Peer Assist กับทีม รพ.บางสะพาน


ได้มองเห็นลึกลงไปถึงความตั้งใจของคนทำงานว่าไม่ใช่เป็นเพียงแค่การทำงานตามหน้าที่เท่านั้น แต่มีความต้องการที่จะทำงานของตนให้ดียิ่งขึ้น และต้องการสร้างการทำงานแบบเป็นทีม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีแก่ผู้ป่วยเบาหวาน

เมื่อวันที่ ๓-๔ ตุลาคม ๒๕๔๙ ได้มีกิจกรรม Peer Assist ระหว่างทีมเบาหวาน รพ.บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กับทีมของ รพ.เทพธารินทร์

ภก.ทัศนีย์ ฉินทกานันท์ เป็นหัวหน้าทีมของ รพ.บางสะพาน ได้ติดต่อดิฉันผ่านระบบ Email Me @ gotoknow.org ตั้งแต่วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๙ แจ้งว่า “.....ต้องการพัฒนาทีมจัดค่ายเบาหวาน โดยทีมนี้เป็นบุคลากรสาธารณสุขหลากหลายวิชาชีพ ที่มีประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมทัวร์สุขภาพอยู่แต่เดิมแล้ว ดังนั้นในการพัฒนาเพื่อให้เป็นทีมค่ายเบาหวานคงจะเพิ่มเติมในส่วนของเนื้อหาวิชาการที่จะสอดแทรกให้กับผู้รับบริการในรูปแบบต่างๆ” ภก.ทัศนีย์มีข้อหารือและลงท้ายจดหมายแบบที่ทำให้คนอ่านต้องรีบตอบว่า “กำลังรอคำตอบอย่างใจจดจ่อ” สะท้อนความตั้งใจและความเอาจริงเอาจัง

เราติดต่อกันเรื่อยมาผ่านทั้งทางโทรศัพท์และ e-mail จนได้วันจัดกิจกรรมที่ลงตัว ทีม รพ.บางสะพานที่มาในครั้งนี้มีจำนวน ๑๙ คน เป็นเภสัชกร ๓ คน นักโภชนาการ ๑ คน นักกายภาพบำบัด ๑ คน ที่เหลือ ๑๔ คนเป็นพยาบาลวิชาชีพ บุคลากรเหล่านี้ทำงานอยู่ในทีมจัดค่ายเบาหวาน คลินิกเบาหวาน และ PCU ภก.ทัศนีย์เล่าว่าการจัดทัวร์สุขภาพอาจจะเรียกเป็นค่ายแบบกว้างๆ มีการให้ความรู้แบบกว้างๆ เมื่อจะมาดำเนินการค่ายเบาหวานซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงจึงต้องการความรู้เพิ่มขึ้นและอยากจะเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ วัตถุประสงค์หลักคือต้องการเรียนรู้เรื่องการนำความรู้ที่ผู้ป่วยควรได้รับไปใส่ในกิจกรรม

ดิฉันประทับใจทีม รพ.บางสะพาน ที่ต้องออกเดินทางกันมาตั้งแต่ ๐๔.๐๐ น. ด้วยรถตู้ ๒ คัน มีหลงทางกันบ้างจึงมาถึงที่ประชุมช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ กิจกรรม BAR จึงให้เพียง ภก.มนูญ ทองมี และคุณกัญญ์ธีรา วงษ์สุวรรณ พยาบาลวิชาชีพ ได้เล่าบอกความคาดหวังของตนเอง

 

   

ภก.มนูญ ทองมี              คุณกัญญ์ธีรา วงษ์สุวรรณ

 

ภก.มนูญบอกว่าตนเริ่มทำเรื่อง counseling มาตั้งแต่เดือนมีนาคม ยังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงอยากรู้รายละเอียดของ counseling อยากรู้ว่าตัวชี้วัดเป็นอย่างไรและจะดูเรื่องการดูแลผู้ป่วยกว้างๆ ด้วย สำหรับคุณกัญญ์ธีรากล่าวว่าตนเองรับผิดชอบงานชมรมฯ มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ เคยจัดค่ายมาบ้างแล้ว คาดหวังว่าจะนำความรู้เรื่องค่ายไปประยุกต์ใช้และนำเอาไปพัฒนาชมรมฯ ด้วย คงต้อง Update ความรู้และนำไปประยุกต์ในพื้นที่

คนอื่นๆ ที่เหลือเราให้เขียนลงกระดาษที่เราพิมพ์เตรียมไว้ให้ เมื่อนำมาอ่านดูก็รู้ว่าทีมของ รพ.บางสะพานคาดหวังที่จะเรียนรู้มากกว่าเรื่องของการจัดค่าย ดิฉันจึงต้องแจ้งให้ทีมของ รพ.เทพธารินทร์รู้ด้วย

ดิฉันจัดกำหนดการและหัวข้อของกิจกรรม โดยให้มีทั้งส่วนที่เป็นการ Update ความรู้ใหม่ๆ ในหัวข้อที่จำเป็นและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ วันแรกเราเริ่มกิจกรรมเกือบ ๑๐.๔๐ น. มีการ Update ความรู้เรื่องการป้องกันและการรักษา อาหาร การออกกำลังกาย และการดูแลเท้า กว่าจะจบกิจกรรมก็เกือบ ๑๘.๐๐ น.แล้ว ในการ Update ความรู้เรื่องการออกกำลังกาย ผศ.สมนึก กุลสถิตพร จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำวิจัยเกี่ยวกับการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๒ ในชุมชน กทม. ได้เทคนิคที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้อย่างต่อเนื่อง ดิฉันจะนำมาเล่าภายหลัง

 

เจอกันวันแรก อาจารย์เทพกล่าวต้อนรับ

วันที่สองทีม รพ.บางสะพานมาถึงห้องประชุมแต่เช้าก่อน ๐๘.๓๐ น. บอกว่าขอแก้ตัวที่เมื่อวานมาสาย ทีม รพ.บางสะพาน ๓ คน ได้มาเล่าให้เราฟังก่อนถึงการจัดระบบบริการในคลินิกเบาหวานและคลินิกความดันโลหิตสูง การ counseling เรื่องการใช้ยา และการจัดกิจกรรมของชมรม ทำให้เราได้มองเห็นลึกลงไปถึงความตั้งใจของคนทำงานว่าไม่ใช่เป็นเพียงแค่การทำงานตามหน้าที่เท่านั้น แต่มีความต้องการที่จะทำงานของตนให้ดียิ่งขึ้น และต้องการสร้างการทำงานแบบเป็นทีม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีแก่ผู้ป่วยเบาหวาน

 

วันที่สองพร้อมใจกันใส่สีฟ้า

ช่วงเช้าทีม รพ.เทพธารินทร์ เริ่มจากคุณสุนทรี นาคะเสถียร ผู้จัดการฝ่ายบริการการศึกษาและวิจัยที่บอกเล่าภาพรวมของการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน คุณจุรีย์พร จันทภักดี คุณยุวดี มหาชัยราชัน ที่บอกเล่าเรื่องการให้คำปรึกษาและการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในเรื่องต่างๆ คราวนี้มีทีมเภสัชกรของ รพ.เทพธารินทร์ นำโดยคุณอารียา มะลิแดง ผู้จัดการฝ่ายเภสัชกรรมและน้องเภสัชกรอีก ๒ สาวมาร่วมแจมด้วย ภาคบ่ายเป็นเรื่องการจัดค่ายเบาหวานโดยเฉพาะ มีคุณธัญญา หิมะทองคำเป็นผู้เล่าเรื่อง เราให้เวลาพักน้อยมาก เพียงแค่ไปเข้าห้องน้ำ น้ำชา-กาแฟ อาหารว่างให้เสริฟในห้องประชุม อาหารกลางวันก็ให้รีบรับประทานเร็วๆ ช่วง ๑๒.๓๐-๑๓.๐๐ น.แบ่งกลุ่มพาชมสถานที่ใน รพ.

ซักถาม-แลกเปลี่ยนกันจนใกล้ ๑๖.๐๐ น.สมควรแก่เวลา จึงเริ่มกิจกรรม AAR เราให้ทีมผู้มาเยือนพูด AAR จากใจ ๔ คน คนอื่นๆ ให้เขียนอีกตามเคย เมื่ออ่านดูทั้งหมดแล้วพบว่าหลายคนยังอยากได้มากกว่าที่จัดให้ อยากให้มีการสาธิต อยากเห็นสภาพจริง บางคนรู้สึกว่าตารางเวลาการประชุมอัดแน่นมาก แต่ที่น่าดีใจคือทุกคนบอกได้ว่าตนเองจะกลับไปทำอะไรต่อ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 53456เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2006 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท