เรื่องเล่าจากดงหลวง 102 ขึ้นดอย ตอน สวนนาข้าวโบราณและการฟื้นตัวของป่า


ผู้ใหญ่บ้านเล่าต่อว่า ทำนาแบบนี้ได้สักสี่ ห้า ปี ก็มีประกาศรัฐบาลปิดป่า เราเพิ่งออกมาจากป่ามอบตัวทางราชการ เราไม่อยากขัดคำสั่ง ต่างพากันหยุดทำนาสวนป่าบนยอดดอยสีเสียดแห่งนี้ กลับลงไปสู้กับหญ้าในที่นาที่รกชัฏนั้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันว่าจบสิ้นการทำนาบนยอดเขา

ชนเผ่าไทโซ่ หรือบรู นั้นมีชีวิตอยู่กับป่า ตลอดทั้งปีจะขึ้นลงป่ารอบๆหมู่บ้านที่เขาพักอาศัย เขาจึงเป็นผู้ชำนาญเรื่องป่า ความยากลำบากและระยะทางไม่เป็นปัญหาอุปสรรคแต่อย่างใดต่อวิถีชีวิต ตรงข้ามเสียอีกหากไม่ได้เข้าป่าถือเป็นเรื่องผิดปกติไปของชาวไทโซ่ 

ช่วงที่ พคท. มาเผยแพร่ลัทธิอยู่ที่ดงหลวงและปลดปล่อยเป็นเขตอำนาจรัฐใหม่นั้นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของวิถีชีวิตไทโซ่ เช่นกัน เพราะ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ชาวไทโซ่ละทิ้งบ้านช่องขึ้นป่าไปอาศัยร่วมกับ พคท. ทั้งลูกเล็กเด็กแดง ผู้เฒ่าผู้แก่ขึ้นเขาไปกันหมด คนไหนเดินไม่ได้ ไม่ไหว ก็หามก็แบกกัน แล้วอาศัยบริเวณถ้ำต่างๆบนยอดภูสีเสียดและภูอื่นๆที่เป็นเทือกเขาภูพานแห่งนี้  

ในระหว่างที่ผู้บันทึกเดินในป่าเมื่อวันที่ 15 ที่ผ่านมานั้น ผู้ใหญ่บ้านนาหลักชี้บอกว่านี่คือที่พักของพ่อแม่และน้องผมอยู่กันตรงนี้ ที่เขาเรียกว่าถ้ำนั้น ผู้บันทึกดูแล้วก็เป็นแค่เพิงหินที่มีบริเวณหลบฝนหลบแสงแดดได้พอสมควร มีกระจายอยู่ทั่วไปบนยอดเขาแห่งนี้ ดูสภาพแล้วคงลำบากมากหากมีคนจำนวนมากมาอยู่รวมกันและอยู่หลายๆวัน 

ตัดตอนถึงคราวที่ออกจากป่ากลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเมื่อประมาณ ปี 2516 นั้น แต่ละคนกลับถิ่นฐานเดิมบ้านใครบ้านมัน ชีวิตแต่ละคนแทบจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ บางครอบครัวบ้านก็ถูกเผาเสียสิ้น ข้าวปลายังไม่มีจะกิน และท้องทุ่งที่ร้างไปนับสิบปีนั้นมีแต่หญ้ารก ชาวบ้านบอกว่าน้อยรายที่จะก้มหน้าถากถาง เผาหญ้าและเริ่มทำนาปลูกข้าวกันใหม่ ส่วนใหญ่ของชาวบ้านนาหลักเดินกลับขึ้นไปบนดอยอีกครั้ง เพื่อถางป่าทำสวนนาข้าว หรือข้าวไร่นั่นเอง  

ผู้ใหญ่บ้านนาหลัก สหายเด่นและชาวบ้านต่างขี้ให้ดูว่ารอบๆบริเวณนี้คือ สวนนาเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ใช้มือนี่แหละถากถางตัดฟันต้นไม้ เผาทิ้ง แล้วก็ปลูกข้าวไร่พันธ์พื้นบ้าน โดยอาศัยน้ำฝน มีเนื้อที่คนละประมาณ 4-5 ไร่ มากันทั้งหมด 15-20 ครัวเรือน รวมแล้วก็เกือบร้อยไร่  ระยะทางห่างจากบ้านนาหลักขึ้นมาตามภูเขาประมาณ 4-5 กิโลเมตร

 ชีวิตจะมีอะไรล่ะสมัยนั้น มีข้าวกิน มีอาหารต่างๆ มีที่พักพอซุกหัวนอนได้ ก็แค่นั้น ไม่มีใครดิ้นรนจะเอาอะไรมากไปกว่านี้ อาหารหยูกยาก็เอาจากป่า ที่พักอาศัยก็มาจากป่า ไม่มีกรรมสิทธิ์ ใดๆ แม้ว่าจะมีสัตว์ป่ามามากและเข้าทำลายสวนนาข้าวไร่ ก็ไม่หมดสิ้นหรอก ก็เหลือพอกิน ผลหมากรากไม้ของป่าก็มีให้กินตลอดปี เห็ดป่า พืชผักจากป่ามีไม่อด หลายครอบครัวก็ปลูกเถียงนาที่นี่และไม่ค่อยได้ลงไปหมู่บ้านข้างล่าง 

ผู้ใหญ่บ้านเล่าต่อว่า ทำนาแบบนี้ได้สักสี่ ห้า ปี ก็มีประกาศรัฐบาลปิดป่า เราเพิ่งออกมาจากป่ามอบตัวทางราชการ เราไม่อยากขัดคำสั่ง ต่างพากันหยุดทำนาสวนป่าบนยอดดอยสีเสียดแห่งนี้ กลับลงไปสู้กับหญ้าในที่นาที่รกชัฏนั้นอีกครั้งหนึ่ง  เป็นอันว่าจบสิ้นการทำนาบนยอดเขา 

 เมื่อพื้นที่ถูกทิ้งไว้เฉยๆ ป่าไม้เดิมก็กลับคืนมาแทนที่ ที่เราเห็นทั้งหมดนี้คือที่นาเก่าที่พวกผมมาทำกันครับ สหายเด่นบอกผู้บันทึก พวกเราก็มีชีวิตแบบนี้ ไม่ได้แสวงหาหรือสะสมอะไร เพียงอยู่ไปวันหนึ่งเท่านั้น  

เมื่อเราลงมาอยู่ในหมู่บ้าน ถนนสายที่ชื่อเปรมพัฒนาก็ถูกสร้างขึ้น มีคนนำมันสำปะหลังเข้ามา ชาวบ้านกว่าจะยอมรับได้ก็กินเวลาไป 3-4 ปี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องบอก ปลูกกับแทบทุกครัวเรือน มีสิ่งใหม่ๆแปลกๆเข้ามาในชีวิต แต่ละวันจำเป็นต้องใช้เงินทองมากขึ้น ผมก็สับสนเหมือนกันว่าชีวิตจะไปไหนอย่างไรดี  แต่เหมือนกับชีวิตได้ผูกติดกับสังคมภายนอกเสียแล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อนที่กว่าจะออกไปในเมืองได้ทีต้องใช้เวลาหลายวัน เดี๋ยวนี้แค่ชั่วโมงเดียวเท่านั้น 

ชีวิตพวกผมย้อนกลับไม่ได้แล้ว มีแต่ไปข้างหน้าอย่างไร ถ้าตั้งตัวไม่ติดมันก็เหมือนปุยฝ้ายที่ปลิวตามลม  แล้วแต่กระแสจะพัดไปทางไหน แต่ป่าก็คือชีวิตของพวกเราก็ยังต้องพึ่งพากันต่อไปตามเท่าที่จะเป็นไปได้   

พวกเรานั่งพัก ที่ภูกิ่ว ระหว่างเดินทางกลับ ต่างเอาน้ำในขวดพลาสติกมาแบ่งดื่มกิน ห้วงความคิดผู้บันทึกยังสัมผัสถึงวิถีชีวิตของพี่น้องไทโซ่ดงหลวงที่ต้องปลิวเหมือนปุยฝ้ายต่อไปอีกนานเท่าใดหนอ...  

มองไปบนยอดไม้ เห็นเอื้องป่าออกดอกม่วงขาว ชูช่อสวยงาม ท่ามกลางสาระที่รับฟังมานั้น หนักอื้งในหัว แต่กล้วยไม่ช่อนั้นเหมือนความสดชื่นที่แทรกขึ้นมากลางความร้อยระอุของความคิด...

หมายเลขบันทึก: 97412เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2007 20:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
ผมอยากชวนให้ท่านรวบรวมเรื่อง ดงหลวง พิมพ์ไว้ จะได้เป็นตำราค้นคว้าที่ดีมากสำหรับคนรุ่นหลัง ไม่ทราบท่านมีโครงการที่จะพิมพ์ไหมครับ ขอจอง 200 เล่ม

สวัสดีครับครูบาครับ

ขอขอบพระคุณมากครับที่ท่านสนับสนุนให้รวมบทความเหล่านี้ คิด แต่ยังไม่ได้ขยับอะไร ยังอยู่ในหัวครับ

ขอบคุณครับ

ดูไม่ออกจริงๆ ค่ะว่าเป็นที่นาเก่า ธรรมชาติก็ดีอย่างนี้แหละนะคะ ทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ต้องบังคับบัญชา แล้วก็ฝืนยากบังคับยากเสียด้วย ไม่เหมือนที่คุณบางทรายเขียนไว้ว่า "ชีวิตพวกผมย้อนกลับไม่ได้แล้ว มีแต่ไปข้างหน้าอย่างไร ถ้าตั้งตัวไม่ติดมันก็เหมือนปุยฝ้ายที่ปลิวตามลม" เราเคยคิดเสมอว่ามนุษย์กำหนดได้ เลือกได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรากำลังหลอกตัวเองกันอยู่ใช่ไหม

ความคิดมันพาไปค่ะ : )

สวัสดีครับอาจารย์ แหมผมเพิ่มกลับมาจากแอบไปเยี่ยมอาจารย์มานะครับ

โดยหลักการแล้วถูกต้องครับ มนุษย์กำนดได้ เลือกได้ แต่ในทางปฏิบัติ บางเงื่อนไขอาจจำเป็นที่คนอื่นจะต้องมาช่วยในรูปแบบต่างๆกันบ้าง มิเช่นนั้น "มันอับจน" เหมือนบัวใต้น้ำครับอาจารย์ อาจต้องการอะไรสักอย่างสองอย่างเขาก็พ้นขึ้นมาได้ เป็นตัวของตัวเองได้ ถามว่าสิ่งนั้นคืออะไร  ผมฟันธงเลยว่า สร้างปัญญาที่เป็น ธรรมปัญญาน่ะครับ

ชอบประเด็นอาจารย์ครับ

สิ่งที่รัฐกำหนด เป็นนโยบายต่างๆ มันมีผลกระทบต่อชีวิตคนนะครับ...คนกำหนดนโยบายถ้าไม่มีความคิดและความเข้าใจในเรื่องต่างๆก็จะพาประเทศชาติไปผิดทางได้...

โอชกร

พวกเราก็มีชีวิตแบบนี้ ไม่ได้แสวงหาหรือสะสมอะไร เพียงอยู่ไปวันหนึ่งเท่านั้น  

ฟังแล้วแปลกๆค่ะ ใจเขาน่าจะคิดมากกว่านี้ แต่ไม่ได้อธิบาย

 เหมือนเขายอมรับว่านี่คือdestinyของเขา

แต่ปัญหาที่ข้องใจคือ เขาทำดีที่สุดในปัจจุบันอย่างไรบ้างค่ะ

สวัสดีครับน้อง โอชกร - ภาคสุวรรณ

 

นโยบายของรัฐมีผลมากจริงครับ  รัฐดูแลคนทั้งประเทศ นโยบายบางเรื่องทำให้คนดีขึ้น และตรงข้ามอาจจะทำให้บางคนพบปัญหา อุปสรรค เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เข้าใจว่าไม่มีนโยบายไหนที่ทุกคนพึงพอใจไปหมด  นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ให้มีการกระจายอำนาจออกไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อจะได้บริหารงานที่สอดคล้องกับปัญหาท้องถิ่น

แต่บางนโยบายอาจจะกระทบคนส่วนมากก็ได้ครับ

สวัสดีครับท่านSASINANDA

หากจะกล่าวถึงประโยคนี้ก็ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่าผู้พูดเป็นยุค 50 ขึ้นไปแล้ว ซึ่งค่อนชีวิตผ่านแต่สิ่งหนักๆมาทั้งนั้น เช่นการเข้าไปอยู่ในการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์นับสิบกว่าปี การที่มีคลุกคลีกับป่าเขา ๆไม่ถนัดในการทำการเกษตรสมัยใหม่ กรอบความคิดเป็นแบบเดิมๆ จึงไม่ได้สะสมอะไรไว้จริงๆ มีแต่บ้านโล่งๆ กับความเป็นอยู่ที่ง่ายๆมากๆ กินง่ายอยู่ง่าย

ตรงข้ามกับเด็กยุคใหม่ ที่มีนิสัยบริโภคแบบคนเมืองมากกว่า เหมือนคนทั่วไปประพฤติ เพียงแต่ไม่ค่อยมีศักยภาพในการบริโภตเท่าใดนัก คนรุ่นนี้อาจเรียกรุ่นใหม่ก็ได้ บางคนก็ทะเยอทะยานเหมือนคนทั่วไปที่ต้องการเหมือนคนในเมืองต้องการ เช่น มือถือ มอเตอร์ไซด์ เครื่องเสียง เครื่องเล่นวีดีโอ ฯลฯ คนกลึ่มนี้จึงมักขัดแย้งกับรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่สมถะมากกว่า

เมื่อหมดคนรุ่น 50 ปีขึ้นไป เชื่อว่าบรรยากาศก็จะเปลี่ยนไปเป็นแบบเมืองมากขึ้น คนรุ่นนี้จึงมีเป้าหมายคือ เงิน และฐานะทางครอบครัวที่ดีกว่า ครับ 

สวัสดีครับคุณบางทราย

ชีวิตจะมีอะไรล่ะสมัยนั้น มีข้าวกิน มีอาหารต่างๆ มีที่พักพอซุกหัวนอนได้ ก็แค่นั้น ไม่มีใครดิ้นรนจะเอาอะไรมากไปกว่านี้ อาหารหยูกยาก็เอาจากป่า ที่พักอาศัยก็มาจากป่า

ผมชอบใจประโยคนี้จังเลยครับ  นี่เป็น"ปัจจัย ๔" พื้นฐานอย่างแท้จริงที่จำเป็นสำหรับมนุษย์  เห็นคนกับป่าอาศัยกันอยู่ ไม่เบียดเบียนกัน เต็มไปด้วยความสงบ สันติสุข น่าชื่นใจจริงๆครับ น่าเสียดายที่นับวันจะหมดไป

ตัวผมเองคิดเสมอว่า...ผมเกิดมาโชคดีมากที่...หิวก็มีกิน...หายใจเข้าก็มีอากาศบริสุทธิ์...เดินไปไหนก็มีพื้นดินคอยรองรับ...หนาวก็มีเสื้อผ้าใส่ให้อบอุ่น...

"มนุษย์ยังต้องการอะไรมากกว่านี้?"

สวัสดีครับอาจารย์อ.ศิริศักดิ์

ขอบคุณครับอาจารย์ ดูเหมือนอาจารญเข้าใกล้ธรรมมากเลยนะครับ อนุโมทนาครับ นั่นเป็นสิ่งประเสริฐสุดแล้ว  หากคนจำนวนมากเข้าถึงธรรม ก็จะช่วยให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข  คนอย่างผมที่มีหน้าที่ตระเวนไปเรียนรู้และสร้างงานพัฒนาคนขึ้นมานั้นหลายครั้งก็หวั่นไหวต่อ สิ่งแวดล้อมรอบข้างที่กระหน่ำเข้ามา หากไม่เกาะยึดหลักดีๆแล้ว เป๋ไปเป๋มาเหมือนกันครับ

ขอบคุณมากครับอาจารย์ครับ

ต้องขออภัยอาจารย์นะครับผมไม่ค่อยได้ไปเยี่ยมเยือนใครเลย post เสร็จก็แนบไปเร่งงานให้เสร็จครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท