ธรรมะขีดเส้นใต้ ๕ : คุณเป็นสัตว์ประเสริฐหรือเปล่า?


คนเรานี่เห็นแก่ตัวจริงๆ ชอบแบ่งประเภทผู้อื่น ว่าเขาเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง ว่าเขาเป็นสัตว์นรกบ้าง แล้วยกย่องตัวเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ!

มีรุ่นพี่ที่เคารพท่านหนึ่งเคยบ่นให้ฟังว่า...

"คนเรานี่เห็นแก่ตัวจริงๆ  ชอบแบ่งประเภทผู้อื่น ว่าเขาเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง  ว่าเขาเป็นสัตว์นรกบ้าง  แล้วยกย่องตัวเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ!"

ตอนนั้นผมก็ตอบคำถามรุ่นพี่ท่านนี้ได้ไม่เต็มปากนัก  เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเหตุไรมนุษย์เราถึงได้บังอาจเรียกตัวเองว่าสัตว์ประเสริฐ  ผมได้แต่แย้งในใจว่ามันต้องมีหลักอะไรสักอย่างซิ  ไม่งั้นพุทธศาสนาเราจะกล่าวถึงทำไม

มาวันนี้ผมเจอคำตอบมานำเสนอแล้วครับ


คนผู้เป็นสัตว์ประเสริฐ

(สมาชิกในสังกัดมนุษยชาติ)

        มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ  ซึ่งแตกต่างจากสัตว์ทั้งหลายอื่น  สิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ  ได้แก่  สิกขา  หรือการศึกษา  คือการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา  มนุษย์ที่ฝึก  ศึกษา  หรือพัฒนาแล้ว  ชื่อว่าเป็น  "สัตว์ประเสริฐ"  เป็นผู้รู้จักดำเนินชีวิตที่ดีงามด้วยตนเอง  และช่วยให้สังคมดำรงอยู่ในสันติสุขโดยสวัสดี

        มนุษย์ที่ชื่อว่าฝึก  ศึกษา  หรือพัฒนาตน  โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน  ผู้เป็นสมาชิกใหม่ของมนุษยชาติ  พึงมีคุณสมบัติที่เป็นต้นทุน ๗ ประการ ที่เรียกว่า  แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม  หรือ  รุ่งอรุณของการศึกษา  ซึ่งเป็นหลักประกันของชีวิตที่จะพัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  ผู้เป็นสัตว์ประเสริฐอย่างแท้จริง  ดังนี้

        ๑. กัลยาณมิตตตา (มีกัลยาณมิตร)  แสวงแหล่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี  คือ  อยู่ร่วมหรือใกล้ชิดกัลยาณชน  เริ่มต้นแต่มีพ่อแม่เป็นกัลยาณมิตรในครอบครัว  รู้จักคบคน  และเข้าร่วมสังคมกับกัลยาณชน  ที่จะมีอิทธิพลชักนำและชักชวนกันให้เจริญงอกงามในการพัฒนาพฤติกรรม  จิตใจ  และปัญญา  โดยเฉพาะให้เรียนรู้และพัฒนาการสื่อสารสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา  มีศรัทธาที่จะดำเนินตามแบบอย่างที่ดี  และรู้จักใช้ปัจจัยภายนอก  ทั้งที่เป็นบุคคล  หนังสือ  และเครื่องมือสื่อสารทั้งหลาย  ให้เป็นประโยชน์ในการแสวงหาความรู้และความดีงาม  เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิต  แก้ปัญหาและทำการสร้างสรรค์

        ๒. สีลสัมปทา (ทำศีลให้ถึงพร้อม)  มีวินัยเป็นฐานของการพัฒนาชีวิต  คือ  รู้จักจัดระเบียบความเป็นอยู่กิจกรรมกิจการและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อโอกาสแก่การพัฒนาชีวิต  อย่างน้อยมีศีลขั้นพื้นฐาน  คือมีพฤติกรรมที่ถูกต้องในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม  ด้วยการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์อย่างเกื้อกูลไม่เบียดเบียนกัน  และในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ  ส่งเสริมคุณภาพชีวิต  เกื้อหนุนการศึกษา  การสร้างสรรค์ และระบบดุลยสัมพันธ์ของธรรมชาติ

        ๓. ฉันทสัมปทา (ทำฉันทะให้ถึงพร้อม)  มีจิตใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์  คือ  เป็นผู้มีพลังแห่งความใฝ่รู้  ใฝ่ทำ  ใฝ่สร้างสรรค์  ใฝ่สัมฤทธิ์  ใฝ่ความเป็นเลิศ  อยากช่วยทำทุกสิ่งทุกคนที่ตนประสบเกี่ยวข้องให้เข้าถึงภาวะที่ดีงาม  ไม่หลงติดอยู่แค่คิดจะได้จะเอาและหาความสุขจากการเสพบริโภค  ที่ทำให้จมอยู่ใต้วังวนแห่งความมัวเมาและการแย่งชิง  แต่รู้จักใช้อินทรีย์  มีตาที่ดู  หูที่ฟัง  เป็นต้น  ในการเรียนรู้  หาความสุขจากการศึกษา  และมีความสุขจากการทำสิ่งที่ดีงาม  ด้วยการใช้สมองและมือในการสร้างสรรค์

        ๔. อัตตสัมปทา (ทำตนให้ถึงพร้อม)  มุ่งมั่นฝึกตนจนเต็มสุดภาวะที่ความเป็นคนจะให้ถึงได้  คือ  ระลึกอยู่เสมอถึงความจริงแท้แห่งธรรมชาติของมนุษย์ผู้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้  และต้องฝึก  ซึ่งเมื่อฝึกแล้วจะประเสริฐเลิศสูงสุด  แล้วตั้งใจฝึกตนจนมองเห็นความยากลำบาก อุปสรรค และปัญหา  เป็นดุจเวทีที่ทดสอบและพัฒนาสติปัญญาความสามารถ  มีจิตสำนึกในการพัฒนาตนยิ่งขึ้นไป  จนเต็มสุดแห่งศักยภาพ  ด้วยการพัฒนาที่พร้อมทุกด้าน  ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา

        ๕. ทิฏฐิสัมปทา (ทำทิฎฐิให้ถึงพร้อม)  ถือหลักเหตุปัจจัยมองอะไรๆ ตามเหตและผล  คือ  ตั้งอยู่ในหลักความคิดความเชื่อถือที่ดีงามมีเหตุผล  อย่างน้อยถือหลักเหตุปัจจัย  ที่จะนำไปสู่การพิจารณา ไตร่ตรอง สืบสวน ค้นคว้า เป็นทางเจริญปัญญา  และเชื่อการกระทำว่าเป็นอำนาจใหญ่สุดที่บันดาลชะตากรรม  กับทั้งมีพฤติกรรมและจิตใจที่อยู่ในอำนาจเหตุผล  แม้จะใฝ่ทำให้สำเร็จและดีงามสูงสุด  ก็รู้เท่าทันความเป็นไปได้ภายในขอบเขตของเหตุปัจจัยที่มีและที่ทำ  ถึงสำเร็จก็ไม่หลงลอย  ถึงพลาดก็ไม่หงอยงง  ดำรงจิตผ่องใสเป็นอิสระได้  ไม่วู่วามโวยวายเอาแต่ใจตน  ตลอดจนไม่ปล่อยตัวเลื่อนไหลไปตามกระแสความตื่นข่าวและค่านิยม

        ๖. อัปปมาทสัมปทา (ทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม)  ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท  คือ  มีจิตสำนึกในความไม่เที่ยง  มองเห็น ตระหนักถึงความไม่คงที่ ไม่คงทน และไม่คงตัว  ทั้งของชีวิตและสิ่งทั้งหลายรอบตัว  ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอกตลอดเวลา  ทำให้นิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้  และมองเห็นคุณค่าความสำคัญของกาลเวลา  แล้วกระตือรือร้นขวนขวาย  เร่งศึกษาและป้องกัน แก้ไขเหตุปัจจัยของความเสื่อม  และเสริมสร้างเหตุปัจจัยของความเจริญงอกงาม  โดยใช้เวลาทั้งคืนวันที่ผ่านไปให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

        ๗. โยนิโสมนสิการสัมปทา (ทำโยนิโสมนสิการให้ถึงพร้อม)  ฉลาดคิดแยบคายให้ได้ประโยชน์และความจริง  คือ  รู้จักคิด  รู้จักพิจารณา  มองเป็น  คิดเป็น  เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นไปในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย  โดยใช้ปัญญาพิจารณาสอบสวน ค้น วิเคราะห์ วิจัย  ไม่ว่าจะเพื่อให้เห็นความจริง  หรือเพื่อให้เห็นแง่ด้านที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์  กับทั้งสามารถแก้ไขปัญหา  และจัดทำดำเนินการต่างๆ ให้สำเร็จได้ด้วยวิธีการแห่งปัญญา  ที่จะทำให้พึ่งตนเองและเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้

(สํ.ม. ๑๙/๑๒๙-๑๓๖/๓๖-๓๗) 
หนังสือ ธรรมนูญชีวิต
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)
หน้า ๑๕-๑๗

ผมไม่แน่ใจว่าคำตอบนี้เป็นที่พึงพอใจของรุ่นพี่ท่านนั้นหรือเปล่า  แต่สำหรับผมกระจ่างแจ้งเลยครับ

ถ้ายึดตามคุณสมบัติ แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม แล้ว ผมชักไม่แน่ใจว่าผมเป็นสัตว์ประเสริฐหรือเปล่า  แต่ก็พยายามทำให้สมบูรณ์ทั้ง ๗ ข้อครับ

แล้วคุณล่ะครับคุณให้คะแนนตัวเองไว้กันอย่างไรบ้างครับ?

คราวหน้าผมจะกล่าวถึงว่าความเป็นมนุษย์หรือคนที่สมบูรณ์นั้นท่านวางหลักไว้อย่างไรบ้างครับ

 

ธรรมะสวัสดีครับ
ธรรมาวุธ
หมายเลขบันทึก: 83599เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2007 01:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

พระพุทธเจ้าบอกว่า  มนุษย์คือสัตว์แห่งการเรียนรู้   ใช่ไหมคะ

?  ทางตะวันตก  บอกว่า  มนุษย์คือสัตว์สังคม 

ไปได้ยินตอนดูรายการหนึ่งทางช่อง 7

ขออนุญาติบันทึกและมาทักทายคะ

  • สวัสดีครับ น้องธรรมาวุธ
  • นั่นแสดงว่าคนทุกคนไม่สามารถเป็นสัตว์ประเสริฐได้ทุกคนใช่ไหมครับ หากขาดข้อใดข้อหนึ่งไป
  • หรือว่าเราเองก็ไม่สามารถเป็นสัตว์ประเสริฐและประเสริฐได้ตามกาลเวลาใช่ไหมครับ
  • ไม่ได้หมายถึงว่าได้ชื่อว่าคนเป็นสัตว์ประเสริฐหากเป็นแบบนี้น่าจะยอมรับในเหตุผลได้ครับ
  • แล้วสัตว์ที่ไม่ใช่คนหล่ะครับ มีโอกาสเป็นสัตว์ประเสริฐไหม หากพิจารณาตามเจ็ดข้อนี้ในสถานการณ์ของสัตว์นั้นๆ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ

  • ยินดีครับคุณ nuch รุจิราพร โชคพิพัฒน์พร การที่เราจะเป็นสัตว์ประเสริฐได้นั้น เราต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเอง(ในทางที่ดี) นอกจากจะพัฒนาตนเองแล้ว  พร้อมกันนั้นก็ต้องพัฒนาสังคม(ในส่วนที่เรามีกำลังพอ ไม่งั้นจะเบียดเบียนตนเองอีก) ไปพร้อมกันด้วยครับ ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างครับ นอกจากพระองค์ท่านจะถึงจุดสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์แล้ว พระองค์ยังทรงโปรดสั่งสอนบรรดาสัตว์โลกทั้งหลายซึ่งก็หมายถึงสังคมเช่นกันครับ
  • สวัสดีครับพี่เม้ง ถ้ามองตามบทความข้างต้น หากเราอยากเป็นสัตว์ประเสริฐแล้ว ก็ควรทำให้ครบทุกข้อครับ แต่ก็อยู่ที่ว่าจะทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแค่ไหนครับ คงเหมือนกับตัดเกรดให้นักศึกษาแหละครับ มีน้อยคนนักที่ได้เต็มร้อย แต่ส่วนใหญ่ก็ผ่านไม่ใช่หรือครับ?
  • ส่วนคำถามที่ว่า สัตว์ที่ไม่ใช่คนมีโอกาสเป็นสัตว์ประเสริฐไหม? นั้นขอตอบไว้ก่อนว่าได้ครับ แต่ถ้าจะตอบสั้นๆ ก็กระไรอยู่ ในที่แห่งนี้มีนักวิชาการแทบทั้งนั้น หลักฐานต้องแน่นสักหน่อย ผมขอยกยอดไปรวมกับคำถามก่อนหน้าของลีย์ไว้ก่อนแล้วกันครับ เพราะต้องอ้างถึงการเวียนว่ายตายเกิดเช่นกัน ขอรวบรวมข้อมูลก่อนนะครับ(เรื่องนี้ยากครับ)

ธรรมะสวัสดีครับ

  • ขอบคุณมากครับ
  • แสดงว่าเจ็ดข้อ ทำได้ซักสี่ข้อก็เป็นสัตว์ประเสริฐได้หรือเปล่าครับ หรือว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ 60% อิๆ 
  • แล้วจะรอฟังคำตอบนะครับ

 

ขอตอบแบบประสาผมนะครับ

  • จริงๆ แล้วคงไม่เหมือนตัดเกรดนักศึกษาเป๊ะๆ ครับ
  • คิดให้เหมือนศีลห้าแล้วกันครับ ขาดข้อหนึ่งข้อใด ก็ถือว่าขาดศีลครับ
  • ควรมีให้ครบทุกข้อ และแต่ละข้อต้องมากกว่า 50%
  • อ้อ อิงเกณฑ์นะครับ ไม่ใช่อิงกลุ่ม
  • แบบนี้มีเหตุผลดีครับ
  • แต่การขาดศีลนั้น เหมือนมีน้ำเต็มโอ่งหรือเปล่าครับ หากน้ำเต็มโอ่งถือว่าศีลเต็มหรือเปล่าครับ
  • แต่หากน้ำหายไปหนึ่งขัน หมายถึงขาดศีลไปหนึ่งขันหรือเปล่าครับ
  • ขอบคุณครับ

ถ้าเป็นมวยนี่ผมคงกำลังถูกคู่ต่อสู้ต้อนเข้ามุมซินะเนี่ย

  • ถ้าเปรียบเหมือนน้ำในโอ่งผมว่ามันเห็นภาพไม่ชัด ขอเปรียบเป็นนิ้วทั้งห้าของมือก็แล้วกันครับ
  • ขาดนิ้วหนึ่งนิ้วใดไป หรือนิ้วหนึ่งนิ้วใดผิดปกติ เราคงดำเนินชีวิตให้เหมือนคนปกติทั่วไปลำบากครับ
  • แค่พยายามเปรียบให้เห็นภาพน่ะครับ

สวัสดีค่ะ

ตามมาอ่านและช่วยออกความเห็นเจ้าค่ะ..

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ.. เพราะฝึกฝนตัวเองได้ ไม่ใช่เพียงแค่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ถือว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ความเข้าใจผิดอันนี้ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว..

ส่วนศีล  คือปกติ สมำ่เสมอ หมายถึงควรเป็นสิ่งที่ปฏิบัติจนเป็นปกตินิสัย เนื่องเพราะทั้ง 5 ข้อเป็นทางในการทอนกิเลส ตัณหาลง..เพราะฉะนั้น หรือฉะนี้ก็ตามศีลไม่ได้เก็บสะสมอยู่ในตัวได้เหมือนเงินในธนาคารหรือน้ำในโอ่ง แต่ศีลต้องปฏิบัติจึงจะเกิดศีล และเมื่อปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดเป็นนิสัย..ถ้าวันนั้น ขณะนั้นเราปฏิบัติได้เพียง 2 ข้อก็ถือว่าในตอนนั้นขณะนั้นเรามีศีลเพียง 2 ข้อ แต่ไม่ได้หมายความว่าศีล 2 ข้อนั้นจะอยู่กับเราไปจนตาย..และอย่าลืมอีกอย่างหนึ่งว่าศีลจะเกี่ยวข้องกับสิ่งเร้าที่เราพบเจอ เพราะฉะนั้นจะรู้ว่ามีศีลที่แท้จริงหรือไม่ก็ต่อเมื่อเผชิญกับสิ่งเร้าแล้วยังสามารถรักษาไว้ได้ต่างหากจึงจะถือว่าเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์อย่างแท้จริง..

ขออภัยคุณธรรมาวุธด้วยค่ะที่มาช่วยตอบในบล็อก..และขอบคุณคุณเม้งที่ทำให้ได้ออกกำลังสมองอีกครั้งหนึ่ง..

 

สาธุครับคุณ เบิร์ด

  • อย่างที่ผมเคยออกตัวไว้ว่าความรู้ทางธรรมนั้นผมมีอยู่น้อยนัก ทำได้แต่เพียงแต่นำธรรมะของปราชญ์ท่านอื่นมานำเสนอ และแสดงความคิดเห็นเล็กๆ น้อยๆ
  • แต่แรกใจก็หวั่นๆ เหมือนกันว่าการแสดงความคิดของเราผู้ปัญญาน้อยจะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปหรือไม่
  • แต่ถ้าไม่เริ่มทำก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มตอนไหนดี
  • จากที่เป็นนักมวยอ่อนซ้อมที่ถูกต้อนจนมุม ตอนนี้ผมเริ่มมีพี่เลี้ยงคอยตะโกนแนะนำแล้วครับ
  • ขอบคุณคุณเบิร์ดมากครับ  ว่างๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็นอีกนะครับ

แต่ผมว่าอย่างน้อยเราไม่ใช่สัตว์ เดรัจฉาน (เวลาอื่นๆ) อย่างแน่นอนครับ แต่จะเป็นก็เวลานอน เพราะเดรัจฉาน แปลว่า มีกายทอดขนานไปกับพื้นโลก

สงสัยต่อไปต้องนั่งๆยืนๆหลับ ห้ามนอนราบ

ขอให้ทุกคนรักษาศีล ทำได้มั่งไม่ได้มั่งก็เรื่องธรรมดาครับ ไม่มีอะไรในโลกเที่ยงแท้ แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ยกเว้น ความตาย เป็นของเที่ยงครับ ต้องดำเนินชีวิตไม่ประมาทเป็นดีที่สุดๆๆ

ยินดีต้อนรับครับ คุณนักลงทุนเงินน้อย

  • คำว่า สัตว์เดรัจฉาน นี่ท่านคงแบ่งตามภพภูมิครับ
  • ไม่งั้นคนพิการ หรือคนป่วย ที่ต้องนอนราบตลอดเวลาคงเป็นสัตว์เดรัจฉานกันหมด
  • แล้วผมคนที่นอนมาก วันๆ คงเป็นสัตว์เดรัจฉานไปหลายชั่วโมง อิอิ
  • ถูกต้องแล้วครับ เราต้องดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทครับ

สวัสดีค่ะ

แอบเข้ามาดูอีกครั้งเพราะเกรงว่าเจ้าของบล็อกจะติติงอะไรหรือเปล่าโทษฐานที่ถือวิสาสะมาช่วยตอบ..

ขอบคุณมากค่ะที่กรุณาไม่ถือโทษ ^ ^..ส่วนเดรัจฉานนั้นเป็นการแบ่งตามภพภูมิจริงๆค่ะ มิได้หมายแต่เพียงว่ามีกระดูกสันหลังขนานกับพื้นโลกเท่านั้น..เพราะงั้นคนชอบนอน( อย่างเบิร์ด )จึงรอดตัว แต่รู้สึกว่าอาจจะโดนหางเลขจากคำว่า...........ยาว ค่ะ ^ ^

อ้อ ! ยังมีอีกคำถามของคุณเม้งที่ถามว่าสัตว์ที่ไม่ใช่คนมีโอกาสเป็นสัตว์ประเสริฐไหม? เห็นด้วยค่ะที่คุณตอบว่า " มี " เพราะในพระไตรปิฎกหรือนิทานธรรมรวมทั้งประวัติของพระพุทธเจ้าก็มีอ้างอิงไว้ ตั้งแต่ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเสวยชาติเกิดเป็นกวาง ( ในพรานบุญ ) , พญาช้าง ฯลฯ ภพภูมิที่เป็นสัตว์นั้นด้อยโอกาสกว่ามนุษย์ในด้านการเข้าถึงธรรม การสนทนาธรรม การปฏิบัติธรรม และการเกิดเป็นสัตว์ก็มีเหตุปัจจัยอีกมากมาย..ไว้เบิร์ดจะรออ่านที่คุณธรรมาวุธเขียนตอบคุณเม้งนะคะ ^ ^

  • แสดงว่าตอนนี้แสดงว่าผมก็ยังไม่เป็นสัตว์ประเสริฐที่สมบูรณ์เท่าไหร่สิครับ
  • เพราะในทุกข้อที่กล่าวถึงยังไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์เลย
  • โดยเฉพาะ  สีลสัมปทา,  อัปปมาทสัมปทา 
  • ขอบคุณสำหรับธรรมะรายวัน  สร้างความมุ่งมัน  สร้างศรัทธาครับ
  • ขอบคุณทุกๆ คำตอบครับ น่าสนใจทีเดียว
  • เนื่องด้วยผมเป็นคนช่างสงสัย ก็ต้องถามกันต่อไปเพื่อบริหารสมองกันนะครับ
  • จริงๆผมไม่ค่อยชอบคำว่า เดรัจฉาน เท่าที่ควร ที่จะตัดสินสัตว์เหล่านั้นว่าเดรัจฉานเพราะทำตัวขนานกับพื้นโลกโดยธรรมชาติ ผมเกรงว่าเราจะเข้าข้างตัวเราเองหรือว่าเราไปว่าสัตว์โดยไม่ได้ถามความเห็นสัตว์หรือเปล่า
  • ขอคำขยายเรื่องภูมิภพด้วยนะครับ ว่าภูมิไหนคือเดรัจฉานนะครับ รู้ไว้ใช่ว่านะครับ ผมจะได้ทราบ ไม่เคยได้ศึกษาเรื่องนี้เลยครับ
  • อยากจะทราบเช่นกันครับ ว่าเหตุที่มาจริงๆ ทำไมถึงคิดว่าเป็นเช่นนั้นครับ
  • ขอบคุณมากครับ

หากพระพุทธศาสนาเคยกล่าวไว้ในอดีตว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เหตุผลตามที่ท่านได้กล่าวไว้เบื้องต้นแล้ว เช่นนั้น ทำไมในอดีตพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านถึงไม่ยอมบวชให้กับพญานาคราชที่ต้องการอุปสมบท โดยให้เหตุผลว่า นาค เป็นสัตว์เดรัจฉาน ทั้งที่ นาคราช เป็นผู้ฝึกฝน บำเพ็ญตน ศึกษาหาความรู้และมีความมุ่งมั่น อุตสาห มากกว่ามนุษย์เสียด้วยซ้ำไป การกระทำเช่นนี้ เป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือเปล่า รับไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นสายพันธุ์เดียวกับตนเอง เป็นอย่างนี้ใช่หรือเปล่าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท