แนวคิดเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อคนยากจน


“สังคมใดที่คนส่วนใหญ่ยากจนและมีความทุกข์ สังคมนั้นไม่อาจจะเจริญงอกงามและมีความสุขได้” [Adam Smith]

สืบเนื่องจากบันทึกของเราเรื่อง "ความดีอยู่ที่ไหนในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์" ...    ศ. ดร. ปราณี  ทินกร    อดีตคณบดี  คณะเศรษฐศาสตร์  ม. ธรรมศาสตร์  กรุณาส่งบทความมาให้  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานของท่านในรายงานวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์  เรื่อง  "การคลังเพื่อสังคม"  โดยได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (กำลังอยู่ในระหว่างการวิจัย) 

อาจารย์ปราณี  เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติ และท่านสนใจในเรื่องการกระจายรายได้เป็นพิเศษ  ขอขอบพระคุณอาจารย์มา ณ ที่นี้ค่ะ

********** 

 

                    นักปรัชญาของโลกจำนวนมากให้ความสนใจต่อนโยบายสาธารณะในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม   และแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่ถือได้ว่าเป็นบิดาแห่งทุนนิยมเสรี  เช่น  นายอาดัม  สมิธ (Adam  Smith: ค.ศ. 1723-1790) ก็ยังเคยกล่าวไว้ว่า สังคมใดที่คนส่วนใหญ่ยากจนและมีความทุกข์   สังคมนั้นไม่อาจจะเจริญงอกงามและมีความสุขได้[1]

 

                    ในการอธิบายประสิทธิภาพของกลไกตลาดในหนังสือชื่อ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations (ค.ศ.1776)   นายอาดัม สมิธ ได้กล่าวถึงความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน  หรือ “self interest”   ของปัจเจกบุคคลที่เมื่ออยู่ภายใต้กลไกตลาดเสรีจะทำงานให้เกิดความมั่งคั่งต่อสังคมโดยรวม  และได้กล่าวเปรียบเทียบกลไกดังกล่าวว่าเป็นมือที่มองไม่เห็น” (invisible hand) ที่ชักจูงให้คนทำงานเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศ  โดยแต่ละคนมีเป้าหมายที่ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก

 

                    อย่างไรก็ตาม    การอธิบายดังกล่าวทำให้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า “self interest” ของนายอาดัม สมิธ   เป็นความเห็นแก่ตัวที่ปราศจากบริบทของสังคม   ทั้งๆที่ในข้อเท็จจริงนั้นก่อนที่นายอาดัม สมิธจะเขียนหนังสือ Wealth of Nations (ค.ศ.1776)  เขาได้เขียนหนังสือชื่อ The Theory of Moral Sentiments (ค.ศ.1759) และ ได้อธิบายว่า ความเห็นอกเห็นใจหรือ “sympathy” เป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำไปสู่ประโยชน์สุขโดยรวมของสังคม

 

                    แนวคิดทั้งสองด้านของนายอาดัม  สมิธดังกล่าวข้างต้น ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางคนเช่น Joseph  Schumpeter เห็นว่า นายอาดัม  สมิธ มีแนวคิดที่ขัดแย้งกันเอง (contradiction)[2] แต่เนื่องจากนายอาดัม  สมิธได้ทำการปรับปรุงและ ตีพิมพ์ The Theory of Moral Sentiments อีกหลังจากที่ได้เผยแพร่ Wealth of Nations ไปแล้ว  โดยที่ยังคงมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องความเห็นอกเห็นใจเช่นเดิม    ดังนั้นนักอ่านจำนวนหนึ่งจึงตีความว่า นายอาดัม  สมิธ มิได้มีความขัดแย้งทางความคิด  หากแต่นายอาดัม สมิธ เห็นว่า ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือ self-interest นั้น ควรดำเนินอยู่ภายใต้ความเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆในสังคมด้วย

 

ในหนังสือ The Theory of Moral Sentiments นายอาดัม  สมิธ ได้เสนอความเห็นว่าความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของปัจเจกบุคคลนั้นน่าจะมีความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมอยู่ในสำนึกของแต่ละคน     เนื่องจากการกระทำที่สังคมเห็นว่าเหมาะสม หรือไม่เหมาะสมนั้น ย่อมมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของบุคคลในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมด้วย    ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่านายอาดัม  สมิธ  ผู้ซึ่งเชื่อในมือที่มองไม่เห็นของกลไกตลาด เชื่อด้วยว่า ความรู้สึกทางด้านศีลธรรม (moral sentiments) และความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน (self interest) เป็นเรื่องที่ต้องควบคู่กัน และนายอาดัม  สมิธ จึงได้มีความเห็นว่า สังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจกันนั้นไม่น่าจะมีความสุขได้ถ้าคนส่วนใหญ่ยังคนยากจนและมีความทุกข์

 

                    นอกจากนายอาดัม  สมิธแล้ว ยังมีนักปรัชญาอีกสองท่านที่ให้กำเนิดแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม หรือ Utilitarianism ได้แก่นาย เจเรมี  เบนแธม (Jeremy  Bentham, ค.ศ.1748-1832) และ นาย จอห์น  สจ๊วต  มิลล์ (John  Stuart  Mill, ค.ศ.1806-1873) ภายใต้แนวคิดนี้อรรถประโยชน์ (utility) คือความพอใจที่ปัจเจกบุคคลได้รับจากสถานภาพและ สภาพแวดล้อมของตน เป้าหมายของรัฐบาลควรจะเป็นการแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดโดยรวมให้แก่ทุกคนในสังคม และเนื่องจากอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มมีลักษณะลดน้อยถอยลง (diminishing marginal utility)[3] ดังนั้นการกระจายรายได้จากคนรวยมาสู่คนจนน่าจะทำให้อรรถประโยชน์โดยรวมของสังคมเพิ่มขึ้น   (ตรงนี้ดูเพิ่มเติมได้จากการตอบคำถามของecon4life  ในบันทึกเรื่อง ความดีอยู่ที่ไหนในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์)

                     แนวคิดที่เห็นว่านโยบายสาธารณะควรเน้นการช่วยเหลือของรัฐไปสู่คนระดับล่างสุด หรือยากจนที่สุดของสังคม มาจากนักปรัชญาในศตวรรษที่20  ชื่อนายจอห์น  รอลส์  (John  Rawls, ค.ศ.1921-2002) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาการเมืองที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นายจอห์น  รอลส์  เขียนหนังสือชื่อ ทฤษฎีความเป็นธรรม (A Theroy of Justice, ค.ศ.1972) และเสนอหลักการสำคัญสองข้อของความเป็นธรรม โดยในหลักการแรกเขาเห็นว่า บุคคลแต่ละคนควรมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน และในหลักการที่สอง เขาเห็นว่าปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมควรได้รับการแก้ไขโดยมุ่งเน้นไปยังผู้ที่ทุกข์ยากที่สุดหรืออยู่ที่ระดับล่างสุดของสังคมก่อน                             

                    นายรอลส์ เสนอว่า  สถาบันของสังคม กฎหมาย และนโยบายสาธารณะควรมีความเป็นธรรม แต่เนื่องจากว่าสมาชิกของสังคม อาจมีแนวคิดเรื่อง ความเป็นธรรมที่ต่างกันเพราะสถานภาพทางสังคมของแต่ละคนต่างกัน    นายรอลส์เห็นว่าความเป็นธรรมของสังคม ควรมีลักษณะปลอดจากภาวะอัตตวิสัยของแต่ละบุคคล   ดังนั้นจึงเสนอให้เราจินตนาการว่า ก่อนที่ทุกคนจะเกิดมาได้มาประชุมร่วมกันเพื่อออกแบบกฎเกณฑ์ต่างๆของสังคม โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อออกกฎเกณฑ์ไปแล้วจะเกิดมามีสถานะเช่นไรในสังคม[4] ในเมื่อเราต่างก็ไม่รู้ว่าเมื่อเกิดมาแล้วจะมีสถานะเช่นไรในสังคม (เช่น เป็นคนรวย คนจน ผู้มีอำนาจในการปกครอง   หรือผู้อยู่ใต้อำนาจ ฯลฯ)   จึงไม่น่าจะมีใครสามารถออกแบบกฎเกณฑ์ หรือนโยบายเพื่อประโยชน์เฉพาะตามภาวะอัตตวิสัยของตนได้

                     เมื่อเป็นดังนี้สิ่งที่แต่ละคนน่าจะเป็นห่วงก็คือ เมื่อเกิดมาแล้วอาจจะเป็นคนจนในระดับล่างสุด และมีข้อเสียเปรียบที่สุดในสังคม ทุกคนจึงน่าจะตกลงกันได้ในเรื่องนโยบายสาธารณะว่า   รัฐควรให้ความช่วยเหลือแก่คนที่ยากจนและเสียเปรียบที่สุดในสังคมก่อน เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีที่ตนเองอาจจะเกิดมาอยู่ในสภาพเช่นนั้น แนวคิดดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นยุทธวิธีลดความเสี่ยงให้ตนเอง    ดังนั้นรัฐควรมีนโยบายสาธารณะด้านการกระจายรายได้โดยมุ่งช่วยเหลือคนที่ยากจนที่สุดและอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบที่สุดในสังคมก่อน      



[1] “No society can surely be flourishing and happy, of which by far the greater part of the numbers are poor and miserable.” (Adam  Smith, 1776)

[2] Adam  Smtih ใน website www.en.wikipedia.org/wiki/Adam_Smith (accessed 5/5/2007)

[3] ตัวอย่างเช่น การรับประทานข้าว จานแรกน่าจะให้ความพอใจมากกว่าจานที่2 และข้าวจานที่2 ก็น่าจะให้ความพอใจมากกว่าข้าวจานที่3 ฯลฯ ดังนั้น ถ้ารัฐนำข้าวจานที่3ของผู้มีอันจะกิน มาให้เป็นข้าวจานที่1ของผู้ไม่มีอะไรจะกิน อรรถประโยชน์ของสังคมโดยรวมก็น่าจะเพิ่มขึ้น แต่แนวคิดนี้ก็มีข้อถกเถียงในประเด็นการเปรียบเทียบอรรประโยชน์ระหว่างบุคคล (inter-personal comparison)

[4] นายจอห์น  รอลส์ใช้คำว่า “veil of ignorance” หรือการตกลงกันเรื่องกฎเกณฑ์ของสังคม และนโยบายสาธารณะ ภายใต้ม่านของความไม่รู้ ว่าตนจะเกิดมามีลักษณะอย่างไรในสังคม ดู Rawls (1972): 136-142

**********************

ครั้งต่อไป  เราคิดว่าจะเอาแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ไทยมาเล่าสู่กันฟังบ้าง

 

หมายเลขบันทึก: 99530เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2007 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เรียน อาจารย์ปัทมาวดี ที่เคารพ

พอผมอ่านเสร็จวนวันนี้นะครับ ผมก็คิดถึงเรื่องการเปิดเสรีทางการค้าเลย คือ อาจารย์ครับ นโยบายที่ทุกประเทศผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรี มีการตกลงเจรจาแบทวิภาคีนั้น จะเป็นประโยชน์ได้อย่างแท้จริงต่อ "คนยากคนจน" ทั่วโลกหรือไม่ อย่างไร

หรือว่า เป้นเพียงนโยบายที่เอื้อให้ กลุ่มผลประโยชน์ สามารถ "ซื้อง่ายขายคล่อง" กันแน่ครับ

มีตัวอย่างของประเทศที่เขาคิดเป็น ทำเป็น ออกนโยบายเป็น บ้างไหมครับ สำหรับการค้าเสรีในอนาคตเนี่ย

ขอบคุณครับ

เรียนคุณโชคธำรงค์

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก  จริงๆเป็นการพยายามอธิบาย "สิ่งที่เป็น"  หรือ "สิ่งที่จะเป็น ถ้า ....."   มากกว่า "สิ่งที่ควรเป็น"  ค่ะ  (หลายคนจึงบอกว่า เศรษฐศาสตร์ไม่มีจิตใจ)

นักเศรษฐศาสตร์อาจให้ข้อมูลชุดหนึ่งแก่ผู้กำหนดนโยบาย   ที่พอจะบอกได้ว่า "ใครได้ ใครเสีย ถ้า...." 

คำว่า "ถ้า ......" นี่สำคัญมากนะคะ

ในการกำหนดนโยบาย  ผู้กำหนดนโยบายเป็นผู้ตัดสินใจ บนฐานข้อมูลหลายๆชุด  เพื่อตอบวัตถุประสงค์ของสังคม  (คือต้องถ่วงน้ำหนักกลุ่มได้-กลุ่มเสีย)  หรือตอบเป้าหมายเฉพาะบางกลุ่ม หรือสนองเป้าหมายของตัวเอง....  อันนี้อยู่ตรงกระบวนการทางเมือง  การมีส่วนร่วม อำนาจต่อรอง 

(โดยปกติเศรษฐศาสตร์จะวิเคราะห์เป้าหมายรวมทั้งสังคมค่ะ   แม้จะพูดถึงบริษัท ก็จะต้องบอกว่า พฤติกรรมบริษัทแบบนี้จะมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อผู้บริโภค ผู้ผลิตอื่นๆในระบบอย่างไร  จึงต่างจากการเรียนบริหารธุรกิจ  ..."การตลาด" ของภาคธุรกิจ ก็ต่างกับ "ตลาด" ของเศรษฐศาสตร์ค่ะ)

 ความหมายของ "คนยากคนจน" ทั่วโลกนี่พูดยากนะคะ   เพราะคนยากคนจนไทย เช่น ชาวนา อยู่ในฐานะผู้ผลิต  แต่คนยากคนจนในอาฟริกา อยู่ในฐานะผู้บริโภค    ถ้าข้าวราคาดี (และถ้ากลไกการส่งผ่านราคาดีพอ) ชาวนาไทยก็ได้รับผลดี  ในขณะที่คนยากจนในอาฟริกาจะเดือดร้อนค่ะ

ในเวทีเจรจาการค้าโลก  กลุ่ม "คนจน" จึงไม่ได้มีกลุ่มเดียวที่เป็นหนึ่งเดียวค่ะ

และทุกประเทศที่จะเปิดเสรีทางการค้าต้องทำงานสองทาง  คือ  การต่อรองระหว่างประเทศ  กับการเกลี่ยผลประโยชน์ในประเทศ (เช่น ออสเตรเลียส่งออกนมได้มากขึ้น นมจะราคาดีขึ้น ผู้บริโภคภายในก็ต้องดื่มนมแพงขึ้น เว้นแต่ว่ารัฐจะเอาประโยชน์จากผู้ผลิตนมมาชดเชยในรูปแบบต่างๆให้ผู้บริโภค)  ของไทยเราไม่ค่อยทำอย่างหลัง

ในโลกความจริงที่เป็นโลกของผลประโยชน์ที่ขัดแย้ง  ต้องใช้เศรษฐศาสตร์การเมืองมาช่วยวิเคราะห์คะ   เพราะหาคำตอบที่เป็น win-win ได้ยาก 

 แต่ถ้าต้องการสร้างโลกและสังคมที่ดี จำเป็นต้องใช้ธรรมะ คุณธรรม เข้ามาช่วยค่ะ

 

 

 

สวัสดีครับท่าน
P

          ขออนุญาติครับ คัดตัดข้อความดีๆบางตอนไปรวมไว้นะครับ   ขอบคุณครับ

http://gotoknow.org/blog/mrschuai/99502

อยากถามอ่ะครับไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกันป่าว ใบขับขี่เป็นนโยบายสาธารณะป่าวครับ สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และการใช้แฮนฟรีขณะขับรถด้วยครับอยากทราบจริงๆครับ ตอบหน่อยนะครับช่วยบอกเหตุผลด้วยนะครับ

เป็นการบ้านจากคุณครูรึเปล่าคะ ?

นโยบายสาธารณะ กับสินค้าสาธารณะไม่เหมือนกัน

อาจารย์คะ แล้วนโยบายสาธารณะมีความสำคัญต่อ รัฐบาล และ ประชาชนยังไงคะ

ทำไมต้องกำหนดนโยบายสาธารณะละคะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท