สอนลูกอย่ารันแรง


ความรุนแรง
เดลีนิวส์  วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6067
สอนลูก"อย่ารุนแรง"


หยุดให้ท้าย-ไม่ใช้กำลัง



ท่ามกลางปัญหาความไม่สงบต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในบ้านเมืองเราขณะนี้ แม้แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชนปัจจุบันยังเต็มไปด้วยความรุนแรงเช่นกัน ดังนั้นในสภาพสังคมเช่นนี้พ่อแม่หรือผู้ปกครอง จะเลี้ยงดูเด็กๆ ที่อยู่ในความดูแลของตนเองอย่างไรโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างสังคมที่สงบสุข

ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) แพทย์หญิงวัณเพ็ญ บุญประกอบ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและกรรมการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ให้คำแนะนำว่า พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น หรือพฤติกรรมที่มีความรุนแรงนั้น เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง

เด็กที่มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรง มักจะมาจากปัญหา การทำงานของสมอง ซึ่งกระะตุ้นให้เด็กคนนั้นรุนแรง เช่น เด็กเป็นโรคลมชัก สมาธิสั้น หุนหันพลันแล่น มีแนวโน้มถูกกระตุ้นง่าย ทำอะไรปราศจากความยั้งคิด เป็นการเกิดพฤติกรรมของความรุนแรงพื้นฐาน แต่สิ่งเหล่านี้ช่วยได้โดยแพทย์ จากการตรวจรักษา เยียวยา ร่วมกับการปรับพฤติกรรม

แต่ส่วนใหญ่ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดู และสภาพสังคม เป็นต้นว่า การเลี้ยงดูแบบที่พ่อแม่ตามใจเด็กมาก ทำให้เด็กไม่รู้จักเรียนรู้การควบคุมตนเอง ซึ่งพ่อแม่ต้องช่วยกัน ในการอบรมบ่มนิสัย ปรับพฤติกรรมเด็กตั้งแต่ประถมวัย

โดยมากเมื่อเด็กอายุเข้าช่วงประถม เด็กจะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกได้พอสมควร พอที่จะรู้จักควบคุมตนเองและยับยั้งตนเองได้แล้ว แม้จะยังทำไม่ได้เท่ากับเด็กโต หรือผู้ใหญ่ก็ตาม แต่พ่อแม่สอนให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำได้ ไม่ไปกลั่นแกล้งรังแกเพื่อน ไม่ทำเรื่องรุนแรง เคารพกฎกติกา เชื่อฟังกฎ ของพ่อแม่ คุณครู นั่นคือ มีการควบคุมตนเองได้ระดับหนึ่ง



พ่อแม่หลายคนคิดว่า การปล่อยเด็กตามอำเภอใจเป็นเรื่องที่ดี เข้าข้างลูกตนเองเวลากระทำผิด หรือเวลาที่เด็กใช้ความรุนแรง พ่อแม่กลับเห็นเป็นเรื่องความกล้า ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก หรือบางคนยุยงให้เด็กต่อสู้ผิดทาง ประกอบกับสิ่งที่เด็กพบเห็นเป็นประจำ ทำให้เด็กเลียนแบบความรุนแรงโดยตรง โดยเฉพาะความรุนแรงภายในครอบครัว ที่มีการกระทำต่อกันด้วยความรุนแรง ผู้ใหญ่ทำร้ายต่อกันรุนแรง ทะเลาะกัน แสดงอารมณ์รุนแรง ขว้างปาสิ่งของ ยับยั้งอารมณ์ตนเองไม่ได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง เด็กจะเรียนรู้ว่าวิธีการแก้ปัญหาหรือระบายอารมณ์จะต้องใช้ความรุนแรง เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมสิ่งเหล่านี้จากครอบครัวโดยตรง

ภายนอกครอบครัว คือ สื่อ โทรทัศน์ เกม สภาพแวดล้อมของหมู่คณะ สิ่งเหล่านี้ถ้าเด็กเห็นประจำ โดยเฉพาะเด็กเล็กจะเลียนแบบได้ง่าย ทำให้เด็กเกิดความเข้าใจผิดและเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงได้ง่าย

ความรุนแรงภายในโรงเรียน ภายในชุมชนก็เช่นเดียวกัน เด็กจะเลียนแบบและเกิดความเข้าใจผิดได้หากไม่ได้รับการสอน เช่น เด็กที่เป็นหัวโจก ได้รับการยอมรับหรือเป็นคนสำคัญของเพื่อนๆ เมื่อตนใช้ความรุนแรง ก้าวร้าว ทำให้ประพฤติผิดไปเรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะเด็กได้รับการสอนและเติบโตในสิ่งแวดล้อมผิดๆ ประการสำคัญ คือ ผู้ใหญ่ไม่ได้ฝึกสอนหรืออบรมเด็กให้รู้จักแก้ปัญหาอย่างถูกทาง ที่จะไม่ใช้ความรุนแรง



เมื่อเด็กกระทำผิด ก้าวร้าวรุนแรง แต่ผู้ใหญ่ไม่ได้จัดการอย่างจริงจัง ไม่หนักแน่นเอาจริงพอและสอนวิธีที่ถูกทาง เด็กจึงได้ใจกระทำเช่นนี้ตลอด จนในที่สุดติดเป็นความเคยชิน กลายเป็นนิสัย การที่เด็กรับรู้ผิด เข้าใจผิด กระทำผิดต่ออะไรที่ไม่ดีงาม ไม่ถูกต้อง ต้องจัดการก่อนที่จะกลายเป็นความเคยชินและเป็นอุปนิสัยในที่สุด

ทั้งนี้คนที่กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่ เป็นคนที่ขาด "เมตตาจิต" ไม่ได้นึกถึงผู้ถูกกระทำว่าจะเจ็บปวดอย่างไร จะเสียหายอย่างไร

ฉะนั้นพ่อแม่ต้องเลี้ยงดูเด็กให้มีเมตตาจิต เป็นบรรทัดฐาน จิตที่มีเมตตา กรุณา จะเป็นจิตใจที่อ่อนโยน เป็นจิตใจที่สงสารคนอื่นเป็น อยากให้เขาเป็นสุข ไม่มีความทุกข์ การจะสอนให้เด็กมีใจเมตตากรุณา พ่อแม่ต้องมีก่อน ผู้ใหญ่ในสังคมทุกคนต้องมีก่อน ต้องมีความเอื้ออารี เมตตาต่อกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้เป็นตัวอย่าง

พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกด้วยความรักแท้ คือ รักแบบอดทน เสียสละ ปรารถนาดีต่อลูก มีพรหมวิหารสี่ต่อลูก เด็กที่ได้รับความรัก ความอบอุ่นใกล้ชิดอย่างแท้จริง จะเป็นเด็กที่รักคนอื่นเป็น เริ่มตั้งแต่ในครรภ์ จนกระทั่งเติบโตมา เด็กจะสัมผัสได้ เช่น เด็กเข้าปลอบเด็กอื่นเวลาร้องไห้ ป้อนขนมให้แม่ นั่นคือจิตใจอ่อนโยนที่เริ่มเกิดขึ้น เด็กลักษณะอย่างนี้เวลาเข้าโรงเรียนจะเป็นมิตรกับคนอื่นได้

การเลี้ยงเด็ก ต้องไม่ใช้ความรุนแรง แต่ต้องอบรมระเบียบวินัย เช่น เด็กเล็ก เวลาจะเอาอะไรจะเอาให้ได้ ถ้าเอาไม่ได้จะอาละวาด ขว้างปา ตีคนอื่น ตี หยิก กัด เป็นต้น พ่อแม่ต้องหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น จับเด็กออกห่าง บอกเด็กว่าทำไม่ได้ ถ้าอยากตีให้ตีตุ๊กตา อยากกัดให้กัดขนม หรือของเล่นที่เป็นยาง หรือเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปทางอื่น อย่าใช้วิธีการตีตอบหรือทำร้ายเด็ก

เมื่อโตขึ้นประมาณอายุ 3-4 ขวบ เด็กจะเริ่มเรียนรู้มากขึ้น รู้จักหยุดพฤติกรรมเอง พ่อแม่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีที่เหมาะสม และสอนเด็กด้วย เช่น เมื่อเด็กหกล้ม ช่วยพยุงขึ้น เอายาทาให้ ปลอบเขา เห็นใครร้องไห้ก็ให้รู้ว่าเขาเจ็บ เขากลัวหรือไม่สบายใจ หรือเมื่อเด็กถูกใครทำเจ็บก็สอนให้เด็กพูดว่าเจ็บ ไม่เอาไม่ชอบ นอกจากนี้ต้องสอนให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้ว่าคนอื่นก็มีความรู้สึก และเห็นอกเห็นใจคนอื่นเป็น นำหลักปฏิบัติเรื่องศีล 5 ไปสอนให้กับเด็กได้ง่ายๆ เพียงแค่ศีล 3 ข้อแรก ถ้าสอนลูกประจำอย่างหยาบๆ เช่น สอนเด็กไม่ทำร้ายใคร ไม่รังแกสัตว์ มีความซื่อสัตย์ ไม่พูดปด ไม่เอาของใคร เข้าโรงรียนไม่เบียดเบียนใคร เพื่อนๆ และสังคมก็จะยินดีต้อนรับ

สนใจข้อมูลการเลี้ยงดูลูกอย่างสร้างสรรค์ ปราศจากความรุนแรงหรือปรึกษาปัญหาพฤติกรรมเด็ก ติดต่อ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร. 0-2412-0738 0-2412-9834 www.thaichildrights.org


หน้า 35

หมายเลขบันทึก: 110172เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2007 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นายเกรียงศักดิ์ บุญแต่ง

เป็นบทความที่ดีครับเป็นประโยชน์มากเลยกับการเรียนการสอน จะได้เห็นแนวทางที่หลากหลาย และในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน (km)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท