ภาคีจัดการความรู้ภาคราชการ plus กรมอนามัย Open House (13) Outcome mapping - 1


... ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า การทำงานของเขาต้องมีเพื่อนร่วมทาง ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า เขาเองก็มีคุณค่า และคนอื่นก็มีคุณค่านะคะ

 

อ.ชะนวนทอง และคณะ ซึ่งก็จะมี ดร.มุกดา คุณวิมล และคุณฉัตรลดา นะคะ ที่ได้เข้าร่วมกันนำเครื่องมือ Outcome mapping ลงไปใช้ในพื้นที่ และนำมาเล่าสู่กันฟังในเวทีนี้ละค่ะ

อ.อ้อ เกริ่นนำไว้ว่า

  • เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ อ้อเคยนำเรื่องมาในที่ประชุมเมื่อครั้งสองครั้งที่แล้ว เมื่อเราได้พูดถึงเครื่องมือที่เรียกว่า Outcome mapping หรือที่เราเรียกภาษาไทยว่า แผนที่ผลลัพธ์ อย่าเพิ่งตกใจว่า สคส. จะเล่นเครื่องมือใหม่อีกแล้ว KM มา 3 ปีแล้วยังจะเอาอีก
  • เครื่องมือตัวนี้ อ.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ จากมหาวิทยาลัยมหิดลเอาลงไปทำแล้ว มันส่งผลดียังไง อาจารย์จะเล่าเรื่องเบื้องต้นว่า เครื่องมือนี้มีความเป็นมาอย่างไร มันมีทฤษฎีของต่างประเทศ ที่ใช้กับโครงการของอาจารย์ เขาก็บอกขั้นตอนมาดี แต่พอเราจะเอามาใช้กับคนในชุมชน หรือในกระบวนการของเรา ใช้แล้วทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้นไหม และเราจะเอาตัวนี้มาใช้กับการวัดผลของ KM ได้ไหม หรือในนี้ มี KM อยู่มั๊ย มีการวัดผลอยู่ไหม ลองดูกัน และร่วมแลกเปลี่ยนกันนะคะ

อ.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ มาเล่าให้ฟังค่ะ ว่า

  • โจทย์ที่ได้คือ ตัวเองได้เคยนำไปใช้ แต่ไม่ได้ใช้คนเดียว เพราะว่ามีกัลยาณมิตรอยู่ในที่นี้ด้วย คือ ดร.มุกดา คุณวิมล และคุณฉัตรลดา ไปสุมหัวกันทำตอนนั้น โดยที่ไปคิดถึงว่า เราไปช่วยกระทรวงยุติธรรม
  • คือ เมื่อปี 46 หรือ 47 ก็คนล้นคุก ปัญหาของกระทรวงยุติธรรมหนักมากเลย ถามว่า เรามีวิธีการอื่นใดไหม ที่จะทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคนทำผิดในตอนนั้น ทีมงานของเราก็กล้าหาญมาก คุ้นเคยกับระบบสาธารณสุข ก็บอกว่า ไม่เป็นไร ที่ไหนมีคน ที่ไหนมีสังคม ก็น่าจะทำงานได้
  • เราก็ลงไป พอลงไปแล้วก็เริ่มรู้ว่า นักกฎหมายนี่เขาจะคุ้นเคยคล้ายๆ นักบัญชี อะไรที่เป็นตัวหนังสือ จะอ่านรู้เรื่องมาก แต่ถ้าอะไรที่มันมีการเปลี่ยนแปลง เขาก็จะบอกว่า อาจารย์ชัดๆ หน่อยสิ ทำอะไรชัดๆ อย่าให้พวกเราคิดเองมากนักนะคะ
  • เพราะฉะนั้น โครงการของเราก็เดินหน้าไป โดยการที่ปรับกระบวนทัศน์ของเขา ให้เขาได้เรียนรู้ว่า ชุมชนของเขาเป็นอย่างไร ตัวเขาเป็นอย่างไร จะช่วยกันอย่างไร
  • เพราะฉะนั้น ในตัวโครงสร้างของโครงการเดิมนี่ เราจะใช้หลักการ การมีส่วนร่วม การเรียนรู้ จากพื้นที่ และเอามาให้เขารู้สึกว่า เขาเปลี่ยนได้นะ จากคนที่เดินตามกฎระเบียบ ให้ไปอยู่ในกรอบของสังคม
  • พอทำๆ ไป ก็เริ่มที่จะมองเห็นว่า อาจารย์ เพื่อนร่วมทางอาจารย์เยอะจังเลย ทำยังไงให้พวกเราได้หน้าบางสิ คือ พอลงไปทำแล้วนี่ กลายเป็นคนอื่นได้หน้า รำพึงรำพันมากเลย ผู้ว่าก็ไม่ได้รู้เรื่องกับเรา ไปตรงนั้นกระทรวงสาธารณสุขก็เอาคนของเราไปอีกแล้ว
  • เราก็เริ่มมาคิดว่า ถ้ายังงั้นแปลว่า กระบวนการทำงานที่รัฐบาลอยากได้ ให้มีความสมานฉันท์ มันคงจะไม่เกิดแน่เลย ถ้าเผื่อเราไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะแยกแยะ
  • ... ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า การทำงานของเขาต้องมีเพื่อนร่วมทาง ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า เขาเองก็มีคุณค่า และคนอื่นก็มีคุณค่านะคะ
  • ... ทำให้เขาหาวิธีการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีจุดยืนหรือข้อมูลอะไร
  • และถามว่า ให้ทำตัวเป็นนักยุทธศาสตร์ในระดับปฏิบัติได้ด้วย ดังนั้น ตัวโครงการที่เราออกแบบมาตั้งแต่ต้น เราได้มีจุดเริ่มต้นมาเลยว่า ทำอะไรต้องมีกรอบ กรอบนั้นมาจากพื้นที่ พื้นที่นั้นต้องมีข้อมูล ข้อมูลนั้นต้องนำมาใช้ในการทำยุทธศาสตร์ และการทำยุทธศาสตร์เหล่านั้น ก็ต้องมีการนำภาคีอื่นๆ เข้ามาด้วย
  • ตอนนั้นก็เลยคุยกันในทีม ดร.มุกดาก็เสนอเรื่อง Outcome mapping ดิฉันก็ไปค้นดูว่า Outcome mapping นี้จริงๆ แล้ว มันจะช่วยได้จริงมั๊ย และเราก็กล้าหาญอยากที่จะเรียนรู้
  • ต้องเรียนไว้ก่อนนะคะว่า หลังจากที่ทำโครงการนี้แล้ว พรพ. ก็มาขอให้ทดลอง ความจริงแล้ว ด้วยกัลยาณมิตรที่ รพ.ขอนแก่น ก็มาเล่าให้ฟัง เขาก็ตื่นเต้นว่า Safety commununity นี่ น่าจะสร้างได้จากมิติของกระทรวงสาธารณสุข Outcome mapping ก็ไปเกิดตรงนั้นอีกที่หนึ่ง
  • แต่การเกิดของ 2 พื้นที่นี้จะไม่เหมือนกัน ... เหตุที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากว่า กระทรวงสาธารณสุขจะคุ้นชิ้นกับการที่ทำครึ่งเดียว และที่เหลือบอกว่า ใช่แล้ว ... การถอดบทเรียนจะต่าง ก็พูดไว้ กระซิบไว้บอกว่า ดูให้มันครบนิดหนึ่ง และเราอาจจะได้มิติอื่น
  • ตัวเองก็เลยมองว่า การทำโครงการนี้ นอกจากจะมีระบบที่วางไว้แล้ว การจะเริ่มเอา Outcome mapping อยู่ๆ คงเอามาใช้ไม่ได้ คงต้องสร้างพลังอำนาจให้ทุกคนที่ร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร หรือผู้ที่อยู่ในระดับปฏิบัติให้เขารู้สึกภูมิใจว่า เขาเปลี่ยนจากคนที่เดินตามกฎระเบียบมาเป็นคนที่มี Dynamic ปรับตัวได้ง่ายขึ้น
  • ดังนั้นหนังสือเล่มแรกที่ทาง สคส. ออกมา โมเดลปลาทู เราเอามาใช้ด้วยความสนุกสนาน ประสบความสำเร็จมาก เพราะว่าทุกคนในทีมเขา ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า และลูกน้อง ก็ในหลายพื้นที่ ปลื้ม มองเห็น บอกว่า เราเก่งตรงนี้ งั้นเหรอ อ้าวคนนั้นมันเก่งอย่างนี้ ก็มีบรรยากาศของการเป็นกัลยาณมิตร รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนในแผ่นดินในการปฏิบัติงาน รู้คุณค่าของตัวเอง
  • ก็ทำให้เรานำมา Outcome mapping มาเสนอเป็นทางเลือกว่า เห็นมั๊ยขนาดตัวเองยังจำเป็นที่จะต้อง รู้เขารู้เรา เพราะว่างานในชุมชนต้องมีเพื่อนเยอะ เราก็ต้องรู้เขารู้เราเพิ่มขึ้นดีมั๊ย
  • พอเราเริ่ม เอาครั้งที่ 2 เราเอา concept Outcome mapping มาใช้ เป็นกรอบในการวัดว่า ในงานนี้น่าจะเกิดอะไรขึ้น
  • อันนี้คือ concept ดั้งเดิม เราเอามาใส่บอกว่า งานจะสำเร็จได้ คนทุกคนจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วแต่ละคนมีความแตกต่าง เพราะฉะนั้น การจะไปดึงว่า ใครมีความสำเร็จอะไร น่าจะต้องมีการวางแผนเพื่อจะค้นหาดู หรือช่วยกันดึงกันออกมา เพราะต้องทำงานร่วมกัน ... โครงการต่างๆ นั้น จะไปวัดเฉพาะวัตถุประสงค์ไม่ได้ จำเป็นต้องมาดูว่า เราทำได้ระดับไหน เพื่อนบางคนเก่ง เพื่อนบางคนไม่เก่ง
  • เพราะฉะนั้นการทำงานของเขา ต่อไปเขาก็ต้องเป็นเพื่อนเรา เพราะเขามีหน้าที่พันธกิจ อย่างเรา ถ้าเรารู้ว่าจะไปช่วยหน่วยงานนี้ เราไปทำงานกับหน่วยงานนี้ เขายังไม่เก่ง เราจะคาดหวังได้แค่ไหน เราจะต้องพัฒนาอะไร
  • ถ้าหน่วยงานนี้เขาเก่งกว่าเรา เช่น ใครจะไปทำกับกรมสรรพากร ตอนนี้ก็ต้องรู้แล้วว่า เทคโนโลยีเขาแน่กว่าเราแน่นอน เราก็ไปหวังพึ่งเขาได้ถึงระดับไหน เหมือนกันรู้เขารู้เรา เป็นกลยุทธ์อันนั้น เพราะฉะนั้นการตั้งเป้าหมายของโครงการ และการไปประเมินว่า อะไรเกิดขึ้นใน Process ของการทำงานจะชัดเจนขึ้น
  • เราก็พูดไปเลย มีภาคีหุ้นส่วน ทุกคนเป็นภาคีหมด ตามกฎ Ottawa บอกเลยว่าต้องเป็น partnership กันนะ Community empowerment แต่ทางเราทำงานก็มองว่า ชุมชนนี้เป็น target ของชั้นนะ ไม่ใช่ภาคี เห็นมั๊ย มันเกิดความเหลื่อมล้ำ
  • ก็มองว่า Outcome mapping นี่รับรองใช้ได้ มันเปลี่ยนวิธีคิดของเราเอง ให้มองว่าทุกคนคือ ภาคี ภาคีเหล่านั้นเขามีบทบาท เขามีต้นทุนที่จะเอามาช่วยในการทำงานของเรา เราก็เริ่มพูดไปนะคะ ปรากฎว่า พูดตามนั้นแล้วเนี่ยะค่ะ ไม่รู้เรื่อง ...
  • ดร.มุกดาบอก ... อาจารย์ เราเอายังไงกันดี
  • เราก็เลยต้องมาเริ่มที่จะทวนตัวเองใหม่ ว่า งงตรงไหน เราก็มีระบบการประเมิน และออกแบบมา โอ้โห นี่ จะไม่งงได้ยังไง อะไรก็ไม่รู้
  • ก็เอาของเขามา break down ใหม่ และก็เอามาเปลี่ยนใหม่ ไม่รู้เรื่องปั๊บ เราก็เริ่มจับทิศได้ว่า ถ้าเราครอบเขาตั้งแต่ต้นในการอบรม แบบนี้ท่าจะแย่ ทำยังไงให้เริ่มจากเอาว่า เขางงอะไร เขาอยากรู้อะไร เขาทำงานมีปัญหาอะไร เราก็มา design ใหม่ว่า ไอ้ OM นี่ ถ้ามันเป็นสิ่งที่หาคำตอบว่า เราอยู่ตรงไหน จะไปทางไหน และเพื่อนร่วมทางเรามีใครบ้าง ... พูดอย่างนี้เริ่มรู้เรื่องค่ะ
  • เริ่มมองว่า เออ ไม่หนักมากนัก แล้วถ้าทำ OM ได้ ทำงานต่อกันไปได้ เราจะมีแต่เพื่อน ไม่มีคนที่ทะเลาะ และแย่งผลงานกับเรา ผู้ว่าจะรักเราทุกคน เออ พูดอย่างนี้มันรู้เรื่องขึ้น
  • ก็เลยไปพยายามปรับ concept แล้วก็เปลี่ยนใหม่ว่า กระบวนการขายของ OM นี่นะ มันเป็นแค่วิธีคิดที่เป็นระบบ วิธีคิดที่เป็นระบบอันนี้นี่มันเหมาะที่จะใช้กับสถานการณ์ที่สลับซับซ้อน ถ้ามีกันอยู่ 5 คนนี่ Workflow ไม่มีอะไรก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมันนะ แต่ถ้าเกิดต้องมีคนร่วมงานเยอะนี่ เพื่อที่จะให้เกียรติเพื่อนเราว่า เขาช่วยอะไรเรา โมเดลอันนี้ก็จะช่วยสร้างสมานฉันท์ให้เราเยอะขึ้น แต่เวลาจะเอาไปใช้ คุณต้องรู้ก่อนว่า จะเอาไปทำอะไร และคุณต้องทำยังไงให้ร่างเงาของเป้าหมายของคุณนี้ เป็นเป้าหมายของคนอื่นด้วย
  • คุณจะใช้ทักษะของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ในการ Robby ในการ Advocate แต่ละระดับอย่างไร จึงจะทำให้แผนของเราไปเป็นแผนของเขา เมื่อก่อนเราทำงานแบบเราเปลี่ยนเขาให้เป็นเรา แต่ชาตินี้ เราต้องเปลี่ยนเราให้เป็นเขา มันจึงจะยั่งยืน ไม่งั้นเราจะรวมศูนย์ฯ คงเหนื่อยมากเลย งั้นเปลี่ยนเราให้เป็นเขา คือ เราต้องรู้ว่า เราจะเอาอะไร และเขาจะเอาอะไร เราจะเดินอย่างไรให้เขาเป็นเรา และต้องรู้ว่า เขาเก่งอะไรด้วย
  • เพราะฉะนั้น OM จะมีเครื่องมือ เครื่องมือเป็นการช่วยจัดระบบ เราก็เอาลงไปลองใช้ว่า ชุดเครื่องมือต่างๆ มีอะไรบ้าง ก็มีตัวอย่างมา 1 แฟ้ม ที่เราพยายามลอกเขามาอย่างมีเทคนิคนะคะ ว่า ปรับให้มันได้เหมือนของเรา
  • และให้ทีมงานเขาลองใช้ ที่สำคัญก็คือ การเชื่อมตัวนี้ โดยคำถาม และการทำให้คนได้ทบทวนตนเอง ว่า สำนักงานตัวเองทำไปเพื่ออะไร และต้องการให้เกิดอะไรขึ้น และจะช่วยท่านได้อย่างไร แล้วก็เชื่อมไปสู่การเดินที่ชัดเจนร่วมกัน ว่า คนในสำนักงานจะมีข้อมูลมาใช้นะ เพื่อที่จะใช้กับภาคี ไม่งั้นจะพูดกันไม่รู้เรื่อง ถ้าพูดตามความคาดหวัง ดังนั้น ถ้าเผื่อมีข้อมูลที่เป็นระบบปั๊บ แผนของเราก็จะเป็นอย่างนี้ พอดูข้อมูลแล้ว เขามีแผนอะไรไหม ในเมื่อแผนของเรา กับแผนของเขา เอามาเทียบกันดูซิ เข้าร่วมกันแล้วจะเป็นอย่างไร แล้วแต่ละคนจะอยู่กันอย่างไร
  • อันนี้ก็แผนที่ที่เราทำกันขึ้นมาในการทำงาน และอย่างที่เรียนไปแล้วว่า เริ่มต้นด้วยปลาทู คนก็จะภูมิใจ เอามาใส่แผนร่วมกัน และแผนของชั้นของเธอเป้าหมายเดียวกัน ก็ทำให้เกิดการอยากที่จะลองทำ
  • และให้เขาไปเริ่มต้นระบุว่า ภาคีของคุณมีใครบ้าง และใช้เทคนิค AAR ทำอะไรไปแล้ว ได้ดี ไม่ได้ดี เป็นเพราะอะไร พูดกันไปเรื่อยๆ และให้เขาเริ่มทบทวน เพราะฉะนั้นพอทุกคนเริ่มชัดเจน เขาก็เริ่มเขียนว่า อาจารย์ถ้าอย่างนั้นการทำงานอะไรก็ตามที่เราจะต้องยุ่งเกี่ยวกับภาคีหลายภาคส่วน เราจะต้องชัดเจนว่า เราจะมีการพัฒนาอะไร เราจะต้องชัดเจนว่า ข้อมูลอะไรที่เราสนใจ และก็จำเป็นต้องใช้ เพื่อใช้ในการอยู่กับภาคี แล้วข้อมูลอะไรที่ภาคีอยากได้ หรือข้อมูลอะไรที่จะเกิดประโยชน์ในการเดินไปด้วยกัน
  • ดังนั้น คืออะไร คือ เราปรับระบบการทำงาน ก็เอาไปใช้ และเอาใหม่ ขอเวทีใหม่ เวทีที่ท่านลือก เราก็บอกว่า การที่จะเอาแผนที่ผลลัพธ์ไปใช้นี่ น่าจะมีการเรียนรู้ในเรื่องแนวคิดที่เป็นประสบการณ์ของเขา น่าจะมีคุณเอื้อ คุณลิขิตให้ครบ ทีมงานเราก็มีอยู่ 4 ชีวิต นี่ละ ก็ไม่เป็นไร ก็ผลัดกันทำนะคะ แล้วก็มาทดลองเป็นกระบวนการ เราก็พยายามถ่ายโยงว่า สถานการณ์หรือเป้าหมายคืออะไร
  • ถ้าเราพบว่า ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ใช้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่มาจากหลายหน่วย ก็จะสับสนว่า แล้วเราอยู่โครงการอะไร แล้วโครงการที่เราทำนี้เป้าหมายเดียวกันก็จริง แต่ว่ามันมีวัตถุประสงค์ กลไกที่แตกต่างกัน เราก็บอกว่า ไม่เป็นไร ถอดบทเรียนกันมาว่า โครงการของคุณมีอะไรบ้าง แล้วเริ่มตีความใหม่

เป็นตอนที่ 1 ของ Outcome mapping ค่ะ ยังมีต่ออีกเล็กน้อยนะคะ

รวมเรื่อง ภาคีจัดการความรู้ภาคราชการ plus กรมอนามัย Open House  

 

หมายเลขบันทึก: 126363เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2007 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท