นิติศาสตร์แนวพุทธ: จากเสียงกระซิบหนึ่งของนักกฎหมาย


ดิฉันในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่ง ที่เห็นว่าสังคมปัจจุบันสับสนวุ่นวายเพราะ "กฎหมาย"ที่มนุษย์สร้างขึ้น...เพราะเหตุใด? จะมีทางแก้ไขได้หรือไม่? บทความของนักกฎหมายท่านหนึ่งมีทรรศนะที่น่าสนใจต่อนิติศาสตร์แนวพุทธ และดิฉันเชื่อว่าสังคมใดมีกฎหมายที่เป็นธรรม สังคมนั้นย่อมอยู่อย่างสันติสุข

     ดิฉันได้มีโอกาสอ่านบทความในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10890  คอลัมภ์กระเเสทรรศน์ หน้า 7  เรื่อง "นิติศาสตร์แนวพุทธ: ท่าทีต่อกฎหายของมนุษย์" โดยท่านผู้พิพากษาโสต สุตานันท์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นบทความที่น่าสนใจยิ่งนักในการให้ข้อคิดแก่นักกฎหมายเกี่ยวกับคำว่า"กฎหมาย" ในทางพุทธศาสนา และความเป็นธรรมของกฎหมายในการปรับใช้ในบริบทสังคมปัจจุบันเพียงพอหรือไม่ เพียงใด แนวคิดจากบทความนี้ถือเป็นย่างก้าวที่ดีอย่างหนึ่ง ว่าอย่างน้อยการนำเอาหลักธรรมะซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายธรรมชาติน่าจะมีความสอดคล้องกับสังคมมนุษย์มากที่สุด นอกจากนี้บทความนี้ดิฉันขอชื่นชมจากใจว่าให้แง่คิดในแง่คุณธรรมและเป็นแบบอย่างของกฎหมายที่มีคุณธรรมอย่างยิ่งที่จะอำนวยความยุติธรรมต่อสงคมอย่างแท้จริง ดังนั้นดิฉันใคร่ขอบทความดังกล่าวไว้เป็นเกร็ดความรู้และแนวทางให้แก่นักกฎหมายและผู้สนใจ


นิติศาสตร์แนวพุทธ : ท่าทีต่อกฎหมายของมนุษย์

โดย โสต สุตานันท์ ศาลจังหวัดเชียงใหม่



ผู้เขียนเคยวิเคราะห์หลักกฎหมายตามแนวคิด "นิติศาสตร์แนวพุทธ" ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง "กฎธรรมชาติและกฎมนุษย์" ไปแล้ว (น.ส.พ.มติชน ฉบับลงวันที่ 23 ตุลาคม 2550 หน้า 6)

ผู้เขียนขอนำแนวคิดตามหลักการ "นิติศาสตร์แนวพุทธ" ของท่านเจ้าคุณอาจารย์พระธรรมปิฎก มาวิเคราะห์ต่ออีกครั้ง จะถูก จะผิด จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ขอท่านผู้อ่านได้โปรดช่วยกันวิเคราะห์ วิจารณ์ ไปพร้อมกันเลย

ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระธรรมปิฎกเห็นว่า มนุษย์จะมีท่าทีต่อกฎหมายต่างกันเป็น 3 ระดับ คือ

ท่าทีที่หนึ่ง มองว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับ ถือว่าเป็นความรู้สึกต่อกฎหมายในระดับที่ต่ำที่สุด หากสังคมใดมีมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกว่า กฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายในสังคมเป็นเครื่องบังคับแล้ว กฎหมายหรือสังคมนั้นก็จะไม่ยั่งยืน

ท่าทีที่สอง มองว่ากฎหมายเป็นเครื่องฝึกตน เป็นท่าทีแบบพระพุทธศาสนาที่มองว่า กฎเกณฑ์กติกาที่สร้างขึ้นมา มีจุดประสงค์เพื่อสร้างสภาพเอื้อในสังคมที่จะเปิดโอกาสให้มนุษย์พัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้น คนจะมองว่ากฎเกณฑ์กติกาเป็นเครื่องฝึกตน ดังที่เรียกว่า "สิกขาบท" คือเป็นข้อฝึก หรือข้อเรียนรู้ที่จะเอามาปฏิบัติด้วยจิตใจที่รู้สึกว่าจะฝึกตัวเองเพื่อก่อให้เกิดผลอันดีงาม อันจะยังประโยชน์ต่อตัวมนุษย์ผู้ปฏิบัติเองและสังคมโดยส่วนรวมต่อไป

ท่าทีที่สาม มองว่ากฎหมายเป็นเพียงข้อหมายรู้ร่วมกัน เป็นท่าทีของสังคมมนุษย์ที่มีการพัฒนาทางจิตใจและปัญญาในขั้นสูง โดยมนุษย์จะเข้าใจว่า กฎเกณฑ์กติกาของสังคมนั้น มนุษย์วางขึ้นด้วยเหตุผล เพื่อจะให้อยู่ร่วมกันด้วยดี และจะได้มีสภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตที่ดีงาม อย่างที่เราต้องการและอย่างที่มันควรจะเป็น

เพราะฉะนั้น กติกาเหล่านี้จึงเป็นเพียงเครื่องหมายให้รู้ว่าเราควรจะอยู่ร่วมกันอย่างไรเท่านั้นเอง

ท่านเจ้าคุณได้อธิบายขยายความอีกว่า ปัญหาของสังคมที่ยังไม่พัฒนา เกิดจากการที่มนุษย์ส่วนใหญ่ในสังคมยังมองว่า กฎหมายเป็นเพียงเครื่องบังคับ ไม่ใช่เครื่องฝึกตน หรือข้อหมายรู้ร่วมกัน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ

ประการแรก แสดงว่ามนุษย์ยังไม่มีการศึกษา

ประการที่สอง แสดงว่ามีกฎหมายที่เป็นเครื่องบังคับเขาจริง คือกฎหมายไม่เป็นธรรมนั่นเอง

ปัญหาก็คือว่า เราจะรู้ได้อย่างไร เราจะเอากฎเกณฑ์ กติกาอะไรมาตัดสินว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจาก กฎหมายไม่เป็นธรรม หรือเกิดจากประชาชนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่มีการศึกษา

ในเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ก็คงต้องย้อนกลับไปพิจารณาในเรื่องของกฎธรรมชาติและกฎมนุษย์ ดังที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ในคราวก่อน กล่าวคือ ต้องใช้ปัญญาในการพินิจพิจารณาให้ได้ก่อนว่า เรื่องนั้นๆ มีกฎธรรมชาติว่าอย่างไร

ผลอันแท้จริงตามกฎธรรมชาติที่มนุษย์ต้องการคืออะไร

จากนั้นก็ไปพิจารณากฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาว่า มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติหรือไม่ อย่างไร

หากสอดคล้องส่งเสริม เกื้อหนุนกัน ย่อมแสดงว่ากฎหมายนั้นมีความถูกต้องชอบธรรมแล้ว

แต่หากขัดแย้งกัน ก็แสดงว่ากฎหมายนั้นไม่น่าจะเป็นธรรม ซึ่งหลักคิดดังกล่าวฟังดูเหมือนง่าย แต่ในความเป็นจริง เป็นเรื่องยากมากที่จะพิจารณากัน ต้องอาศัยบุคคลที่มีปัญญาอันสูงส่งอย่างแท้จริง ที่จะสามารถมองเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ว่ากฎธรรมชาติในแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร และจะบัญญัติกฎมนุษย์หรือกฎหมายอย่างไร ให้เหมาะสมหรือสอดคล้องกลมกลืนกับกฎธรรมชาติได้

แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่า หากเรามีความคิด ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีอุดมการณ์ มีความแน่วแน่มั่นคง อย่างแท้จริงแล้ว คงไม่มีอะไรที่จะเกินขีดความสามารถของมนุษย์ไปได้

เพราะธรรมชาติได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ ที่สุดให้มนุษย์เราเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาเรียนรู้ คือ "สมอง" นั่นเอง

อีกประเด็นหนึ่งที่ท่านเจ้าคุณได้แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ คือ ท่านมองว่าแนวทางในการบัญญัติกฎหมายในสังคมมนุษย์มี 2 แนวทาง คือ

ประการแรก ในระบบสังคมที่การปกครองเป็นจุดหมายในตัว คือ การปกครองเพื่อให้สังคมสงบเรียบร้อย ก็จะเป็นการปกครองด้วยอำนาจหรือเน้นการใช้อำนาจ กฎหมายก็จะมุ่งบังคับและควบคุม โดยเน้นการกำจัดคนชั่ว ด้วยการลงโทษคนทำความผิด

ประการที่สอง ในระบบสังคมที่ถือคติว่าการปกครองเป็นการสร้างสังคมที่ดีขึ้นมาเพื่อเป็นสภาพที่เอื้อให้มนุษย์ได้พัฒนาตนเข้าสู่ชีวิตที่ดีงาม การบัญญัติกฎหมายก็จะเน้นการศึกษาเน้นการสร้างและส่งเสริมคนดี มากกว่าการพยายามกำจัดคนชั่ว

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นแล้ว สังคมในขณะหนึ่งๆ ย่อมมีคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันหลากหลาย

ดังนั้น การปกครองและกฎหมายจึงต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้านพร้อมๆ กันไป คือ ทั้งส่งเสริมคนดี และกำราบคนร้าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีจุดเน้นที่การสร้างและส่งเสริมคนดีเป็นสำคัญ เพราะวิถีทางนี้ เป็นแนวทางที่สร้างสรรค์ เป็นแนวทางที่มุ่งพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าไปสู่ความดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป

จากความคิด ความเห็นของท่านเจ้าคุณดังกล่าว หากนำไปเปรียบเทียบกับแนวคิดของปราชญ์เมธีตะวันตกก็จะเห็นว่า ท่าทีของมนุษย์ที่มีต่อกฎหมายตามท่าทีที่หนึ่ง คือ มองว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับนั้น น่าจะตรงกับแนวคิดของปราชญ์ในกลุ่มที่มองว่า มนุษย์เกิดมาไม่ดีโดยธรรมชาติ (เช่น เวเบอร์ เทเลอร์ กูลิค เออร์วิค แมคเคียเวลลี ฮอปส์ เป็นต้น) โดยเห็นว่า ธรรมชาติของคนมักจะเกียจคร้าน เฉื่อยชา อ่อนแอ ขี้โกง ขาดความรับผิดชอบ นึกถึงแต่ตัวเอง ต้องการทำงานให้น้อยที่สุด แต่หวังผลตอบแทนมาก ดังนั้น จึงต้องควบคุมมนุษย์อย่างใกล้ชิด ด้วยการบังคับให้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่วางไว้อย่างเคร่งครัด และคอยติดตามตรวจสอบพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลา

ในมุมมองเช่นนี้ มนุษย์จึงมีคุณค่าเสมือนเป็นเพียงเครื่องจักรตัวหนึ่งเท่านั้น

ขณะที่ท่าทีของมนุษย์ที่มีต่อกฎหมายตามท่าทีที่สองและที่สาม คือ มองว่ากฎหมายเป็นข้อฝึกตน และข้อหมายรู้ร่วมกันนั้น น่าจะตรงกับแนวคิดของปราชญ์ตะวันตกในกลุ่มที่มองว่า มนุษย์เกิดมาดีโดยธรรมชาติ แต่บางครั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้างทำให้มนุษย์เลว ดังนั้น จึงต้องพยายามสร้างบรรยากาศหรือสภาวะแวดล้อมในสังคมให้มนุษย์มีความเจริญเติบโตทางจิตใจ มีความพึงพอใจกับงาน ได้รับการยอมรับ มีส่วนร่วม มีความรับผิดชอบ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความผูกพัน มีความเสียสละ ฯลฯ

ทั้งนี้ เพื่อมนุษย์จะได้เดินไปสู่เป้าหมายของชีวิตในวิถีทางที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป

(นักปราชญ์กลุ่มนี้ เช่น เอลตัน เมโย แมรี่ ปาร์คเกอร์ ฟอลเลต เชสเตอร์ บาร์นาร์ด ดักลาส แมคเกรเกอร์ อับราฮัม มาสโลว์ เฟรดเดอริค เฮอร์ซเบิร์ก คริส อาร์จีริส เรนซิส ไลเคิร์ท ฌอง ฌาค รุสโซ เป็นต้น)

คำถามก็คือว่า แล้วสังคมไทยมองกฎหมายในท่าทีไหน

หากพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ซึ่งมีการสร้างองค์กรต่างๆ ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกในการตรวจสอบซึ่งกันและกันมากมาย และพิจารณาถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมาย การพยายามแทรกแซงกลไกการตรวจสอบขององค์กรต่างๆ อย่างกว้างขวางแล้ว ก็คงพอจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า ในภาพรวมแล้วสังคมไทยน่าจะมีท่าทีต่อกฎหมายในระดับที่เรียกว่ามองว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับเท่านั้น

ซึ่งท่าทีแบบนี้ ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระธรรมปิฎกได้กล่าวไว้ว่า ในท้ายที่สุดกฎเกณฑ์กติกานั้นก็จะไม่ยั่งยืน

เหตุการณ์ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ย่อมเป็นเครื่องยืนยันถึงความเห็นของท่านเจ้าคุณได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งออกก่อนการเลือกตั้งนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านก็คงจะได้รับคำตอบอย่างไม่ต้องลังเลสงสัยใดๆ เลยว่า ผู้ออกกฎหมายเน้นการใช้อำนาจ เน้นการมุงบังคับ ควบคุม และเน้นการกำจัดคนชั่ว ขณะที่ฝ่ายผู้ปฏิบัติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมองว่าตนเองกำลังถูกบีบบังคับให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ได้มองว่ากฎหมายเป็นเครื่องฝึกตน หรือเป็นเพียงข้อหมายรู้ร่วมกัน

ในสภาพการณ์เช่นนี้ ผู้อ่านก็คงคาดเดาได้ไม่ยากอีกเช่นกันว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับการบังคับใช้กฎหมาย ระหว่างการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กับการพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมาย หรือปรากฏการณ์อารยะขัดขืน

และอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวกฎหมายในอนาคต ระหว่างความคงอยู่ของกฎหมายอย่างยาวนาน กับความไม่ยั่งยืนของกฎหมาย

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอฝากท่านผู้อ่านช่วยกันคิด ช่วยกันวิเคราะห์ต่อว่า กฎธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยง หรือเป็นพื้นฐานของคำว่า "ประชาธิปไตย" มีว่าอย่างไร ผลอันแท้จริงตามกฎธรรมชาติที่มนุษย์ต้องการในการอยู่ร่วมกันในสังคมคืออะไร และกฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งมนุษย์คนไทยได้บัญญัติขึ้นมานั้น มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติหรือไม่ อย่างไร หากไม่สอดคล้อง มันควรจะเป็นอย่างไร

และขอได้โปรดช่วยกันวิเคราะห์อีกว่า เหตุที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยมองกฎหมายในลักษณะเป็นเครื่องบังคับนั้น มีสาเหตุมาจากอะไร

เกิดจากกฎหมายไม่เป็นธรรม

หรือเกิดจากคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาที่ดีพอ

หรือเกิดจากทั้งสองอย่าง

แล้วเราจะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร

หากท่านสามารถคิดออกได้ นั่นย่อมแสดงว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีปัญญาอันสูงส่งและจะเป็นที่พึ่งที่หวังของสังคมไทยในอนาคตอย่างแน่นอน.

      จากบทความข้างต้นดิฉันหวังว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์และแง่คิดไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ดิฉันใคร่ขอขอบคุณบทความดีๆ ของท่านผู้พิพากษา โสต สุตานันท์ ไว้ ณ โอกาสนี้ ที่แสดงทัศนะดีๆเกี่ยวกับกฎหมายเเนวพุทธศาสนามาให้อ่านกัน...

หมายเลขบันทึก: 158463เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2008 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นความคิดที่เฉียบคมมากครับ

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ แต่ผมพลาดไม่ได้อ่านเพราะใช้เวลาทำอย่างอื่นเสียมากกว่า ผมอยากจะเขียนบทความที่ใช้ความคิดแบบนี้ แต่เขียนทุกทีออกแต่เรื่องเฮฮาทุกที อิอิ

  สวัสดีครับ

             ผมสนใจเรื่องศาสนาและกฎหมายมาระยะหนึ่งแล้ว เห็นบทความนี้ดีใจมาก และทราบว่าท่านพระธรรมปิฎก เขียนเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครองและกฎหมายที่โยงกับพุทธศาสนาหลาย ๆ เรื่อง

          แต่ก็ไม่ได้ติดตามอย่างจริงจังเสียที

          ต่อไปคงต้องค้นหาแนวคิดแบบนี้ให้มากขึ้น

          สำหรับผมเห็นว่า กฎหมายธรรมชาติจะเป็นกฎหมายที่เอื้อเฟื้อและเหมาะสมสำหรับการคงอยู่ของศิลธรรมและการปกครองมนุษย์ได้ดีที่สุดในทุกสังคม แต่ก็น่าจะต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของสังคมนั้น ๆ ในเรื่องกฎหมายและวัฒนธรรมประเพณีให้มากด้วย  จึงจะบังคับใช้กฎหมายที่อิงศีลธรรมหรือศาสนาได้อย่างจริงจังยั่งยืน

          โดยสังคมต้องไม่ลืมการสร้างค่านิยมทางศิลธรรมและศาสนาให้ต่อเนื่อง โดยต้องใช้ความแยบยลทางศิลปะและวัฒนธรรม และการเสริมสร้างวินัยของสังคมนั้น ๆ ผ่านรูปแบบบทบาทหน้าที่ของหน่วยเล็ก ๆ คือครอบครัวจนถึงระดับบริหารประเทศ

           เรื่องนี้ทำยากแน่นอนครับ  ฐานคิดของนักกฎหมายก็มีหลายสำนักอยู่แล้ว ฐานคิดทางการปกครองก็ถูกโถมด้วยกระแสของอำนาจและเงินทอง

            ต้องช่วยกันครับ รวมกลุ่มคนที่คิดดีคิดถูกคิดตรงมามาก ๆ ให้ได้

              ขอบคุณมากครับ 

  • ตามมาดู
  • เป็นอย่างไรบ้างเงียบๆๆไป
  • มาบอกว่า
  • สิ้นเดือนหน้าได้ไปอบรมครูที่ศรีษะเกศด้วย
  • มาบอกด้วยว่าอยู่แถวๆๆไหนครับ

สวัสดีครับ

แวะมาอ่านเรื่องกฎหมายครับ

เห็นด้วยอย่างสูงครับ กับความเชื่อที่ว่า "สังคมใดมีกฎหมายที่เป็นธรรม สังคมนั้นย่อมอยู่อย่างสันติสุข" แต่ในความเป็นจริงแล้วหากการจัดการไม่เป็นไปอย่างเป็นธรรมด้วย ก็อาจทำให้สังคมไม่มีความสันติสุข ใช่หรือเปล่าครับ ทุกประเทศทั่วโลกมีการพัฒนากฏหมายมามากมายแต่ทำไมสังคมโลกจึงยังเอารัดเอาเปรียบกัน หรือแก่งแย่งชิงดีกันหละครับ ทั้งๆที่รู้ว่าเราอยู่บนโลกใบนี้ได้อีกไม่นาน ดังนั้นกระผมคิดว่าคงต้องทั้งมีทุกอย่างและทุกด้านที่เป็นธรรม ที่พอจะทำให้มีปัญหาน้อยที่สุดครับ ใช่หรือเปล่าครับ ขอบคุณครับ

ขอบคุณมากค่ะคุณธวัชชัย

ขอบคุณมากค่ะคุณวุฒิชัย

ดิฉันก็หวังว่าประเทศไทยจะมีความสงบสุขเช่นเดิมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท