จุดสมดุลของผลิตผลทางเกษตรของพี่น้องเกษตรกร กับราคาสินค้า อยู่ตรงไหน...


กราบสวัสดีทุกท่านครับ

     สบายดีกันทุกคนไหมครับ วันก่อนได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อน ผมเลยคุยทักทายกับเพื่อนรักอีกท่านหนึ่ง เพื่อนบอกว่าเพิ่งกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่มา แล้วเล่าใ้ห้ผมฟังว่า กลับไปที่บ้านแล้วเล่าให้ฟังว่า มังคุดซื้อจากสวน หรือว่าราคาใต้โคนต้น กิโลกรัมละ 3 บาท ส่วนเงาะ กิโลกรัมละ 4 บาท เป็นไงครับ เห็นราคาแล้วตกใจไหมครับ ทำให้ผมคิดต่อว่า หากไปขายที่ท้องตลาดราคากิโลกรัมละเท่าไหร่ แน่นอนว่าราคาแพงกว่าอยู่แล้วครับ รวมกับค่าขนส่ง ค่าเดินทางและอื่นๆ

     ผมเลยบอกว่า ที่เยอรมัน มังคุดผมเคยเจอในร้านเอเชีย รู้สึกว่าประมาณสี่ผล ราคาร้อยกว่าบาท แม้ว่าสุขภาพผลที่เห็นสภาพจะยังมียางเหลืองๆ เห็นจากภายนอกก็ตาม เพื่อนผมก็เลยบอกว่า งั้นที่ผมเพิ่งกลับไปบ้านมา ผมกินไปหมื่นกว่าบาทนะเฉพาะมังคุด ห้าๆๆๆๆๆ

    แล้วเมื่อวานนี้ ผมโทรไปคุยกับคุณแม่ แล้วคุยไปคุยมา ก็มาลงที่ราคาผลไม้เหล่านี้ คุณแม่เลยสรุปให้ฟังว่า ราคาใต้โคนต้นมีดังต่อไปนี้ คร่าวๆ นะครับ

  • ม ังคุด กิโลกรัมละ  3 บาท

  • เงาะ กิโลกรัมละ 4 บาท

  • ทุเรียน ลูกละ 5 บาท (ขายเหมา เข่งละร้อยบาท)

  • ขี้ยางก้อน กิโลกรัมละ 27 บาท

  • สะตอ 15 ฝัก ราคา 20 บาท

  • และอื่นๆ

คุณแม่เลยเล่าต่อว่า ได้เห็นบางที่ ด้วยราคาตกต่ำมาก ทำให้พี่น้องชาวสวนบางที่ ตัดสินใจ โค่นมังคุดทิ้งกันทีเดียวครับ เพื่อหันไปปลูกพืชที่ราคาดีในตอนนี้

บางราย ก็ปล่อยให้หล่นไปอย่างนั้น แต่ปล่อยไปให้หล่นเองก็ไ่ม่ใช่ง่าย หล่นลงมากองๆ ที่ใต้โคนต้น แล้วเกิดการเน่าอาจจะมีผล ส่งผลต่อความเป็นกรดของดินอีก ว้าาาววว บางคนสอยไป เก็บไป ยิ้มไปแห้งๆ เพราะราคามันตกต่ำ

แต่หากกลับมาคิดอีกที กิโลกรัมละ 3-5 บาท จำนวน 100 กิโลกรัม ก็ได้ 500 บาท แล้ว แต่ด้วยความเคยชินที่เคยขายได้ราคากว่านี้ เลยทำให้เห็นราคาแบบนี้ เลยอาจจะส่งผลทำให้พี่น้องเกษตรกรบางท่าน รู้สึกเศร้ากับราคาแบบนี้ เพราะ อาจจะไ่ม่คุ้มกับการดูแล

บางคนบอกว่า หากผลไม้ออกตามฤดูกาลแล้วราคาถูก ผลมักจะดก จริงๆ หากเราทำให้ออกนอกฤดูกาลได้ ผลผลิตกับความต้องการ และราคาก็คงอยู่ไปด้วยกันได้ ไม่ชิดติดขอบขวา หรือขอบซ้ายของ แกนราคามากเกินไป

ทำให้คิดไปอีกต่อ ว่า

หากพี่น้องเกษตรบางรายต้อง

  • โค่นหมากปลูกมังคุด

  • โค่นมังคุดเพื่อปลูกยาง

  • โค่นยางเพื่อปลูก ยูคาลิปตัส

  • โค่นยูคาลิปตัสเพื่อปลูกกระิุถินยักษ์

  • เปลี่่ยนทุ่งนามาเป็นสวนยาง หรือ สวนปาล์ม

  • เปลียนไร่อ้อย มาเป็นสวนยาง

  • เปลี่ยนมันสำปะหลังมาเป็นอ้อย

  • หมุนเวียนเปลี่ยนไป....ตามกลไกของตลาด

สิ่งที่น่าคิดคือ ความสมดุลของสังคมอยู่ตรงไหน ใครคือคนควบคุมกลไกเหล่านี้ ของราคาในระดับประเทศ ระดับโลก

อีกต่อไป ประมาณ ไม่เกิน 7 ปี ราคายางจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ก็เริ่มลดลงแล้ว ขึ้นลงสูงต่ำ เป็นธรรมดา ตามกลไกของความต้องการซื้อ ขาย

มีแนวทางที่จะเดินทางสายกลางในการวางแผนการปลูก การปลูก การขาย ให้ลงตัวได้ไหมครับ

ก่อนปลูกถั่วฝักยาว ราคาถั่วฝักยาวแพงมาก... แต่พอปลูกแล้วเอาไปขายที่ตลาดราคกลับตกสุดๆ ...ใครหรือที่เป็นกำหนดราคาในตลาดชุมชน....ที่นำไปสู่ คนขายได้กำไร ซื้อพอใจ สังคมมีความสุข ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตามหลักการของการตลาดแบบยั่งยืน

แล้วโยงต่อไปยัง การทำนา ชาวนา ลดลงจากเดินหรือไม่ครับ เราจะกินข้าวของประเทศไหนครับต่อไป จากมาเลย์ ลาว เวียดนาม หรือกัมพูชาครับ เราจะนำเศรษฐกิจพอเพียงลงไปสู่รากของสังคมได้ซักครึ่งหนึ่งของประเทศ มีความเป็นไปได้ไหมครับ

ผมจำได้ภาวะน้ำท่วมที่หาดใหญ่ในปี 2000 ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ มาม่าซองละ หนึ่งร้อยบาท ใครก็ไม่ขาย จนถึงระดับหนึ่ง เงินไร้ความหมาย ในภาวะที่ข้าวยากหมากแพง การทำเท่านั้นที่จะอยู่ได้

ผมก็ยังนิยมการปลูกพืชแบบเชิงผสมผสานมากกว่า การปลูกเชิงเดี่ยวอยู่ดีครับ ต่อให้ราคาสิ่งนั้นจะสูงขนาดไหนก็ตาม เพราะวันนี้ราคายางมีราคาสูงมากก็ตาม หากวันหนึ่งราคาลดต่ำลง ผมก็ไม่สามารถจะกินยางแทนข้าวได้

พาไปไกลอีกนิดหนึ่งคือ พื้นที่บริเวณชายทะเล หากท่านๆ ยังจำกันได้บริเวณชายทะเลหลายๆ ที่ในฝั่งอ่าวไทย จะมีการเลี้ยงกุ้งเยอะใช่ไหมครับ พอทำไปได้ซักระยะเริ่มเสื่อมได้สภาพดิน น้ำ และโรค ตอนนี้บริเวณปากพนังที่นครศรีธรรมราชเอง ก็เริ่มเสื่อม บ่อร้างก็เกิดขึ้น จะมีเกษตรกรบางรายยังคงทำอยู่ ผมว่าบริเวณนั้นเป็นแนวที่น่าจะเป็นการฟื้นฟูโดยการปลูกป่าชายเลน หากทำได้ ก็คงดีไม่น้อย เพราะป่าชายเลน หากกลับมาสมบูรณ์ได้ น้ำทะเลซัดเข้ามา ปูปลาเข้ามาวางไข่ ก็นำไปสู่ความสมบูรณ์อีกครั้งครับ ให้มีต้นไม้โกงกาง ต้นแสมและอื่นๆ อีกมากมาย จัดแนวให้เกิดความสมบูรณ์ได้ ชาวบ้านก็จะจับปู ปลา หอย ได้เป็นอาหาร กินอยู่แบบยั่งยืนได้เช่นกัน แถมเป็นที่กันชนให้กับชาวบ้านได้อย่างดี เช่นเป็นแนวกันลมและคลื่นได้อย่างดี

นั่นคือ อีกตัวอย่างหนึ่งครับ 

สิ่งที่สำคัญที่ผมคิดว่า สำคัญมากๆ คือ วิทยาศาสตร์และการวิจัยเพื่อนำไปสู่การแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการตลอดปี หากเราทำได้แบบนี้ แล้วมีใช้ให้ได้ตลอดเวลา มีผักและข้าวกินตลอดปี ซึ่งประเทศไทยเองก็เหมาะกับการทำสิ่งนี้อยู่แล้ว เพราะปลูกกันได้ทั้งปี หมุันเวียนกันไป ก็ดีเพราะจะปรับสภาพของดินให้สมดุล มีการตรึงและคืนธาตุอาหารให้กับดินกันอย่างต่อเนื่องตลอดไป

บทความนี้ได้เีพียงแค่การบ่นเท่านั้นเองครับ ท่านมีความเห็นอย่างไร อยากเพิ่มเติ่มให้สมบูรณ์ ก็เชิญท่านบรรเลงได้นะครับผม

จักเป็นพระคุณยิ่งนะครับ

 เม้ง สมพร...


หมายเลขบันทึก: 115973เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2007 04:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2012 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)
ก่อนหน้านี้ 3 เดือน ซื้อมังคุดจากสวนแถวบ้าน ~ โลละ 12 บาท. ข้างในเนื้อดีแทบทุกลูก. บางเจ้าซื้อมาแล้วกินได้ครึ่งๆก็มี. เห็นว่าโค่นไปปลูกยางแล้ว เศร้า. ถ้ามังคุดราคาตกก็ยังช่วยๆกันกิน ยางไม่รู้จะเอาไปทำไร.
P

สวัสดีครับน้องบ่าววีร์

ขอบคุณมากๆ เลยครับ สำหรับการแลกเปลี่ยนกันครับ เพื่อนบอกว่าราคาในท้องตลาดก็คงอยู่ราวๆ สิบกว่าบาทครับ ผมกำลังสนใจงานวิจัยตรวจสอบคุณภาพผลไม้ภายในอยู่ครับ เป็นการคัดเลือกด้วยระบบคอมพิวเตอร์ครับ เช่นมังคุดมียางไหลภายไหนหรือไม่ ทุเรียนเน่าหรือไม่ เป็นหนอนหรือไม่ อะไรทำนองนี้ ก่อนส่งขายในท้องตลาดครับ

จริงๆ ก็อย่างที่น้องวีร์ว่านั่นหล่ะครับ ว่ามังคุดยังช่วยกันกิน สำหรับยาง เอาไปจีกินไม่ได้ (จี แปลว่าย่างทำให้สุก ศัพท์ใต้) ครับ 

แต่การแปรรูปที่ดี ให้เหมาะกับการนำไปใช้ แทนการส่งยางดิบออก แล้วเอาผลิตภัณฑ์เข้าผมว่าควรจะคิดใหม่ทำใหม่ได้ในพื้นฐานของสมองคนไทยนะครับ

ผลไม้ก็เช่นกันครับ ขอบคุณมากครับ

เพื่อนเม้ง

กลับมาจากหัวหินหมาดๆขอบรรเลงต่อเพราะคิดถึง

ไปประชุมที่หัวหินครานี้สาวใต้ท่านหนึ่งหอบหิ้วทุเรียนกวน และลองกอง พร้อมมังคุดลูกโตๆมาฝาก เธอบอกผมว่าราคาถูกและส่วนหนึ่งก็นำมาแปรรูป

การเกษตรกระเเสหลักทำให้เกษตรกรเป็นหนี้ สุขภาพเสื่อมโทรมทั้งกายและใจ ผมเคยทำงานบนดอยสูง ที่วันหนึ่งก็มีพ่อค้าคนกลางขึ้นไปสนับสนุนปลูกขิงบ้าง เผือกบ้าง มันฝรั่งบ้าง พืชผลเกษตรพวกนี้ต้องการพื้นที่กว้างใหญ่ ต้องการปุ๋ย ยาฆ่าแมลงที่สูง แต่บางปีราคาผลผลิตก็สูงจนน่าตกใจ บางปีก็ลดวูบจนขุดทิ้งไปซะงั้น ......นี่เป็นความไม่มั่นคงทางด้านการเกษตร เพราะเราผูกกับระบบตลาด

ผลลัพธ์ที่เห้นได้ชัดคือ หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นทุกปี สุขภาพแย่ มะเร็งเริ่มเกิดอุบัติการณ์ขึ้น ล้มป่วยด้วยโรคใหม่ และฮิตที่สุดคือ โรคเครียดกับซึมเศร้า

วิถีเดิมของชาวบ้านบนดอย ชาวภูเขาดั้งเดิมพอเพียงเป็นวิถี เป็นชีวิตที่มีความสุขมากครับ หากสามารถย้อนกลับมาได้ คนดอยก็เป็นคนที่มีชีวิตที่สุขพอมีพอกิน วันนี้กลับไปก็ยาก โจทย์ใหญ่ที่ให้คิดก็คือ จะทำอย่างไรให้อยู่กับทุนนิยมให้ได้ ก่อน

ผมคิดว่านักพัฒนาเราทำงานประเด็นเรื่องความยากจนนี่มาก แต่ไม่เข้าถึงแก่นปัญหา ส่วนหนึ่งภาครัฐเข้าไปทำเป็นการส่งเสริมอาชีพที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับศักยภาพชุมชนเท่าไหร่นัก นี่ก็คือปัญหาเพิ่ม เพราะผลผลิตจากงาน ก็หาตลาดไม่ได้อีก

ต้องมาร่วมกันคิดกันใหม่ช้าๆ สืบสาวราวเรื่อง - - -ค่อยๆแก้ไขปัญหาที่หมักหมมซับซ้อนไปเรื่อยๆ พร้อมกับติดอาวุธทางปัญญาให้ชุมชน ค้นหาสิ่งดีๆ ให้ชุมชนรู้จักตนเอง ให้คนป่วยรู้ตนเองว่าป่วย...ประเด็นนี้สำคัญมากครับ หากไม่รู้ตนเองเสียแล้ว จะแก้ไขปัญหาตนเองได้อย่างไร

รู้ตนเอง-แก้ไขปัญหา วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง นี่เป็นทางเลือกทางรอดของชุมชน

ส่วนนักพัฒนาควร เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา

เขียนมามากแต่ก็วนไปมา เพราะปัญหาก็วนอยู่ไปมาเช่นกัน ปรากฏการณ์แบบนี้วิเคราะห์ไม่ยาก นักพัฒนาที่เขาใจ จะทำงานกับชุมชนควรนึกภาพเหล่านี้

เขียนมาเยอะเพื่อแทนคำทักทายเพื่อนหลังจากห่างหายไปสองสามวันครับ!!!

 

สวัสดีครับ เม้ง รูปหล่อ

P

เป็นความเศร้าของเกษตรกรครับ

ไม่ทราบว่า กระทรวงเกษตรฯ มีไว้ทำไม ไม่เคยเห็นหัวครับ 

เศร้าครับ...................................

สวัสดีครับ คุณ
P
  • ผมเคยเขียนถึงการ ตามแห่ ไว้หน่อยนึง แปลงจากพล็อตโศกนาฎกรรมให้เป็นเรื่องเฮฮา
  • แต่ขอตั้งข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งนะครับ และดูเหมือนจะเป็นบทเรียนที่พวกเฮ็ดจ์ฟันด์มืออาชีพใช้กันในการเก็งกำไรในตลาดเงิน-ตลาดทุนด้วย พวกนี้นิยามคู่ค้าที่ "เถือ" ง่ายไว้ว่า

"คนทั่วไปมักจะมีปฎิกิริยาตอบสนองช้าผิดปรกติ จนการตัดสินใจกระทำ มักผิดอย่างสิ้นเชิง คือจะตัดสินใจซื้อ ในเวลาที่ควรขาย และตัดสินใจขาย ในเวลาที่ควรซื้อ"

  • ในกรณีของชาวสวนไทย ไม่รู้จะเข้าข่ายนี้ไหม เพราะมักโค่นสวนเก่า-ปลูกสวนใหม่ ในจังหวะเวลาที่เข้าล็อคนี้เหมือนกัน
  • สวัสดีค่ะ  คุณเม้ง ..

ที่บ้าน เมื่อวานขายลำไยเกรดจัมโบ้  กิโลละ  9  บาท

เศร้ามากค่ะ 

P แสดงว่าเพื่อนบ้านผมขายราคาท้องตลาดเลย lol. แต่ว่ากินกิโลละ 10 กว่าบามก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ต่อ เราก็ไม่ได้ขัดสน ของก็ไม่ได้แพงมาก. ตามห้างแพงกว่านี้นะครับ ~ 20 บาทได้.
ปัจจุบันผม ปลูกสวนผลไม้ไว้หน้าบ้าน แต่ปลูกด้วยเงินครับ อยากกินอะไร ไปซื้อเอาที่ร้านหน้าบ้าน เพราะนี้คือวิธีการที่ดีที่สุด สำหรับการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร (คือ ช่วยกันกินผลไม้ไทย)

เมื่อวานพี่ไปปีนต้นลำใยบ้านแม่ยายที่เชียงใหม่...

 

พักผ่อนไป 4 วันในสวนลำใย...ไม่ต้องซื้อผลไม้กิน...กินข้าวเสร็จก็เก็บลำใยกินเลย...

AA กก.ละ 9 บาท

A   กก.ละ 5 บาท

B   กก.ละ 3 บาท

C   กก.ละ 1 บาท

ขับรถผ่านที่รับซื้อคนก็แน่นขนัด....

 

คนเรามัวแต่คิดจะขาย...อยากมีตัง...พี่ว่าทุกข์ตั้งแต่เริ่มคิดแล้วววว....อิอิ

 

แถมลงทุนใส่สารแล้วไม่ได้ผลช่วงนอกฤดูอีก...เครียด...กินเหล้า....55555

 

แล้วเขาก็ติดป้ายกันไปทั่ว...คิดถึงทักษิณ(พร้อมกับแจกเอกสารไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ)...

 

พี่ก็แปลกใจ...มัยไม่คิดถึงตัวเอง...แล้วหันมาทำความเข้าใจกับชีวิตที่พอเพียง...???

  • ธุค่า ..

จน .. เครียด .. กินเหล้า

 

มิน่า  ช่วงนี้รู้สึกมึน ๆ เมา ๆ ชอบกล ค่ะ 

คือ มาตรฐานของคำว่า " พอเพียง"  นี่วัดไม่ได้นะคะ  เพราะสำหรับอีกคนคือระดับเท่านี้  แต่อีกคนอาจจะเท่านั้น

 

ถึงลำใยขายดี ก็อาจจะไม่รับรัฐธรรนูญอยู่ดี? ลำไยหวานไปอาจจะทำเหล้าแล้วบาดคอสักนิด. เท่าที่ลองๆชิมดูกระเจี๊ยบทำออกมาแล้วดีกว่า ผลไม้หวานๆ.

สวัสดีครับญาติพี่น้อง

ขอบคุณมากๆ เลยครับ ได้ความเห็นหลากหลายดีครับ ใช่ครับ ความหลากหลาย ความพอเพียง ทางสายกลาง การอยู่ได้ ระดับที่เพียงพอ อยู่ตรงไหนครับ

การแปรรูป ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ส่งต่อระหว่างกลาง อยู่อย่างไร ให้สมดุล  ถกกันต่อนะครับผม

ขอบคุณมากครับ

เศรษกิจพอเพียง เป็นคำตอบสุดท้ายครับ

วิ่งตามกระแส คือการเป็นเหยื่อของระบบ

ผมกำลังทำทุกกิจกรรมให้เป้นตัวอย่างทางเลือก

ตลาด ไม่เคยเข้าข้างเกษตรกร

คุณเม้งคงเคยได้ยินเขาพยายามตีความหมายของเกษตรกรว่าอะไร

ก็ตามคำแหละครับ

กะ-เศษ-ตะ-กอน

ประมาณๆเท่ากับเศษของตะกอน

ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ไม่มีทางรอด

ผมจึงขอน้อมนำปรัชญาของท่านในหลวงของเรามาแนะนำ

ขณะนี้เรากำลังทำงานเรื่องนี้กันอย่างเข้มข้น ทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน ธุรกิจทุกขนาด เพื่อความยั่งยินของการพัฒนา

ผมจะพูดเชิงเปรียบเทียบเสมอว่า

ปลาที่วิ่งตามกระแสน้ำตลอดเวลามีแต้จะสูญพันธุ์ เท่านั้นแล

 

P

สวัสดีครับเพื่อนเอก

  • คิดถึงมากมายเช่นกันครับผม และขอบคุณในน้ำใจมิตรไมตรีที่ดีตลอดเวลานะครับ
  • พร้อมเรื่องราวดีๆ เสมอมาฝากครับ
  • การเกษตรบ้านเราโดนแนวทางของการเกษตรเชิงทุนนิยมที่มองแบบแยกส่วนเข้าไปครอบงำจนหนักเข้าไปถึงมากๆ ครับ
  • เราก็เลยต้องรับสภาพร่วมกัน ไม่ว่าจะผู้ผลิตและบริโภคครับ สำหรับเรื่องหนี้สินแล้วนั้น เป็นเรื่องที่หนักเลยครับ
  • รู้ตนเอง-แก้ไขปัญหา วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง นี่เป็นทางเลือกทางรอดของชุมชน

    ส่วนนักพัฒนาควร เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา

  • ใช่ที่สุดเลยครับเพื่อน 

  • ผมได้ข่าวเรื่อง การรณรงค์ให้ปลูกกระถินยักษ์ ปาล์มและหลายๆ อย่างนะครับ ตอนนี้ ผมไม่กลัวอะไรเลย ยกเว้นความไม่สมดุล หากทำแล้วสมดุล ก็ทำไปนะครับ แต่ต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ อย่างน้อยก็เข้าใจได้ว่า ราคาผลไม้ตก เพราะอะไร ก็มองให้ธรรมดา ให้ได้ครับ

  • เพราะระดับน้ำทะเลยังขึ้นลงทุกวันเลยครับ ไม่ได้อยู่นี่ ในรอบวันครับ 

  • ขอบคุณมากๆ นะครับ โชคดีและสนุกในการทำงานนะครับ

P

สวัสดีครับพี่เหลียง

  • ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า หากฝนน้ำดีตกลงมา ก็ต้องมีพันธุ์ไม้งอกงามดีครับ ข้างล่างสมบูรณ์ ก็มีเมฆท้องฟ้าที่ดี ก็ตกลงมาดีเสมอครับ
  • สำหรับการจัดการบริหาร ก็ทำได้ดั่งฝนครับครับ ฝนน้ำดีที่ไหลเข้าหมู่บ้านนะครับ แต่ไม่ใช่ฝนพิษครับ
  • หากคนทำงานเพื่อการเกษตรติดดินเหมือนเกษตรกร ผมเชื่อว่าไม่มีช่องว่างระหว่างกันครับ เพราะมีหัวอกเดียวกัน อยู่ตรงไหนก็จะได้รับภาวะเดียวกันครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ
P
wwibul  

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์

  • ขอบพระคุณมากครับ ท่านอาจารย์ เข้าไปอ่านแล้วครับ ยอดเลยครับ กระบวนการแห่ตาม หรือ ตามแห่ ที่อาจารย์ว่าไว้ครับ

 "คนทั่วไปมักจะมีปฎิกิริยาตอบสนองช้าผิดปรกติ จนการตัดสินใจกระทำ มักผิดอย่างสิ้นเชิง คือจะตัดสินใจซื้อ ในเวลาที่ควรขาย และตัดสินใจขาย ในเวลาที่ควรซื้อ"

  • คุณพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ พูดไว้ในเพลงชุดหนึ่ง ว่า ราคาถั่วฝักยาวแพงๆ อยู่ พอที่ในแปลงเริ่มเก็บเกี่ยวได้ ราคาตกทันที พอขายหมด ด้วยราคาถูก จากนั้นราคาก็สูงขึ้นอีกครับ 
  • ขอบพระคุณมากๆ นะครับ
P

สวัสดีครับคุณเนปาลี

  • ขอบคุณมากๆ เลยครับ
  • ราคาขึ้นลงนะครับ ตามปัจจัยอะไรบ้างครับ จากสภาพปีก่อนๆ นะครับ ผมว่าประวัติศาสตร์อาจจะช่วยได้ครับผม
  • บังคับให้ออกนอกฤดูได้ไหมครับ หรือชะลอช่วงเวลาการออกดอกให้ช้าออกไป ด้วยกระบวนการทางธรรมชาติครับ แต่หากบังคับไม่ได้ ก็แจก แลก เปลี่ยน เกื้อกูล พึ่งพา ยั่งยืน อยู่ร่วม เพียงพอ ตลอดไปครับ
  • แต่การลงทุน นั้นก็ต้องคิดกันนะครับ หากทำในปริมาณมากๆ นะครับ ผมว่าการแปรรูปอาจจะช่วยได้ครับ
  • ผมกำลังคิดว่า หากเราไม่เน้นคำว่า กำไร ทุกคนก็จะอยู่บนความพอใจที่ลงตัว ส่วนถามว่าตรงไหน อันนี้คงต้องปรับกันเองครับ
  • ขอบคุณมากครับ
เศร้าใจแทนเกษตรกรค่ะ เมื่อวานฟังข่าวแล้วก็รู้สึกว่าถ้าเป็นตัวเองจะทำยังไง อาจจะต้องหาวิธีปรับกลไกทางการตลาดให้ผู้ผลิตมีอำนาจต่อรองมากกว่านี้ เช่น รวมตัวกันเพื่อขายเองโดยตัดคนกลางทิ้ง หรือการเทรดสินค้าระหว่างจังหวัดโดยมีหน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยจัดการ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ลองคิดดูว่าน่าจะทำอะไรได้บ้าง ไม่งั้นก็เป็นอยู่อย่างนี้ทุกปี

พอดีมีโอกาสติดต่องานกับสารพัดอบต.และเทศบาลทั่วประเทศ ถ้าแนวคิดเรื่องเทรดระหว่างพื้นที่พอมีโอกาสเป็นไปได้ก็อยากจะนำแนวคิดนี้ไปเสนอค่ะ เราก็ตัวจิ๊บตัวจ้อยไม่รู้จะช่วยอะไรได้แค่ไหน ตอนนี้ก็พยายามช่วยกินผลไม้เยอะ ชวนคนรู้จักกินผลไม้ และอยากเห็นภาครัฐร่วมรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคผลไม้ไทยมากขึ้นแทนที่จะไปกินผลไม้นำเข้า เผื่อราคาผลผลิตจะเพิ่มขึ้นได้ เพราะเมื่อ demand มาก supply ก็น่าจะได้ราคาตามมา
P

สวัสดีครับน้องบ่าววีร์

  • ในเรื่องราคาทางด้านการปฏิบัติจริงๆ ผมไม่แน่ใจครับผม เพราะว่า อยู่ที่ว่าขายที่ไหนครับและขายใครด้วยนะครับ
  • เคยได้ยินเรื่องส้มต้นเดียวกันไหมครับ หยิบใส่ตะกร้าแล้วเดินไปเรื่อยๆ
  • เจอคนขอทาน ก็หยิบให้คนขอทานสองผล
  • แล้วนะส้มเหล่านั้น ไปขาย ตามร้านขายของชำ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ภัตตาคาร ในราคาเท่ากัน
  • แล้วพอผู้ใช้บริการไปกิน สั่งน้ำส้มปั่นเหมือนกันหมดเลยครับ จะต้องจ่ายแตกต่างกันครับ
  • มูลค่าเพิ่มแตกต่างกันครับ ขายต่างกันครับ แม้ว่าจะมาจากที่เดียวกันก็ตามครับ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับอิง

  • สบายดีไหมครับ
  • ปลูกสวนไว้หน้าบ้านแบบเกื้อกูลแบบนี้ก็ดีครับผม แบบคนซื้อก็สบายใจ กินอร่อย คนขายก็สบายใจ
  • เห็นด้วยสำหรับการกินผลไม้ไทยครับ ผมยังชอบกินผลไม้ป่า ผลไม้ไทยๆ ครับ แต่อยู่ไกลก็ต้องกินตามที่กินได้ครับ แต่หลักๆ สำหรับผม คือข้าวกับแกงครับ ก็นอนหลับแล้วครับ
  • ขอบคุณมากครับ
P

สวัสดีครับพี่สอน

  • อิจฉาคนได้ปีนต้นไม้ครับ ผมไม่ได้ขึ้นต้นไม้มาซักพักแล้วครับ ที่เยอรมันเคยปืนเชอรี่อยู่ช่วงหนึ่งครับ หน้าร้อน
  • มีราคา กก.ละ 1 บาท ด้วยหรือครับ นี่

คนเรามัวแต่คิดจะขาย...อยากมีตัง...พี่ว่าทุกข์ตั้งแต่เริ่มคิดแล้วววว....อิอิ

แถมลงทุนใส่สารแล้วไม่ได้ผลช่วงนอกฤดูอีก...เครียด...กินเหล้า....55555

แล้วเขาก็ติดป้ายกันไปทั่ว...คิดถึงทักษิณ(พร้อมกับแจกเอกสารไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ)...

พี่ก็แปลกใจ...มัยไม่คิดถึงตัวเอง...แล้วหันมาทำความเข้าใจกับชีวิตที่พอเพียง...???

  • สุดยอดเลยครับ สี่ข้อคิดนี้ของพี่ คาราวะครับ ผมสังเกตชาวบ้านมักจะขายปลาตัวสวยๆ เพราะหวังว่าจะได้ราคาดีครับ ส่วนตัวเองกินลูกปลาเล็กๆ ก็ได้
  • แต่อีกนัยหนึ่ง การให้เพื่อนบ้าน ก็นิยมให้สิ่งดีๆ เช่นกันครับ
  • หรือแม้แต่การทำบุญตักบาตร ก็จะเอาของดีๆ ทำบุญนะครับ
  • คือไม่ว่าจะอย่างไร ชาวบ้านก็อยู่ได้ครับ แต่หากค่าครองชีพเค้าสูงขึ้น ต้องซื้อเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้แลกเปลี่ยนเลย แล้วรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ปัญหาก็เกิดครับ
  • นั่นนะซิครับ ความพอเพียง...ขอแต่ละคนก็ยิ่งต่างกันนี่หล่ะครับ ต่างระดับชั้น ก็ตีความต่างกัน ในระดับเดียวกันก็ตีความต่างกันไปครับ
  • หากค้นหาสายกลางหรือจุดสมดุลของตัวเองเจอ ก็เดินเบาตัวครับ
P

สวัสดีครับน้องบ่าววีร์

  • คุณวีร์พูดเรื่องเหล้า ทำให้ผมคิดไปไกลมาขึ้น ถึงแรงงานไทยในต่างประเทศ คือมาขายแรงงานอย่างไร ก็ไม่เหลือครับหากไม่มีการควบคุมตัวเองให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม
  • บางทีถามกันเล่นๆ ว่า เราทำงานเพื่ออะไร เพื่อหาเงิน แล้วเอาเงินไปซื้อ แล้วทำงาน แล้วซื้อ วนเวียน แค่นี้หรือเปล่าครับ
  • รัฐธรรมนูญรับก็อยู่แบบนั้น ครับ หากมาตราในนั้น เขียนไว้สวนแต่ลงไม่ถึงแนวการปฏิบัติจริง ก็ไร้ค่า ไร้ความหมายครับ เปเปอร์ต่างๆ ที่ตีพิมพ์มากมาย แต่หากไม่เข้าขั้นการนำไปใช้ ก็ผ่านแค่เพียงครึ่งเดียวเท่านั้นครับ เพราะว่ามันไม่ออกดอก ออกผลครับ รัฐธรรมนูญที่มีแล้วไม่ได้นำไปใช้จริงให้สมคุณค่าก็เหมือนต้นไม้ที่ไร้ดอกออกผลนะครับ
  • ผมจำที่ชาวบ้านคุยกันว่า ไม่ว่าจะเลือกตั้งกันได้ใครหรืออย่างไร เค้าอยู่อย่างไรก็อย่างนั้นครับ...
  • ขอบคุณมากครับ ผิดถูกประการใดเป็นเพียงแค่ความเห็นนะครับ
P

สวัสดีครับคุณเนปาลี

  • จน เครียด กินเหล้า .... คิดถึงเรื่องนี้แล้ว น่าคิดครับผม
  • คำว่าพอเพียงนั้น เหมือนกับการก่อกองไฟไว้หนึ่งกอง ในช่วงที่ลมเย็นพัดผ่าน ต่างคนก็ต่างต้องการจะผิงไฟ แต่เนื่องจากว่า จุดที่อุ่นพอดีของแต่ละคน อยู่ห่างจากกองไฟแตกต่างกันครับ บางคนอยู่ห่างมากห่างน้อย เพราะจุดที่อุ่นเค้าแตกต่างกัน และขึ้นกับหลายๆ อย่าง ปัจจัยภายในด้วยครับ ว่าเค้ามีความร้อนภายในแค่ไหน
  • มองดูแล้ว ก็คงอาจจะอธิบายคำว่า พอเพียงได้บ้างนะครับ อาจจะไม่หมดครับ
  • ขอบคุณมากครับ
P

สวัสดีครับท่านอาจารย์แสวง

  • ขอบคุณมากๆ เลยครับ ได้เห็นอะไรอีกมากมายครับ
  • บางทีคำตอบสุดท้าย เรามักไม่ค่อยใส่ใจกันครับ จนกว่าจะถึงทางตันครับ แต่พอหันหัวกลับมาจะหาคำตอบสุดท้าย ก็อาจจะสายเสียก่อนครับ
  • กะ เศษ ตะกอน คำนี้เจ็บและแสบมากๆ นะครับ บาดใจยิ่งนักครับ
  • หากเข้าถึงแนวทาง ศก.พอเพียงได้ ทางรอดก็เหลือเยอะครับ เพราะมีที่ให้หายใจเต็มปอด ไม่ต้องสูดควันพิษเข้าไปเต็มปอด ก่อนที่หัวจะวาย
  • หากภัยพิบัติถึงขั้นใจพิบัติ แล้ว เราจะมีปัญหาหนักกว่าเยอะครับ เพราะแม้แต่จะกลับหลังหันมาก็อาจจะสายไปครับ
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับ คำเปรียบเทียบที่ดีมากๆ ครับ
  • ปลาที่วิ่งตามกระแสน้ำตลอดเวลามีแต้จะสูญพันธุ์ เท่านั้นแล
  • ปลาตามน้ำ ใช้พลังงานน้อยใช่ไหมครับ มันเลยมักจะวิ่งลงไซดักปลา ซ่อนดักปลา อยู่ร่ำไปครับ ท้ายที่สุดก็ลงหม้อแกงหรือ กระทะในท้ายที่สุดครับ
  • กราบขอบพระคุณมากครับ
P ท่าจะต้องหมักเองครับ :-). หมักหลายแบบลองชิมดูจะได้ไม่ทันเมา.

55555...ไม่รู้ว่าน้องวีร์คิดไปถึงเหล้าลำใยได้ไง....อิอิ

 

ดีเหมือนกัน...เดี๋ยวไปชวนชาวบ้านทำ...ให้เมากันซะทั้งหมู่บ้าน...จะได้ลืมทักษิณ...5555555

 

พอเพียง...พูดกับชาวบ้านง่าย ๆ (แต่ทำยาก...อิอิ) ว่ารู้จักพอมั่งเหอะ...พอแล้ว....พอกินพอใช้....พอเลี้ยงลูกได้...

 

แต่ดันไม่พอซื้อรถ ซื้อมือถือ...สุดท้าย..เขาต่อรองว่า...พอซื้อเหล้าได้มั้ย....5555555555555

P

สวัสดีครับคุณซูซาน

  • ขอบคุณมากๆครับ สำหรับความเห็นนะครับ สบายดีไหมครับ
  • เรื่องสินค้าเกษตร เรามีปัญหากันมานานครับ ไม่ว่าจะเรื่องคุณภาพ เรื่องการตลาด เรื่องการแปรรูป เรื่องการส่งออก
  • ยังไม่รวมการนำไปสู่กระแสนิยมการปลูกแบบแห่กันปลูก เหมือนแผนที่ปลา เลยครับ
  • แล้วมองไปยังเรื่องอื่นๆ ก็เช่นกันครับ เหมือนเช่น แฟชั่น การศึกษา ยาบำรุง และอื่นๆ อีกเยอะแยะครับ ออกมาทำนองเดียวกันครับ
  • จริงๆ คำตอบเราก็ทราบกันอยู่ครับ แต่เราทำกันได้ก็ต้องเมื่อทำที่ตัวเรา สร้างความสมดุลให้เกิดครับ
  • ขอบคุณมากครับ
P

สวัสดีครับน้องวีร์

  • จริงๆ เข้าหลักการพอเพียงนะครับ หากจะหมักเองไว้ดื่มเอง
  • เพราะไม่ต้องเสียเงินไปซื้อดีกรีแพงๆ จากต่างเทศ รวมทั้งในเทศด้วยครับ
  • พวกไวน์ ก็ทำได้ทุกอย่างครับ มะขาม ส้มๆ ต่างๆ  ผมว่าเปลืองมังคุดก็เอามาทำน้ำหมักอะไรต่ออะไรได้ครับ
  • แล้วเปลืองเงาะก็เอามาทำเชื้อเพลิงได้ดีเลยครับ ตากแห้งแล้วก็ใช้ได้ผลครับ เปลืองทุเรียนก็เช่นกันครับ ของดีทั้งนั้นครับ อยู่ที่การประยุกต์ใช้ครับ
  • ขอบคุณมากครับ
P

สวัสดีครับพี่สอน

  • อิๆๆ ลองดูครับ หากชาวบ้านต้องไปกินเหล้าในยามที่ยากจน แนะนำให้ทำเองครับ หรือลองทำขนมอื่นก็ได้ครับ เช่นเครียดมากก็กินมังคุดไปเลยครับ ทำไมต้องเป็นเหล้านะครับ ถึงจะดื่มดับทุกข์ ดื่มน้ำเปล่าแทนจะดับได้ไหมครับ ห้าๆๆๆๆ กินให้พุงกางไปเลยครับ จะได้เจอทุกข์ใหม่คือน้ำเต็มท้อง ลืมความทุกข์อย่างอื่น ก็หายเช่นกันครับ
  • พอเพียง อย่าทำให้เกินแรง เกินตัว เกินใจ เกินหน้าใคร .... ทำแล้วก็ต้องถ่าย ก็ต้องไม่ถ่ายให้เกินแรง เกินตัว เกินใจ เกินหน้าใคร.... อีกเช่นกัน  ได้สมกับให้ เข้าสมกับออก
  • อิๆๆๆ แต่ดันไม่พอซื้อรถ ซื้อมือถือ...สุดท้าย..เขาต่อรองว่า...พอซื้อเหล้าได้มั้ย....5555555555555
  • ขอบคุณมากครับ

จุดสมดุลของผลิตผลทางเกษตรของพี่น้องเกษตรกร กับราคาสินค้า อยู่ตรงไหน...

  • หวัดดีครับบ่าวเม้ง อดไม่ไหว ขอแจมที
  • ไม่ได้คุยกันเสียนาน พอดีตอนนี้ยุ่งๆ หลายอย่าง
  • แล้วตอใดจบหลบบ้านล่ะ เพื่อว่าได้ไปใช้ชีวิตให้เป็นแบบอย่างกับคนบ้านเรามั่ง ต้นฝนก็หาจับแมงดามาทำน้ำชุบ หน้าฝน ก็โหลกบ โหลก ปลามาทำแกงกิน ปลายฝน ก็ หาวิดปลาคลัก หาดักนกขุ้ม
  • จากหัวข้อจุดสมดุลของผลผลิตทางการเกษตร กับราคาที่ว่าอยู่ตรงไหน
  • มาสะดุดเอาที่ราคาขี้ยางก้อน โลละ 27 บาท
  • เปรียบเทียบกันราคายางแผ่น ราคาประมูลที่ตลาดกลางหาดใหญ่ บ่ายวันที่ 3 แล้ว ราคา 69.25 บาท
  • ก็ให้สะเทือนใจพอสมควร เป็นเพราะไหร
  • เพราะว่าคนบ้านเราขี้คร้าน หรือว่า หม้ายตาง ก็เลยต้องแคว๊กขี้ยางเอาไปขายให้มันเสร็จไปวันๆ
  • เพราะถ้าขูดยางทำขี้ มันสะดวกดีครับ
  • แต่หลังจากนั้นเอาเวลาไปไหน
  • บ้านเราก็ เช้านั่งร้านน้ำชา สายๆ กะไปขบปลา (แปลว่าเอาปลาให้มันมากัดกัน) ไปบ่อนวัว ไปบ่อนไก่ ไปโรงเล่น หม้ายไหรทำเย็นๆ ไปนั่งเฝ้าใต้โคนโหนด นั่งเมาน้ำตาลเมาน้ำลายกัน
  • แล้วหลายคนมาบ่นว่าหม้ายตาง ขี้ยางราคาถูกถามว่าทำไมไม่ทำแผ่นให้ราคาดี ก็บอกว่า ทำขี้สะดวกดี ไม่ยุ่งยาก
  • ในเมื่อยากสะบายก็ต้องแลกกับราคา 27 บาท แทนที่จะได้ 69 บาท
  • ก็เลยทำให้นึกถึงคำพูดของลุงยงค์
  • ลุงยงค์ (ประยงค์ รณรงค์) เคยเล่าให้ฟังว่า
  • สมัยก่อนชาวสวนยางแถวๆ อ.นาบอน อยากขายยางให้ได้ราคาดีๆ ฉนั้นหลังจากตัดยางทำแผ่นเสร็จแล้วก็ทำโรงรมยางเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อจะได้ขายยางเป็นยางแผ่นรมควัน ไม่ก็เป็นยางแผ่นอบแห้ง ซึ่งราคาดีกว่ายางแผ่นดิบ ประมาณ 5 บาท ต่อ กิโล จากนั้นก็ขนกันมาขายที่ อ.ทุ่งสง
  • แต่หลังจากนั้นไม่นาน โรงรมยางของชาวบ้านโดนไฟไหม้อยู่บ่อยๆ (พันปรือกก็หม้ายรู้) จากนั้นไม่นาน ก็ได้มีชาวจีนในนาบอน ได้ลงทุนสร้างโรงรมยางขนาดใหญ่ขึ้นในนาบอน แล้วบอกชาวบ้านว่า พวกลื้อไม่ต้องไปรมยางให้มันเสียเวลาหรอก อีกอย่างลื้อไม่มีฝีมือในการรม เห็นไหมล่ะ โรงรมลื้อไฟไหม้บ่อยๆ เอาอย่างนี้ซิ ลื้อเอามาขายอั๊ว เป็นยางแผ่นดิบ ยางก็ไม่เสียหาย อีกอย่างลื้อไม่ต้องไปไกลถึงทุ่งสง อั๊วมาตั้งโรงรมถึงนาบอนแล้ว
  • ชาวบ้านก็เลิกรมยางเอง เอายางแผ่นดิบไปขายให้เถ้าแก่ชาวจีน
  • หลังจากนั้นเถ้าแก่นาบอน ก็รวยเอาๆๆๆ จากนั้นก็ตั้งโรงผลิตยางแท่ง แล้วไปบอกชาวบ้านว่า ต่อไปนี้พวกลื้อไม่ต้องเสียเวลามาทำยางแผ่นมาขายอั๊วแล้ว แค่ลื้อเก็บน้ำยางได้ แล้วเอามาขายอั๊วที่โรงงาน ไม่ก็ให้รออยู่ที่สวนน่ะแหละอั๊วคิดค่าเดินทางนิดหน่อย แต่พวกลื้อน่ะสะบายจะตายเก็บน้ำยางเสร็จ ก็เสร็จเลย มีเวลาไปทำอย่างอื่นได้อีก
  • ชาวบ้านก็ชอบใจ เก็บน้ำยางเสร็จ เถ้าแก่มารับถึงบ้าน มีเวลาว่าง ไม่รู้ไปไหน ก็ไปเข้าบ่อนเถ้าแก่น่ะแหละ เถ้าแก่เขาใจดี เขาจัดให้
  • ขณะนี้ เวลานี้ แถวนาบอน ทุ่งสง ฉวาง พิปูน ทุ่งใหญ่ บางขัน ฯลฯ แค่ชาวบ้านปลูกยาง พอครบ 7 ปี เถ้าแก่ก็ให้คนเข้าไปหา ขอเช่าสวนยางจากชาวบ้านกรีด ชาวบ้านก็ชอบใจอีก ปลูกยางเสร็จแล้ว ไม่ต้องกรีดเอง ไม่ต้องเสี่ยงกับโดนงูกัด ไม่ต้องตื่นขึ้นมากรีดยางตอนดึกๆ ไม่ต้อง ฯลฯ รับเงินก้อนมาจากเถ้าแก่สบายใจกว่า
  • และในขณะนี้เริ่มมีข่าวออกมาว่า มีคนเข้าไปทาบทามกับผู้ที่จะเริ่มปลูกยางใหม่ หรือคนที่กำลังจะขอทุนยางว่า ...
  • หลังจากนี้ พวกลื้อไม่ต้องปลูกแล้วยาง
  • เอาที่พวกลื้อมาให้อั๊วเช่า ลื้อสะบายจะตาย ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่มีที่อย่างเดียว แต่มีเงินใช้ ยางก็ไม่ต้องไปตัด ไม่ต้องไปปลูกให้มันเสียเวลา
  • ก็เขียนมาให้อ่านเล่นๆ คงไม่มีข้อสรุป แต่สงสัยว่า แล้วจุดสมดุลที่ว่าน่ะ อะไรคือจุดสมดุล
  • และอีกอย่างนึง เมื่อเร็วๆนี้ ทางภาคอีสานบางจังหวัด รวมไปถึงภาคเหนือ
  • มีข่าววงในทางด้านความมั่นคงมาว่า
  • มี..... จาก 3 จังหวัด มากว้านซื้อที่จากชาวบ้าน ถ้าคนไหนไม่ขายก็ขอเช่า เพื่อปลูกยาง ในขณะเดียวกัน ก็ว่าจ้างคนในหมู่บ้านมาเป็นคนงาน คนหนุ่มๆ ก็มีการฝึกอบรมทางยุทธวิธีฯ เด็กๆ ก็มีทุนส่งไปเรียนถึงตะวันออกกลาง
  • นี่คือตัวอย่างจากความอยากสะบายของคนเรา นี่คือตัวอย่างของการรบกันในสมัยใหม่ใช่หรือไม่ ที่ไม่ต้องใช้อาวุธออกไปรบกันซึ่งๆหน้า แต่เขารบกันด้วยเศรษฐกิจ โดยอาศัยความอยากจะสบายความใจง่ายของคนเรา
  • สาธุ
P

สวัสดีครับพี่แดง

  • ขอบคุณพี่มากๆ เลยนะครับ ที่มาเล่าให้รับรู้กันนะครับ
  • มีหลายๆ เรื่องที่น่าคิด เพราะความมีนิสัยรักความง่ายของเราครับ ต่อไปคงจะมีคนจ้างให้เราหายใจอย่างเดียวเป็นแน่ครับ
  • เมื่อโดนยึดครองหัวใจไปแล้ว อะไรๆ ก็โดนยึดไปหมดครับ ถึงเวลานั้นตื่นตัวก็สายไปเสียแล้ว เพราะว่านอนอยู่ในหีบศพเรียบร้อยแล้วครับ
  • พี่สบายดีนะครับ ขอบคุณมากๆ นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท