เงาะ - บทเรียนทางพันธุกรรม


ความหลากหลายทางพันธุกรรม คือบ่อเกิดของความเข้มแข็งของเผ่าพันธุ์

ในบทความเรื่อง สัญญาณอวสานเงาะโรงเรียน พูดถึงเงาะโรงเรียนกำลังโดนโรคคุกคามหนัก

เงาะเป็นตัวอย่างที่ดีของการรู้เรียนเรื่องวิวัฒนาการ เพราะประวัติศาสตร์ของเงาะไทย มาขมวดปมเอาเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมานี่เอง

ตอนสมัยผมเด็ก ๆ หลังบ้านมีต้นเงาะปลูกอยู่ไร่กว่า มีเงาะนับสิบสายพันธุ์ ทั้งเงาะล่อน เงาะไม่ล่อน เปลือกบาง เปลือกหนา เงาะแดง เงาะเขียว เงาะเหลือง แบบหวาน แบบเปรี้ยว เนื้อกรอบ เนื้อเหนียว มีหมด (แต่ตายหมดไปนานแล้วครับ)

ตอนนั้นก็ชอบอยู่ไม่กี่อย่าง หลัก ๆ คงเป็นเงาะเจะมง และเงาะสีทอง

คำขวัญสมัยนี้ ที่บอกว่า "สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง" น่ะ ไม่ใช่ของใหม่อะไรหรอก

สมัยนั้น ผมก็รู้จักคำขวัญทำนองนี้แหละ "เงาะดีไม่มีขาย อยากกินก็ปีนเอง"

นึกถึงบรรยากาศบนยอดต้นเงาะแล้วมีความสุขครับ บรรยากาศแบบนั้น เหมาะที่จะพิสูจน์ว่าทฤษฎีวิวัฒนาการของมนุษย์ชาติโดยชาร์ล ดาร์วิน น่าจะมีส่วนจริง (ฮา)

โตขึ้นมาหน่อย อยู่ ๆ เงาะโรงเรียนก็เข้ามา เพียงไม่กี่ปี เงาะอื่นก็หายไป เมื่อต้นเก่าตาย ก็อาจเปลี่ยนไปเป็นเงาะโรงเรียน ในอาณาจักรเงาะ เกิดการผูกขาดโดยเงาะโรงเรียน มีแต่ความซ้ำซากทางพันธุกรรม นั่นคือยุคโลกาภิวัฒน์ (globalization) ของเงาะอย่างแท้จริง

ซ้ำซากขนาดไหน ? ลองนึกดูง่าย ๆ ว่าเงาะปัจจุบันมีกี่รส ?

รสเดียวครับ เป็นรสมาตรฐาน เสมอกันหมด

ต้นทุนของโลกาภิวัฒน์คือความเปราะบางต่อภัยคุกคามแบบฉับพลันที่สปีชี่ส์นั้นปรับตัวรับมือไม่ทัน

ถ้าเกิดโรค เช่น จากไวรัสระบาด และเป็นโรคที่สปีชีส์นั้น รับมือไม่ได้ การเป็นโลกาภิวัฒน์ ก็จะกลายเป็นโลกาวินาศ ไป เพราะสูญพันธุ์หมู่ (mass extinction) 

ลองดูกรณีของเชื้อโรคก็ได้ การที่เชื้อใช้วิธีแบ่งตัว ดูเผิน ๆ เป็นการย้ำคิดย้ำทำทางพันธุกรรม เพราะรุ่นลูกกับรุ่นพ่อแม่ จะมียีนหน้าตาเหมือนกัน เป็น globalization แบบหนึ่ง เพราะหากเจอยาที่ตรงกับเชื้อ เชื้อทั้งหมดก็ตายหมู่ได้

แต่เชื้อเองก็มีกลไกที่ทำให้ภูมิทัศน์ทางพันธุกรรมเปลี่ยนโฉมได้ นั่นคือ มีการกลายพันธุ์ (mutation) แบบนาน ๆ จะพบสักครั้ง (นานของเชื้อนี่หมายถึงเดี๋ยวเดียวของคน เพราะชั่วอายุเชื้อรุ่นหนึ่ง ๆ อาจไม่ถึงครึ่งชั่วโมง) หรือต่อท่อแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกันโดยตรง (F pilus conjugation) (ดู http://en.wikipedia.org/wiki/Pilus) ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ภาคปฎิบัติที่ซ่อนไว้ในระดับ DNA ไปให้เชื้ออื่นในเผ่าพันธุ์เดียวกัน หรือแม้แต่แลกเปลี่ยนข้ามสายพันธุ์ ผลคือ จะมีเชื้อส่วนน้อย ที่แปลกแหวกหมู่พอที่จะรอด และเติบโตต่อไป แม้ในยามที่เจอภาวะคุกคามรุนแรงอย่างไม่เคยพบมาก่อน เช่น เจอยาปฎิชีวนะรุ่นใหม่

การเป็นเชื้อกลุ่มน้อยที่ไม่เหมือนตัวอื่นนี่ อาจดีขึ้น หรืออาจแย่ลงก็ได้

ถ้าแย่ลง ภายใต้การบีบคั้นรุนแรง กลุ่มน้อยนี้ตายไป ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่สปีชีส์โดยรวม

แต่ถ้าดีขึ้น กลุ่มน้อยที่ไม่เหมือนใครนี้แหละ จะรอดไปได้ และทำให้เกิดยุคใหม่ของสปีชีส์เดิม ที่แกร่งขึ้น ทนขึ้น

มองในมุมมองของทฤษฎีเกม การเกิดกลุ่มน้อยที่ไม่เหมือนชาวบ้านแบบนี้ของเชื้อโรค เป็นการวางเดิมพันเพื่อพนันว่า ถ้าเสีย ก็เสียน้อยแต่ถ้าได้ ก็ได้มหาศาล

จากเชื้อเซลล์เดียวที่เหลือรอด ใน 24 ชั่วโมง หมายถึงผ่านไปหลายสิบรุ่นของเชื้อ สามารถงอกงามขึ้นมายึดครองอาณาเขตเดิมได้ต่อ

คนคิดยาปฏิชีวนะใหม่ออกมา สมมติว่าเดือนละตัว สำหรับคนเป็นเรื่องที่เร็วมาก แต่สำหรับเชื้อที่สามารถแตกตัวได้ทุก 30 นาที ก็ถือว่าเป็นเวลาที่นานเหลือเฟือสำหรับการวิวัฒนาการ เพราะเกิน 1000 ชั่วรุ่นของการวิวัฒนาการ  สำหรับเชื้อที่ดื้อยา นานขนาดนี้ ก็เทียบได้กับ "สันติภาพถาวร"

กรณีของเชื้อนี่สอนเราหลายเรื่องถึงทิศทางของวิวัฒนาการการเรียนรู้ของการทำ KM นะครับ

เชื้อทำเรื่อง KM แนวปฎิบัติที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เทคโนโลยีของมนุษย์จะวิวัฒนาการตามทัน การทำ KM ของมนุษย์ เกรงว่ายังไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของสิ่งที่เชื้อทำเป็นด้วยซ้ำ คนต้องใช้วิธีบันทึก มุขปาฐะ บล็อก search engine วิจัย เรียน ประชุม อบรม KM สารพัดวิธี แต่สื่อได้เพียงผิวเผิน แต่เมื่อเชื้อสองตัวเจอกัน จุ๊บกันทีนึง แลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์สำเร็จรูปกันเสร็จในพริบตา เป็นการทำเอฟทีเอ (Fair Trade Agreement; FTA) แบบเสมอภาคมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์โน่นแล้ว

แต่เงาะไม่เหมือนเชื้อโรค เงาะมีวิวัฒนาการร่วมกับสังคมมนุษย์แบบพึ่งพาอาศัยกัน และหากนี่เป็นการใกล้ถึงจุดสุดสายวิวัฒนาการของเงาะแล้ว (อร่อยจนไม่มีคู่แข่งเหลือ) ก็คือมนุษย์ไม่เหลือพันธุ์เงาะที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมพอที่จะสู้รบปรบมือกับโรคคุกคามอีก

ในอดีต เงาะมีมากมายหลายพันธุ์ เมื่อมีโรคระบาด บางพันธุ์ล้มตายไป แต่ก็จะยังมีความหลากหลายพอที่จะเกิดพันธุ์ใหม่ ๆ ทดแทน

สิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่รอดระยะยาวคือการมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสำรองไว้ ไม่ใช่เพื่อชูธงขึ้นมาใช้แทน แต่เพื่อเป็นระบบสำรองในยามที่ภาวะคุกคามที่รุนแรงผิดปรกติถึงขั้นทำให้สูญพันธุ์ได้ (Raup, 1994) และเป็นแหล่งที่ฟื้นฟูความเข้มแข็งทางพันธุกรรมให้พันธุ์ยอดนิยมสามารถวิวัฒนาการต่อได้ (Myers & Knoll, 2001)

การสำรองความหลากหลายทางพันธุกรรม ต่างประเทศใช้วิธีเก็บในธนาคารพันธุกรรม แต่บ้านเราไม่มีปัญหาเรื่องการเก็บให้วุ่นวายแบบนั้น เพราะแหล่งเพาะปลูกธรรมชาตินั่นแหละ คือสุดยอดของสถานที่เก็บ เพราะแทนที่จะเก็บให้ชะงักนิ่ง ยังสามารถวิวัฒนาการตลอดเวลาได้อีกด้วย

หากเพียงแต่เราจะนึกเอื้อเฟื้อ ยอมเว้นที่ให้กับสายพันธุ์ที่ไม่เป็นที่นิยม ให้มีโอกาสเหลือรอดไว้บ้าง....

 

 

อ่านต่อ...

Raup, D.M.,  The role of extinction in evolution. Proc. Nati. Acad. Sci. USA. 1994, 91 (July): 6758-6763. (ดาวน์โหลดได้จาก http://www.pnas.org/cgi/reprint/91/15/6758)

Myers, N., Knoll, A.H.
Colloquium Paper: The biotic crisis and the future of evolution.
Proc. Natl. Acad. Sci. USA. 2001, 98(May): 5389–5392.
(ดาวน์โหลดได้จาก www.pnas.org/cgi/content/full/98/10/5389)

หมายเลขบันทึก: 55806เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2006 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เป็นข้อมูลที่น่าติดตาม และชวนคิดป้องกัน เชื้อที่ทำให้เงาะสูญพันธ์ได้เร็วที่สุดคือความล้มเหลวทางด้านการตลาด ที่บ้านมีเงาะอยู่หลายต้นมีสามสี่พันธ์ แต่ทุกพันธุ์จะอยู่นอกสายตาการขายพันธุ์เพิ่ม เงาะโรงเรียนที่ยังสามารถขายได้เงินอยู่ที่พอถึงฤดูจริง ราคาเงาะจากสวนกับราคาจ้างเก็บบางทีไม่สมดุลกันเลย ถ้าอยากให้ได้กำไรก็ต้องเก็บแล้วแจกฟรี ไม่อย่างนั้นเจ้าของจะบอกว่าเหนื่อยไม่คุ้ม แล้วแบบนี้ใครเขาจะคิดปลูกหรือขยายพันธุ์

ขอขอบคุณอาจารย์ wwibul...

  • เรื่องนี้ลึกซึ้ง + เชื่อมโยงมาก
  • อ่านแล้วทำให้อยากปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย (diversity)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท