กิจกรรม QA ภาควิชา คณะแพทย์ มอ.: KM & R2R (1)


วันนี้ เป็นวันที่มีความสุขอีกหนึ่งวันเพราะได้ฟังเรื่องราวดีๆ ของเพื่อนร่วมคณะฯ  ผ่านกิจกรรมประกันคุณภาพภาควิชา (เรียกกันติดปากว่า QA ภาควิชา) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้ภาควิชานำเสนอผลงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในหัวข้อต่างๆ ปีละ 4 ครั้ง  เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการมา กว่า 10 ปีแล้ว  เป็นกิจกรรมหนึ่งที่คณะฯภาคภูมิใจว่าคณะแพทย์ มอ. มีวัฒนธรรมการเรียนรู้มาอย่างยาวนานก่อนที่ KM จะบูมเสียอีก  ครั้งนี้เป็นเรื่อง KM และ R2R   ทุกครั้งที่มีกิจกรรมนี้ ก็จะได้รับรู้ว่าแต่ละภาคมีกิจกรรมดีๆ กันบ้าง  และครั้งนี้ ก็ไม่ผิดหวัง มีเรื่องที่ให้ได้เรียนรู้และประทับใจจากหลายภาค

เรื่องแรกที่อยากเล่า เป็นการพัฒนากิจกรรม journal club ของแพทย์ประจำบ้าน โดยอาจารย์ พญ.ภาสุรี แสงศุภวานิช จากภาควิชากุมารฯ น่าสนใจมากค่ะ  (สำหรับผู้อยู่นอกวงการ journal club คือการอ่านผลงานวิชาการ/วิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร มาเล่าให้ที่ประชุมฟัง)

อาจารย์เล่าว่า แต่ก่อนนั้น ทั้งอาจารย์ และ แพทย์ประจำบ้าน (ถือเป็นนักเรียนหลังปริญญา) ให้ความสนใจกิจกรรมนี้น้อยมาก  หลังจากอาจารย์กลับมาจากการเรียน PhD ระบาดวิทยา  อาจารย์ก็มองว่า จะทำอย่างไรให้กิจกรรมนี้ มีความน่าสนใจ   จุดหนึ่งที่วิเคราะห์ว่าคนสนใจน้อย เพราะว่า เรื่องและวิธีการนำเสนอไม่น่าสนใจ  น่าเบื่อ   จึงได้ปรับกระบวนการโดยเน้นที่การเตรียมตัวมากขึ้น กำหนดให้มีการเตรียมตัว 4 สัปดาห์ก่อนนำเสนอ journal club โดย

  • สัปดาห์ที่ 1 : Searching เป็นเวลาของการค้นหาเรื่องที่จะมาอ่าน
  • สัปดาห์ที่ 2: Discussion with staff  นำเรื่องที่เลือกมาหารือกับอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อเลือกเรื่องให้น่าสนใจ เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่
  • สัปดาห์ที่ 3 Preparation เตรียมนำเสนอด้วย power point เมื่อเตรียมแล้ว ก็ให้มาปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษา
  • สัปดาห์ที่ 4 Critical appraisal เป็นการประเมินค่าหรือคุณภาพของผลงานวิจัยที่เลือกมาอ่าน 

ซึ่งขั้นตอนในสัปดาห์ที่ 2, 3, 4 นั้น ถือเป็นเรียนรู้ tacit knowledge จากอาจารย์โดยตรงก็ว่าได้

หลังจากทำไปได้ 3-4 เดือน   ก็พบว่า มีคนสนใจกิจกรรมนี้มากขึ้นมาก อาจารย์ภาสุรีบอกว่า ตอนแรกก็เหนื่อย เพราะต้องดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด  แต่ตอนนี้ เหนื่อยน้อยลงมาก ได้เกินคาด  รุ่นพี่ที่เข้าใจและมีทักษะแล้ว ก็ช่วยแนะนำรุ่นน้อง  อาจารย์ก็เลยเหนื่อยน้อยลง

อีกกิจกรรมหนึ่งที่อาจารย์มีส่วนในการส่งเสริม คือ การสร้างบรรยากาศวิจัยในภาควิชา ทั้งการจัด research club ของอาจารย์  จัด research day ของแพทย์ประจำบ้าน  การจัดให้มีการนำเสนอโครงร่างวิจัยเป็นระยะ  การจัด board ติดผลงานตีพิมพ์ในภาพวิชา   ที่น่าสนใจคือ การเทียบเคียงกิจกรรมเหล่านี้ กับ SECI model ดังนี้ค่ะ

การนำเสนอของอ.ภาสุรี ทำให้ได้เห็นอีกตัวอย่างของ KM ที่เนียนไปในเนื้องาน  และที่น่าสนใจสำหรับตัวเองอย่างมาก คือการนำ KM มาใช้ในการเรียนการสอนหลังปริญญา และ การส่งเสริมวิจัยของสายอาจารย์  ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ ในความเห็นส่วนตัวเป็นเรื่องยาก แต่ อ.ภาสุรี และ คณาจารย์ภาควิชากุมารก็ทำได้อย่างดี

 

หมายเลขบันทึก: 52666เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2006 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท