เห็นเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน


     จากเหตุการณ์หนึ่งที่ศาสตราจารย์นายแพทย์วิญญู  มิตรานันท์ ได้เล่าสู่กันฟังระหว่างการแบ่งกลุ่มเล่าเรื่องประสบการณ์ความประทับใจของกลุ่มที่ 2 ในงานสัมมนาภาควิชาพยาธิวิทยา ในวันที่ 24-25 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา ที่โรงแรม บี พี สมิหลา จังหวัดสงขลา     

     ในอดีตเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น กล่าวคือมีนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งมีพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อว่า ด่าว่า ข่มขู่ และขู่ฆ่า อาจารย์ผู้สอน จนมีการร้องเรียนกันเกิดขึ้น เรื่องนี้ได้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯเพื่อไล่นักศึกษาแพทย์คนนั้นออก อาจารย์วิญญูได้พยายาม defense ให้กับนักศึกษาแพทย์คนนั้นว่า อาจารย์เชื่อว่า พฤติกรรมก้าวร้าวของนักศึกษาแพทย์นั้นเกิดขึ้นจากการป่วย ซึ่งเป็นการติดเชื้อชนิดหนึ่ง ที่ทำให้สมองเสียสมดุล และมีอาการแสดงออกคล้ายคนไข้โรคจิต จากการทบทวนวรรณกรรมในขณะนั้น ยังไม่มีการกล่าวถึงโรคนี้ ไม่มีการเขียนในตำราแพทย์ ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ดังนั้นอาจารย์จึงต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการโน้มน้าวให้กรรมการท่านอื่นเห็นด้วย โชคดีที่ความเห็นของอาจารย์ได้รับการยืนยันจากจิตแพทย์ ว่ามีความเป็นไปได้ คณะกรรมการฯในวันนั้นจึงไม่ได้มีมติ ไล่นักศึกษาแพทย์คนนั้นออก     

     โดยทั่วไปเหตุการณ์นี้ควรจะจบลง เพียงแค่ว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว มีมติว่า ไม่ไล่นักศึกษาแพทย์คนนั้นออก ทำให้นักศึกษาแพทย์คนนั้นได้เรียนต่อจนจบ ได้เป็นแพทย์ผู้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติโดยอาจไม่ทราบเลยว่า อดีตครั้งหนึ่งมีใครบ้างที่ให้ความช่วยเหลือ ในการ defense ให้กับคณะกรรมการฯ จนตัวเองได้รับโอกาสเรียนต่อจนจบ     

     แต่ไม่ใช่ครับ     

     จากการติดตามในอีกหลายปีต่อมา นักศึกษาแพทย์คนนั้นจึงปรากฏลักษณะอาการทางคลินิกที่ชัดเจน ที่แพทย์ลงความเห็นว่าป่วยเป็น Lymphoma     

     เหตุการณ์นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ให้อาจารย์วิญญู กลับมาค้นคว้าอย่างหนัก ว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักศึกษาแพทย์ท่านนั้น การทบทวนวรรณกรรม และตำราแพทย์ ไม่ได้ให้คำตอบที่ท่านกำลังหาอยู่ ท่านกำลังเผชิญกับโรคใหม่ ที่ยังไม่มีการกล่าวถึงในตำราหรือวารสารทางการแพทย์ใดๆ ผมประทับใจคำกล่าวหนึ่งที่อาจารย์เล่าสู่กันฟังในเรื่องนี้ว่า ผมไม่รู้ ไม่ได้ ดังนั้นการพิสูจน์เรื่องนี้ จึงต้องหาคำตอบด้วยการวิจัย       

     ท่านจึงต้องจัดตั้งทีมงานวิจัย ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนกระทั่งท่านเป็นคนแรกที่ให้คำนิยามกับโรคใหม่โรคนี้ และมีรายงานวิจัยต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้อีกมากมายที่ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาจากท่านและทีมงาน จนปัจจุบันกล่าวได้ว่า ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคนี้อย่างแท้จริง     

     เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึง การพบเชื้อรา ปนเปื้อนบนจานวุ้นเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เราพบกันบ่อยๆในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเราก็จะคุ้นเคยกับการแยกจานนั้นออก เอาไปทิ้ง แล้วเริ่มต้นเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียนั้นใหม่  การปนเปื้อนเชื้อราในจานวุ้นเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียนี้อาจจะบอกได้ว่าเราพบกันมานานมากแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งวันหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งที่ชื่อว่า  Sir Alexander Flaming ท่านได้สังเกตุเห็นในสิ่งที่ผู้คนในอดีตไม่เคยมองเห็น นั่นคือท่านเห็นว่า รอบๆเชื้อราที่ปนเปื้อน มีวงใส ที่แสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียเหล่านั้นไม่สามารถโตได้ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบยาเพนนิซิลิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดแรกของโลกสำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย      

      เหตุการณ์เหล่านี้ อาจเป็นเหตุการณ์ปกติที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราๆ ท่านๆ แต่เราไม่เคยสังเกตุเห็นความแตกต่าง เราจึงไม่มีจุดเริ่มของการที่จะเป็นคนแรกที่ค้นพบนวตกรรมใดๆ ....รอสักวันนะครับ

หมายเลขบันทึก: 86680เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2007 07:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะคุณไมโต

  • ครูอ้อยไม่เข้าใจลึกซึ้งกับเรื่องที่คุณไมโตเขียน  อาจจะเป็นเพราะครูอ้อยไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์
  • แต่หัวข้อของคุณไมโต  ทำให้ครูอ้อยคิดเท่าที่ประสบการณ์ของครูอ้อยมีเกี่ยวกับชื่อบันทึกนี้
  • มีอะไรหลายสิ่งหลายอย่างที่  เรา  หมายถึงคน  ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน  มองเห็นสิ่งหนึ่งเหมือนกัน  แต่...ต่อจากนี้ไป  อาจจะแปลงสิ่งที่เห็นเหมือนกันนั้น  แตกต่างกันไปตามประสบการณ์เดิมของแต่ละคน

ครูอ้อยเข้าใจเพียงเท่านี้....ดีใจที่ได้สนทนากันกับคุณไมโตแต่เช้าค่ะ

สวัสดีตอนเช้าครับ ครูอ้อย

  • ในความเห็นของครูอ้อย เป็นการมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน ตามแต่ทัศนคติและประสบการณ์เดิมของแต่ละคน ทำให้ในเหตุการณ์เดียวกัน แต่ละคนตีความไปได้สารพัด จนอาจจะตรงข้ามกันแบบสุดขั้วเหมือนที่เราได้เห็นในเหตุบ้านการเมืองที่เกิดขึ้นในเมืองไทย
  • สิ่งที่ผมเล่านี้ อาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ที่เรามองเห็น แล้วก็ผ่านไป เราไม่เคยมองให้ละเอียด หรือสังเกตุให้ชัดเจน ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วก็หาสาเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้น จนกระทั่งได้พบคำตอบ ซึ่งคำตอบนั้นอาจเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ อยู่บนความปกติธรรมดาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้นพบยาเพนนิซิลิน จากเหตุการณ์ปนเปื้อนเชื้อราบนจานวุ้นเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย หรือเหตุการณ์การค้นพบโรคใหม่ จากการพยายามช่วยเหลือนักศึกษาแพทย์ที่หลายคนเข้าใจว่ามีการเจ็บป่วยทางจิต ก็ตาม

 

ในความราบเรียบ นิ่งเฉย มักจะมีอะไรบางอย่างแฝงเร้นอยู่เสมอ

ทะเลที่เงียบงันผิดปกติ มักจะมีคลื่นใหญ่ ตามมา แม้จะเป็นป่าที่ผมคุ้ยเคยก็ตาม พรานใหญ่บอกว่า หากเมื่อใดป่าเงียบ ใบไม้ไม่ติงไหว นั่นคือสัญญาณบอกเหตุที่จะเกิดขึ้นในไม่กี่อึดใจ

ความใส่ใจกับเรื่องเล็กน้อย ควรมี และจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะวิถีปัจจุบันที่มีความเหมือน คล้ายคลึงด้วยการปรุงแต่ง และที่สำคัญเราไม่อาจแยกออกได้ง่ายๆว่าอะไร คืออะไร

สิ่งหนึ่งที่น้อยนิด ไม่ควรเพิกเฉย ไม่แน่ว่าสิ่งนั้น อาจเป็น "คำตอบ"ที่ยิ่งใหญ่รอการค้นพบอยู่ก็เป็นได้

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผมไม่กี่วัน ผมก็มองว่า สิ่งเล็กสิ่งน้อยที่อยู่รอบข้างเรา สำคัญที่สุด ทั้งอารมณ์ และความคิดของผู้อื่น ที่เราควรต้องใส่ใจสิ่งเหล่านั้น มันละเอียดอ่อน ต้องอาศัยการมองแบบเข้าใจ และเป็นธรรมชาติ

ไม่นานเราก็จะลาลับจากสังขารนี้ จากโลกใบนี้ไปแล้ว

แข่งกันทำไม ทะเลาะกันทำไม ใช่มั้ยครับพี่กานต์??

 

  • ขอบคุณน้องไมโตที่เล่าให้ทราบ
  • พี่ทำงานกับนักศึกษามากมายหลายคณะ รวมทั้งนักศึกษาคณะแพทย์ พบนักศึกษาที่มีพฤติกรรมเช่นนี้บ่อย โดยเฉพาะในปัจจุบัน
  • การวิจัยเป็นสิ่งที่ดีหากเราได้ช่วยกันทำ พี่เคยตั้งสมมุติฐานเหมือนกันว่าการที่เด็กมีพฤติกรรมแปลกมาจากการเลี้ยงดู กรรมพันธุ์ หรือสิ่งแวดล้อม  ฯลฯ
  • ปัจจุบันยังคิดอยู๋นะคะ

ดีในที่เห็นคุณไมโต ลงตัวกับการเล่าเรื่องอีกครั้ง...จะเข้ามาใหม่ค่ะ..สวัสดีตอนเช้าค่ะ

สวัสดีครับ คุณเอก
  • ผมเห็นด้วยกับความเห็นของคุณเอกครับ คนเรามีชีวิตอันแสนสั้นนัก จะมามัวแข่งกัน แย่งชิงกัน ทะเลาะกันไปทำไม หันมาหาความสุขใส่ตัว โดยการสร้างโลกให้สดใส มีเสียงหัวเราะ และมีพลังในการร่วมมือกันทำงานให้สำเร็จจะดีกว่า
  • สิ่งที่แตกต่างกัน ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่กับคนธรรมดา คือการสังเกตุ การใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ และความพยายามในการหาคำตอบให้ได้ ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
  • สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างคนที่มีความสุขกับคนที่มีความทุกข์คือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น รู้จักละวางความทุกข์ และสามารถปรับตัวเองให้ยอมรับความเป็นจริงของเหตุการณ์รอบตัวเองได้
  • ว่าไปแล้ว ผมเองมีความรู้ในเรื่องของจิตน้อยมากครับ คงต้องขอคำปรึกษาจากคุณเอก และกะปุ๋ม นักจิตวิทยาคนเก่งอีกมากครับ
สวัสดีครับ คุณเมตตา
  • มีหลายครั้งที่อยากจะเล่าในสิ่งที่พบเห็น แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา จึงทำให้สิ่งเหล่านี้ผ่านไปโดยไม่ได้นำมาเล่าสู่กันฟัง
  • ช่วงนี้พอจะมีเวลาหายใจหายคอบ้างครับ
  • ผมจะพยายามที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
สวัสดีครับ พี่อัมพร
  • ปัญหาใกล้ตัวนั่นแหละครับ เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษา เพราะหากเราหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้ งานของเราก็จะทำได้สะดวกขึ้น
  • เมื่อพี่อัมพร ตั้งสมมติฐานแล้ว ทีนี้ก็ต้องหาทางพิสูจน์สมมติฐานที่ตั้งไว้ครับ คำตอบที่ได้คืองานวิจัยครับ ผมจะคอยฟังความคืบหน้าของงานของพี่อัมพรนะครับ
  • พี่อัมพรทำงานอยู่ใกล้ชิดเด็กนักศึกษาครับ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ดี ดังนั้นพี่อัมพรสามารถทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆเหล่านี้ได้ครับ ลองดูซิครับพี่ แล้วจะรู้ว่าสนุกครับ
  • การทำงานวิจัยของพี่อัมพร อาจไม่ต้องทำเป็นการทดลองในห้องแล็บเหมือนที่นักวิทยาศาสตร์เขาทำกัน งานวิจัยอาจใช้การสอบถามความคิดเห็นก็ได้ แล้วก็มาวิเคราะห์ทางสถิติ
  • เห็นไหมว่าไม่ยาก......จริงมั้ย

ได้ฟังคร่าวๆ มาจากที่ประชุม แต่ก็ไม่ทราบรายละเอียด มาเข้าใจอย่างลึกซึกก็ตอนมาอ่านเรื่องที่พี่กำลังเขียนอยู่นี้ เกิดความรู้สึกว่าท่านอาจารย์วิญญูนอกจากเป็นคนเก่งท่านยังมีความเมตตาเป็นอย่างยิ่งต่อการมองชีวิตผู้คนอย่างมีคุณค่า ไม่ได้ละเลยหรือมองผ่านไป

 

ช่วงสองวันได้...contract กับท่านอาจารย์หมอวิญญู สัมผัสได้ถึงความเปี่ยมล้นที่มีเมตตา และความเป็น "ผู้ไม่รู้...ไม่ได้ของท่าน" เพียงแค่สบตา ทำให้ได้เรียนรู้การอยู่อย่างไม่มีอัตตาของอาจารย์...กะปุ๋มโชคดีที่ได้มีโอกาสได้รู้จักท่าน ... และตอนที่ท่านเรื่องตนเองได้เดินผ่านไปและหยุดถ่ายภาพท่านกับคุณไมโตไวด้วยค่ะ... ท่านเป็นตัวอย่างแห่งการเรื่องความสำเร็จและความภูมิใจได้อย่างดียิ่งเลยค่ะ

(^_____^)

  • โอโหพี่เป็นเรื่องดีมากเลย
  • เหมืออาจารย์จะไล่นักศึกษาออกควรหาสาเหตุก่อน
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีจ้า น้องศา

  • เรื่องนี้ถ้าจะให้ได้อรรถรส ต้องฟังจากปากของอาจารย์วิญญูเองครับ ก็อย่างที่อาจารย์สินิจธรได้เล่าให้พวกเราฟังว่า เรื่องเล่าในกลุ่มเป็นเรื่องเล่าเคล้าน้ำตา ซึ่งเป็นน้ำตาแห่งความปิติครับ
  • ความมีเมตตา และจิตใจที่ดีงามของอาจารย์วิญญู ผมคิดว่าหลายคนสัมผัสได้ครับ โดยเฉพาะคนที่เดือดร้อนที่มาพบอาจารย์วิญญู คงจะเข้าใจลึกซึ้งมากกว่าพวกเราหลายร้อยเท่า

สวัสดีจ้า กะปุ๋ม

  • กะปุ๋ม เป็นคนที่รับรู้ทางจิตได้ดี และได้เร็วมาก และคงมองเห็นพลังแสงออร่า ส่องสว่างมาจากร่างอาจารย์วิญญูได้ชัดเจน นอกเหนือจากการมีสายตาเป็นประกาย
  • ผมมายืนยันกะปุ๋มอีกคน ว่าสิ่งที่กะปุ๋มเห็น เป็นตัวตนของอาจารย์วิญญูจริงๆ เป็นหนึ่งในคนดี มีน้ำใจดี คนที่ตั้งใจทำงานจริง และได้รับผลกรรมดีตอบแทนจากการทำดี ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ครับจากผลงานที่ท่านศึกษาวิจัยในเรื่องของโรคนี้ ที่ท่านเรียกว่า Peripheral T Cell Disorder (PTPD) และให้คำนิยามโรคเอาไว้
  • โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อ Epstein Barr Virus (EBV) ซึ่งจากความรู้แต่เดิม ไวรัสตัวนี้จะติดเชื้อ Epithelial cell และ B lymphocyte ทำให้เกิดโรคต่างๆมากมาย เช่น Nasopharyngeal carcinoma, Burkitt's lymphoma etc. และจากความรู้ที่ท่านศึกษาวิจัย ทำให้เราได้ทราบว่า โรค PTPD เป็นการติดเชื้อ EBV ใน T-lymphocyte ล่าสุดท่านสามารถถ่ายภาพ EBV กำลังเข้าสู่ T-lymphocyte และทำให้ T-lymphocyte ตายได้อย่างรวดเร็ว และได้รับเชิญให้ไปนำเสนอผลงานเรื่องนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นครับ

สวัสดีครับ คุณขจิต

  • เป็นความเชื่อเบื้องต้นของอาจารย์ครับ ว่านักศึกษาคนนั้นมีการติดเชื้อมาก่อน และมีประวัติที่เข้าได้กับการติดเชื้อ EBV ก่อนที่จะแสดงอาการก้าวร้าว
  • ดังนั้นในเรื่องนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องพิจารณาก่อนว่า พฤติกรรมการก้าวร้าวของเด็กนั้น เป็นผลมาจากจิตใจ หรือเป็นผลมาจากสารเคมีในสมองเสียสมดุลจากการติดเชื้อ ซึ่งเพียงแค่นี้ก็เป็นเรื่องยากแล้วครับ
  • เรามักจะคุ้นเคยว่า การแสดงออกของพฤติกรรมของคน เป็นเรื่องสะท้อนจากจิตใจครับ นี่เป็นความรู้ใหม่สำหรับพวกเราเหมือนกันว่า การแสดงออกของพฤติกรรมของคนเรา อาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อโรคบางชนิดได้ ทำให้มีลักษณะคล้ายคนที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิต
  • ขอบคุณมากค่ะ น้องไมโตที่ให้คำแนะนำ
  • ขณะนี้พี่ทำวิจัยอยู่ทุกปี
  • ปีที่แล้วทำเรื่องกิจกรรมนักศึกษา  
  • ปี50ทำเรื่องความต้องการพัฒนานักศึกษา
  • เรื่องที่แนะนำขอรับไว้พิจารณาเป็น 51 นะคะ
  • ได้เปล่า?

อยู่ใกล้อาจารย์วิญญูตั้งนาน ไม่เคยได้รับรู้เรื่องนี้เลย ว่าเป็นเรื่องที่จุดประกายการทำงานวิจัยในโรค lymphoma  เห็นเพียงว่า อาจารย์มุ่งมั่นในการทำวิจัยโรคนี้มาก  เป็นเรื่องที่น่าประทับใจ และ เป็นตัวอย่างของความเป็นนักวิจัย ที่ใส่ใจ สังเกต เรื่องที่เปลี่ยนแปลงไป  

ฉันเพิ่งมีโอกาสได้อ่านบันทึกนี้ของคุณ ....ฉันได้ข้อคิดที่ดีๆจากเพื่อนเสมอค่ะ...ขอบคุณมากค่ะ  .
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท