เรื่องเล่าจากดงหลวง 64 พายุสีม่วงหมุนที่ดงหลวง


พายุสีม่วงหมุนผ่านไปจากดงหลวงแล้ว ทิ้งไว้แต่ “ม้ามีเขา” 50 ตัวที่บ้านพังแดง ที่มีคนควบฝุ่นตลบทุกวัน...อะไรจะเกิดขึ้นบ้างหนออนาคต

สรรพสิ่งย่อมมีการ “เคลื่อนไหว-เปลี่ยนแปลง-ขัดแย้ง-สัมพันธ์” เป็นวาทกรรมของใครก็ช่างเถอะ สำคัญที่เป็นสัจธรรมของสังคมใดๆก็ตาม

หลังจากที่กองทัพแดงดงหลวงยกขบวนออกมาจากป่าเพื่อมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยนั้น ทางรัฐบาลไทยได้ใช้นโยบาย 66/23 ต้อนรับไทยโซ่กลับคืนถิ่น พร้อมกับการเจรจากันและตอบสนองสิ่งที่ต้องการตามเงื่อนไขที่ทางราชการจะจัดทำให้ได้ หนึ่งในความต้องการคือที่ดินทำกิน แต่ก็พบปัญหามากมายในการจัดการ

เวลาก็ผ่านไปรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่า ความหวังก็เลือนจางลงตามระยะทางเวลาที่ผ่าน ขบวนการเรียกร้องเกิดขึ้นหลายครั้ง สนามหลวง ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ เป็นแหล่งที่หมายในการเดินทางมาเรียกร้องพันธะสัญญาที่มีแก่กัน คนที่เรียกตัวเองว่านักการเมืองคือคนที่รับปากเร็ว แต่ไม่เคยทำอะไรเลย 20 ปีผ่านไปมันไม่เหลือความหวังอะไรอีกแล้ว

สัญญาที่มีต่อกันกับรัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลประชานิยมหรือไม่นิยมก็แล้วแต่ ดูเหมือนโยนสัญญานี้ลงไปบนทะเลเวลาหมดสิ้นแล้ว หากท่านคือพี่น้องไทโซ่ ท่านจะรู้สึกอย่างไรกับรัฐบาลที่รับปากยามนั้น

แต่แล้วส้มก็หล่นลงมาเมื่อปลายปี พ.ศ. 2549 เมื่อมีรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นอดีตนายทหารและมีประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับดงหลวงยิ่งนัก เพียงไม่กี่เดือนสหายเก่าดงหลวงก็มีโอกาสเข้าพบท่านและได้ฟื้นสัญญากันใหม่ เพียงไม่นานนักความจริงใจของท่าน “แอ๊ด” ก็แสดงให้เห็นการยึดมั่นในคำสัญญา

หลังจากทบทวนกันถึงที่สุดแล้วสรุปว่ารัฐจะจ่ายเป็นเงินสดให้กับพี่น้องไทโซ่ สหายเก่าตามรายชื่อที่ทำขึ้นตั้งแต่อดีตนั้น เงินก้อนโตตกลงมาจากฟ้าที่ดงหลวงเมื่อเดือนมีนาคมนี้เอง มีรายละเอียดปลีกย่อยหลายเรื่องเกิดขึ้นช่วงที่ฝนตกลงมาที่ดงหลวง

แต่ที่สำคัญที่สุดคือเกิดพายุหมุนสีม่วงขึ้น เพียงไม่กี่วันที่มีการจ่ายเงินขึ้นตามสาระดังกล่าวมานั้น ก็เกิดปรากฎการณ์ทางสังคมขึ้นคือ เงินก้อนนั้นอยู่ในมืออดีตสหายเพียงไม่กี่วันเท่านั้นก็ผันออกไปสู่ในเมืองจนเกือบหมดสิ้น คือ ที่บ้านพังแดง ใจกลางของตำบลพังแดง เกิดมีการสั่งรถมอเตอร์ไซด์ขนาด 150 ซีซี เป็นรถรุ่นเดียวกัน สีเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน ขนาดซีซีเท่ากัน ใส่ล้อแม็คเหมือนกัน

รถเหล่านี้เข้ามาในหมู่บ้านด้วยรถขนขนาดใหญ่ที่เราเห็นวิ่งตามถนนหลวงจากกรุงเทพฯสู่หัวเมืองนั่นเอง ชาวบ้านบอกว่า น่าจะถึง 50 คันที่อดีตสหายแปรเงินที่ได้รับมาเป็นรถมอเตอร์ไซด์จนหมดสิ้น ????

แล้ววันต่อมา เสียงมอเตอร์ไซด์ก็แผดเสียงลั่นตำบลพังแดง เสียงใครบ่นข้างหลังว่า สงกรานต์ที่จะถึงนี้จะเป็นอย่างไรหนอ เมื่อวัยรุ่นดื่มเหล้าเมากันเต็มที่ พายุสีม่วงหมุนผ่านไปจากดงหลวงแล้ว ทิ้งไว้แต่ “ม้ามีเขา” 50 ตัวที่บ้านพังแดง ที่มีคนควบฝุ่นตลบทุกวัน...

อะไรจะเกิดขึ้นอีกบ้างหนออนาคต

หมายเลขบันทึก: 88943เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2007 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

พายุ..เพียงแค่พายุธรรมดาก็ยังก่อเกิดผลตามมาอย่างมากมาย..ทั้งผลดีและผลร้าย ซึ่งในผลร้ายก็มีผลดี ในผลดีก็มีผลร้าย..

 " พายุเงิน "..นอกจากได้จับจ่ายดังใจ และเศรษฐกิจสะพัดสะพือแล้วยังมีแง่ดีอะไรอีกหนอ ?  ( มาล้อเล่นค่ะ ..ด้วยความคิดถึง ^ ^ )..ส่วนผลร้ายไม่อยากจะคิด อิ อิ

เบิร์ดชอบบิ๊ก ( ตะหานนี่เค้าต้องเรียกบิ๊กกันใช่มั้ยคะ ) แอ๊ดนะคะ เบิร์ดว่าเค้าดูจริงใจดี พออ่านบันทึกนี้ก็ยิ่งรู้สึกดีใหญ่..

ใกล้เลือกตั้งตอนปลายปี จะมีพายุเงินลูกใหม่พัดเข้าดงหลวงมั้ยคะ ?

 

น่าจะมีครับน้องเบิร์ด หลายคนชอบท่านมากที่จริงใจและซื่อสัตย์ อาจจะมีบางคนที่กล่าวว่าท่านช้าไปหน่อย แต่กรณีดงหลวง ท่านรักษาใจให้พี่น้องไทโซ่ได้ถูกต้องแล้วครับ จริงใจ ตรงไปตรงมาอย่างนี้ พี่น้องดงหลวงรักท่านถวายชีวิตแน่นอน ส่วนอื่นๆไม่กล่าวถึงกันครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

         อ่านแล้วก็รู้สึกสงสารค่ะ คนเหล่านั้นไม่เคยได้ พอได้แล้วใช้ไม่เป็น ตกเป็นทาสวัตถุนิยมไปเสียแล้ว เห็นด้วยกับคุณเบิร์ด ค่ะว่ามันเป็นพายุเงิน แต่ก็อีกนั่นแหละค่ะ นานาจิตตัง อยู่ที่คนคิด คนนี้ว่าถูก คนนี้ว่าผิด ปลงค่ะ5555

สวัสดีครับคุณ Ranee ผมคิดเสมอว่า งานพัฒนาชุมชนเราอ่อนเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน แม้ว่างานที่ผมรับผิดชอบจะเน้นเรื่ององค์กรชุมชนบ้างแต่การพัฒนาองค์กรก็ไม่ค่อยได้เน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ต้องทบทวนกันขนานใหญ่แล้วครับ จุดบกพร่องของการพัฒนาชนบทคือการเน้นเพียงด้านใดด้านหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งด้าน แต่ขาดด้านการสร้างภูมิคุ้มกันนี่ครับ เป็นโจทย์ที่ผมต้องคิดต่อครับ สิ่งเหล่านี้ผมต้องการบันทึกไว้ครับ อย่างน้อยให้สาธารณะทราบถึงผลการทำงานทั้งของรัฐ และการแก้ปัญหาที่ไม่จบกระบวนการ ขอบคุณมากครับคุณ Ranee
เห็นด้วยค่ะคุณบางทราย เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันโดยให้ความรู้เขาเยอะๆ ในการตัดสินใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
  • สวัสดีครับ ไหนไหน พายุอยู่ไหนครับ อิๆ เข้ามาทันทีที่เห็นหัวข้อพายุ
  • เข้ามาถึงเจอสีม่วง ออ พายุสีม่วงสีแดงนี่เองครับ อิๆ
  • ตามหลักของพายุ จะพังสลายเมื่อเจอแรงเสียดทานจากพื้นดิน และการป้องกันพายุไม่ได้เข้ามา ทำได้ก็ขอให้มีความกดอากาศสูงมากดเอาไว้ จะให้พายุวิ่งเข้ามาไม่ได้แล้วถอยกลับออกไป แต่เอ พายุสีม่วงนี่ ต้องใช้ความกดอาการ(อยาก) แทน ความกดอากาศ ได้ไหมครับ
  • ประกอบกับการสร้างแรงเสียดทาน ที่ว่า อาจจะปลูกป่าต้นไม้ ชื่อต้นภูมิคุ้มกัน กันดีไหมครับ เผื่อว่าจะต้านทานพายุลูกนี้ได้บ้างครับ ไม่ให้ภูเขาดงหลวงต้องเกิดการชะล้างหน้าดินเดิม เหลือแต่กระดูก เราจะทำอย่างไรให้หน้าดินมีความชุ่มชื้นตลอดไปครับ
  • ขอเป็นกำลังใจครับผม นักพัฒนาชุมชนในดวงใจของผม สู้ต่อไปนะครับ
  • ขอบคุณมากครับผม
-ขอบคุณครับคุณ Ranee การสร้างภูมิคุ้มกันนี่ต้องใช้กระบวนการประเภท conscientization หนักหน่อยครับ ขอบคุณครับ
แนวคิดที่เปรียบเทียบของน้องเม้งนี่แจ๋วจริงๆนะครับ "ความกดอาการอยาก" ชุมชนหรือสังคมทั่วไปเราไม่มีตัวคัดกรองสิ่งแปลกปลอมของชีวิต ซึ่งปกติมันแยกไม่ออกว่าอะไรควรกันออก อะไรควรที่จะเอาเข้ามาแบบดัดแปลงให้สอดคล้องกับคนและสถานที่ และฯลฯ สังคมเราเปิด โล่งโจ้ง หรือที่เราเรียกว่า "ลัทธิเสรี อิสระ" ซึ่งเป็นแนวคิดของลัทธิประชาธิปไตย ฟังดูดี แต่เมื่อความเป็นเสรีได้เปิดโอกาสให้กระบวนการสร้างค่านิยมใหม่เข้ามาครอบจิตใจคนในสังคมให้บริโภคเพราะเกิดความอยาก ทั้งที่มิได้ มีเหตุผลไตร่ตรอง บวกลบ คูณหารเสียก่อนว่าความเหมาะสมอยู่ที่ใด "มีสลึงใช้บาท" หรือมีร้อยใช้ร้อย มันก็เข้าทางของการประกอบธุรกิจค้าขายสินค้าที่กระตุ้นความอยากน่ะซี การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการใตร่ตรองการบริโภคบ้าง...แต่ยากนะครับ การสร้างภูมิคุ้มกันมันต้องมีการฝังฐานรากที่หนัก ต้องลงเสาเข็มลึกๆ "ต้องเชื่อมกันเครือข่ายแห่งสำนึก" ขอบคุณน้องเม้งมากครับสำหรับ "การสร้างความกดอาการอยาก"
  • สวัสดีครับ พี่อยู่บ้านแล้วหรือครับ หรือว่ายังอยู่ที่ ขอนแก่นครับ
  • ขอให้มีความสุขในการทำงานนะครับผม
  • วันหนึ่งคงได้เจอพี่นะครับ อยากเจอมากๆ เลยครับผม
  • ขอเป็นกำลังใจตลอดไปครับ
  • พี่กลับมาอยู่บ้านแล้วครับ
  • แม่เฒ่าเพิ่งออกจากโรงพยาบาล(อีกแล้ว) ก็ท่านอายุ 97 แล้ว นะ เราจะถึงขนาดนี้หรือเปล่า
  • พี่ก็อยากเจอเหมือนกันครับน้องเม้ง คงคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน มันส์แน่
  • เป็นกำลังใจให้แก่กัน เช่นกันครับ
  • สวัสดีครับพี่
  • อาการท่านดีขึ้นแล้วนะครับ
  • เราเองถึงซักแปดสิบก็ยอดแล้วครับพี่
  • แถมยุคนี้เป็นยุค อะไรดีครับ นึกชื่อไม่ออกครับ
  • ครับผม คงได้เจอกันบ้างครับ ผมจะได้หาโอกาสไปเยี่ยมเยียนท่านอาจารย์ในทางอีสานบ้างครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับผม โชคดีตลอดไปนะครับ
ขอบคุณครับน้องเม้ง ท่านดีขึ้นกลับมาอยู่บ้านแล้ว แต่ต้องทานอาหารอ่อนพิเศษทางสายยางครับ อีสานยินดีต้อนรับครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท