ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

Self-Service ..ร้านอาหารที่ต้องบริการตนเอง


จะต้องบริการตนเองแค่ไหน..จึงเรียกว่าเหมาะสม? คอลัมน์ Etiquette ใน Gourmet & Cuisine

      ภาพของการออกไปกินอาหารตามร้านหรือภัตตาคาร   ยังคงเป็นเรื่องของการเดินเข้าไปในร้าน  หาที่นั่งให้เรียบร้อย   แล้วรอให้พนักงานมาบริการ  เมื่อสั่งอาหารที่ต้องการเสร็จ    ก็ต้องรอสักพักใหญ่ก่อนที่จะได้กิน   กินเสร็จแล้วต้องรอคิดเงิน จ่ายเงินและรับเงินทอนเงิน  

     การกินอาหารแบบนี้  ใช้เวลารวมเบ็ดเสร็จมักเกินหนึ่งชั่วโมงขึ้นไป   และไม่เหมาะสำหรับจะไปตอนหิวจัดๆ  เหตุเพราะต้องรอ

     จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป  ชีวิตต้องรีบเร่งรวดเร็ว   ร้านอาหารก็แปรเปลี่ยนไปด้วย คนรุ่นใหม่ต้องการร้านอาหารที่บริการฉับไว  ไม่เสียเวลา   คำว่าอาหารจานด่วนหรือ Fast Food จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักกิน

     ร้านอาหารที่เรียกได้ว่าเป็นจานด่วน  มีหลักการหนึ่งร่วมกันคือ  บริการที่ฉับไวเกิดจากลูกค้าต้องมีส่วนร่วมด้วยการ บริการตนเอง 

     ระดับของการบริการตนเองที่ลูกค้าจะต้องกระทำนั้นแตกต่างกันตามรูปแบบของการจัด  ซึ่งที่พบเห็นมาขอแบ่งเป็น 4 กลุ่ม

     @ ศูนย์อาหาร ( Food Center ) เป็นที่รวมของร้านอาหารหลายร้านไว้ในที่เดียวกัน  โดยมีผู้ดำเนินการบริหารศูนย์อาหารนี้  

     สิ่งที่ลูกค้าจะต้องบริการตนเองเริ่มจาก  นำเงินสดไปแลกเป็นคูปองหรือเครดิตการ์ดในวงเงินที่ต้องการเพื่อจับจ่ายในศูนย์อาหาร  

     ถ้ามีร้านในดวงใจอยู่แล้วก็ไม่ต้องเสียเวลา   ตรงไปที่ร้านนั้นได้เลย   ถ้ายังไม่ได้ตัดสินใจก็เดินดูและเลือกร้านที่โดนใจ   

     จัดการสั่งอาหารที่อยากกิน  รอรับอาหาร  จ่ายเงิน  เติมเครื่องปรุงและหยิบอุปกรณ์ในการกินเอาเอง   ถ้าซื้อหลายอย่างก็ใส่ถาดที่มีไว้ให้   ถือมาหาที่นั่งกินเอาเอง   กินเสร็จก็ลุกไปได้ทันที   ไม่มีอะไรติดค้างต่อกัน  ยกเว้นว่าจะมีคูปองหรือเงินเหลือในการ์ด  ก็ไปแลกคืนก่อนจากไป

     แบบนี้รวดเร็ว  สะดวกสบาย  ไม่เหนื่อย  ไม่ต้องเสียเวลาทำอาหารเอง  ไม่ต้องล้างจาน  และมีรายการอาหารให้เลือกกินเยอะแยะไปหมด

     @ ร้านอาหารเครือข่าย ( Franchise )  เป็นร้านแบบศิลปินเดี่ยว   ขายอาหารเฉพาะอย่างที่เป็นจุดเด่นของตน อาทิ ไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า โดนัท ไอศกรีม  แต่จะมีร้านภายใต้ชื่อเดียวกันจำนวนมาก    ตั้งอยู่กระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ  ในทำเลที่ให้ความสะดวกแก่ลูกค้าได้ดี  

     รายการอาหารในเครือข่ายเดียวกันออกมาเหมือนกันทุกร้าน  การตกแต่งร้านก็จะคล้ายๆกัน   เห็นที่ไหนเป็นจำได้ว่ายี่ห้อนั้นๆ

     สิ่งที่ลูกค้าจะต้องบริการตนเองในร้านแบบนี้  จะถูกใจคนที่ไม่ชอบแลกคูปอง  เพราะใช้เงินสดได้เลย   ฉะนั้นเดินเข้าไปสั่งอาหารที่ต้องการหน้าเคาเตอร์   จ่ายเงินให้เรียบร้อย  แล้วรอรับอาหารที่สั่งไป    ได้แล้วก็ยกถาดมาหาที่นั่งเอาเอง    เครื่องปรุงและอุปกรณ์การกินมีให้เสร็จ   บริการตัวเองตามสบาย

     กินเสร็จแล้ว  ถ้าเป็นเมืองไทย  มักจะลุกไปเลยเพราะชินกับการให้ผู้อื่นบริการ  แต่ที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นต้นคิดเจ้าของเครือข่าย   ออกแบบไว้ให้ลูกค้าเป็นผู้ยกถาดไปเก็บ    โดยเทภาชนะบรรจุอาหารลงถ้งขยะที่เตรียมไว้ให้  แล้ววางถาดซ้อนๆ กันตรงเหนือถังขยะ 

     ทั้งนี้ก็เพราะของที่จัดให้เป็นประเภท ใช้แล้วทิ้ง  ภาชนะบรรจุอาหารและอุปกรณ์การกินจึงทำจากกระดาษหรือพลาสติกสำหรับเมืองไทย  คงเห็นว่าทำแบบนั้นสิ้นเปลืองทรัพยากรเกินไป  น่าเสียดาย  ร้านบางแห่งจึงมีภาชนะซึ่ง ใช้แล้วไม่ทิ้ง  เพราะค่าแรงคนเก็บคนล้างถูกกว่าตั้งแยะ  

     ดังนั้นภาพที่คนไทยกินเสร็จแล้วลุกออกจากร้านไปเลยจึงเป็นปกติ  แต่คนดีๆก็มี   เพราะเคยเห็นหลายคนที่พบว่าของในถาดเป็นพวกใช้แล้วทิ้งทั้งหมด  ก็จะเก็บถาดให้เรียบร้อยก่อนออกจากร้านไป  

     @ ร้านอาหารแบบคาเฟทีเรีย  (Cafeteria)  เป็นร้านแบบบริการตนเองที่มีมานานก่อนเพื่อน   โดยทั่วไปจะพบในหน่วยงานต่างๆ เช่น สถานศึกษา  องค์กรเอกชน  ซึ่งต้องให้บริการแก่บุคลากรจำนวนมากๆ ในเวลาเดียวกัน    แต่คาเฟทีเรียที่เปิดเป็นเครือข่ายให้บริการแก่บุคคลทั่วไปก็มีเหมือนกัน

     ร้านแบบนี้แตกต่างจากสองแบบแรกตรงที่  มีเส้นทางเดินกำหนดไว้ให้ลูกค้า   เริ่มจากทางเข้า   ลูกค้าหยิบถาดก่อน   จากนั้นก็เดินไปตามทาง  ชอบอาหารอันไหนก็หยิบใส่ถาดตัวเอง  หรือบอกพนักงานที่ยืนบริการอยู่ช่วยตักให้   ก่อนจะออกจากแถวไปจะมีแคชเชียร์นั่งรออยู่   ยกถาดไปให้ตีราคาแล้วชำระเงินให้เรียบร้อย  

     จากนั้นก็ยกถาดไปหาที่นั่งกินร้านแบบนี้เวลากินเสร็จ  มักจะต้องเก็บถาดเองด้วย   โดยทางร้านจะมีตู้ที่ลูกค้าสามารถสอดถาดเข้าไปได้เหมือนเป็นลิ้นชัก  ซ้อนกันเป็นชั้นๆ    ตู้ไหนที่แต่ละชั้นมีถาดเต็มก็จะมีพนักงานมาเข็นออกไป    แต่บางร้านอาจมีพนักงานมาเก็บให้

     @ ร้านสะดวกซื้อ ( Convenience Store )  ร้านชนิดนี้ความจริงไม่ใช่ร้านอาหารโดยตรง  มีของอุปโภคบริโภคจิปาถะขาย   แต่ก็มีอาหารแบบบริการตนเองขายด้วย   ส่วนมากจะเป็นอาหารแช่แข็ง   ซึ่งเมื่อลูกค้าต้องการก็จะอุ่นให้ด้วยเตาไมโครเวฟ  หรือจัดวางไว้ให้ลูกค้าอุ่นเอง   จ่ายเงินแล้วจะถือไปกินที่ไหนก็ไม่สนใจ

     แต่ร้านที่เน้นให้ลูกค้าบริการตนเอง  จะมีมุมหนึ่งจัดเป็นโต๊ะเล็กๆ ไม่มีเก้าอี้  สูงในระดับที่เหมาะสำหรับให้ลูกค้ายืนกินอาหารที่ตนเองอุ่นเรียบร้อยแล้ว  โดยเตรียมเครื่องปรุงและอุปกรณ์การกินที่จำเป็นไว้ให้  

     หากไปกินในร้านแบบนี้   เสร็จแล้วก็ควรเก็บขยะของตนทิ้งให้เรียบร้อยก่อนออกจากร้านด้วย

     ร้านอาหารแบบบริการตนเองทุกประเภทมีข้อปฏิบัติหลักที่สำคัญร่วมกัน 2 ข้อคือ  
    
ข้อหนึ่ง การเข้าคิว   ผู้ที่มาก่อนจะได้รับบริการก่อน   ฉะนั้นการเข้าแถวถือว่าเป็นมารยาทที่ถูกต้อง  และถ้าพบเห็นการแซงคิวเกิดขึ้นเมื่อไหร่   ควรช่วยกันตักเตือน   
    
ข้อสอง  ไม่นั่งแช่  ร้านแบบนี้มีไว้เพื่อการกินที่ฉับไว  ไม่ใช่ที่นั่งคุย  นั่งอ่านหนังสือ  กินเสร็จแล้วควรลุกทันที  เพื่อหมุนเปลี่ยนให้ลูกค้าอื่นได้ใช้บริการด้วย   เพราะหลายแห่งมีพื้นที่จำกัด
 

     แม้จะเป็นร้านอาหารแบบบริการตนเอง  ก็ใช่ว่าจะทำอะไรๆ ตามใจตนเองได้อย่างอิสระเสรี   ธรรมเนียมปฏิบัติก็มีเหมือนกัน   

     

หมายเลขบันทึก: 120768เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2007 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดังนั้นภาพที่คนไทยกินเสร็จแล้วลุกออกจากร้านไปเลยจึงเป็นปกติ
“แต่คนดีๆก็มี” เพราะเคยเห็นหลายคนที่พบว่าของในถาดเป็นพวกใช้แล้วทิ้งทั้งหมด
ก็จะเก็บถาดให้เรียบร้อยก่อนออกจากร้านไป

สรุปแล้ว คนที่ไม่เก็บไปทิ้ง คือ “คนไม่ดี” หรือเปล่าครับ แฮะๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท