QAU กับเส้นทางสู่องค์กรเคออร์ดิค : 1


         เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 2 พ.ย. 49  ระหว่างที่ทีม QAU บางคนที่ไม่ติดภารกิจรับผู้เข้าร่วม UKM 8 (อาจารย์วิบูลย์ ตูน โอ พัช)   รวมทั้งพี่เมตตาเดินทางไปสุโขทัยเพื่อเตรียมการงานกันล่วงหน้า และระหว่างทางเราได้แวะทานก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยเป็นอาหารกลางวัน  ท่านอาจารย์วิบูลย์ซักถามพวกเราว่าใครมีโอกาสได้อ่านบทความที่ท่านอาจารย์หมอได้ฝากมาแจกใน UKM 8 บ้าง  "บทความ สกว.กับความเป็นองค์กรเคออร์ดิค (31)"  (2 หน้ากระดาษ A4)  พวกเรามองหน้ากันไปมาแล้วตอบอย่างพร้อมเพรียงกันแบบเสียงอ่อยๆ ว่า “ยังไม่ได้อ่านค่ะ”  อาจารย์วิบูลย์ไม่ตำหนิพวกเราเหมือนเช่นเคยอาจเป็นเพราะอาจารย์ชินแล้ว  และอาจารย์เคยเปรยกับเราแล้วว่า "ระวังจะใกล้เกลือกินด่าง"  บวกกับเราพึ่งได้รับเอกสารนี้จากอาจารย์  และนำมาถ่ายเอกสารเมื่อวันก่อนจะเดินทางซึ่งเป็นช่วงที่เรากำลังเตรียมงาน   ต่อจากนั้นอาจารย์ได้พูดคุยเกี่ยวกับ องค์กรเคออร์ดิค  เพื่อเป็นการปูพื้นฐานเรื่องดังกล่าวซึ่งการพูดคุยในการอธิบายเรื่องต่างๆ อาจารย์มักจะอธิบายให้เห็นภาพประกอบ  หรือยกตัวอย่างเพื่อให้เราเข้าใจจากตัวอย่างจริงที่มีอยู่ 

         สำหรับในครั้งนี้ก็เช่นกัน  หลังจากอาจารย์เช็คแล้วมั่นใจว่าพวกเราไม่มีใครได้อ่านบทความแผ่นดังกล่าวมาอย่างแน่นอนแม้แต่คนเดียว  อาจารย์จึงได้เริ่มเกริ่นนำเกี่ยวกับองค์กรดังกล่าวซึ่งท่านก็ได้พูดคุยกับเราในเรื่องนี้เป็นประจำอยู่แล้ว  หลังจากนั้นอาจารย์จึงได้ลองไล่องค์ประกอบขององค์กรเคออร์ดิค 6 องค์ประกอบทีละองค์ประกอบ  พร้อมกับให้เราลองนึกเทียบเคียบกับการทำงานของเราใน QAU ว่าแต่ละองค์ประกอบของเรามี  หรือไม่อย่างไร  โดยใช้วิธีถามให้ตอบทีละคน  (เหมือนการสอบมั้ยคะ  โดยมีท่านอาจารย์วิบูลย์และพี่เมตตาเป็นคณะกรรมการคุมสอบ)

         เริ่มต้นจาก องค์ประกอบที่ 1 Purpose สำหรับองค์ประกอบนี้เราตอบได้คล้ายๆ กันแต่คำพูดอาจไม่เหมือนกันซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นเพราะเราทำงานร่วมกันมานาน  ทุกคนเริ่มทำงานที่ QAU ราวๆ ปี 41 – 42  โดยเข้ามาทำงานไล่เลี่ยกันโดยห่างกันประมาณ 3 - 6 เดือน  และทำงานร่วมกันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งหมด 5 คน ซึ่งตามกรอบอัตราที่ ม.จัดให้กับ QAU มี 8 อัตรา ท่านอาจารย์วิบูลย์ถามเราอยู่เสมอว่าต้องการคนเพิ่มมั้ย  แต่เราคิดว่าเราทำงานกันไหวและมีความสุขดีจึงยังไม่คิดจะรับสมาชิกเพิ่มตอนนี้  อาจารย์จึงมั่นใจและเลิกถามไปโดยปริยาย  ที่เราช่วยๆ กันตอบดิฉันขอสรุปว่า  หน่วยประกันคุณภาพเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานใน มน. ดำเนินการประกันคุณภาพในแนวทางที่ถูกต้องและต่อเนื่องตามแนวทางของระดับประเทศ  เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพในทุกด้านเพื่อให้ มน. พร้อมรับการประเมินจากภายนอก  และบัณฑิตที่จบออกไปมีคุณภาพพร้อมทั้งมหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งทางปัญญาของสังคมได้อย่างเต็มที่

         ดิฉันเคยฝันไปถึงขั้นว่าด้วยระบบการประกันคุณภาพของ มน.จะทำให้ทุกคนใน มน. รู้จักตัวเองว่าขณะนี้ตัวเองอยู่ตรงที่จุดใดและควรจะปรับปรุงตรงจุดใดจากทั้งการประเมินตนเอง (SAR)  และการประเมินภายใน (CAR) ที่แต่ละคณะวิชา  และหน่วยงานจะได้รับคำแนะนำดีดีจากผู้ประเมินฯ  และเมื่อแต่ละจุดรู้จุดอ่อนของตัวเองแล้วจะมีการ ลปรร. กันข้ามหน่วยงานเพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพจากทุกจุดของมหาวิทยาลัย  จนทำให้มหาวิทยาลัยของเราก้าวสู้แนวหน้าในระดับประเทศได้อย่างก้าวกระโดดด้วย KM

         องค์ประกอบที่ 2 Principle หลักการทำงานที่เราร่วมกันคิดตั้งแต่สมัยท่านอาจารย์วิบูลย์เริ่มเข้ามารับผิดชอบด้าน QA ในตำแหน่งผู้ช่วยอธิการประมาณปี 44 ซึ่งในข้อนี้เราทุกคนตอบเกือบจะพร้อมๆ กันว่า สร้าง ให้ ชม ไม่  ลองมาดูรายละเอียดของ 4 คำนี้กันนะคะ

1. สร้าง
         -ความเข้าใจ ความศรัทธา และความมุ่งมั่นในเรื่องคุณภาพ
         -ทัศนคติ เจตคติ ที่ดีต่อการทำงาน QA
         -ความสัมพันธ์ทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย สายใยการร่วมแรงร่วมใจ

2. ให้
         -การส่งเสริม สนับสนุน คำปรึกษาในการทำ QA
         -บริการทางวิชาการเพื่อเพิ่มทักษะในการเขียน SAR และ QM
         -การอบรมการเป็น Auditor, Assessor
         -การอบรม QA officer ให้สามารถรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นได้ถูกต้อง (สร้าง QA Database)

3. ชม
         -ประชาสัมพันธ์ผลงานให้กับหน่วยงานที่มีผลงานดี
         -ให้ใบรับรอง (ประกาศเกียรติคุณด้านประกันคุณภาพ)

4. ไม่ (เพราะมีกลไกลอื่นทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว)
         -ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวการบริหารงานภายในของแต่ละหน่วยงาน(ผู้บริหารหน่วยงาน,ผู้บริหารมหาวิทยาลัย)
         -ไม่บังคับให้ทำ QA (ตนเอง, พ.ร.บ., ผู้บริหาร, สังคมภายนอก)
         -ไม่ตำหนิ ติเตียน ไม่ว่ากรณีใดๆ (Auditor, Asessor : หลักการ - จรรยาบรรณ - กัลยาณมิตร)

         องค์ประกอบที่ 3 Partiicipants  พอถามถึงข้อนี้ปุ๊บเราก็ปิ๊งปั๊บ ... เพราะตลอดเวลาที่เราทำงานเราระลึกอยู่เสมอว่า QAU ไม่ได้ทำงานกันแค่ 5 คน  แต่เรามีเพื่อนๆ มีเครือข่ายอยู่ทุกคณะ  โดยเรามีเจ้าหน้าที่ QA ที่สามารถประสานงานและขอความร่วมมือกันได้โดยง่ายและมีความเข้าใจกัน  นอกจากนี้ ที่สำคัญ คือ  ทุกครั้งหากมีการพูดคุยกันในเรื่อง QA เราจะเชิญคณบดี และ/หรือ รองคณบดีที่ดูแลงานด้านการประกันคุณภาพ  พร้อมกับ จนท. QA ของคณะ  รวมทั้งผู้ประเมินฯ ภายใน  เข้ามาร่วมทำความเข้าใจพร้อมกันด้วยเสมอ 

         ซึ่งหากกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อาจกล่าวได้ว่า  ในปีแรก คือ ในปี 44 เราเริ่มเรียนรู้และทำความเข้าใจ QA ไปพร้อมๆ กับทุกคณะวิชาใน มน.  พร้อมๆ กับการปฏิบัติจริง  ที่ มน. เราประกันคุณภาพฯ โดยอาศัยการประเมิน  เราเริ่มมีการประเมินคุณภาพภายในโดย QAU ดำเนินการทั้งระบบ  (ยกเว้นการจัดทำ SAR ของทุกคณะวิชา/หน่วยงาน  ซึ่งหน่วยงานจะต้องประเมินตนเองและจัดทำ SAR ส่งมายัง QAU เพื่อจัดส่งไปยังคณะกรรมการประเมินต่อไป)  ที่สำคัญ คือ เราทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานให้ผู้ประเมินและผู้รับการประเมินได้มาพบกัน     สิ่งที่ QAU ดำเนินการในปีนั้น คือ
 
         1.  จัดทำกำหนดการโดยหาวันที่ทางคณะและทีมผู้ประเมินพร้อม 

         2.  จัดหาคณะกรรมการ (ผู้ประเมิน) มาประเมินโดยมีคณะร่วมแสดงความคิดเห็น  โดยมีผู้ประเมิน 4 ท่านต่อ 1 คณะวิชา ประกอบด้วย 2 ท่านที่เป็นบุคลากรใน มน. แต่ไม่ได้สังกัดคณะที่เป็นผู้รับประเมิน  ที่เป็น NUQA System specialist (ซึ่งจะต้องเป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ หรือจะต้องผ่านการอบรม Assessor และได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินจากทางมหาวิทยาลัยก่อนจึงจะรับเป็นผู้ประเมินภายในได้) และ อีก 2 ท่านที่เป็นบุคลากรภายนอก มน. ที่เป็น  Content specialist  มีเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการโดยในปีแรกนี้เป็นเจ้าหน้าที่ QAU 2 ท่าน   เพื่อจัดทำสรุป CAR ซึ่งจะแล้วเสร็จเป็นรูปเล่มในวันสุดท้ายของการประเมิน
         
         ในปีแรกเราใช้เวลาประเมินคณะละ 2 วัน  แต่ในปัจจุบันบางคณะวิชาพัฒนาการไปถึงขั้นประเมินโดยผ่าน e-sar ซึ่งคณะกรรมการฯ จะสามารถตรวจสอบหลักฐานที่อยู่ในรูปเอกสารต่างๆ ได้ผ่านทาง  e-sar ก่อนจะถึงวันประเมิน และเมื่อถึงวันประเมินก็จะสามารถเดินดู สัมภาษณ์ สังเกต หรือขอดูเอกสารเพิ่มเติมจากทางคณะ ฯลฯ  จึงทำให้คณะต่างๆ เหล่านั้น สามารถทำการประเมินภายในคณะเสร็จสิ้นพร้อมรับฟังผลการประเมินด้วยวาจา  และจัดทำรูปเล่มเสร็จในเวลา 1 – 1 วันครึ่งเท่านั้น

         3.  หลังจากที่ทุกคณะประเมินภายในเสร็จสิ้นเราจึงนำผลการประเมิน และเป้าหมายที่คณะตั้งไว้ในปีต่อไปของทุกคณะมารวบรวมเพื่อ จัดทำบทสรุปสำหรับผู้บริหาร  และนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร  พร้อมทั้งส่งกลับไปยังผู้ประเมินและคณะวิชาที่รับการประเมินเพื่อนำผลการประเมินไปปรับปรุงพัฒนาคณะวิชาต่อไป
 
         โดยในการดำเนินการเราแจ้งให้กับทางคณะทราบล่วงหน้าว่าปีนี้เราจะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง  และในปีหน้าทางคณะจะต้องดำเนินการทำนองนี้ด้วยด้วยตนเอง 

         ซึ่งหลังจากนั้นในปี 45 ดิฉันจำได้ว่ามี 1 - 2 คณะที่ดำเนินการจนถึงขั้นประเมินแต่ยังรู้สึกต้องการให้ QAU มาเป็นเลขานุการในการประเมินให้เพราะกังวลว่าในขณะประเมิน จนท. ของคณะไม่น่าจะอยู่ในห้องกับคณะกรรมการฯ  แต่ดิฉันก็ได้ปรึกษากับท่านอาจารย์วิบูลย์และคิดว่าเราประเมินกันแบบกัลยาณมิตรอยู่แล้วซึ่งปัญหาตรงนั้นไม่น่ากังวลแต่อย่างใด  ซึ่งจนถึงปัจจุบันแต่ละคณะเองก็ดำเนินการการประเมินคุณภาพภายในกันได้ด้วยตนเองเป็นอย่างดีโดยมี QAU เป็นที่ปรึกษาบ้างตามแต่ที่คณะต้องการ

        จนถึงวันนี้ดิฉันมั่นใจว่าใน มน. มีชุมชนQA Staff เกิดขึ้นก่อนที่เราจะรู้จัก KM แต่เรารู้จักชุมชนนี้เพราะเราได้เริ่มรู้จักกับ KM  เพราะจนท. QA แต่ละคณะมีการ ลปรร. กันไม่ว่าจะเป็นในเรื่องขั้นตอน  วิธีการ  การจัดทำ SAR  ฯลฯ  แล้วนำความรู้ที่ได้จากการ ลปรร. กันทั้งทางโทรศัพท์ภายใน และ การพบปะและพูดคุยกันในการประชุมทำความเข้าใจที่ QAU จัดขึ้น  บางปัญหาที่มีคำถามเข้ามาที่ QAU หากเรารู้ว่ามีที่คณะไหนที่มีจุดเด่นในเรื่องนั้นๆ หรือได้แก้ปัญหานั้นๆ สำเร็จไปแล้วเราก็จะแนะนำให้ได้พูดคุย ลปรร. กันได้ 
ต่างจากเมื่อหลายปีก่อนที่ทุกปัญหาจะต้องมุ่งตรงมาที่ QAU ซึ่งขณะนั้นเราเองก็มีประสบการณ์ไม่ได้มากไปกว่า จนท. ที่คณะเท่าใดนัก

         ครึ่งทางแล้วค่ะ  เป็นอย่างไรบ้างคะ QAU พอจะเข้าเค้าองค์กรองค์กรเคออร์ดิคกับเค้าบ้างรึเปล่าคะ  แหมผ่านมาครึ่งทางการพูดคุยยิ่งออกรสออกชาด  พลันก๋วยเตี๋ยวของเราก็เดินทางมาถึงโต๊ะ  พร้อมๆ กับขนมจีนน้ำยา อย่าลืมติดตามบันทึกหน้า (ตอนที่ 2) นะคะ  ดิฉันคิดว่าน่าจะเข้มข้นกว่านี้ขอเชิญชวนทุกท่านลองมาช่วยกันกับเราชาว QAU ทบทวนอีก 3 ข้อที่เหลือด้วยกันนะคะ

หมายเลขบันทึก: 60106เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 00:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ตามมาอ่านค่ะ หนูตูนมหัศจรรย์
  • พี่เมตตา .... มาได้ไงคะเนี่ยเวลานี้เดี๋ยวจะฟ้องคุณลูกๆ ว่าคุณแม่หนีมาจากที่นอนในเวลาดึก
  • นอนได้แล้วค่ะ ...ไปค่ะเราไปเข้านอนพร้อมกัน
  • ห้ามบอกเด็ดขาดนะคะว่า "ตื่นนอนแล้ว"

ตื่นมากลางดึกค่ะ นอนไม่หลับแบบว่าคงแก่แล้วเลยได้เขียน บันทึกนี้  จะรออ่านตอน 2 นะคะ

  • หลังจากกลับมาจาก UKM ที่ มน. ผมก็มีความสนใจ e-sar ของคณะวิทยาศาตร์การแพทย์
  • ได้เมลไปขอข้อมูลกับผู้รับผิดชอบของคณะ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ
  • ถ้ามีโอกาสอาจจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณตูนนะครับ
  • ขอบคุณล่วงหน้า
  • คุณกัมปนาทคะ  ถ้าอย่างไรตูนคิดว่ารบกวนโทรไปที่เบอร์ของมหาวิทยาลัย  055-261000 - 4 ต่อ 4700 ติดต่อ คุณนก QA Staff ของวิทย์ฯ แพทย์ นะคะ 
  • สำหรับ e-sar ทางคณะเป็นผู้จัดทำตูนเลยให้ข้อมูลไม่ได้มากนักค่ะ  คิดว่าคุณกัมปนาทคงได้เข้าไปชมเวปไซต์ของคณะบ้างแล้วนะคะhttp://www.medsci.nu.ac.th/QAmedsci/


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท