สร้างสำนึก...ให้ลูกชาวนา


เรียนรู้ภูมิปัญญาในการทำนา

                 บ้านถืมตอง หมู่ที่ ๑ ตำบลถืมตอง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน ได้จัดกิจกรรมเวทีเรียนรู้ที่ใช้ชื่อว่า เรียนรู้ภูมิปัญญาในนาข้าว โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนและแกนนำครอบครัว โดยมุ่งหวังที่จะสร้างให้เด็กได้เรียนรู้ถึงวิถีชาวนา ตั้งแต่เริ่มต้นคิดจะทำนา ชาวนาต้องทำอะไรกันบ้าง กระบวนการเรียนรู้วันนี้ ได้กำหนดให้กลุ่มเป้าหมายไปเรียนรู้ที่แปลงนาทั้งทฤษฎี และภาคปฏิบัติ

                   เริ่มต้นจากการเดินทาง ทุกคนใช้จักรยาน เป็นพาหนะคู่ใจพาไปสู่แปลงนาของ พ่อผู้ใหญ่หลุย ปัญญาวัย หนึ่งในแกนนำครอบครัวเข้มแข็งบ้านถืมตอง ที่ใช้แปลงนาของตนเองเป็นทั้งโรงเรียนโรงเล่นให้กับเด็ก ๆ พร้อมกับแกนนำคนอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งครูถ่ายทอดความรู้ในวิชาที่ตนเองถนัด ซึ่งวิชาที่พ่อครู แม่ครู หลายคนถ่ายทอดให้เด็ก 

              ๑. วิชา การเตรียมดิน แปลงหว่านกล้า เครื่องมือที่ต้องใช้ เช่น ไม้เกลี่ยหน้าดิน ยกแปลงขึ้นสูงเล็กน้อย ปรับให้ดินอยู่ในระดับเดียวกัน ให้เม็ดข้าวอยู่ในระดับที่สม่ำเสมอ รอบแปลงหว่านกล้าเป็นร่องระบายน้ำ   มีเครื่องมืออีกหลายอย่าง เช่น คาด ไถ  เฟือ แอก ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำนาในสมัยก่อน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าเครื่องมือเหล่านี้บางอย่างถูกเปลี่ยนบทบาทไปเป็นของโชว์ตามร้านอาหาร ตกแต่งบ้าน เป็นเก้าอี้ ม้านั่ง ตามแต่ช่างจะเลือกซื้อไปใช้ให้เกิดประโยชน์อีกบทบาทหนึ่ง

                 ๒. วิชาการหว่านกล้า  วันนี้เด็ก ๆ ได้เรียน ๒ วิธีคือ แบบหว่าน และแบบถุนกล้า ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น ทั้งสองวิธีคือการเพราะเม็ดข้าวให้ออกมาเป็นต้นกล้า เมื่อเม็ดข้าวลงสู่ดินจะใช้เวลา ประมาณ ๓๐วัน ถึงจะได้เป็นต้นกล้าพร้อมถอนเตรียมลงสู่แปลงนากลายเป็นต้นข้าวเขียวเต็มท้องทุ่ง 

              ๓. วิชาถอนต้นกล้า มัดกล้า และตัดปลายกล้า  เมื่อต้นกล้าพร้อมที่จะปลูกแล้วชาวนาก็จะช่วยกันถอน มัดเป็นกำพอประมาณ พ่อบ้านจะทำหน้าที่ตัดปลายกล้า เรียกว่า  ตัดหางกล้า เพื่อให้ต้นกล้าต้านทานแรงลมได้ ถ้าไม่ตัดปลายกล้าอ่อนจะทำให้ลู่ลมและล้มง่าย

                 ๔. วิชาการปลูกข้าว เริ่มต้นตั้งแต่การตกกล้า หมายถึงการเอากล้าข้าวที่เป็นมัด ๆ โยนลงไปในแปลงนาที่พร้อมปลูก เพื่อสะดวกกับคนปลูกไม่ต้องเดินขึ้น-ลงไปขนมัดกล้า      การลงมือปลูกวันนี้เป็นฤกษ์ดี มีคุณหมอคณิต ตันติศิริวิทย์ ร่วมลุ่ยแปลงนากับเด็ก ๆ อย่างสนุกสนาน นาแปลงนี้ถึงแม้จะมีต้นข้าวที่ไม่เข้าแถวเป็นระเบียบเรียบร้อย เหมือนชาวนาตัวจริงปลูก ก็ตาม  เจ้าของนาบอกว่า ไม่เป็นไร ถือเป็นแปลงนาประวัติศาสตร์ ก็แล้วกัน คุณหมอฯได้ค่อยๆบรรจงแบ่งต้นกล้าในกำมือ แล้วปักลงไปในแปลงนา กอแล้วกอเล่า อย่างมีความสุข หมอบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้มาปลูกข้าวจริง ๆ ความรู้สึกที่ปรากฏบนใบหน้าและรอยยิ้มของคุณหมอที่บอกกับเด็กๆ ในวันนี้ รับรู้ได้ว่ามีความปิติสุขจริง ๆ  

                 เยาวชนที่มาวันนี้ ส่วนใหญ่พ่อ แม่ เป็นชาวนา ลูกชาวนา ตัวจริง เสียงจริง  แต่บางคนไม่รู้จักนาตนเอง ไม่รู้วิธีการทำนา พ่อแม่มักไม่ให้ไป ซึ่งก็มีหลายเหตุผล บ้างบอกว่าลูกมีหน้าที่เรียน ต้องเรียนหนังสือ เสาร์อาทิตย์เรียนพิเศษ  บ้างบอกว่ากลัวลูกร้อนไม่สบาย ลำบาก ให้ทำงานเบาๆอยู่ที่บ้าน หรือบ้างบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของเด็ก ไม่ต้องไปกวนผู้ใหญ่ หลายเหตุผลเหล่านี้มองในแง่ดี ก็เป็นการแบ่งบทบาทกันอย่างชัดเจนในครอบครัว แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็เสมือนว่าตัดโอกาสที่จะให้เด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติ สัมผัส น้ำ ฟ้า ป่า เขา ใบไม้ ใบหญ้า ต้นข้าว ที่เป็นครูของเขาในโรงเรียนธรรมชาติและ ที่สำคัญ วิถีชีวิตชาวนาจะช่วยบ่มเพาะและพิสูจน์ความอดทนในตัวเด็กได้เป็นอย่างดี

                  เป็นที่น่าเสียดาย ที่วันนี้การสืบค้นข้อมูลของเรายังขาดไปอีกหลายประเด็น เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มเป้าหมายตั้งคำถามน้อยไปหน่อย และเมื่อยล้ากับการต้องปั่นรถจักยานเข้าไปเรียนในแปลงนาท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด ก็เป็นได้แต่เยาวชนแกนนำอีกหลายคนบอกว่า ไม่เป็นไรเรายังมีเวลาที่จะเริ่มเรียนรู้ไปอย่างต่อเนื่องอีก เพราะเราเป็นคนที่นี่ และที่สำคัญเราเป็นคนกินข้าว เราต้องรู้จักข้าวให้มากกว่านี้ 

               นับตั้งแต่ต้นกล้า เดินทางลงสู่ท้องนา จากนี้ไปอีกประมาณ ๑๑๐วันที่จะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต พวกเรายังมีวิชาที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับข้าวอีกมากหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแตกก่อ การออกรวง ระบบน้ำเป็นช่วง ๆ  ศัตรูที่จะมารบกวนข้าว การเก็บเกี่ยว การคัดเลือกพันธุ์ ฯลฯ อีกมากมายหลายบทเรียน และที่สำคัญกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ พ่อแม่ ครอบครอบครัว ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งวิชาที่ว่าทั้งหมด ไม่มีในระบบโรงเรียนทั่วไป และทั้งหมดไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าพ่อ แม่ ให้โอกาสเด็กไปเรียนรู้ด้วยในแปลงนา ก็จะเป็นทางออกหนึ่งที่เราจะค่อย ๆ สร้างสำนึกของคนกินข้าว ให้เห็นคุณค่าของข้าว และคุณค่าของชาวนาผู้ผลิตข้าวเลี้ยงเราทุกวันนี้

                  เวทีวันนี้ ได้พิสูจน์แล้วว่ามีเด็กกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่มีความเห็นว่าแปลงนา  วิถีชาวนา มีความสำคัญ ควรสืบสานภูมิปัญญา ความรู้เกี่ยวกับนาข้าว เมล็ดพันธุ์ ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และเห็นความสำคัญ แต่อีกส่วนหนึ่งก็มองว่า แปลงนาในอนาคตคงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แปลงนาที่นี่ อาจเป็นรีสอร์ท หรือหมู่บ้านจัดสรร ก็ได้  เด็กเหล่านี้มีสิทธิที่จะคิด และวาดอนาคตข้างหน้า ของหมู่บ้านตนเอง พื้นที่ที่บรรพบุรุษของเรา ใช้เป็นแหล่งผลิตข้าว ปลา อาหาร จะเปลี่ยนแปลงเป็นเช่นไรนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับครอบครัวแล้วล่ะ ว่าจะร่วมกันปลูกฝังให้เด็กมีสำนึกรักผืนแผ่นดินถิ่นเกิดตนเองได้ด้วยวิธีไหนกันบ้าง 

อนงค์  อินแสง เก็บเรื่องมาเล่า

เจ้าหน้าที่สนามโครงการครอบครัวเข้มแข้ง จังหวัดน่าน

๑ กรกฎาคม ๒๕๕๐      

หมายเลขบันทึก: 113686เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2007 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับท่านPพ่อน้องซอมพอ

ขออนุญาตินำข้อความดีๆบางตอนไปรวมในรวมตะกอน   ขอบคุณมากครับ  http://gotoknow.org/blog/mrschuai/113523#

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท