าบ้านอย่างมาก มันแก่งแย่งเก่งกว่ามาก) ซึ่งโดยปกติแล้วลูกนกกาฝากพวก cowbirds มักจะตัวโตกว่าและก้าวร้าวกว่า ทำให้สามารถแก่งแย่งอาหาร รับอาหารจากพ่อแม่อุปถัมภ์ของมันได้มากกว่า ทำให้ลูกนกของเจ้าบ้านไม่รอดชีวิต

มีรายงานว่า Brood parasitism เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เคยพบสูงถึง 70% (ที่พบลูกนก cowbirds ในรัง) และมีรายงานว่า การทำลายพื้นที่ป่านั้น มีส่วนทำให้ภาวะนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนกกลุ่ม cowbirds มักวางไข่ที่รังซึ่งอยู่บริเวณด้านในของป่า ถ้าป่าถูกทำลาย รังนกที่อยู่ด้านในก็เปิดเผยตัว การทำลายป่าจึงเป็นการลดความต่อเนื่องของป่า เป็นการลดระยะทางที่ตัวเมียของ cowbirds จะต้องเดินทางเพื่อหารังของนกเจ้าบ้าน ทำให้นกแอบวางไข่ได้ง่ายขึ้น

นกcowbird เป็นนกที่มีชื่อสกุลว่า Molothus แปลว่าเป็นผู้บุกรุก หมายถึงมันแอบรุกล้ำในชีวิตของคนอื่น มันเป็นนกที่หากินกับฝูงวัว มันกินแมลงที่แตกกระจายเพราะฝูงวัว ที่ร่อนเร่ไปเรื่อยๆ มันจึงไม่มีเวลาสร้างรัง แต่จะแอบวางไข่ในรังของนกอื่น แล้วจากไปพร้อมฝูงวัวป่า นก cowbird จึงเป็นปัญหามากกับนกพันธุ์อื่น มันปรับตัวได้ดี เมื่อชาวอเมริกันบุกเบิกพื้นที่และตัดป่า มันก็ตามวัวที่คนเลี้ยงและแทรกไปในป่าละเมาะ เป็นปรสิตในรังต่อนกพันธุ์ใหม่ ปัจจุบันมันเป็นปรสิตในนกท้องถิ่นอย่างน้อย 15 ชนิดในอเมริกาเหนือ บางชนิดเป็นนกที่ใกล้สูญพันธุ์ด้วย มันเป็นนกที่วางไข่ได้มาก ฤดูกาลหนึ่งอาจวางไข่ได้ถึง 30 ฟองในรังนกอื่นๆ ถึง 30 รัง นับว่านกcowbird เป็นอันตรายต่อเผ่าพันธุ์นกอื่นมาก

ลูกนกปรสิต กับ พ่อแม่อุปถัมภ์ จึงมี DNA ต่างกันอย่างลิบลับ (เวอร์ไปมั้ง) เรียกว่าถ้าทั้งคู่ต่างพันธุ์กัน ทั้งคู่ก็มียีนไม่เหมือนกันเลย ถ้าเป็นพันธุ์เดียวกัน ลูกที่เลี้ยงมาก็ไม่มียีนของพ่อแม่คู่นั้น พ่อแม่อุปถัมภ์เลี้ยงลูกของตัวอื่น อย่างนี้เรียกว่าพ่อแม่อุปถัมภ์ดวงไม่ดี ถูกกาฝาก แตกต่างจากพ่อหรือแม่ของเหล่า monogamous ที่ชอบที่ไปมีกิ๊กที่อื่นนะจ๊ะ พวกนั้นจะเรียกว่าเป็น extra pairing ซึ่งกลับมาบ้านแล้วก็ทำหน้าที่พ่อแม่(สองตัวเท่านั้น=จึงเรียกว่า monogamous) หน้าตาเฉย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท