วันครู


ความรู้อยู่ที่ครูและตัวเราเอง

ปาเจราจริยา โหนฺติ

คุณุตฺตรานุสาสกา

ปัญฺญาวุฒิกเร เต เต

ทินฺโนวาเท นมามิหํ

 

       ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ของสังคมและประเทศชาติ

       ครูนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดจนเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันจะเป็นหนทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งการนำพาสังคมประเทศชาติก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง
     ด้วยเห็นความสำคัญของครูดังกล่าวมาแล้วนั้น จึงได้กำหนดให้มีวันครูขึ้น ในวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที และให้ครูเป็นผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูในสังคม

       

ประวัติความเป็นมาของการจัดงานวันครู

      ในปี พ.ศ. 2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวปราศัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศ ถึงความคิดที่จะกำหนดให้มีวันครู และเป็นการสอดคล้องกับความคิดเห็นของครูทั่วไป

     ดังนั้น ในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้ วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น "วันครู" โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครู

     วันครูได้จัดให้มีในครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาในปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า "คุรุสภา" เป็นนิติบุคคล ให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู

     ในทุก ๆ ปี คุรุสภาได้ให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา โดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย

การจัดงานวันครูในส่วนกลาง

      มีการจัดงานวันครูครั้งแรกขึ้น ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ปัจจุบันในส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภา โดยคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน

     พิธีจะเริ่มขึ้นในตอนเช้า โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์ และประชาชนทั่วไปร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์ หลังจากนั้นจึงเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วมีพิธีบูชาบูรพาจารย์ โดยครูอาวุโสนอกประจำการจะเป็นผู้กล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

     จากนั้นประธานจัดงานวันครูจะเชิญผู้ร่วมประชุมยืนสงบ 1 นาที เพื่อระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อด้วยครูอาวุโสในประจำการนำผู้ร่วมประชุมกล่าวปฏิญาณ

การจัดงานในส่วนภูมิภาค

      ในการจัดงานวันครูในส่วนภูมิภาค มอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับส่วนกลาง จะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือจัดแต่ละอำเภอก็ได้

     งานวันครูได้กำหนดเป็นหลักการ ให้มีอนุสรณ์สำคัญ คือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ เพื่อเป็นอนุสรณ์สำคัญแก่อนุชนรุ่นหลัง

      การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูให้มีกิจกรรมเป็น  3  ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

     1. กิจกรรมทางศาสนา

     2. พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ การประกอบพิธีปฏิญาณตน การให้รางวัลเพื่อเป็นการยกย่องส่งเสริมครูอาจารย์ที่มีผลงานความสามารถจนเป็นที่ยกย่อง

     3. จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดงานรื่นเริงสังสรรค์ ฯลฯ

คำปฏิญาณ

ข้อ 1 ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู

ข้อ 2 ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ

ข้อ 3 ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคล แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการ สุดท้ายกล่าวปราศรัยกับคณะครูที่มาประชุม

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันครู

 

     1. ร่วมกิจกรรมทางศาสนา ทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แกบรรดาบูรพาจารย์ผู้ล่วงลับ

     2. ส่งบัตรอวยพร หรือไปเยี่ยมเยือนครูอาจารย์ที่เคยให้ความรู้อบรมสั่งสอน เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดี และแสดงความกตัญญูกตเวที

     3. ร่วมพิธีบูชาบูรพาจารย์

     4. ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เช่น นิทรรศการเกี่ยวกับครู การเรียนการสอน หรือกิจกรรมการกุศลที่หารายได้สมทบกองทุนช่วยเหลือครู เป็นต้น

บทสวดเคารพครูอาจารย์

 

     (สวดนำ) ปาเจราจริยาโหนฺติ

(รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา

ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต

ทินฺโนวาเท นมามิหํ

 (สวดทำนองสรภัญญะ)

      (สวดนำ) อนึ่งข้าคำนับน้อม

 (รับพร้อมกัน) ต่อพระครูผู้การุณย์

โอบเอื้อและเจือจุน

อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์

     ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ

ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน

ชี้แจงและแบ่งปัน

ขยายอรรถให้ชัดเจน

     จิตมากด้วยเมตตา

และกรุณา บ เอียงเอน

เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์

ให้ฉลาดและแหลมคม

     ขจัดเขลาบรรเทาโม

หะจิตมืดที่งุนงม

กังขา ณ อารมณ์

ก็สว่างกระจ่างใจ

     คุณส่วนนี้ควรนับ

ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร

ควรนึกและตรึกใน

จิตน้อมนิยมชม

(กราบ)

คุณสมบัติของครูอาจารย์ที่ดี

 

1. ประพฤติตัวให้เป็นที่รัก (ปิโย)

2. มีใจหนักแน่นทำตนให้น่ายำเกรง (ครุ)

3. อบรมตนเองสม่ำเสมอ (ภาวนีโย)

4. ฉลาดสอน ฉลาดพูด (วตฺตา)

5. อดทนต่อถ้อยคำล่วงเกิน (วจนกฺขโม)

6. พูดเรื่องลึกซึ้งให้เข้าใจลึกซึ้งได้ (คมฺภีรํ กถํ กตฺตา)

7. ไม่ชักนำศิษย์ไปในทางเสียหาย (โน จฎฺฐาเน นิโยชเย)

 

หน้าที่ของครูอาจารย์พึงมีต่อศิษย์

 

1. แนะนำดี

2. ให้เรียนดี

3. บอกศิลปให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง

4. ยกย่องให้ปรากฎในเพื่อนฝูง

5. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย

 

หน้าที่ของศิษย์พึงมีต่อครูอาจารย์

 

1. ให้การต้อนรับ

2. เสนอตัวรับใช้

3. เชื่อฟัง

4. คอยปรนนิบัติ

5. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

คำสำคัญ (Tags): #เกร็ดน่ารู้
หมายเลขบันทึก: 46605เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2006 02:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ลืมกันหรือยังค่ะกับข้อความทั้งหลายนี้ได้มีโอกาส กลับไปไหวคุณครูกันบ้างไหมค่ะพูดแล้วก็คิดถึงโรงเรียนเก่า คิดถึงคุณครู สมัยเรียนมัธยม คุณครูบางเขน ครูพรพิรุณ ครูสุรินทร์ ครูสุพจน์ ครูอวยชัย ครูสมจิตทั้ง 2 ครูดรุณี ครูไกรวุฒิ ครูบุญธรรม และครูอื่นที่นับไม่ถ้วนคิดถึงๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ขอบคุณค่ะที่นำมาให้อ่านเพื่อทบทวนตัวเองที่เป็นครู  ดีใจมากค่ะที่เห็นคุณค่าของครูและความเป็นครู  จะขอนำไปเก็บที่ขุมความรู้ของครูอ้อย  เพื่อให้นักเรียนได้ค้นคว้าและศึกษานะคะ  ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

เป็นครูที่น่ารักมากเลยค่ะเห็นอะไรน่ารู้ก็จะนำไปให้ศิษได้รู้แบ่งปันกันและกันถ้ามีบทความดีๆก็นำมาแบ่งปันกันด้วยน่ะค่ะเกี่ยวกับพยาบาล หรือเรื่องที่ครูมองอย่างไรกับพยาบาลก็ได้น่ะค่ะ

มีค่ะ  ครูอ้อยมีความผูกพันกับพยาบาลมาก  เพราะตอนเด็กอยากเป็นพยาบาล  เป็นอาชีพที่ครูอ้อยชอบและโปรดปรานมาก  เรื่องของพยาบาลก็มีมากค่ะ  เพราะเป็นคนรักษาสุขภาพ 

ว่าแต่ว่า  ขอปรึกษาค่ะ  ตอนนี้(ขณะนี้)  เป็นตะคริวที่น่องข้างซ้าย  เป็นกังวลมากเวลาเหยียบคลัช(ขับรถ)  บอกวิธีการแก้ปัญหาแบบเบื้องต้นและแบบเฉียบพลันนะคะ  ขอบคุณค่ะ  สวัสดี 

อีกครั้งหนึ่งค่ะ  เข้าไปอ่าน  ที่นี่  ก็ได้ค่ะ ขอบคุณค่ะ  สวัสดี
ต้องดูที่ลักษณะงานน่ะค่ะถ้าทำงานแบบนั่งนานๆอาจจะต้องเปลี่ยนอิริยบท ถ้าไม่ดีขึ้นอาจมาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ขาดแคลเซียม หรือพวกวิตามินบี แนะนำให้ดื่มนมน่ะค่ะ ดีขึ้นหรือไม่อย่างไรมาเล่าสู่กันฟังใหม่น่ะค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณ kamom เรื่องของการดื่มนม  มีหลายท่านแนะนำค่ะ  ขอบคุณมากค่ะ  คงจะขาดแคลเซี่ยมด้วย  แล้วมีทางเดียวคือ ดื่มนม หรือคะ  หายาหรือวิตามินแคลเซี่ยมทานจะดีไหมคะ  รู้สึกจะง่ายกว่า  แต่ดื่มนมก็ดีมากนะคะ  ระบบขับถ่ายก็ดีด้วย  ขอบคุณค่ะ  เรื่องของสุขภาพต้องเอาไว้ก่อนจริงไหมคะ  สวัสดีค่ะ

มีค่ะมียาแคลเซียมซึ่งเขาเรียกว่าเคาเทรตน่ะค่ะถ้าจำไม่ผิดแต่เขียนถูกหรือเปล่าไม่รู้ค่ะคือการดื่มนมน่าจะดีกว่าน่ะค่ะเพราะอย่างน้อยก็ไม่ได้เอาสารเคมีที่เป็นยาเข้าร่างกาย

คิดอย่างนั้นเหมือนกันค่ะ  ไม่จำเป็น  ไม่อยากกินยาหรอกค่ะ  แต่บางครั้ง  ความสะดวกและภารกิจก็ทำให้เราลืมนึกถึงประโยช์นะคะ  คราวนี้ต้องหัดดูแลตนเองมากๆค่ะ  ขอบคุณ  สวัสดีค่ะคุณ KAMOM
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท