ถ่ายทอดประสบการณ์ : จุดคานงัดคุณภาพของระบบบริการสุขภาพ (๓)


จะมีการทำงานร่วมกับครู ทำหลักสูตรการป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในกลุ่มสาระสุขศึกษา พละศึกษา

ตอนที่ ,

ผู้ที่ถ่ายทอดประสบการณ์คนที่ ๓ และ ๔ คือ ภก.สุรพงศ์ แสงฉายา และคุณวัลภา เฟือยงาราช จากอำเภอคำตากล้า จ.สกลนคร ภก.สุรพงศ์เริ่มเล่าถึงการทำงานของ CUP และเครือข่ายสถานีอนามัย มีการหารือว่าออกไปแล้วทีมแม่ข่ายจะทำอะไรบ้าง จับกลุ่มเป้าหมายโรคเรื้อรัง เบาหวานมาแรงเพราะมีคนเป็นเยอะขึ้นเรื่อยๆ จึงเอากลุ่มเบาหวานเป็นเป้าหมายหลัก ช่วงปี ๒๕๔๕-๒๕๔๖ มีการออก สอ.ทุกวันศุกร์ ต่อมาเพิ่มเป็น ๒ วันคือวันอังคารและวันศุกร์ ทีมงานสำคัญคือแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทีม สอ. มีการจัดสรรกำลังคนและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ

 

 ภก.สุรพงศ์ แสงฉายา และคุณวัลภา เฟือยงาราช

ภก.สุรพงศ์เล่าถึง ระบบการเยี่ยมบ้านของ PCU ว่าต้องเข้มแข็ง และยังเล่าถึงระบบการสร้างเครือข่ายดูแลสุขภาพในชุมชน การขอรับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองท้องถิ่น การสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพชุมชน ความต่อเนื่องและการเติบโต

สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อจัดบริการที่ PCU
- ภาระงานใน รพ.เบาลงแต่ไม่ลดลง เพราะปัญหาต่างๆ ถูกจัดการมากขึ้น
- เข้าถึงผู้รับบริการ
- ใช้ข้อมูลร่วมกัน
- ได้เสริมแรงใจให้แก่ผู้ป่วย
- ความสุข

คุณวัลภาเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่ สอ.บ้านกุดจาน คลินิกเบาหวานใกล้บ้านใกล้ใจ เริ่มเมื่อปี ๒๕๔๖ และเล่าเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนต่องานเบาหวาน เช่นในงานบริการ ผู้ป่วยเบาหวานช่วยกันจัดคิว ค้นแฟ้ม เจาะเลือด วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง พากันออกกำลังกาย บริหารเท้า มีการเล่าเรื่องสู่กันฟัง เรียกผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ ช่วงแรกๆ เจ้าหน้าที่ต้องเป็นพี่เลี้ยง ดูคุณภาพด้วย

ต่อมามีชมรมเบาหวานในปี ๒๕๔๗ เป้าหมายเพื่อร่วมกันสร้างและพัฒนางานเบาหวานในชุมชน ช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ประธานชมรมยังชักชวนเพื่อนๆ ปฏิบัติธรรมทำจิตให้สงบ นอกจากนี้ยังมีชมรมออกกำลังกาย ชมรมนวดแผนไทย

งานเชิงรุก มีการจัด อสม.ประจำกลุ่ม และประจำโซน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน มีการพูดคุยกับ อสม.ว่าเวลาไปเยี่ยมบ้านต้องดูอะไรบ้าง มีแบบฟอร์มให้บันทึก

ปี ๒๕๔๘ เกิดกลุ่มเยาวชนรักชุมชน เอาเด็กนักเรียนมัธยมในชุมชนที่ “เห็นแวว” มาฝึก เอาไปอมรมเรื่องงานเบาหวานที่ รพ. ๑ วัน แล้วมาฝึกที่ สอ. เพราะถ้าสอนอย่างเดียวเด็กจะเบื่อ เด็กเหล่านี้สามารถนำความรู้ไปใช้ในครอบครัวตนเองได้ และยังร่วมกับ อสม. และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในหมู่บ้าน ช่วยงานบริการในคลินิกช่วงปิดเทอม ปีนี้ก็มีเยาวชนรุ่นที่ ๓ แล้ว จำนวนก็เพิ่มมากขึ้น เพราะเห็นตัวอย่างรุ่นแรกๆ ที่ได้ทุนไปเรียนพยาบาล

กลุ่ม/หน่วยงานอื่นที่มาร่วมมือ อาทิ อบต. ผู้นำชุมชน โรงเรียน

ผู้บริหารโรงเรียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมเบาหวาน สนับสนุนให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณสุข ปี ๒๕๕๐ จะมีการทำงานร่วมกับครู ทำหลักสูตรการป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในกลุ่มสาระสุขศึกษา พละศึกษา ตั้งแต่ ป.๒ - ม.๓

เมื่อคราวไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียนแม่พระฟาติมา ดิฉันเคยคิดว่าโรงเรียนน่าจะสอนให้นักเรียนรู้ว่าจะกินอาหารอย่างไร ออกกำลังกายอย่างไร จึงจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ คราวนี้จะได้เห็นของจริงที่คำตากล้าแล้ว

น่าชื่นชมวิธีคิดและวิธีการทำงานของทั้ง ภก.สุรพงศ์ และคุณวัลภา สิ่งที่ทั้ง ๒ ท่านเล่ามามีรายละเอียดอีกมากที่ดิฉันไม่สามารถเก็บความได้ทั้งหมด พอพูดจบมีคนฟังเข้ามาขอไฟล์ presentation ของทั้งคู่หลายคนทีเดียว

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 81284เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2007 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ

ขอบคุณสื่อกลางที่กรุงเทพ ที่เล่าเรื่องดีๆให้ฟัง

ทั้งๆที่เราอยู่ใกล้กันนิดเดียว (สกล-นครพนม) แต่ไม่มีโอกาศเรียนรู้ด้วยกันเลย

น่าคิดนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท