ชีวิตจริงของอินเทอร์น : ดี เก่ง และมีความสุขอยู่ในตน


วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๕๐ เป็นวันเริ่มต้นงานสำคัญอีกงานหนึ่ง ในฐานะของวิทยากรกระบวนการที่ดิฉันมีโอกาสได้เข้าไปเกี่ยวข้อง

 ดี เก่ง และมีความสุขอยู่ในตน  เป็นชื่อของการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ทางสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จะจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๓ ๒๔ มีนาคม ศกนี้  ที่ ภูเขางามรีสอร์ท จ. นครนายก

  คณะผู้จัดงาน และผู้เข้าร่วมในการประชุมเชิงปฏิบัติการทุกท่านจึงได้นัดกันมาทำ BAR – Before Action Review กันก่อนเพื่อซักซ้อมความเข้าใจ และรับทราบความคาดหวังของสมาชิกทุกท่าน  เนื่องจากวันที่นัดกันนั้นตรงกับคล้ายวันสถาปนาสภาการศึกษาพอดี จึงมีการทำบุญเลี้ยงพระกันอย่างเอิกเกริก ถือเป็นการเริ่มต้นดิถีของการเปลี่ยนจาก เก่ง ดี มีความสุข มาเป็น ดี เก่ง และมีความสุข ด้วย ดิฉันขอทำหน้าที่เป็นคุณลิขิต เพื่อนำมวลประสบการณ์ของอาจารย์เลขา ปิยะอัจฉริยะ มาเล่าสู่กันฟัง

  อาจารย์เลขา ได้เริ่มต้นการทำ BAR ในครั้งนี้ด้วยการมาเร้าพลังที่ประชุมด้วยผลของการทำการจัดการความรู้กับกลุ่มครูในเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆที่ท่านได้ประจักษ์แก่ใจของท่านเอง พร้อมทั้งกล่าวว่าบุคลากรทางการศึกษา และผู้พัฒนามาตรฐานทางการศึกษาที่กำลังเปลี่ยนระบบของการจัดการศึกษา จำเป็นต้องมีทักษะในการสร้าง และใช้ความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนกระทั่งเกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ขึ้นในองค์กร  

การประชุมเชิงปฏิบัติการที่จะเกิดขึ้นนี้ จะเป็นการสร้างฐานคิดในเรื่อง ดี เก่ง และมีความสุขด้วยกระบวนการจัดการความรู้ และยังเป็นการเปิด ขุมทรัพย์ในตนออกมา เป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการมองเข้าไปข้างในตน แล้วดึงประสบการณ์ที่เป็นเคล็ดลับความสำเร็จ ที่เป็นวิธีการออกมาเรียนรู้ร่วมกัน อันเป็นสิ่งที่ไม่ได้จากตำราเล่มไหนๆ 

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่อาจารย์กล่าวไว้ก็คือ คนส่วนมากมักจะชินกับการระดมสมอง ที่เป็นการนำความคิดที่แต่ละคนมีออกมาถกเถียงกัน โดยเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วมองออกไปที่ปัญหานั้น ซึ่งเป็นการมองออกไปที่คนอื่น แต่เทคนิคของการระดมสมองนี้ก็ไม่สามารถเข้าไปนำเอาความรู้ฝังลึกที่มีอยู่ในคนออกมาได้

 ในขณะที่เทคนิคเรื่องเล่าเร้าพลังคือ การดึงเอาขุมทรัพย์ในตนออกมา ซึ่งผู้นำเสนอจะต้องมองกลับเข้าไปในตัวเอง เริ่มจากการมองว่าเรามีดีอะไร เราทำสิ่งนั้นทำไม และสิ่งนั้นประสบความสำเร็จได้อย่างไร เมื่อทำแล้วเกิดผลลัพธ์อย่างไร  

ขณะที่เล่าก็ได้ฝึกตัวเองให้พูดตรงประเด็น คนฟังก็ได้ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง  คนบันทึกก็ได้ฝึกตัวเองให้เก็บรายละเอียด ฝึกให้มีทักษะในการจับประเด็น  เมื่อนำประเด็นของทุกคนมารวมกันได้แล้วจึงค่อยหาทฤษฎีมารองรับ ที่สำคัญก็คือความรู้ทุกเรื่องที่ได้มานั้นมีฐานมาจากความคิดเชิงบวก อันก่อให้เกิดการต่อยอดประสบการณ์ในเชิงสร้างสรรค์ และพาให้ทุกคนเห็นคุณค่าในตน อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเคารพ ศรัทธาในกันและกัน เป็นการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมไปด้วย

 ด้วยเหตุนี้ผลที่ได้จากเรื่องเล่าเร้าพลังจึงมีความแตกต่างจากการระดมสมองที่มาจากความคิด ซึ่งเป็นการนำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ได้อิงอยู่กับประสบการณ์จากความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้นแล้ว  ดังนั้นจึงเป็นการคิดไปบนฐานของความคิด และจบลงด้วยการต่อสู้กันทางความคิดเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 79197เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2007 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ซินเจีย ยู่อี่ ซินนี้ ฮวดไช้ ค่ะ

บันทึกของครูใหม่เป็นเหมือนบทสรุปที่ทำให้เห็นภาพของการนำเอาเทคนิคต่างๆ ในการดึงเอาความรู้สั่งสมในตัวบุคคลออกมาใช้ได้ดีมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ เป็นประโยชน์มากค่ะ

ซินเจีย ยู่อี่ ซินนี้ ตั่วตั่วถั่ง ค่ะ อาจารย์แจน

ขอบคุณสำหรับคำพร และข้อคิดเห็นที่เป็นแรงใจให้คนเขียนค่ะ

ครูใหม่ลองอ่านที่คุณ conductor เขียนเกี่ยวกับเรื่องเทคนิคการประชุมหรือยังค่ะ http://gotoknow.org/blog/beingaboss/77885
อ่านจาก link ของอาจารย์แล้วค่ะ ขอบคุณที่ช่วยเชื่อมโยงความรู้เข้ามาหากันนะคะ
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษานำข้อมูลจากแหล่งใดไปใช้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการการประเมินผลการจัดการศึกษาครับ

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่ในตนออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันค่ะ

เขียนบันทึกได้ดี ช่วยผู้อ่านให้เห็นภาพและสรุปข้อมูลได้ดีจริงๆ ครับ สมคำชมที่ว่า คุณลิขิตมือหนึ่ง คงต้องติดตามอ่าน ไม่พลาดแน่ๆครับ

 

ขอบคุณค่ะ ..ทำไมนอนดึกจังล่ะคะ :)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท