หนังสือ กับ การอ่าน


หลายวันก่อน..ในขณะที่คนเขียนทำโน่น - ทำนี่ เรื่อยเปื่อยอยู่ในบ้าน  สัญญานเสียงจากโทรทัศน์ก็แว่วเข้ามากระทบกับโสตประสาทให้ได้ยิน  เขาบอกว่า จากผลการวิจัยการอ่านของคนไทยเฉลี่ยคนละ 8 บรรทัดต่อปี

คนเขียนหยุดภารกิจเรื่อยเปื่อยที่ทำทั้งหมดมานั่งจ้องโทรทัศน์อย่างตั้งอกตั้งใจ  รู้สึกประหลาดใจแกมตกใจล่ะสิไม่ว่าที่โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยอ่านหนังสือกันคนละ 8 บรรทัดต่อปี  (( เคยอ่านในหนังสือเล่มหนึ่ง  เมื่อประมาณปี พ.ศ.2548  ค่าเฉลี่ยนี้ตกอยู่ที่เลข 5  และเคยพาดสายตาไปเจอในเวบไซด์หนึ่งบอกว่า ปี พ.ศ. 2549  ค่าเฉลี่ยการอ่านของคนไทยตกอยู่ที่ 7 บรรทัดต่อปี ))   โอ้แม่เจ้า!!  โดยส่วนตัวแล้วคนเขียนเป็นผู้ที่รักการอ่านอย่างที่สุด   แน่ล่ะ  อย่างคนเขียนนี่ต้องจัดอยู่ในเกณฑ์ผู้ที่อ่านหนังสือปีละหลาย ๆ ล้านบรรทัด  จะด้วยปูมหลังที่มีพ่อเป็นคุณครูประชาบาลผู้ซึ่งปลูกฝังและสนับสนุนให้ลูกรักการอ่านหรือเปล่านะ    ก็อาจจะใช่  แต่ทั้งนี้คนเขียนเข้าใจว่ามันเป็นด้วยอุปนิสัยโดยส่วนตัวของคนเขียนเอง 

ได้ฟังข่าวที่ว่าก็ทำให้คนเขียนสงสัยว่า เพราะอะไร คนไทยถึงไม่นิยมอ่านหนังสือ?   ฤา ว่า วัฒนธรรมในการอ่านหนังสือของคนไทยอ่อนแอ (( เฮ้ยยย!! แต่คนเขียนก็แอบค้านในใจว่า ค่าเฉลี่ยมันก็กระดึ๊บ ๆ ขึ้นมาทีละ 1 แล้วไงต่อปี  มันมีการพัฒนานะเฟ้ยยย ))   ถึงอย่างไรก็ตาม  คนเขียนรู้สึกสลดใจอยู่ดี   นี่มันแสดงให้เห็นว่าคนไทยไม่ไฝ่รู้หรือเปล่า?

ตั้งแต่จำความได้  คนเขียนโตมากับกองหนังสือ   เวลาว่างของคนเขียนก็คือการอ่านหนังสือ   ทานข้าวก็ติดนิสัยต้องมีหนังสือ (( ตอนเรียนระดับชั้น ม.1  คุณครูไม่ให้อ่านหนังสือระหว่างทานอาหารกลางวัน  คนเขียนก็แก้ปัญหาด้วยการอ่านฉลากน้ำปลาไปพลาง ๆ ))   จะเดินทางไปไหนก็ต้องมีหนังสืออยู่ในมือ   อ่านหนังสือเรียนของเด็กประถม 6 จบ ทั้งที่ตัวเองเรียนชั้น ป.2 - ป.3  พอมาเรียนชั้นมัธยมก็ขลุกอยู่ในห้องสมุดที่มีหนังสือละลานตา   สมัยเรียนชั้นอาชีวศึกษาก็พึ่งพาร้านหนังสือเช่า   และ ณ ปัจจุบันนี้ คนเขียนก็ยังคงมีความรู้สึกกระหายอ่านได้เรื่อย ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด   ด้วยความโชคดี ใน ณ ช่วงบางเวลา คนเขียนจะได้เจอกัลยาณมิตรที่สนับสนุนการอ่านเสมอ   พี่สาวหลายคนจากโลกไซเบอร์ส่งหนังสือหลายประเภทมาให้ยืมอ่าน  หรือบางรายก็ยกหนังสือให้เป็นสมบัติส่วนตนของคนเขียนไปซะ   ลูกสาวเจ้านายก็เป็นคลังหนังสืออันล้ำค่าของคนเขียน   เป็นเรื่องปกติที่คนเขียนจะได้รับหนังสือเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสหรือเทศกาลต่าง ๆ   คนเขียนอ่านได้ตั้งแต่หนังสือแนวธรรมะอย่าง " คู่มือมนุษย์ " ของพระพุทธทาส   หนังสือพงศาวดารอย่าง " พม่าเสียเมือง "   หนังสือวรรณกรรมเด็กและเยาวชนอย่างชุด " บ้านเล็กในป่าใหญ่ "  หรือ " สี่ดรุณี "  หรือ " เรื่องเล่าของกะทิ "   หนังสือนวนิยาย   พ็อกเก็ตบุ๊ค   นิตยสาร   อ๋อ  รวมถึงจุลสาร ด้วยล่ะค่ะ  หรือแม้กระทั่งวรรณกรรมเชิงปรัชญาเล่มปราบเซียนอย่าง " โลกของโซฟี " ก็ผ่านตาคนเขียนมาแล้วทั้งนั้น  รวมไปถึงหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะด้วยถ้ามีโอกาส

งานสัปดาห์หนังสือที่จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมสิริกิต์ ครั้งแล้วครั้งเล่า  จากที่คนเขียนได้ไปสัมผัสมาก็เห็นว่าผู้บริโภคมีมากเสียจนล้นหลาม   แต่ข้อสังเกตของคนเขียนก็คือ ผู้คนที่รักการอ่านนั้นล้วนแต่เป็นเด็กนักเรียน - นักศึกษา  คนวัยทำงาน  พ่อบ้าน - แม่บ้านที่มีกำลังจะซื้อหาหนังสือบางประเภท   คนทำงานที่มี life style  แต่คนที่คนเขียนไม่ค่อยเห็นก็คือ ชนชั้นกรรมาชีพ อันหมายถึงผู้ที่ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำกลางแดดเปรี้ยงหรือหนุ่มสาวโรงงานที่แค่วัน ๆ จะกินเข้าไปก็ยังไม่มี  เพราะฉะนั้นสำหรับพวกเขาแล้วหนังสือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย  แน่ล่ะจ๊ะ  ยกเว้นหนังสือซุบซิบดาราภาพยนต์    การ์ตูนเล่มละสิบบาท    หนังสือโป๊  ฯลฯ  ที่คนอีกกลุ่มส่ายหน้า  เบ้ปาก  ว่าช่างเป็นหนังสือที่ช่างไร้รสนิยมจริง ๆ (( hahaha  ที่ว่ามานี่ คนเขียนอ่านมาหมดแล้วล่ะค่ะ ท่าน ๆ )) 

คนเขียนลืมคิดไปว่า  ถ้าคนเขียนต้องทำงานหาเช้ากินค่ำแบบนั้นแล้วล่ะก็  คนเขียนจะเอาเงินตั้งเกือบร้อยไปซื้อหาหนังสือแนวปรัชญามาอ่านทำไมกันล่ะเนี่ย  สู้เอาเงินจำนวนนี้ไปซื้อข้าวกิน  หรือซื้อหนังสือซุบซิบดาราไว้ไปอัพเดตกับเพื่อน ๆในโรงงาน หรือในที่ทำงานดีกว่า  โฮ่ะ ๆ ๆ

อย่างไรก็ตาม  คนเขียนคิดว่าท่ามกลางปัจจัยหลายหลากนี้  ตัวเลขที่ได้มีการคำนวณเฉลี่ยออกมาต่อหัวต่อปีนั้น  มันก็ไม่ต่างไปจากดัชนีชี้วัดให้เราเห็นปัญหาบางอย่างของสังคม 

อดคิดเล่น ๆ ไม่ได้ว่า  น่าจะมีองค์กรหรือหน่วยงานบางหน่วยงานเปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นที่รักการอ่านได้มีโอกาสเข้าถึงข่าวสารข้อมูลหรือได้มีโอกาสอ่านหนังสือ  ประเทศเราจะได้มีการพัฒนาขึ้น  ว่าแต่..เอาเข้าจริง ๆ แล้ว  การอ่านหนังสือทำให้เราฉลาดได้จริง ๆ หรือ???????

 

 

หมายเลขบันทึก: 110176เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2007 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
  • ชอบอ่านหนังสือเหมือนกันครับ
  • แต่ยังอ่านน้อยไปเหมือนกัน
  • บางทีหนังสือก็ต้องเลือกอ่านเหมือนกัน
  • หนังสือบางเล่มก็สู้ประสบการณ์ไม่ได้ อ่านหนังสือหมื่นเล่มไม่เท่ากับการเดินทางนับพันลี้
  • ว่าแต่ว่าคุณเนปาลีอ่านหนังสือค่อนข้างมากนะครับ ชอบหนังสือประเภทไหนมากที่สุด
  • ผมชอบหนังสือเรื่องสั้น ของอาจารย์ ดร.เสกสรรค์ประเสริฐกุล กลอนก็ชอบ อ่านได้หลายประเภท แต่ที่อ่านน้อยมากคือหนังสือ ธรรมมะ
  • เป็นอาบัติกับภาษาบาลีครับ
  • ฮ่าๆๆๆๆ
สมพงศ์ ตันติวงศ์ไพศาล

สวัสดีครับ...คุณเนปาลี ครับ.......ผลวิจัยว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ ไม่เกิน 8 บรรทัด ......

ผมขอมองต่างมุมนิดหนึ่ง ว่าการอ่านจำเป็นหรือไม่? แล้วการอ่านจะนำไปสู่การพัฒนาความคิดและความเห็นหรือไม่?.......

แต่อดีตที่ผ่านมานั้นเราจะเรียนหนังสือได้จากการฟังเพราะตำราไม่มี ต้องฟังจากครูบาอาจารย์ ปัญญาจึงเกิดจากการฟัง(สุตตมยปัญญา)เป็นส่วนใหญ่ ถ้าคนไทยอ่านหนังสือไม่ออกแล้วตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศล่าอาณานิคมที่ทำตัวอักษร และหนังสือ (ก็ผิดเพราะเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นประเทศเหล่านั้น ยกเว้นพม่า)

ถึงปี 2550 คนที่อ่านไม่ออกเลยน่าจะมีน้อย ทุกวันเฉพาะคนกรุงเทพฯจะต้องให้ตัวหนังสือเพื่อชี้ทางวันละกี่ตัว  หรือต้องสะกดหนังสือบนรถเมล์วันละกี่ตัว เหล่านี้ไม่ใช่การอ่าน (อ่านหนังสือ)ใช้หรือไม่?

เพราะฉะนั้นการวิจัยที่เห็นนั้นมุ่งบอกอะไรกับเรา.....ฉลาด หรือไม่ฉลาด .....ไม่อาจรู้ได้ครับ

  • สวัสดีค่ะ คุณขจิต ..

ต้อมชอบอ่านหนังสือค่ะ  และก็อ่านได้เกือบตลอดเวลา  แต่การอ่านของต้อมเป็นการอ่านที่ต้องการจะอ่านไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ปล่อยให้ตัวเองรู้สึกฟุ้งซ่าน  คิดโน่น  คิดนี่ น่ะค่ะ  เพราะค่อนข้างเป็นคนคิดมาก (( เอ .. เกี่ยวกันไหมเนี่ย ))

อ่านได้เกือบทุกประเภทค่ะ  ยกเว้นหนังสือที่มีบทความทางวิชาการหนัก ๆ

หนังสือของ อาจารย์ ดร.เสกสรรค์  ประเสริฐกุล นั้นเคยผ่านตามาบ้างค่ะ  แต่ชอบบทกวีของคุณจิรนันท์  พิตรปรีชา มากกว่า

ที่โปรดปรานก็คือ หนังสือเล่มโต ๆ ที่บอกเล่าถึงประสบการณ์ หรืออัตชีวประวัติ

หนังสือธรรมะก็อ่านได้ค่ะ  บางเล่มก็อ่านแล้วเข้าใจง่าย  สามารถนำมาปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันได้  มักจะได้หนังสือธรรมะจากพี่ ๆ เรื่อยเลย  เอ๊ะ  เพราะอะไรกัน?

เห็นด้วยค่ะ  หนังสือบางเล่มสู้ประสบการณ์ชีวิตไม่ได้เลยจริง ๆ

 

  • สวัสดีค่ะ คุณสมพงศ์  ตันติวงศ์ไพศาล ..

จากคำถามที่ว่า การอ่านจำเป็นหรือไม่?  อันนี้ต้องแล้วแต่ปัจจัยโดยรวมค่ะ  โดยส่วนตัวต้อม  ต้อมคิดว่าการอ่านเป็นแค่วัฒนธรรมของคนกลุ่มหนึ่งในสังคม  ซึ่งไม่ต่างกับการกินข้าว  ดูหนัง  ฟังเพลงเลย  เมื่อมีผู้รู้หนังสือมากขึ้น  ตลาดหนังสือก็จะขยายตัว  และบุคคลบางกลุ่มที่เรียกกันว่าชนชั้นกรรมาชีพที่ต้องปากกัดตีนถีบเพื่อหารายได้มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องนั้น  พรุ่งนี้จะเอาอะไรมากินก็ยังไม่รู้เลย  คนกลุ่มนี้จะเห็นหนังสือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย  ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ต่อชีวิต   หากเป็นคนกลุ่มตรงข้าม การอ่านหนังสือถือเป็นการยกระดับของตัวเองในด้านต่าง ๆ

 การอ่านจะนำไปสู่การพัฒนาทางความคิดหรือไม่?  ต้อมว่า มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลค่ะ  เพราะหนังสือบางเล่มก็สามารถตอบคำถามใด ๆ ในชีวิตได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิต

พฤติกรรมการอ่านของคนไทยบ่งชี้ปัญหาบางเรื่องได้  อย่างเช่น ปัญหาเรื่องการศึกษา  เศรษฐกิจ  สังคม

และงานวิจัยที่ระบุจำนวนตัวเลขมานี่ก็เหมือนเราคำนวณหาค่าฉลี่ยต่อหัวต่อปีของคนไทย  พอเห็นตัวเลขก็จะทำให้เรารู้ว่า  ประเทศนี้มีคนอ่านหนังสือจำนวนเป็นล้านบรรทัดเท่า ๆ กับที่มีคนไม่อ่านหนังสือเลย  ปนเปกันไป  เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถตีความได้ว่าผู้คนเมืองนี้ไม่ใฝ่รู้

ปัญญาเกิดจาก การพูด  การอ่าน  การฟัง  การเขียน  ทั้งนี้ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กัน  อันมาจาก สุ จิ ปุ ลิ นั่นเอง  สุมาจาก สุตันตะ คือฟังให้เกิดปัญญา  จิมาจาก จินตันตะ คือคิดให้เกิดปัญญา  ปุมาจากปุจฉา คือเมื่อได้ฟัง  ได้คิด ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องถาม  ลิมาจากลิขิต  คือต้องมีการบันทึก

การวิจัยไม่สามารถบ่งบอกเราได้ว่าคนในชาติฉลาดหรือไม่  แต่เป็นการหาเหตุผลว่า ทำไมคนไทยจึงอ่านหนังสือน้อย  มากกว่านะคะ  ต้อมว่า

ขอบคุณนะคะที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้กัน 

ชอบอ่านหนังสือเหมือนกันคับ  พวกหนังสือโป๊...(ไม่มีปกอ่ะนะ ) 55  หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตรื  อะไรพวกเนี้ยคับ  ชอบคิดว่าตัวเองเป็นทหารเอกสมัยอยุธยา  เลยบ้าประวัติศาสตร์ 55 อ่ะว้อเว่นนนน

  • กบ ..

เคยอ่าน she ไหมคะ?  เนี่ย อาทิตย์ก่อนเพิ่งมีคนส่ง " ใบไม้เปลี่ยนสี " มาให้พี่อ่านแน่ะ  แต่ยังไม่ได้เปิดอ่านเลยค่ะ 

สวัสดีต้อม

ก็ตอบหน่อยละกันเนอะ

คนไทยอ่านเฉลี่ยแล้ว 8 บันทัดต่อปี  ข้อสรุปนี้เชื่อได้จริงเหรอ  สุ่มจังหวัดไหนล่ะ การเก็บตัวอย่างดีพอแล้วหรือ กลุ่มตัวอย่างเป็นตัวแทนของประชากรได้จริงหรือ  และผู้ทำวิจัยมีอคติ จริยธรรมในการทำวิจัยหรือไม่ (ซื่อสัตย์ มากน้อยเพียงไร แค่กระดิกนิ้วจิ้มตัวเลขให้สูงขึ้นหรือต่ำลงมันง่ายจะตาย  ง่ายเหมือนค่าที่เขาวัดทางเศรษฐกิจไทย เช่นค่า GDP อยากให้สวยอยากให้เลว ก็มั่วๆ กันไป แล้วค่านี้ก็ใช่จะสะท้อนเศรษฐกิจไทยได้จริง) 

ความน่าเชื่อถือของตัวเลขนี้น่าจะพิจารณาก่อน  ก่อนที่จะถงเถียงกันยืดยาวอันเป็นการยอมรับผลวิจัยนี้โดยปริยาย

 

งานวิจัยเชิงปริมาณแบบนี้ เป็นการเหมารวม ทึกทัก  ก็ในเมื่อคุณไม่ได้อ่าน 8 บันทัดต่อปี  เพื่อนคุณ  ครอบครัวคุณ คนที่คุณรู้จักก็ไม่ได้อ่าน 8 บันทัดต่อปี แล้วยังจะเชื่อผลวิจัยนี้ไปทำไมกัน

หากแม้เป็นค่าเฉลี่ยก็เป็นการเฉลี่ยที่กว้างเกินไปจนแทบจะหาเศษเสี้ยวของความจริงและหาประโยชน์จากงานวิจัยนี้ไม่ได้เลย

 

 

 

  • สวัสดี พี่ฟ้า ..

ว่าแล้วเชียวว่าต้องมีคำถามย้อนกลับมา ว่า แล้วเราจะเชื่อได้จริงหรือ  กับผลการวิจัยนี้  ที่ได้ยินมา

โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่ะ   แต่นี่ต้อมแค่สงสัยว่าแล้วในที่สุด การอ่านหนังสือช่วยให้เราฉลาดได้จริง ๆ ไหม?  เออ .. มันก็ช่วยได้บ้างนะ  ถ้าเรารู้จักปรับนำมาใช้กับชีวิตประจำวัน   (( ถามเอง  ตอบเองล่ะ ))  ทั้งนี้มันต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยโดยรวมสิ 

ซึ่งมันก็คงไม่ต่างไปจากโพลของสถาบันโน้น สถาบันนี้  ที่นำมากล่าวอ้างให้คนทั้งประเทศเห็นถึงภาพโดยรวม((ซึ่งจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้))  คงเหมือนที่พี่บอกว่า แค่ปลายนิ้วกระดิก ๆ จิ้ม ๆ กดตัวเลขไป 

ไอ้ตัวเลขที่มันกระเตื้องเพิ่มขึ้น  มันอาจจะแสดงให้เห็นว่าคนไทยอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมนะเฟ้ย  ดูได้จากงานมหกรรมหนังสือที่คนให้ความสนใจกันสิ  และดูได้จากการที่มีการขยายการศึกษาภาคบังคับ จาก ป.4 มา ป.6 มาจนถึง ม.3 และมีเกณฑ์จะต้องให้เรียนกันมากกว่านี้  เมื่อการศึกษาขยายตัวก็จะมีผู้รู้หนังสือเพิ่มขึ้นจากตัวเลขเดิม

แล้วแต่คนจะคิดกันน๊า  ต้อมว่า..  ปีหน้าเขาอาจจะประกาศว่า  ผลการวิจัยการอ่านของคนไทยฉลี่ยแล้วคนละ 10 บรรทัดต่อปีแล้วจ้า ก็ได้นะ 

 

P
เชื่อบันทึกโดนใจให้แวะมาเยือน....
ขออวดรู้นิดหน่อยในความเห็นเรื่อง สุ. จิ ปุ. ลิ ...
สุ มาจาก สุตะ ... สุตันตะ ศัพท์นี้ก็มีใช้ แต่ยังไม่เคยเจอที่ใช้ในแง่นี้
จิ มาจาก จิตตะ หรือ จินตนา ก็พอไปได้ ... แต่ จินตันตะ มั่นใจว่าไม่ถูกต้อง
ส่วน ปุ และ ลิ ... ถูกต้องแล้วจ้า.....
.....
ฝากคำกลอนเรื่องนี้ไว้ ๒-๓ บท... บทแรกมีผู้อ้างว่ามาจากหน้าแรก หนังสือปฐมจินดา ซึ่งท่านรจนาไว้ว่า
เริ่มเรียนให้เร่งรู้           ทั้งสี่องค์ประมาณหมาย
หนึ่งฟังอย่างฟังดาย    ให้ตั้งจิตกำหนดจำ
หนึ่งให้อุตสาหะ            เอาจิตคิดพินิจคำ
หนึ่งห้ามอย่าเอื้อนอำ   ฉงนใดให้เร่งถาม
หนึ่งให้หมั่นพินิจ           ลิขิตข้อสุขุมความ
สี่องค์จึงทรงนาม          ว่าศิษย์แท้ที่ศึกษา ฯ
.....
ตอนแรกเรียนบาลี มีบทท่องต่อท้ายคำบูชาพระร้ตนตรัยก่อนเลิกเรียนว่า
สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตฺโต กถํ โส ปณฑิโต ภเว
สุ จิ ปุ ลิ สุสมฺปนฺโน ปณฑิโตติ ปวุจฺจเต
สุ จงตั้งใจฟังอย่าขี้เกียจ
จิ คิดให้ละเอียดข้อสงสัย
ปุ ลืมหลงจงถามอย่าเกรงใจ
ลิ จำไม่ได้เขียนไว้ก็ดี... เอย
(เฉพาะคำบาลีแปลว่า ผู้จำพรากจาก สุ. จิ. ปุ. ลิ. จะพึงเป็นบัณฑิตได้อย่างไร ผู้เพรียบพร้อมด้วย สุ. จิ. ปุ. ลิ. ท่านเรียกว่าเป็นบัณฑิต)
เจริญพร
ตัวเองก็ เป็นคนรักการอ่าน แต่เป็นบางเวลาที่ต้องการและเกิดความอยากอ่าน  ก็อ่านทุกประเภทค่ะ หนังสือเป็นหน้าต่างไขไปสู่โลกภายนอก  แต่เห็นด้วยกับคุณขจิต นะ อ่านมากบางครั้งก็สู้ประสบการณ์ไม่ได้  เพราะการเรียนรู้จากประสบการณ์คือการต่อสู้ด้วยตัว  และชัดเจนกว่าสิ่งใดๆ

ต้อมสงสัยว่า ..... การอ่านหนังสือช่วยให้เราฉลาดได้จริงๆ ไหม

 คำว่าหนังสือ...เป็นคำที่มี credit ที่ดีมากๆ  เมื่อเราเอ่ยถึง หนังสือ  ความรู้สึกเราก็คือหนังสือเป็นสิ่งที่ดีเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้อันมีค่า

แต่หนังสือมันก็ไม่ได้ตกมาจากฟากฟ้า  หรือมีต้นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน   มันเกิดมาจากคนแต่ง คนเขียนที่หลากหลาย หลากหลายทั้งทั้งความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม และจริยธรรม

หนำซ้ำยังต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองทางการตลาด จากสำนักพิมพ์ต่างๆ อันมี บ.ก. หรือเจ้าของสำนักพิมพ์ที่ก็มีหลากทัศนะอีก และยังผ่านการกลั่นกรองจากอำนาจรัฐไม่ให้เฉไฉไปในทางที่รัฐคิด(ทึกทัก)ว่าดี

หนังสือจึงไม่ใช่สิ่งที่มีแต่ส่งที่ดีทั้งหมด  และไม่ได้เหมาะกับเราทั้งหมด

มาถึงคำถามว่า..การอ่านหนังสือจะช่วยให้เราฉลาดได้ไหม คิดว่าก็คงพอๆกับที่หนังสือจะช่วยให้เราโง่ได้อีกเช่นกัน เพราะหนังสือมีอำนาจอันทรงพลังให้เราเชื่อและคล้อยตาม  ถ้าสารที่ส่งผ่านมายังตัวหนังสือเป็นเรื่องที่เสกสรรปั้นแต่ง หรือหลอกลวง เราก็คงติดบ่วงแห่งสารนั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการรู้จักเลือกอ่าน  การไตร่ตรอง การวิภากษ์ วิจารณ์หนังสือนั่นๆ พร้อมๆ ไปกับการตระหนักรู้ว่าตัวเรา กับหนังสือมันไปด้วยกันได้หรือไม่  

 

 

 

 

 

  • กราบนมัสการ หลวงพี่ชัยวุฒิ ค่ะ ..

ขอขอบพระคุณที่เข้ามาช่วยแก้ไขความเข้าใจให้กระจ่างถูกต้อง  เรื่องคาถาหัวใจนักปราชญ์  สุ. จิ. ปุ. ลิ

เดิมทีสมัยเรียนก็ได้เรียนมาว่า สุตะ คือ ฟังมาก  ในที่นี้หมายถึงการอ่านด้วย   จิตนะ คือ การคิดใคร่ครวญหาเหตุผล  ปุจฉา คือ การถามไถ่ข้อสงสัยให้เข้าใจถ่องแท้  ลิขิต คือ การเขียน 

พอมาอ่านเจอ คำว่า จินตันตะ ก็เข้าใจว่าน่าจะมีความหมายเดียวกับจิตตะหรือจินตนาการ  ทำให้เข้าใจไขว้เขว

ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

  • สวัสดีค่ะ พี่นิศาชล ..

ประสบการณ์จะสอนเราได้ดีกว่าหนังสือค่ะ   ต้อมว่านะ ..

หนังสือในร้านพี่ .. ไว้ต้อมจะไปขอนั่งอ่านนะคะ

  • พี่ฟ้า (( อีกที )) ..

ก็แหม .. ต้อมสงสัยนี่   เมื่อสงสัยก็อยากจะรู้  เมื่ออยากจะรู้ต้อมก็ต้องหาคำตอบ 

เพราะหนังสือแต่ละเล่มมาจากต้นตอแหล่งกำเนิดที่ต่างกันไง   เลยทำให้แต่ละเล่มมีความน่าสนใจต่างกัน   ไม่ว่าจะด้วยคนเขียนที่หลากหลาย  ทัศนคติที่ต่างกันไป   ความเชื่อ  ค่านิยม  และคุณธรรม  จริยธรรม  อย่างที่พี่ว่ามา

ต้อมก็ไม่ได้บอกว่า หนังสือนี่ดีนะ สักหน่อย   เพราะอย่างที่เรารู้ ๆ กัน  ทุก ๆ อย่างล้วนแต่ไม่ได้มีแค่ด้านเดียว   หนังสือก็มีทั้งที่ดีและ((เราคิดว่า))ไม่ดี   การที่คนกลุ่มหนึ่งยกย่องให้หนังสือเล่มหนึ่งดี  ก็ใช่ว่ามันจะดีจริง ๆ สำหรับคนอีกกลุ่ม   มันเป็นไปตามค่านิยมและกระแสสังคมของคนบางส่วนเท่านั้น   มันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างนะ  อย่างเช่น ผู้บริโภค  

หนังสือสร้างความนิยมหลากหลาย  ทั้งกระจายความรู้ข้อมูลข่าวสาร   ให้ความบันเทิง  หนังสือเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ทรงพลังนะ  ต้อมว่าล่ะ

แต่ถึงอย่างไร  ต้อมก็ชอบหนังสือล่ะค่ะ

สวัสดีครับ

  • เป็นคำถามที่กว้าง  มีหลายแง่มุมมากครับ
  • ผมคิดว่าการอ่านคงจะทำให้ได้ความรู้  ความเข้าใจมากขึ้น
  • ส่วนจะนำไปสู่ปัญญานั้นก็คงแล้วแต่ละบุคคลครับ
  • แต่ที่แน่ๆ  ตอนนี้ผมคิดว่า  สำหรับตนเอง  การอ่านคือสิ่งที่สำคัญมากๆครับ..

มีลิ๊งของคุณ

P
Kati  มาฝากเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน เรื่อง เป้าหมายสู่คนไทย อ่านหนังสือ 12 บรรทัดต่อวัน
แล้วจะเข้ามาแสดงความคิดเห็น..
  • สวัสดีค่ะ คุณหมอสุพัฒน์ ..

ประโยชน์ของหนังสือมีมากมายค่ะ  เป็นแหล่งรวมข้อมูลที่กว้างขวาง  แต่ในขณะเดียวกันนั้น  ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อไม่ดี

ทั้งนี้ทั้งนั้น  ต้อมว่าแล้วแต่ผู้ใช้น่ะค่ะ  อยู่ที่ตัวบุคคล

ต้อมคิดเหมือนคุณหมอค่ะ  ที่ว่า สำหรับตัวเองแล้ว  การอ่านเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ

ปาย เป็นยังไงบ้างคะ   คุณหมอ?  เห็นเขาว่ากันว่า  ปายตอนหน้าฝนนี่สวย  ยิ่งได้พำนักอยู่ท่ามกลางกลางทุ่งข้าวเขียวขจี  คงจะสุขใจไม่ใช่น้อยเลยนะคะ

ขอบคุณนะคะ  สำหรับ link .. เข้าไปอ่านแล้วค่ะ 

การอ่านหนังสือ  โดยรวมแล้วก็เป็นเรื่องที่ดี  แต่ที่สำคัญก็คือ เราอ่านหนังสือแล้วได้อะไรจากตรงนั้น?  อันนี้น่าจะสำคัญกว่าเนอะ

สถิติ คือตัวเลข  ที่ทำให้เราหยุดชะงักแล้วถามตัวเอง  ถามสังคม  ว่า เอ๊ะ  มันยังไงกัน?  ทำไมมันออกมาเป็นแบบนี้?  เพราะอะไรนะ?  ทำนองนี้ล่ะมั้งคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท