การเรียนรู้อิงถิ่นฐาน : ๒. การสะสมทุนเดิมกับวิธีประสานงานผ่านสื่อออนไลน์


การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ใช้เวลาประสานงานกันไม่มาก อีกทั้งเป็นการติดต่อ หารือ และประสานงานกันผ่านสื่อออนไลน์เสียเป็นส่วนใหญ่ กระทั่งเมื่อจะเตรียมการต่างๆ ก็สามารถดำเนินการไปอย่างคู่ขนานกัน  การนำเอาสิ่งที่หลายฝ่ายได้ทำและได้สร้างปฏิสัมพันธ์ให้เกิดปัจจัยความพร้อมระดับหนึ่งก่อนหน้า ๔-๕ ปี ก่อนที่จะริเริ่มและดำเนินโครงการนี้ขึ้นมาทบทวนหาบทเรียนไปด้วยจึงจะสามารถเห็นสิ่งที่ก่อเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ประกอบด้วยการสร้างต้นทุนด้วยกันของหลายฝ่ายมาแล้วระดับหนึ่ง ดังนี้

(๑) เวทีคนหนองบัว ชุมชนเรียนรู้ออนไลน์ของคนหนองบัว : การที่ได้มีคนหนองบัวเข้ามาคุยกัน กระทั่งเปิดเป็นหัวข้อบันทึกเวทีคนหนองบัว ซึ่งริเริ่มโดยท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย (ขำสุข) ซึ่งเป็นลูกหลานของคนหนองบัว โดยการนำเอาเรื่องราวของหลวงพ่อเดิมและเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก รวมทั้งเรื่องราวต่างๆที่เป็นข้อมูลจากเอกสารหายากและเรื่องราวที่อยู่ในประสบการณ์ชีวิต มาสนทนาและเผยแพร่ในบันทึกของผม กระทั่งต้องเปิดหัวข้อบันทึกไว้อย่างเป็นการเฉพาะและพัฒนามาเป็นเวทีคนหนองบัวดังปัจจุบัน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เวทีคนหนองบัวเป็นสื่อออนไลน์ที่สะสมข้อมูลและก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางด้านข่าวสารของคนหนองบัวและเครือข่ายการเรียนรู้ต่างๆอย่างกว้างขวาง

(๒) สปิริตของกลุ่มศิษย์เก่าและเครือข่ายศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว : กลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว จะมีการพบปะกันอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงงานประจำปีของหนองบัวซึ่งคนหนองบัวมักถือเป็นโอกาสกลับบ้าน ให้สมาชิกในเวทีคนหนองบัว รวมทั้งผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อออนไลน์นำเอาเรื่องราวต่างๆของหนองบัวและเวทีคนหนองบัวไปพูดคุยสื่อสาร อีกทั้งในวาระที่มีงานต่างๆในอำเภอ ศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองบัวที่ร่วมเขียนบันทึกในเวทีคนหนองบัวด้วย ก็ดึงเอาข้อมูลจากเวทีคนหนองบัวไปสื่อสารเผยแพร่ ก่อให้เกิดความตื่นตัวต่อเรื่องราวของตนเองของคนหนองบัว รวมทั้งวิธีนำเอาสื่อออนไลน์ไปใช้พัฒนาการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่น

(๓) ความตื่นตัวของลูกหลานคนหนองบัว : ลูกหลานคนหนองบัวจำนวนหน่างที่ไปทำงานและดำเนินชีวิตในท้องถิ่นอื่น ได้ใช้สื่อเวทีคนหนองบัวเชื่อมโยงความสนใจของตนเองกับบ้านเกิด รวมทั้งเชื่อมโยงการรวมตัวกันเพื่อคอยให้การช่วยเหลือกัน ซึ่งสมาชิกของกลุ่ม ก็ทีเครือข่ายเชื่อมโยงกับศิษย์เก่ารุ่นต่างๆของโรงเรียนหนองบัว ทำให้เกิดการสื่อสารและส่งเสริมให้เกิดความตื่นตัวต่อการริเริ่มทำสิ่งต่างๆแก่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองอยู่ตลอดเวลา

(๔) หนังสือดังลมหายใจจากเว็บบล๊อก :  ผมเองนั้น ได้ใช้เว็บบล๊อก gotoknow.org เขียนเรื่องราวต่างๆโดยหมายให้เป็นหนังสือเพื่อให้แม่ได้อ่านในห้วงที่ยังมีชีวิต โดยเริ่มเขียนเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๙ เดือนละ ๑ เรื่องจนถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๐ ก็กลับได้ทั้งหมด ๑๕ เรื่อง แล้วจึงนำออกมาทำเป็นหนังสือ ดังลมหายใจ มอบให้แม่แจกจ่ายในโอกาสต่างๆโดยเน้นที่ญาติพี่น้องและคนในท้องถิ่นเพราะเรื่องราวทั้งหมดเป็นการวาดรูปและเขียนเรื่องราวชีวิตวัยเด็กที่หนองบัว ทำให้เกิดหัวข้อพูดคุยสื่อสารเรื่องราวของตนเองของคนหนองบัว รวมไปจนถึงกลุ่มคุณครูและนักเรียนจำนวนหนึ่ง ทำให้เกิดความตื่นตัวและเห็นความน่าสนใจในเรื่องราวต่างๆของอำเภอหนองบัวที่กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิต

(๕) การร่วมกันจัดนิทรรศการในเทศกาลงานประจำปีเจ้าพ่อเจ้าแม่หลวงปู่ฤาษีนารายณ์หนองบัว : เดือนมีนาคม ๒๕๕๓  เครือข่ายคนในเวทีคนหนองบัว ได้ช่วยกันเตรียมชุดสื่อนิทรรศการซึ่งออกแบบและทำด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิคอย่างดี ไปร่วมจัดนิทรรศการกับคณะกรรมจัดงานประจำปีเจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์หนองบัวที่เกาะลอย ซึ่งทำให้เป็นแหล่งที่คนเก่าแก่และคนหนองบัวหลายรุ่นได้มาเดินชม ได้เรียนรู้เรื่องราวของหนองบัว ได้ชมภาพ และได้นั่งเสวนากันอย่างสนุกสนาน

(๖) ความตื่นตัวของคณะครูและโรงเรียน : หลังการจัดนิทรรศการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว รวมทั้งคณะศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองบัว ได้ขอชุดสื่อนิทรรศการและเอกสารเข้าเล่มเป็นหนังสืออย่างสวยงามของท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย จำนวน ๒๖ เล่ม เพื่อนำไปเป็นสื่อการเรียนรู้และหาทางพัฒนาเป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อท้องถิ่นของลูกหลานคนหนองบัวต่อไป

กล่าวได้ว่า กลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆได้มีการสื่อสารและเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆมาด้วยกันแล้วระดับหนึ่ง ๔-๕ ปีมาก่อนแล้ว ในการริเริ่มการอบรมเชิงปฏิบัติการจึงเหมือนกับเป็นการเชื่อมโยงปัจจัยความพร้อมและทรัพยากรต่างๆที่สะสมไว้ทีละเล็กละน้อย  มาจัดการให้เป็นระบบมากขึ้นโดยยกระดับก่อตั้งขึ้นเป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน เมื่อเริ่มคิดและเริ่มดำเนินการจึงประสานงานกันเพียงเล็กน้อยและนัดหมายเพื่อจัดเตรียมสิ่งต่างๆช่วยกันเพียงไม่กี่วัน ทางผู้อำนวยการโรงเรียนมีนโยบายที่จะจัดสรรพื้นที่ให้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาดำเนินการศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวอย่างเป็นสัดส่วนบนชั้น ๒ ของอาคารเรียน

ในวันที่จัดอบรมนั้น สื่อนิทรรศการและรูปวาดเกี่ยวกับชุมชน ได้ทำให้ห้องประชุมเป็นเหมือนคลังความรู้ท้องถิ่นและเกิดหัวข้อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อยู่ตลอดเวลา พื้นฐานความพรักพร้อมดังกล่าวนี้เกิดจากการค่อยทำสั่งสมมาด้วยกันอย่างต่อเนื่องกว่า ๕-๖ ปี.

หมายเลขบันทึก: 451580เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2011 08:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กลุ่มครูในภาพนี้ คือครูโรงเรียนธารทหาร(แสงสว่างอุปถัมภ์)เดิมคือบ้านห้วยด้วน จากการพูดคุยได้ทราบว่าคุณครูไม่ใช่คนหนองบัว แต่มาอยู่หนองบัวนานแล้ว

เดิมก็พอจะรู้ข้อมูลชุมชนอยู่บ้าง ถึงจะไม่มากนักก็ตาม(คุณครูบอกอย่างนั้น)
แต่เมื่อได้เข้าอบรมเรื่องการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน ก็เลยคิดกันว่าอบรมเสร็จแล้ว กลับไปโรงเรียน น่าจะมีโอกาสได้ทำ

อาตมาเลยขอถือโอกาสแนะนำเพิ่มเติมให้กับคุณครูไปว่า ในระยะนี้เป็นช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ในวันพระจะมีผู้เฒ่าผู้แก่คนในชุมชนไปทำบุญที่วัดจำนวนมาก และหลายท่านก็ถือโอกาสฤดูเข้าพรรษานี้ สมาทานศีลอุโบสถ(ถือศีลแปด) โดยพักค้างคืนเพื่อปฏิบัติธรรมที่วัดหนึ่งคืนด้วย

และผู้ที่พักค้างคืนที่วัดนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนเก่าคนแก่ในชุมชน เป็นผู้นำชุมชน เป็นทายกวัด เป็นผู้มีประสบการณ์ชีวิต เป็นคนรู้เรื่องราวต่างๆในชุมชนอย่างดีมากที่สุดเลย

วันพระใดที่ไม่ตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ คุณครูนักเรียนสามารถไปพูดคุยสอบถามความรู้ชุมชนจากท่านเหล่านี้ได้สะดวกมาก กล่าวได้ว่าวันนี้(วันพระ)มีคนเฒ่าคนแก่ทุกสาขาอาชีพมารวมตัวกันที่วัดหมดทั้งหมู่บ้านเลยก็ว่าได้

นักวิจัยจะหาโอกาสและเวลาเช่นนี้ ได้ที่ไหน หาได้ยากที่สุดเลย ไม่มีอีกแล้ว
นี่คือโอกาสทอง โอกาสนี้มีประมาณสามเดือน นี่เพิ่งผ่านมาแค่ครึ่งเดือนเอง ยังเหลือเวลาอีกตั้งสองเดือนกว่า ยังพอมีเวลาให้คุณครูนักเรียนไปเก็บข้อมูลได้อีกเยอะแยะ

                 
                           คุณครูจากโรงเรียนธารทหาร(แสงสว่างอุปถัมภ์)

อ.วิรัตน์คะ

เครือข่ายหนองบัวเป็นเครือข่ายที่เข็มแข็งดีจังเลยค่ะ ^_^

สวัสดีครับคุณมะปรางเปรี้ยวครับ
น่าสนใจมากทีเดียวครับ แม้ผมเป็นคนท้องถิ่นและมีส่วนร่วมด้วยอยู่มาก ก็ได้ความน่าสนใจไปด้วยอยู่ตลอดเวลา มันเหมือนมีการต่อความคิดและริเริ่มกิจกรรมขึ้นมาต่อกันทีละนิดละละนิด งอกเงยขึ้นมาอยู่เรื่อยๆครับ แต่การตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน แล้วก็จัดอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ขึ้นนั้น ดูจะเป็นการช่วยพัฒนาการศึกษาและการเรียนการสอนของครูและเครือข่ายโรงเรียนได้มากครับ

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
ขอสนับสนุนข้อเสนอแนะนี้เป็นอย่างยิ่งครับ ทั้งจะเป็นการทำให้กิจกรรมการไปทำบุญและงานประเพณีต่างๆ มีความหมายมากกว่าเพียงสักแต่ว่าได้ทำครับ จะทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในวิถีชีวิต นำเอาไปใช้เมื่อกลับออกไปสู่วงจรการดำเนินชีวิตและทำมาหากินได้อีกกลับไปกลับมา การได้นั่งคุยกันทำให้เกิดความสนิทสนม สร้างความเป็นญาติและความผูกพันกันทางการปฏิบัติ เมื่อทำสักจนเป็นวิถีปรกติ พอขึ้นศาลาหรือตั้งวงสำรับกับข้าว คนจะนั่งคุยกันเป็นเป็นกลุ่มเรียนรู้ที่มีความเป็นธรรมชาติ คุณครูหรือใครที่นึกอาสาตนเองในการทำหน้าที่เป็นผู้บันทึก ก็จะได้ข้อมูลสำหรับช่วยบันทึกเรื่องราวต่างให้ชุมชนไปด้วยอย่างเก็บเล็กผสมน้อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท