ชาวนาอินทรีย์


บุคคลตัวอย่างของชุมชนและยังมีจิตใจจะช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อผู้อื่นอีกด้วย น่าชมเชยจริง ๆ

     ดิฉันและทีม KM ของกรมส่งเสริมการเกษตรมีโอกาสคุยกับลุงประทิน ข้อยมาลา เกษตรกรอายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 62 หมู่ 6 ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี  ลุงมีที่ดิน 20 ไร่ เป็นบ่อปลา 2 ไร่ เลี้ยงหมู 10 ตัว   เลี้ยงวัว  มูลสัตว์ที่ได้นำมาตากแดดและทำปุ๋ย ได้ฟังแนวคิดและวิธีการหลายอย่างน่าสนใจมากทีเดียว

                              pratin.gif

                           ลุงประทิน ข้อยมาลา

 ลุงประทินเป็นนักเรียนชาวนาที่มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี ภาพที่ทำให้ลุงเป็นที่รู้จักคือ ภาพดมดิน สามารถดมดินแล้วทราบว่าดินนี้มีคุณภาพอย่างไรบ้าง ดีหรือไม่ดี 

      ลุงประทินเล่าว่า เดิมชาวนาเห็นแมลงในนาเป็นศัตรูไปหมด จึงใช้ยาปราบศัตรูพืชก่อให้เกิดผลเสียตามมา เรื่องสุขภาพคือปวดหัวเข่า และโรคอื่น ๆ อีกมากมาย ไปโรงพยาบาลก็มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  แท้จริงแล้วแมลงมีทั้งดีและร้าย แมลงมีคุณประโยชน์ก็มีมาก แมลงที่เป็นศัตรูพืชก็มีมาก ทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ และอยู่ร่วมกันได้  

 

                            pratin1.gif

 

     ต่อมาเมื่อได้เข้าโรงเรียนชาวนามีความรู้เพิ่มขึ้นหลายอย่าง ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ และสิ่งที่เคยมองข้ามไปและไม่ใส่ใจ  กลุ่มของลุงมีอยู่ 30 คน เจอกันทุกวันจันทร์ใช้เวลา 3 ชั่วโมงต่อครั้ง ที่วัดกลางบ้านดอน มาเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งเรื่องการไม่เผาฟาง ใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ที่เก็บในป่ามาขยายพันธุ์ใช้เอง ใช้เวลาหมัก 15 วัน เห็นว่าฟางหลังเก็บเกี่ยวจะมีฟางอยู่ 1000 กก/ไร่ในนา หมักแล้วจะได้ฟางหมัก 500-600 กก/ไร่ เป็นปุ๋ยอย่างดีโดยไม่ต้องลงทุน  ลุงมีคำพูดที่สามารถจูงใจให้ชาวนาทำตามคือ ใครกล้าจุดแบงค์พันไหม ถ้ากล้าให้เผาฟางเลย  ชาวนาส่วนใหญ่เผาฟางเพราะกลัวปลูกข้าวไม่ทันคนอื่น กลัวขายได้ช้ากว่าคนอื่น โดยไม่ทราบว่าในนามีฟางตกค้างอยู่เท่าใด และผลเสียเกิดขึ้นมากมาย

     ทุกวันนี้ลุงไม่ได้ใช้สารเคมี ใช้อินทรีย์ทั้งหมด ไม่เสียเงินซื้อยา ไม่ต้องไปหาหมอเพื่อรักษาความเจ็บป่วยที่เกิดจากการใช้สารเคมี ผลผลิตข้าวอินทรีย์ ปีแรก จากการใช้สารเคมี 100 ถัง/ไร่ เป็น 70 ถัง/ไร่ ถ้าปลูกอีก 3-4 รุ่น ผลผลิตเท่ากับที่ใช้สารเคมีเริ่มแรกเลย นอกจากนี้ลุงยังกล่าวอีกว่าดินก็มีกลิ่นหอม มีนก สัตว์เล็กๆ ต่าง ๆ เกิดขึ้นในนามากมายแทบจะไม่ใช้เงินเพราะลุงปลูกผักทานเองด้วย ลุงมีความสุขและคิดว่าที่ทำทุกอย่างทำด้วยใจ ทำเพื่อในหลวงของเรา

     ลุงได้เสนอแนะหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นประโยชน์เช่น

  • การรับซื้อข้าว น่าจะแยกข้าวอินทรีย์และเคมีออกจากกัน ทุกวันนี้โรงสีซื้อรวมทำให้ราคาข้าว 2 ชนิดเท่ากันและที่สำคัญคือทำให้สารพิษปะปนกันไปหมด มีผลกับผู้บริโภคซึ่งกินข้าวสุก แต่ไม่ทราบที่มาที่ไปของข้าวเลยว่ามีสารพิษมากน้อยแค่ไหน
  • ส่วนราชการน่าจะทำงานโดยคิดถึงความต้องการของชาวบ้าน เข้าไปทำงานและร่วมเรียนรู้ร่วมกับเขา ให้สมศักดิ์ศรีของข้าราชการ
  • ปัญหาของชาวนา มีหนี้สินมาก หากไม่มี ธกส. ชาวนาต้องแย่แน่ ๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาหลักของชาวนา

     เวลาที่ลุงเล่า ตาของลุงเป็นประกาย ยิ่งถามก็ยิ่งเล่า อยากแบ่งปันประสบการณ์ที่พบให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วยความสุข สุดท้ายลุงบอกว่าใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต ไม่มีหนี้สินเลย เป็นบุคคลตัวอย่างของชุมชนและยังมีจิตใจจะช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อผู้อื่นอีกด้วย น่าชมเชยจริง ๆ

 ธุวนันท์ พานิชโยทัย

  29 พ.ย. 2549

 

    

หมายเลขบันทึก: 64072เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2006 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท