9 วิธี เพื่อสุขภาพหัวใจดีๆ


Hiker

วารสารสรรสาระ (Readersdigest ฉบับภาษาไทย) มีคำแนะนำดีๆ เพื่อสุขภาพหัวใจ จากอาจารย์นายแพทย์ไมเคิล เอฟ. รอยเซน ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

อาจารย์ท่านกล่าวว่า ถ้าทำตามแนวทางต่อไปนี้ได้เพียง 7 ข้อแรกจะลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจไปได้ถึง 90% เมื่อเทียบกับคนทั่วไปในวัยเดียวกันทีเดียว

  1. เดินออกกำลัง 30 นาทีทุกวัน… ช่วยลดโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันได้ร้อยละ 30
  2. ตรวจความดันเลือดเป็นประจำ และพยายามควบคุมให้ต่ำกว่า 115/75… ค่าความดันเลือดมีผลต่อความเสี่ยงโรคหัวใจมากกว่าไขมันในเลือด (โคเลสเตอรอล) การออกกำลังเป็นประจำและการลดไขมันรอบพุง(รอบเอว)มีส่วนช่วยลดความดันเลือดได้
  3. กินถั่วเปลือกแข็งวันละ 1 กำมือ (น่าจะเป็น nut เช่น ถั่วอัลมอนด์ เฮเซลนัท ฯลฯ – ข่าวร้ายคือ มันแพง – ผู้เขียน) ถั่วเปลือกแข็งช่วยลดการอักเสบ และเพิ่มโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) มีน้ำมันชนิดดีมาก (โอเมกา-3) โปรตีน และเส้นใย(ไฟเบอร์) ให้เลือกถั่วชนิดไม่เติมเกลือจึงจะได้ผลดี
  4. ตรวจไขมันในเลือด และพยายามทำให้โคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) สูงกว่า 50 โดยการออกกำลังเป็นประจำ ใช้น้ำมันที่มีประโยชน์ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา ฯลฯ (เมืองไทยมีน้ำมันที่มีราคาถูก และคุณภาพดีพอสมควรคือ น้ำมันรำข้าว - ผู้เขียน)
  5. ใช้ไหมขัดฟัน (dental floss) ทุกวัน เพื่อป้องกันคราบจุลินทรีย์ (plaque) และโรคปริทนต์ หรือโรคเหงือกและเนื้อเยื่อรอบโคนฟันอักเสบ โรคปริทนต์ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง การอักเสบเรื้อรังปล่อยสารเคมีไปในเลือดทำให้เส้นเลือดเสื่อมเร็วขึ้น
  6. กินเนื้อมะเขือเทศบดสัปดาห์ละ 10 ช้อนโต๊ะ หรือกินมะเขือเทศในรูปแบบอื่น เช่น น้ำมะเขือเทศ ฯลฯ เพื่อให้ได้โพแทสเซียม (potassium / K) เพียงพอ โพแทสเซียมมีส่วนช่วยป้องกันโรคความดันเลือดสูง และมะเร็งต่อมลูกหมาก (ผู้เขียนขอเสริมหน่อย)
  7. กินกรดไขมันอิ่มตัวไม่เกินวันละ 20 กรัม และกินไขมันแปลงสภาพ (ทรานส์ / transfat) ให้น้อยที่สุด กรดไขมันอิ่มตัวพบมากในเนื้อสัตว์ใหญ่ กะทิ น้ำมันปาล์ม และนมไขมันเต็มส่วน ไขมันทรานส์พบมากในครีมเทียม ขนมอบเบเกอรี่ ขนมสำเร็จรูป
  8. อ่านฉลากอาหาร (food label) เลือกอาหารที่มี "3 มหาอำนาจ" ต่ำหน่อยได้แก่ น้ำตาลต่ำ ไขมันต่ำ และเกลือต่ำ
  9. กินผักและผลไม้วันละ 5 ทัพพี โดยเลือกให้มีสีหลากหลายต่างกันไปตามสีรุ้งได้แก่ ม่วง-คราม-น้ำเงิน(1) + เขียว(2) + เหลือง(3) + แสดหรือส้ม(4) + แดง(5) และอย่าลืม "สีขาว" ซึ่งเป็นสีพืชพันธุ์เพื่ออายุยืนยาวได้แก่ หอม กระเทียม กล้วย

อาจารย์นายแพทย์รอยเซนกล่าวว่า ไขมันรอบพุงหรือไขมันรอบเอว ซึ่งอยู่ในช่องท้องบริเวณหน้ากระเพาะอาหาร ทำหน้าที่ส่งไขมันไปสะสมไว้รอบไต ตับ และอวัยวะภายใน

ไขมันรอบพุงหรือไขมันรอบเอวเพิ่มตามน้ำหนักตัว หรือเพิ่มตามความอ้วน และการไม่ออกกำลัง ไขมันเหล่านี้จะไปสะสมรอบๆ ไต ทำให้เกิดแรงกดต่อเนื้อไต

เมื่อไตได้รับแรงกดจากไขมันรอบๆ ไตจะทำให้ไตรู้สึก "อึดอัด" และปล่อยฮอร์โมนเพิ่มความดันเลือดออกมา ทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้น

วิธีลดไขมันรอบพุง หรือไขมันรอบเอวอาศัยหลักการสำคัญ 2 ประการได้แก่

  1. ลดความอ้วน หรือลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหาร
  2. ออกกำลัง และออกแรงในชีวิตประจำวัน เช่น ถูพื้น ล้างรถ เดิน เดินขึ้นลงบันได ฯลฯ

การออกกำลังที่ดีที่สุดในการลดไขมันรอบพุง หรือไขมันรอบเอวคือ การเดิน เดินขึ้นลงบันได และออกกำลังต้านแรง เช่น ยกน้ำหนัก ฯลฯ

ผู้หญิงหรือเด็กๆ ก็ยกน้ำหนักได้ โดยนำขวดน้ำดื่มมาใส่น้ำ เริ่มจากน้อยคือ 0.5 ลิตร ไปหามากคือ เพิ่มคราวละ 0.5 ลิตรเป็นขวดขนาด 1-1.5 ลิตรตามลำดับ

นำขวดน้ำมาถือไว้ และเดินแกว่งแขนไปมาทุกวัน ตามด้วยการยกขวดน้ำดื่มขึ้นลงในท่ายืน นั่ง นอน ยกหลายๆ ท่า

นอกจากนั้นการเดินขึ้นลงบันได และยกตุ้มน้ำหนักขนาด 3-4 กิโลกรัมมาบริหารเพิ่มก็มีส่วนช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อได้

กล้ามเนื้อเผาผลาญกำลังงานได้เร็วกว่าเนื้อเยื่อไขมัน จึงมีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนัก และลดไขมันรอบพุง หรือไขมันรอบเอวได้

ถึงตรงนี้… ขอให้พวกเรามีสุขภาพหัวใจดีไปนานๆ ครับ

    แนะนำให้อ่าน...                                           

    แหล่งที่มา:                                                   

  • ขอขอบพระคุณ (thank / courtesy of) > อาจารย์นายแพทย์ไมเคิล เอฟ.รอยเซน. 10 ข้อ หัวใจแข็งแรง. สรรสาระ Reader’s Digest (www.readersdigest.co.th) . เมษายน 2550. หน้า 23-25.
  • ขอขอบพระคุณ > โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี + อาจารย์เทวินทร์ IT + พต.ศรัณย์ มกรพฤฒิพงษ์ โร > สนับสนุนทางเทคนิค + อินเตอร์เน็ต.
  • ขอขอบพระคุณ > ศูนย์มะเร็งลำปาง + อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี IT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนทางเทคนิค + อินเตอร์เน็ต.  
  • แนะนำให้อ่าน "บ้านสาระ" > [ Click - Click ]
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ จัดทำ > ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ > ปรับปรุงแก้ไข 8 พฤษภาคม 2550.

หมายเลขบันทึก: 87582เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2007 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์ รวมเรื่องสุขภาพ ได้ดีจริง

เอาไปใช้เป็น แหล่งอ้างอิงหลายครั้งแล้ว

ขอบพระคุณค่ะ

ถามเพิ่ม ว่า ถั่วเปลือกแข็งแทนด้วย ถั่วลิสง ได้ไหม ดูคุณสมบัติที่ต้องการน่าจะ โอเคนะคะ

ขอขอบคุณอาจารย์รวิวรรณ และท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • ขอขอบพระคุณมากสำหรับคำถามที่โดดเด่นมาก
  • คุณสมบัติของถั่วเปลือกแข็ง (nut) ที่นักโภชนาการแนะนำให้กินวันละ 1 กำมือคล้ายกับถั่วเพียงชนิดเดียวคือ "ถั่วลิสง" อย่างที่อาจารย์ตั้งข้อสังเกตไว้ทีเดียว

นั่นคือ...

  • (1). ไขมันอิ่มตัวต่ำ
  • (2). มีเส้นใย(ไฟเบอร์) + โปรตีนพอประมาณ
  • (3). มีน้ำมันชนิดดีมากหรือ ไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (monounsaturated fatty acids / MUFA) สูง... ไขมันชนิดนี้ลดโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) และมีแนวโน้มจะเพิ่มโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)

น้ำมันจากถั่วเปลือกแข็งและถั่วลิสง...

  • น้ำมันจากถั่วเปลือกแข็งและถั่วลิสงต่างจากน้ำมันพืช เช่น ถั่วเหลือง ทานตะวัน ฯลฯ

น้ำมันพืชทั่วไป...

  • (1). มีไขมันชนิดดีมาก หรือไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (MUFA) สูง ไขมันชนิดนี้ดีกับโคเลสเตอรอล
  • (2). มีไขมันชนิดดีปานกลาง หรือไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fatty acid / PUFA) ค่อนไปทางต่ำ ไขมันชนิดนี้ลดโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ด้วย ลดโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ด้วย และเกิดสารก่อมะเร็งได้ง่าย เมื่อทอด ผัดด้วยความร้อนสูง (เนื่องจากโมเลกุลไม่ค่อยเสถียร ไม่แข็งแรง หรือมี stability ต่ำ)

คนพม่า:

  • คนในเอเชียที่นิยมกินน้ำมันถั่วลิสงมากที่สุดคือ คนพม่า
  • ท่านพระอาจารย์อาคมจากจันทบุรีที่ไปศึกษาในมัณฑเลย์ และมาลัมยายเล่าว่า คนพม่าในชนบทยังคงหีบถั่วลิสง เพื่อนำน้ำมันไปใช้ โดยไม่ใช้ความร้อน (cold compression) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้คล้ายกับการสกัดน้ำมันมะกอกแบบแพง (extra virgin)

น้ำมันรำข้าว...

  • มีคุณสมบัติดีรองลงไป แพ้น้ำมันถั่วลิสงนิดหน่อยในแง่ชนิดของน้ำมัน (MUFA)
  • น้ำมันรำข้าวหีบแบบไม่ใช้ความร้อนมีจำหน่ายที่เซ็นทรัล ขวดละ 80+ บาท (ขวดลิตร)

ที่มา:

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท