BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

นิมิต (Sign)


นิมิต (Sign)

นิมิต ตามนัยแห่งตรรกศาสตร์ หมายถึง เครื่องหมายที่แสดงให้เราทราบบางสิ่งบางอย่างนอกเหนือจากตัวของมันเอง มี ๓ ประเภท คือ

  • นิมิตตามธรรมชาติ (Natural Sign)
  • นิมิตตามสัญนิยม (Conventional Sign)
  • นิมิตตามแบบ (Formal Sign)

......

นิมิตตามธรรมชาติ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งเราสามารถรับรู้ได้ และทำให้เราโยงสิ่งที่รับรู้ไปยังอีกสิ่งหนึ่งได้อย่างทันที เช่น

ควัน ทำให้เราโยงสิ่งนี้ไปสู่ ไฟ ความร้อน เผาไหม้ ....

เสียงร้องครวญคราง ทำให้เราโยงไปถึง ความเจ็บปวด ความทุกข์ การขอความช่วยเหลือ ....

......

นิมิตตามสัญนิยม คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น คล้ายๆ กับเป็นข้อตกลง ทำให้เราโยงจากสิ่งนั้นไปสู่บางสิ่งบางอย่างได้ เช่น

สัญญาณไฟแดง บ่งบอกให้รู้ว่า  เหยียบเบรค ห้ามผ่านขณะนั้น ให้รถด้านอื่นไปก่อน ....

เครื่องหมายธรรมจักร บ่งบอกให้รู้ว่า พระพุทธศาสนา ความเจริญแห่งธรรม...

......

นิมิตตามแบบ คือ บางสิ่งบางอย่างที่ปรากฎอยู่ภายในใจด้วยอำนาจรู้ของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ มโนภาพ (idea) นั้นเอง เช่น

ช้าง เมื่อปรากฎอยู่ในใจของเรา เราจะรู้ทันทีว่าเป็นอะไร อย่างไร... แต่ ช้าง ซึ่งปรากฎในใจ มิได้มีอยู่จริง หรือมิได้เป็นช้างตัวหนึ่งตัวใดโดยเฉพาะ เป็นเพียง แบบของช้าง เท่านั้น

สีแดง เราสามารถรู้ได้ทันทีด้วยใจ แต่สีแดงซึ่งปรากฏภายในใจ มิใช่ชนิดของสีบางอย่างที่สะท้อนมายังจักษุประสาทของเรา เป็นเพียง แบบของสีแดง ซึ่งเรารู้ได้ด้วยใจเท่านั้น

.....

คำศัพท์ทั่วๆ ไป เช่น cat แมว มชฺชารี ...ที่เขียนไว้ จัดเป็น นิมิตตามสัญนิยม เพราะเป็นข้อตกลงให้เรารู้ว่าหมายถึงสัตว์ชนิดใด...ส่วนมโนภาพของ แมว หรือ cat หรือ มชฺชารี ซึ่งปรากฎอยู่ภายในใจของเราซึ่งเราสามารถรับรู้ได้นั้น จัดเป็น นิมิตตามแบบ..

และ คำศัพท์ นี้เอง จัดเป็นนิมิตตามสัญนิยมและนิมิตตามแบบที่สมบูรณ์ที่สุดของมนุษย์ 

ตรรกศาสตร์เริ่มต้นจาก ความหมาย และ ความหมาย ก็เริ่มต้นที่นิมิตนี้เอง เพราะ นิมิตเป็นสิ่งที่บ่งบอกความหมายบางอย่างนอกจากตัวมันเอง...

เมื่อโยง นิมิต หนึ่ง ไปยังอีก นิมิต หนึ่ง...คือ โยง ความหมาย หนึ่ง ไปยังอีก ความหมาย หนึ่ง ...นี้คือ จุดเริ่มต้นของตรรกศาสตร์

 

คำสำคัญ (Tags): #นิมิต
หมายเลขบันทึก: 86453เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2007 01:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านเข้าใจง่าย

อนุโมทนานะครับ

กวี ธมฺมกวิอุบาสก

นิมิต ในภาษาไทย หมายถึง ฝัน,เครื่องหมายเพศหญิง/ชาย,จุดทำเครื่องหมายไว้เป็นนิมิต ในภาษาบาลี นิมิต เป็นสิ่งที่ถูกเพ่ง ไม่ว่าเพ่งพินิจภายในอัตภาพตนเอง หรือภายนอกอัตภาพตน เช่น เพ่งพินิจอสุภนิมิต ที่ร่างกายตนเองก่อน จนรู้เห็นสิ่งสกปรกโสโครก ไหลเข้าไหลออก จนติดตาเห็นได้ ทั้งหลับตาและลืมตา เป็นบริกรรมนิมิต - อสุภนิมิตที่ติดตาทั้งลืมตาและหลับตานั้น ติดลึกเข้าไปหลับหรือลืมตา อสุภนิมิตนั้นรู้เห็นได้แจ่มชัด จับติดอยู่ตลอดเวลา เป็นอุคคหนิมิต -ขั้นสูงขึ้น เพ่งพินิจอสุภนิมิตนั้น จนสามารถเปรียบเทียบได้กับร่างกายคนอื่นและสัตว์อื่น เป็นอสุภนิมิตที่เคลื่อนไหวได้ และขยายให้ใหญ่โต หรือ เล็กจิ๋วลงได้ เป็นปฏิภาคนิมิต ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นอสุภสัญญา เพื่อการก้าวสู่ สมถภาวนา-วิปัสสนาภาวนา ส่วนนิมิตในตักกศาสตร์ เป็นสามัญสมมติเรียก ที่โลกบัญญัติขึ้น และที่ปรากฎตามธรรมชาติ เพื่อจำไว้ในระดับเวทนาเห็นแล้ว เกิดทุกข์-เกิดสุข-หรือเกิดได้ทั้งทุกข์และสุขผสมกันเท่านั้น มิใช่ทางบรรลุถึงความเป็นญาตปริญญา - ตีรณปริญญา-ปหานปริญญา เป็นความรู้วนเวียนอยู่ในภพภูมิแห่งทุกข์สังสารวัฏ ผมก็ได้เล่าเรียน

ตักกวิทยา เสียเวลาไปนานเปล่า ๆ ครับท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท