การเรียนรู้อิงถิ่นฐาน : ๖.การบูรณาการในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนและเครือข่ายในนครสวรรค์


ในการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งและมุ่งเคลื่อนไหวกระบวนการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้แบบอิงถิ่นฐานนั้น โดยวิธีคิดแล้วจะมุ่งเน้นความเป็นองค์รวม ไม่แยกส่วนวัตถุกับจิตใจ ไม่แยกจุดหมายของมนุษย์ออกจากความสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ไม่แยกความรู้ออกจากความเป็นจริงของสังคม

ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความบูรณาการในการใช้สรรพวิทยาการ และการครอบคลุมสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ ไม่กระจายเป็นเบี้ยหัวแตกและทำมากแต่ครอบคลุมสิ่งที่จะต้องเป็นปัจจัยเกื้อหนุนส่งเสริมพลังเชิงระบบให้กันได้ไม่ครบถ้วนเพียงพอ เลยนอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วก็ก่อให้เกิดความสูญเสียอีกด้วย เช่น ติดเครื่องรถ เหยียบคันเร่ง แต่ไม่เข้าเกียร์ หรือทำในจังหวะที่ไม่สัมพันธ์กัน ต่อให้เราเหยียบคันเร่งต่อเนื่องจนน้ำมันหมดถังรถก็วิ่งไม่ได้ เพราะทำเหตุปัจจัยที่จำเป็นต้องทำไม่ครบหรือไม่บูรณาการ

จากตัวอย่างดังกล่าวนี้ กระบวนการทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ จึงจัดเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของการมุ่งเป้าหมายเชิงพื้นที่ และเมื่อดำเนินการเพียงส่วนที่เป็นการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นนั้น ก็เป็นเพียงระบบย่อยที่อยู่ในบทบาทของโรงเรียนและเป็นหลักสูตรอย่างหนึ่งเพื่อเติมเต็มช่องว่างจากหลักสูตรส่วนกลางนั่นเอง 

การพิจารณาในลักษณะนี้ จึงทำให้เราสามารถที่จะเห็นถึงขอบเขตจำเพาะ และสามารถขยายการดำเนินงานให้เชื่อมโยงออกไปสู่การเรียนรู้ท้องถิ่นในความหมายที่กว้างต่อไปได้อีกตามกำลังความพร้อม โดยเฉพาะการมุ่งให้การจัดกระบวนการทางการศึกษาเรียนรู้เป็นการพัฒนาความเป็นพลเมืองและเป็นปัจจัยหลักของการออกไปสร้างสังคมสุขภาวะในอนาคต ซึ่งจะเป็นการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต อีกทั้งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโอกาสการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างสุขภาวะทางสังคม 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการบูรณาการกันของกลุ่มสาระวิชาต่างๆของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น รวมทั้งมิติอื่นๆ ที่เป็นหลักสูตรซึ่งดำเนินการขึ้นภายในโรงเรียนและสถานศึกษา อีกทั้งมุ่งเน้นไปที่ผลสัมฤทธิ์เพื่อการศึกษาของเด็กเป็นก่อนอื่นนั้น การเป็นแกนนำโดยกลุ่มสาระทางการเรียนรู้สังคมศึกษาและขับเคลื่อนผ่านศูนย์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน จำเพาะข้อมูล องค์ความรู้ เรื่องราวท้องถิ่น ตลอดจนรูปวาดและสื่อต่างๆที่มีในเวทีคนหนองบัวนั้น ก็สามารถเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นอย่างบูรณาการในทุกวิชาได้เป็นอย่างดีพอสมควร 

ในเวทีอบรมครั้งนี้ ได้มีคุณครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ รวมทั้งคุณครูที่ดูแลห้องคอมพิวเตอร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตและเทคโนโลยี มาพูดคุยหารือและนำเสนอแนวความสนใจให้เห็นด้วยว่า เมื่อมีโอกาส ทางโรงเรียนหนองบัวก็จะดำเนินการโครงงานต่างๆที่มีอยู่เป็นทุนเดิมให้มาเชื่อมโยงสะท้อนซึ่งกันและกันกับกระบวนการที่กลุ่มสาระการเรียนรู้ทางสังคมศึกษาขับเคลื่อนศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐานไปด้วย 

การฝึกทักษะ IT เพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้และทักษะชีวิต มีความสนใจที่จะเชื่อมโยงกิจกรรมการฝึกประสบการณ์เข้ากับการใช้อินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ศึกษาค้นคว้าเพื่อเรียนรู้ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ได้ทักษะเทคโนโลยีและการเรียนรู้อิงถิ่นฐานไปด้วยกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่ผม ท่านพระอาจารย์มหาแล และทุกท่านในเวทีคนหนองบัวคิดอยู่เสมอเช่นกัน

กลุ่มภาษาต่างประเทศก็มีแนวคิดที่จะแปลบทเรียนและทำสื่อจากองค์ความรู้ท้องถิ่นไปสู่ภาษาจีน ญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษ เพื่อให้เด็กได้เรียนภาษาต่างประเทศกับสาระสังคมศึกษา สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาอิงถิ่นฐาน และเรื่องราวต่างๆของท้องถิ่น ซึ่งก็เชื่อได้ว่าจะทำให้เด็กๆและผู้เรียนได้คำศัพท์ที่อยู่ในวิถีชีวิตและสังคมรอบตัว อีกทั้งสามารถนำเอาสิ่งใกล้ตัวมาช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจการเรียนภาษาต่างประเทศ สามารถพัฒนาการสื่อสารและใช้ทักษะภาษาให้เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ได้ดียิ่งๆขึ้น

กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ก็สามารถพัฒนากิจกรรมและสาระการเรียนรู้ที่ผสมผสานไปกับการเรียนรู้สถานการณ์ กิจกรรม และการดำเนินชีวิตของท้องถิ่น สามารถพัฒนาสถานการณ์เพื่อพัฒนาการคิดและวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์จากวิถีชีวิตและเรื่องราวที่มีอยู่จริงในชีวิตประจำวันของชุมชน เหล่านี้เป็นต้น

การเห็นโอกาสและเชื่อมโยงตนเองของคนทำงาน และมุ่งพึ่งการปฏิบัติของตนเองจากทรัพยากรเท่าที่มีในลักษณะนี้ คงพอจะทำให้เริ่มเห็นแนวโน้มการพัฒนาตนเองไปในอนาคตได้พอสมควรว่า เวทีคนหนองบัวและเครือข่ายผู้คน ซึ่งรวมทั้งลูกหลานคนหนองบัวทั้งในและต่างประเทศ กำลังเป็นปัจจัยช่วยเสริมกำลังคุณครูและเครือข่ายโรงเรียน ให้สามารถพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้อย่างบูรณาการหลายด้าน ทั้งกลุ่มวิชาภาษาต่างประเทศ อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น  เทคโนโลยี IT คณิตศาสตร์ รวมทั้งวิชาอื่นๆ ที่เป็นเรื่องราวของตนเอง

พื้นฐานความพร้อมที่จะดำเนินการหลักสูตรท้องถิ่นและพัฒนาศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐานได้อย่างบูรณาการดังกล่าวนี้ สอดคล้องทั้งความสนใจต่อความเป็นท้องถิ่นของเครือข่ายโรงเรียน และสามารถพัฒนาการเรียนการสอนของเครือข่ายโรงเรียนให้สนองตอบต่อยุทธศาสตร์การศึกษาของประเทศ ที่มุ่งบูรณาการกับการปฏิรูปการเรียนรู้ทางสังคม ได้เป็นอย่างดี

สิ่งต่างๆเหล่านี้ เชื่อว่าจะช่วยให้โรงเรียนสามารถบรรลุจุดหมายของการดำเนินการหลักสูตรท้องถิ่น พัฒนาการเรียนการสอน ให้เด็กๆและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการเรียนรู้แบบอิงถิ่นฐาน พร้อมกับสามารถใช้ประสบการณ์ที่มีความหมายในชีวิตประจำวันและสิ่งรอบตัว เพื่อทำความเข้าใจและต่อยอดความรู้กับสิ่งที่เรียนรู้ มีพื้นฐานที่ดีต่อการเปิดกว้างต่อสังคมโลกและมีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถแบ่งปันและเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นเจตนารมย์และจุดหมายสำคัญอย่่างหนึ่งของการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน.

หมายเลขบันทึก: 451937เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2011 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • จากเรื่องนี้
  • ในการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งและมุ่งเคลื่อนไหวกระบวนการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้แบบอิงถิ่นฐานนั้น
  • ทำให้ผมคิดถึง School-based management และ School-based training สมัยทำงานกับสภาการศึกษาเลยครับ
  • ว่าจะถามว่า อาจารย์หายป่วยหรือยัง
  • ลืมเลย
  • ไปใต้มา ฝนไม่ตกเลยครับ
  • http://www.gotoknow.org/blog/yahoo/451711
  • แต่มาเจอฝนที่นครปฐม
  • โดนเต็มๆๆ

ที่จริงมีนักศึกษาผมรุ่นที่ผ่านมาคนหนึ่งได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องที่อาจารย์กล่าวถึงนี้ อีกทั้งเป็นคนที่จะต้องกลับไปดูนโยบายเรื่องนี้ในประเทศของเขา ซึ่งตอนทำผมก็ได้เป็นกรรมการร่วมและให้จะนึกถึงอาจารย์ที่อยากให้เป็น External Resource เขามากเลยละครับ

แต่ก็คงเหมือนนักศึกษาในระบบที่กำลังเป็นเหมือนกันทั้งโลก หรืออาจจะรวมทั้งตัวกระบวนการด้วย ที่ไม่สามารถทำให้เขาเข้าถึงแนวคิดที่เป็นบูรณาการและไม่ได้ใช้วิชาแยกส่วนเป็นตัวตั้งของ School-Based Learning และ School-Based Management อีกทั้งเชื่อมโยงไม่ถึงวิธีคิดของการศึกษาในเงื่อนไขใหม่ๆของสังคมโลก ไปติดเพียงเกณฑ์ตัวชี้วัดและทฤษฎีการบริหารจัดการแบบ Routine works ซึ่งไม่ต้องคิดว่ากระบวนการก่อนหน้านั้นมาจากไหนและสื่อสะท้อนอะไรของระบบอันซับซ้อนรอบข้าง แค่ศึกษาเพื่อเดินไปตามพิมพ์เขียวให้เพ๊ะๆก็พอแล้ว อีกทั้งเรื่องที่มีความเป็นนวัตกรรมอย่างนี้ ก็มักชอบดำเนินการกันแบบเร็วๆ เอาความสำเร็จแต่รูปแบบภายนอก หวือหวา แว่บมาแล้วก็อาจจะหายไปอีก จึงไม่ง่ายนักที่จะหาความถ่องแท้ได้อย่างรวบรัด เลยดูแล้วคงจะทำให้เขาลำบากและสับสนมากไปกว่าจะเป็นผลดีต่อเขา เลยไม่ได้ชวนอาจารย์ไปร่วมงานกัน นึกถึงอยู่นะครับ

ผมว่าเรียนรู้แบบใช้การปฏิบัติและทดไว้ก่อนอย่างอาจารย์นี่แหละ สักพักหนึ่งเมื่อมีประสบการณ์ก้อนหนึ่งเป็นตัวตั้งแบบไม่ไม่ต้องใช้ความแยกส่วนนำมาก่อน แล้วจึงนั่งถอดบทเรียน ตกผลึกประสบการณ์ ตั้งคำถามและเดินเข้าหาความรู้ในมิติใหม่ๆ ผมว่าอาจารย์จะแหวกออกจากกรอบและชี้ทางสว่างแก่เรื่องที่เราทำได้หลายเรื่องได้มากกว่าคนทั่วไปมากเลยละครับ

สบายดีแล้วครับอาจารย์ ขอบพระคุณครับ
แต่ก็แหยงๆกลัวละอองฝนอยู่เหมือนกันครับ 

Ico24 JJ : ขอบพระคุณอาจารย์หมอ JJ ครับ อาจารย์ได้มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพาที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์พัฒนาการการศึกษาของประเทศยุควางรากฐาน ก่อตั้งเป็น มศว.บางแสน ๑ ใน ๖ แห่งของ วิทยาเขต มศว.ของประเทศในยุคเดียวกัน เหมือนเมื่อตอนอาจารย์เดินออกจากกรุงเทพฯในวัยหนุ่มสาวเดินออกไปเริ่มชีวิตการเป็นครูที่มอดินแดงก็เป็นการออกไปบุกเบิกหลายอย่างในยุคที่หลายอย่างไม่ได้มีเหมือนกรุงเทพฯ เป็นวิถีของนักบุกเบิกดีครับ

Ico24 ขจิต ฝอยทอง  : ขอบพระคุณอาจารย์ขจิตครับ

Ico24 แสงแห่งความดี : ขอบคุณคุณแสงห่งความดีมากๆครับที่มาเยือนในขณะที่กำลังคิดถึงอยู่พอดีว่าหมู่นี้สงสัยกำลังสนุกกับลงต้นไม้รับหน้าฝน เลยดูเหมือนหายไปเป็นครู่ เมื่อคืนผมนึกถึงอยู่ครับเพราะไปจัดอบรมเรื่องการเรียนรู้อิงถิ่นฐานมาที่นครสวรรค์ เลยนึกถึงว่าคุณแสงแห่งความดีเป็นคนทำงานท้องถิ่น และเป็นคนขององค์กรท้องถิ่นที่มีแนวคิดลึกซึ้งเรื่องการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้กับเรื่องสุขภาวะชุมชน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท