ความคาดหวัง (BAR) ต่อ Blog Gotoknow (สืบเนื่องจากงานฉลอง 1 ปี Blog Gotoknow)


ถ้าทุกคนมาร่วมแรง ร่วมใจกัน สังคมไทยของเราคงจะก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ได้ในไม่ช้านี้ และที่สำคัญ คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะต้องเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ไม่จำกัดหรือกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

             วันนี้ผู้วิจัยได้ไปร่วมงานฉลองครบรอบ 1 ปี Blog Gotoknow ซึ่งทาง สคส. จัดขึ้น  ณ ห้องดุสิต  โรงแรมหลุยส์  แทเวินร์น ถนนวิภาวดีรังสิต  กรุงเทพฯ   ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอวิจารณ์  พานิช , ท่านอาจารย์ประพนธ์         ผาสุกยืด     รวมทั้งทีมงานของ สคส. ทุกท่านที่ให้เกียรติและให้โอกาสผู้วิจัยในครั้งนี้ด้วยนะคะ  อ้อ! บุคคลที่ลืมขอบคุณไม่ได้อีกกลุ่มหนึ่ง  คือ  ท่านอาจารย์จันทวรรณ   และ  ท่านอาจารย์ธวัชชัย  ผู้ซึ่งทุ่มเทเวลา  แรงกาย  แรงใจในการพัฒนาระบบ  ตลอดจน Blogger ทุกท่าน  ที่ทำให้รู้สึกว่าในโลกไซเบอร์แห่งนี้ยังมีมิตรภาพและความจริงใจให้กันเสมอค่ะ

 

            สำหรับบรรยากาศของงานในวันนี้จะเป็นอย่างไร  ผู้วิจัยเชื่อว่าผู้ที่มีโอกาสเข้าร่วมงานคงจะนำมาเล่าสู่กันฟัง  รวมทั้งนำภาพสวยๆมาให้ชมกันใน Blog นะคะ  (อดใจรอสักนิดค่ะ)   ดังนั้น  ผู้วิจัยจึงจะขออนุญาตไม่กล่าวถึงในส่วนนี้นะคะ

 

            สิ่งที่ผู้วิจัย  รวมทั้งผู้เข้าร่วมงานนี้ได้เป็นการบ้านก่อนที่จะปิดงานก็คือ  เรายังไม่ได้ทำ BAR กันเลย  เนื่องจากเวลาล่วงเลยมามาก  เกรงว่าถ้าทำ BAR อาจมีผู้เข้าร่วมงานหลายท่านตกเครื่องบินได้ค่ะ  คุณธวัช  ซึ่งเป็น Moderator ของงานในวันนี้ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าคงจะใช้  Blog เป็นช่องทางในการสื่อสาร BAR

 

            ความจริงตอนที่ผู้วิจัยได้รับหนังสือเชิญและได้อ่านกำหนดการ  ก็ตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า BAR คืออะไร?  ขอสารภาพตามตรงเลยค่ะว่าไม่รู้ว่าคืออะไร  รู้จักแต่ AAR ค่ะ  แต่จากความเข้าใจของผู้วิจัยเองคิดว่า BAR คงจะคล้ายๆ AAR แต่ทำก่อนเท่านั้น  ดังนั้น BAR ในครั้งนี้คงจะหมายถึงความคาดหวังของเราที่มีต่อ Blog Gotoknow ที่จะพัฒนาต่อไป (ใช่ไหมค่ะ?  ถ้าไม่ใช่ก็รบกวนบอกมาหน่อยนะคะ  แล้วจะทำ BAR ให้ใหม่ค่ะ)  ก่อนที่ผู้วิจัยจะไปร่วมงานก็ได้ทำการบ้านในส่วนนี้เหมือนกัน  ดังนั้น  ก่อนที่จะลืมไปเสียก่อนจึงขอเล่าให้ฟังเลยก็แล้วกันนะคะ

 

            ผู้วิจัยขอแบ่งความคาดหวังที่มีต่อ Blog Gotoknow  ออกเป็น 2 ส่วนนะคะ (ความจริงอ่านไปอ่านมาก็เห็นว่าทั้ง 2 ส่วนมีความเกี่ยวข้องโยงใยกัน  แต่เมื่อแยกเขียนไปแล้วก็เลยตามเลยก็แล้วกันนะคะ)  มีใจความโดยสรุปดังนี้

             ด้านเทคโนโลยี

            จากการใช้ Blog ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา  ผู้วิจัยยอมรับว่าไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์จากลูกเล่นต่างๆที่มีให้ค่ะ  สาเหตุที่ไม่ค่อยได้ใช้ก็เพราะว่า  ใช้ไม่เป็นค่ะ  ขนาดพยายามศึกษาจากคู่มือที่ทาง Gotoknow ทำขึ้นให้กับผู้ใช้แล้ว  แต่ก็ยังใช้ไม่เป็นอยู่นั่นแหล่ะค่ะ  ขอให้เพียงแค่พิมพ์และส่งบันทึกเข้าระบบได้ก็ถือว่าบุญมากแล้วค่ะ  เมื่อเป็นอย่างนี้ทำให้ผู้วิจัยฉุกคิดขึ้นมาว่าขนาดเราซึ่งพอจะมีความรู้อยู่บ้างยังใช้ไม่ค่อยจะเป็นเลย   แล้วชาวบ้านล่ะ  เขาจะใช้กันได้ไหม  ทุกวันนี้ผู้วิจัยก็ต้องรับหน้าที่ในการนำบันทึกต่างๆของชาวบ้านในชุมชนมาพิมพ์ลง Blog  ซึ่งยอมรับค่ะว่าพิมพ์ทันบ้าง  ไม่ทันบ้าง  เพราะ  ผู้วิจัยก็มีงานยุ่งเหมือนกัน  แต่ก็ทำด้วยความเต็มใจนะคะ  ประเด็น  คือ  แล้วถ้าไม่มีผู้วิจัย  ใครจะเอาบันทึกต่างๆของชาวบ้านมาลงใน Blog? การที่ชาวบ้านไม่มีโอกาสเขียนบันทึกลงใน Blog ด้วยตนเอง  ส่วนหนี่งต้องยอมรับว่าในหลายๆพื้นที่ เทคโนโลยี  ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกยังเข้าไม่ถึง  บางพื้นที่ก็อาจเข้าถึงแต่กระจายไม่ทั่วถึง  เช่น  คอมพิวเตอร์  อินเตอร์เน็ต  เป็นต้น  แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับความจริงว่าเป็นเพราะชาวบ้านใช้เทคโนโลยีของ Blog Gotoknow  ไม่เป็นหรือไม่ชำนาญ  ทำให้เกิดความผิดพลาดตามมา  ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง  คือ  ที่องค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชย  ต.ล้อมแรด  อ.เถิน  จ.ลำปาง  ผู้วิจัยได้เลยไปสอนวิธีการเขียนบันทึกด้วยตนเองให้กับคณะกรรมการแล้ว  แถมยังให้คณะกรรมการลองพิมพ์บันทึกด้วยตนเองด้วย  พอเริ่มทำเป็น  คณะกรรมการบอกกับผู้วิจัยว่าต่อไปจะพิมพ์เองเลย  ไม่ต้องรบกวนผู้วิจัยแล้ว  ต่อมา  ผู้วิจัยได้รับโทรศัพท์จากคณะกรรมการคนหนึ่งของกลุ่มว่าได้พิมพ์บันทึกลงไปเพิ่มเติมแล้วหลายบันทึก  ขอให้ผู้วิจัยไปเปิดอ่าน  ด้วยความตื่นเต้น  ผู้วิจัยรีบเข้าไปเปิดอ่านเลย  แต่เมื่อเข้าไปแล้วกลับไม่พบบันทึกใหม่แต่อย่างใด  ตอนนั้นผู้วิจัยรู้สึกแปลกใจมาก  เมื่อมีโอกาสเดินทางไปที่กลุ่มอีก  ผู้วิจัยก็เลยให้คณะกรรมการลองทำให้ดูว่าเขาทำกันอย่างไร  ผู้วิจัยเลยถึงบางอ้อ  การที่บันทึกไม่เข้าไปในระบบก็เพราะ  คณะกรรมการไปคลิ๊กที่ปุ่มบทความ  ทั้งที่ในความเป็นจริงต้องคล๊กที่ปุ่มตีพิมพ์ทันที  เมื่อคลิ๊กผิดบันทึกก็เลยไม่ได้เข้าไปในระบบ  วันนั้นคณะกรรมการก็ดูเสียใจและเสียดายพอสมควร

             ด้วยความที่ผู้วิจัยรู้สึกเสียดายความรู้เหล่านั้นมากๆๆๆๆ  ชาวบ้านมีความรู้  มีภูมิปัญญามากมาย  เราจะทำอย่างไรให้ความรู้เหล่านั้นได้ถูกบันทึกไว้  รวมทั้งได้รับการถ่ายทอด  เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ต่อยอดองค์ความรู้   ป้องกันไม่ให้ความรู้สูญหายไป   ดังนั้น  ผู้วิจัยจึงคาดหวังว่าเทคโนโลยีของ Blog Gotoknow  ซึ่งจะต้องพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง  จะเป็นเทคโนโลยีที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย  ใช้งานง่าย  ขนาด Version เก่าซึ่งใช้งานง่ายแล้ว  ชาวบ้านยังทำผิดเลยค่ะ  ดังนั้น Version ใหม่  ผู้วิจัยจึงยังไม่กล้าเอาไปสอน  เพราะ  รู้สึกว่ายากกว่าของเก่า  และตัวผู้วิจัยเองยังใช้ไม่ค่อยเป็นเลยค่ะ  จะเป็นไปได้ไหมคะที่ Gotoknow  อาจออกแบบมาหลาย Version  มีทั้ง Version  ที่ซับซ้อน  และที่ใช้ง่ายๆ  แต่ข้อมูล  ความรู้ต่างๆสามารถ Link กันได้  เพื่อที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนในสังคมเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น  (ผู้วิจัยคิดไม่ออกว่าจะทำด้วยวิธีการไหน  ก็เลยลองเสนอดูค่ะ  อาจไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง  แต่ตอนนี้ก็คิดไม่ออกเหมือนกันค่ะว่าจะทำอย่างไร)                        

            ด้านเครื่องมือในการจัดการความรู้

            ข้อนี้ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับ Blog หรือเปล่า  แต่เป็นสิ่งที่ผู้วิจัยอยากสะท้อนความคิดเห็นออกมาค่ะ  ผู้วิจัยเห็นว่าเครื่องมือในการจัดการความรู้มีมากมาย  การเขียนบันทึกก็เป็นอีกเครื่องมือหนี่ง  แต่ถ้าเขียนเอาไว้อ่านส่วนตัวคงจะไม่ใช่การจัดการความรู้ที่สมบูรณ์  เพราะ  ไม่เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ดังนั้น  ผู้วิจัยจึงคาดหวังว่าอยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หันมาให้ความใส่ใจกับการ (เขียน) บันทึกให้มากกว่านี้  ประเด็น  คือ  จะทำให้เกิดการเขียนบันทึกได้อย่างไร  และจะนำบันทึกเหล่านั้นมาเผยแพร่ในวงกว้างได้อย่างไรในเวลาที่รวดเร็ว  ทันเหตุการณ์  มีอยู่หลายกรณีที่ชาวบ้านบันทึกแล้วบันทึกนั้นได้ถูกนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ  ผู้วิจัยเห็นว่าก็เป็นช่องทางหนึ่งในการที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  แต่จะมีชาวบ้านสักกี่คน  กี่ชุมชน  ที่จะก้าวมาถึงจุดนี้ได้  จะมีช่องทางไหนที่จะทำให้ความรู้ในตัวชาวบ้านได้ถูกนำมาเผยแพร่อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอฟ้ารอฝน  รอคนมาค้นพบ  และหยิบยื่นโอกาสให้

             ก่อนที่ผู้วิจัยจะไปศึกษาต่อ  สิ่งนี้เป็นความหวังหนึ่งที่ผู้วิจัยอยากเห็น  ลำพังตัวผู้วิจัยคนเดียวก็คงทำอะไรไม่ได้มาก (หรืออาจทำไม่ได้เลยก็ได้) แต่ถ้าทุกคนมาร่วมแรง  ร่วมใจกัน  ผู้วิจัยคิดว่าสังคมไทยของเราคงจะก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ได้ในไม่ช้านี้  และที่สำคัญ  คือ  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะต้องเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า  ไม่จำกัดหรือกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น 
คำสำคัญ (Tags): #blog
หมายเลขบันทึก: 34284เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2006 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Before Action Review (BAR)

เครื่องมือนี้  เกิดการประยุกต์โดยทีมงาน  ม.เนรศวร  นำโดย  อาจารย์วิบูลย์  วัฒนาธร

แตกหน่อมาจาก AAR  นั่นหละครับ

คือก่อนที่จะลงมือทำภารกิจอะไร  ก็มีการพูดคุยกันในทีมก่อน    สำหรับ gotoknow  ถือว่าก่อนที่จะพัฒนา

คำถามก็ล้อกับ AAR  เหมือนกัน แต่ปรับนิดหน่อยครับ

 

เห็นด้วยกับคุณวิไลลักษณ์มากเลยค่ะสิ่งที่คุณวิไลลักษญ์ได้ทำไปแล้ว เป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงกับคลังความรู้ของบ้านเมืองเรา

จะทดลองหารูปแบบของคู่มือการใช้ GotoKnow version 2 ที่จะช่วยให้ง่ายต่อการเผยแพร่แล้ว เอามาค่อยๆบอกต่อในบล็อกนะคะ

ชื่นชมกับความตั้งใจจริงและการทำงานของคุณวิไลลักษณ์มากมานานแล้วจากการอ่านบล็อก ได้พบตัวจริงก็ไม่ผิดหวังเลยค่ะ ขอเป็นกำลังใจและคอยติดตามต่อไปค่ะ อยากได้เครื่องมืออะไร ส่งข่าวมาทางบล็อกเลยค่ะ จะเก็บไว้เป็นการบ้าน ถ้าคิดว่าตัวเองอาจจะช่วยได้จะลงมือค่อยๆทำไปค่ะ หากเราทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เราคงหาทางเก็บรวบรวมความรู้อันมีค่า อย่างที่คุณวิไลลักษณ์พูดถึงได้แน่นอนค่ะ

เห็นด้วยกับคุณอ้อมากเลยครับ ที่คุณอ้อเขียนว่าความรู้ชาวบ้าน ภูมิปัญญาดีๆมากมาย  เราจะทำอย่างไรให้ความรู้เหล่านั้นได้ถูกบันทึกไว้  รวมทั้งได้รับการถ่ายทอด  เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ต่อยอดองค์ความรู้   ป้องกันไม่ให้ความรู้สูญหายไป  ในมิติของครูนอกโรงเรียนอย่างผมมันโดนใจมากๆเลยครับ ผมได้สะท้อนความคาดหวังอย่างที่ว่าลงไปลงในรูปหัวใจสีทอง ที่ อ.ธวัช แจกให้แล้ว ความคิดอย่างเดียวกันเลยครับ ไม่ต้องบันทึกผ่านนักวิจัย หรือใคร อยากให้ gotoKnow กรุณาเหนื่อยกับเรื่องนี้ต่อไปครับ

     เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเช่นกันนะครับในแนวคิดที่นำเสนอออกมา ส่วนการใช้ V.2 สิ่งหนึ่งที่ต้องมุ่งมั่นคือการเรียนรู้ด้วยตนเองครับ
     สำหรับภาพที่คุณยังใส่ไม่ได้ (และถามผมในวัน F2F กันวันนั้น) ขอแนะนำว่าให้ปรับภาพใหม่หรือภาพเดิมก็ได้ ให้ได้ขนาด 120X160 pixel แล้ว ส่ง Uplode ขึ้นไปใหม่ จากนั้นก็จะเห็น URL ของภาพ ให้ copy ตั้งแต่ http: //...ไปจนถึงชื่อ-นามสกุลของภาพนั้น ไปวางที่หน้าประวัติ
     ข้อสังเกตที่พบในปัจจุบัน จะเห็นว่า URL ที่ภาพด้านขวามือ บน ของหน้า web นี้ มี Error อยู่ ทำใหม่เลยก็ได้นะครับ
     ขอให้ทำได้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท