ตกผลึกอุดมการณ์บริการปฐมภูมิ สู่ปฏิบัติการ...งานสุขภาพชุมชน (๔)


ต้องทำให้ primary care เป็นจุดที่มีศักดิ์ศรี

หลังการเสวนา เป็นช่วงพัก ก่อนจะมีกิจกรรมกลุ่มย่อยหัวข้อเดียวกับเมื่อบ่ายวานนี้ ดิฉันใช้โอกาสนี้พาคุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ ไปรู้จักกับคุณหมอนิพัธ กิตติมานนท์ และคุณหมอสกาวเดือน นำแสงกุล เราคุยกันเพื่อวางแผนเรื่องไปเยี่ยมคนทำงานเบาหวานที่พิจิตร คุณหมอนิพัธอยากไปชมเรื่องเกษตรปลอดสารพิษด้วย ยังไม่ได้กำหนดวันเวลา แต่ตกลงกันแล้วว่าจะต้องติดต่อและประสานกับใครบ้าง คุณสุรเดชอยากให้เราไปเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจคนทำงานเบาหวาน

๑๑.๓๐ น.กว่า ดิฉัน ภก.สุรพงศ์ แสงฉายา น้องชมพู่ (ปฏิพิมพ์ อยู่คง) และน้องนาถรีบไปทำหน้าที่ดำเนินการกลุ่มย่อยตามที่ได้รับมอบหมาย กลุ่มย่อยหลายกลุ่มที่ไม่มีคนเข้าหรือคนเข้าน้อย ก็ยุบรวมกลุ่มกันกับกลุ่มข้างๆ กลุ่มของเรามีผู้ขอเรียนรู้ผ่านมาเข้าๆ ออกๆ ๓-๔ คน ที่อยู่ประจำมีคุณสุรีย์ สร้อยทองจาก รพ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา น้องจาก รพ.โชคชัย จ.นครราชสีมา และจาก รพ.เสาไห้ จ.สระบุรี เพื่อประหยัดเวลาเราจึงให้ผู้ขอเรียนรู้เล่าเรื่องของเขาก่อน คุณสุรีย์ซึ่งทำงานมานานเริ่มเล่าการพัฒนางานเบาหวานที่ รพ.บ้านโพธิ์ เห็นบรรยากาศการทำงานที่แข็งขันของทีมพยาบาลในจุดต่างๆ แต่เมื่อส่งต่อแพทย์แล้วยังไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ถึงอย่างไรงานเบาหวานก็ได้พัฒนาไปมากพอสมควร

รพ.บ้านโพธิ์ เป็นสมาชิกหนึ่งของเครือข่ายเรา หลังจากที่คุณแสงเดือน บุญเจริญ คุณวิภา เจริญสินรุ่งเรืองและทีมได้มาเรียนรู้จากเราเรื่องเท้า เรื่องอาหาร เรื่องค่ายเบาหวาน ได้นำความรู้ไปประยุกต์ในการจัดบริการ อย่างเรื่องเท้าก็มีการตรวจเท้า นวดเท้า จนผู้ป่วยติดใจมาก

พวกเราพากันเสนอแนะวิธีการต่างๆ ที่เราเคยใช้มาแล้ว ไปๆ มาๆ เรากลับสนใจการทำงานของคุณสุรีย์เสียมากกว่าว่าทำได้อย่างไร เพราะทำหลายหน้าที่เหลือเกินทั้งงานประกันสุขภาพ ศูนย์โรคเรื้อรัง ดูแลห้องคลอด ช่วยผ่าตัดคลอด แล้วยังทำหน้าที่ประสานงานกับฝ่ายต่างๆ จัดการการเยี่ยมบ้าน น้องชมพู่สงสัยว่าทำได้อย่างไร มีครอบครัวหรือเปล่า ปรากฏว่าคุณสุรีย์มีลูก ๒ แล้ว การแลกเปลี่ยนกันทำให้ได้รู้กลยุทธ์ในการประสานความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ให้เกิดการทำงานร่วมกันและให้มีการใช้บุคลากรอย่างเหมาะสม ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น การใช้ Google earth ทำแผนที่เดินดิน ถ้าวาดแผนที่เองจะยาก เพราะมีคลองมีอะไร

คนฟังสนใจเรื่องศูนย์โรคเรื้อรัง ได้ความว่าศูนย์นี้เชื่อมข้อมูลจากโครงการโรคต่างๆ มีข้อมูลว่าผู้ป่วยแต่ละรายมีปัญหาอะไรบ้าง จะประสานกับแต่ละฝ่าย วางแผนและจัดการเรื่องการเยี่ยมบ้าน ว่าใครควรออกไปกับใคร ต้องเอาวัสดุอุปกรณ์อะไรไปบ้าง

ผอ.รพ.บ้านโพธิ์ ให้การสนับสนุนเรื่องการเข้าอบรมและการเรียนต่อ ใครสอบได้ให้เรียนหมด ให้คนไปเรียนด้านเวชปฏิบัติและฉุกเฉินเยอะ เพราะรู้ว่าพึ่งได้

น้องพยาบาลจาก รพ.เสาไห้ มีเรื่องมา share ไม่มาก เพราะจบมาก็อยู่ ward เพิ่งมารับผิดชอบงานชุมชนได้เพียง ๑ ปี ทำงานเยี่ยมบ้าน ชมรมผู้สูงอายุ ปีหนึ่งเยี่ยมบ้านประมาณ ๑๕๐ ราย คลินิกเบาหวานเป็นความรับผิดชอบของ OPD ส่วนการตรวจเท้านั้นนักกายภาพบำบัดเป็นคนทำ

เราคุยกันจนเกือบ ๑๒.๓๐ น. หิวกันแล้ว จึงบอกน้องนาถซึ่งทำหน้าที่ “คุณลิขิต” ว่าไม่ต้องสรุป เพราะได้เขียนทุกอย่างไว้ใน flipchart แล้ว ขอจบการสนทนาแล้วแยกย้ายกันไปรับประทานอาหารกลางวัน

ภาคบ่าย เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของภาคีเครือข่ายแต่ละภาคในห้องย่อยประมาณ ๑ ชม. ก่อนจะมานำเสนอในห้องประชุมใหญ่

เครือข่ายภาคเหนือนำประเด็นเด็กและเมล็ดพันธุ์ (เม็ดพันธุ์) มาเคลื่อนเครือข่าย

เครือข่ายภาคใต้ ที่อยู่ท่ามกลางวิกฤติและความกดดันต่างๆ การขับเคลื่อนเริ่มจาก PCU ในฝันที่ทำใน ๕ จังหวัด แล้วขยายเป็น ๗ และ ๑๔ จังหวัดตามลำดับ กลวิธีคือใช้ยุทธวิธี KM = KaoyuM = ข้าวยำ เข้าถึงวิถีชีวิต เข้าใจวัฒนธรรม

เครือข่ายอิสาน เริ่มจากทำอย่างไรจึงจะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสถานบริการและชุมชน ใช้กลวิธีในการเข้าถึงชุมชน ให้ชุมชนเรียนรู้ตนเองและเราเรียนรู้ชุมชนเพื่อเข้าใจ และนำไปสู่การจัดการที่มีประสิทธิภาพ

เครือข่ายภาคกลาง ประเด็นที่ใช้ขับเคลื่อนคือความสุข ความสุขที่เราสร้างเอง แล้วเผื่อแผ่ จะยังคงใช้ความสุขขับเคลื่อนต่อไป Theme คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างมีความสุข

รายการสุดท้ายคือปัจฉิมกถา โดย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.ที่มีเอกสารประกอบจำนวน ๑๔ หน้า

 

 นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.

คุณหมอสงวนเริ่มด้วยการแสดงความยินดีกับ พรบ.วิชาชีพสาธารณสุข ก่อนที่จะกล่าวถึงประเด็นสำคัญในการพัฒนา primary care อย่างก้าวกระโดด สรุปได้ดังนี้

๑. ต้องทำให้ primary care เป็นจุดที่มีศักดิ์ศรี ด้วยการสร้างคุณภาพ เรื่องของศักดิ์ศรีนั้น บางทีเราไปคิดว่าศักดิ์ศรีต้องมาจากภายนอก ความจริงศักดิ์ศรีเกิดจากการยอมรับจากภายในด้วย ศักดิ์ศรีภายนอกสร้างได้ง่าย ภายในสร้างยาก ต้องช่วยกันสร้างจากภายในให้เกิดความภาคภูมิใจ

คุณหมอสงวนยังคุยให้ฟังว่ามีงานวิจัยที่พบว่าหมอจะอดทนฟัง (คนไข้เล่า) ได้แค่ ๑๒ วินาทีเท่านั้น แล้วจะพูดแทรกและถามนำตลอด จะไปว่าหมอก็ไม่ได้เพราะระบบขณะนี้วิกฤติ หมอก็ไม่มีความสุข คนไข้-คนทำงานก็ไม่มีความสุข ไม่มีใครมีความสุขเลย เป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องมีการสร้าง primary care

๒. ต้องทำให้เห็นความแตกต่างในระบบบริการ แยกให้ชัดเจนระหว่าง primary – secondary – tertiary care ตราบใดที่ รพ.ยังให้บริการแข่งกับ primary care อยู่ ไม่มีทางเกิด แม้ primary care จะมีบริการเชิงสังคม แต่ถ้าแข่งขันเมื่อไรไม่มีทางชนะ

เมืองนอกที่ทำเรื่อง primary care มานาน จะไม่มี OPD ทัวไปใน รพ. มีแต่ศูนย์ส่งต่อ OPD จะออกไปอยู่ตามสี่มุมเมือง ถ้าต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ต้องสร้างให้เกิดความแตกต่าง ทำ รพ.สัก ๒-๓ แห่งที่ไม่มี OPD ทั่วไป ได้คุยกับ รมต.สธ.แล้วและจะมีการเริ่มทำในเร็วๆ นี้ จะมี รพ.แห่งแรกที่ไม่มี OPD ทั่วไป หรือกล่าวอย่าง positive ว่า “จะลดภาระ รพ.ขนาดใหญ่ถึงระดับที่ไม่มี OPD ทั่วไป จะเหลือแต่ referral clinic” ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้นำชุมชนก็ให้ความร่วมมือ ต้องช่วยกันทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบใหม่ ให้ primary care อยู่ข้างนอกให้หมด ถ้ารักษาไม่ได้จึงส่งต่อ

๓. ความรู้ความสามารถและแรงจูงใจที่เพียงพอ ที่จะจูงใจให้คนทำงานอยู่ที่นั่นได้ ต้องเอาคนที่มีใจไปอยู่ ไม่ใช่ใช้วิธีเกณฑ์กันออกไป สร้างระบบแรงจูงใจทั้ง incentive เงิน ความรู้

ต่อจากนั้น พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และ นพ.มรกต กรเกษม ที่ปรึกษา รมต.สธ.ขึ้นบนเวที มีพิธีประกาศเป้าหมาย ๘ ประการของระบบสุขภาพชุมชน มีการร้องเพลงร่วมกัน เป็นการปิดการประชุมอย่างเป็นทางการและอย่างประทับใจเมื่อเวลา ๑๕.๔๐ น.

 

 ประกาศเป้าหมาย ๘ ประการของระบบสุขภาพชุมชน

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 80451เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2007 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดิฉันในฐานะส่วนหนึ่งของผู้จัดงานนี้ ต้องขอบคุณผู้ให้ประสบการณ์ บทเรียนที่ดีในการทำงานบริการปฐมภูมิทุกคน ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เห็นถึงพลังของหน่วยบริการปฐมภูมิในการเป็นจุดคานงัดในการปฏิรูประบบบริการสุขภาพให้มีคุณภาพขึ้น   งานนี้เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีตัวอย่างดีๆ จากหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมมือ ร่วมใจกันทำงานอย่างเต็มที่ เราเองเป็นเพียงกลไกหนึ่งที่เสนอบทเรียนที่ดีให้แก่สาธารณะได้รู้เห็น และขยายผลต่อไปค่ะ

 

  • ตัวผู้เขียนเองเป็นอีกหนึ่งคนที่ทำงานด้านสุขภาพ ถึงแม้จะไม่ได้สัมผัสโดยตรงกับศูนย์สุขภาพชุมชน หากแต่การทำงานในปัจจุบันก็ถือได้ว่า อยู่เบื้องหลังและคอยสนับสนุนการดำเนินงานสุขภาพชุมชน เช่นกัน
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งกับประเด็นที่ว่า "ศักดิ์ศรีภายนอกสร้างได้ง่าย ภายในสร้างยาก ต้องช่วยกันสร้างจากภายในให้เกิดความภาคภูมิใจ" เพราะนี่คือสิ่งเดียวที่จะเพิ่มค่าและรักษาคุณค่าของการพัฒนา primary care อย่างยั่งยืน
  • ถึงแม้จะไม่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ แต่ก็สามารถทราบถึงบรรยากาศการประชุมคร่าวๆจากการติดตามอ่านบันทึกของ คุณวัลลา ตันตโยทัย รวมถึงรูปภาพ "ประกาศเป้าหมาย ๘ ประการของระบบสุขภาพชุมชน" ซึ่งมีหนึ่งหนุ่มจากชุมพร(สสอ.พะโต๊ะ) ไปยืนชูธงกับเค้าซะงั้น!!!
  • แล้วจะติดตามอ่านต่อไปนะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท