สภามหาวิทยาลัย : พลัง ๔ ด้านของสมาชิกบอร์ด


บอร์ดขององค์กร ทั้งองค์กรค้ากำไรและองค์กรไม่ค้ากำไร มีพลังหรือเป็นทุนประเภทจับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) สำหรับองค์กรใน ๔ ด้าน ได้แก่ Intellectual Capital, Reputational Capital, Political Capital และ Social Capital

 

          บอร์ดขององค์กร ทั้งองค์กรค้ากำไรและองค์กรไม่ค้ากำไร มีพลังหรือเป็นทุนประเภทจับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) สำหรับองค์กรใน ๔ ด้าน ได้แก่

 

Intellectual Capital
          ทุนปัญญา (Intellectual Capital) ของบอร์ดทั้งองค์คณะ ไม่ใช่ผลบวกของทุนปัญญา ของสมาชิกแต่ละคน หากบอร์ดมีทักษะในการสร้าง synergy ระหว่างปัจเจก    คือต้องมีเป้าหมายใช้ “collective brainpower”    ไม่ใช่แค่ individual brainpower ที่เอามารวมกัน  
          ไม่ว่าในการทำหน้าที่ Type I (Fiduciary), Type II (Strategic) และ Type III (Generative) บอร์ดต้องมีวิธีใช้ทุนปัญญาของบอร์ดอย่างเป็นองค์คณะ แบบเสริมพลังกัน
มองจากมุม KM บอร์ด ต้องเป็นเสมือน Community of Practice ที่ร่วมกันทำหน้าที่ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน     ให้สามารถทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ     และความรู้ความเข้าใจในการทำหน้าที่บอร์ดในภาพรวมขององค์คณะก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้น    บอร์ด มีลักษณะเป็น Learning Board    ยิ่งนับวันก็ยิ่งมีความชำนาญในการทำหน้าที่บอร์ดที่เป็นเสมือนวงออร์เคสตร้า   

Reputational Capital
          Reputational Capital จะมีคุณค่าต่อเมื่อชื่อเสียงที่ดี หรือความน่าเชื่อถือ ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาความสัมพันธ์ อันนำไปสู่ผลสำเร็จของกิจการ    เช่นชื่อเสียงที่ดีช่วยให้หาอาจารย์เก่งๆ ได้ง่าย    มีนักศึกษาเก่งๆ เข้ามาเรียน    เชิญคนเก่งๆ มาเป็นกรรมการสภา     ร่วมงานกับภาคอุตสาหกรรมได้ง่าย เป็นต้น 
          ในการหาสมาชิกบอร์ดที่มีชื่อเสียงต้องคำนึงว่าต้องการคนที่เป็นที่เชื่อถือในสังคมกลุ่มใด    และต้องคำนึงถึงโอกาสที่สมาชิกสามารถทุ่มเทให้แก่การทำหน้าที่บอร์ด (trustee engagement)    ดังนั้น การมีสมาชิกบอร์ดต้องคำนึงทั้งด้านชื่อเสียงและด้านความทุ่มเท    ดังแผนภูมิ

            

          จากวิธีมองสมาชิกบอร์ดตามตาราง ๒x๒ ข้างบน    บอร์ดต้องมีองค์ประกอบของสมาชิกที่เป็น ซูเปอร์สตาร์  มดงาน  และสัญญลักษณ์ ขององค์กรในสัดส่วนตามความเหมาะสม    และต้องระมัดระวังว่า คนที่มีชื่อเสียงสูงมาก อาจมีเรื่องเสื่อมเสียเกิดขึ้นได้ง่าย    ต้องระมัดระวังว่าหากเกิดเรื่องเสื่อมเสียขึ้นต่อสมาชิกบอร์ดผู้นั้น จะทำให้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยพลอยเสื่อมเสียไปด้วยหรือไม่
          ตัวอย่างของการใช้ชื่อเสียงของสมาชิกบอร์ดช่วยให้งานของมหาวิทยาลัยสำเร็จ     มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งต้องการดึงดูดนักเรียนระดับอัจฉริยะจำนวนหนึ่งเข้าศึกษา     แทนที่อาจารย์จะเป็นผู้ไปชักชวน     กรรมการสภาเป็นผู้ไปพบผู้ปกครองของเด็กถึงบ้าน     โดยเลือกกรรมการที่เป็นที่รู้จักและนับถือของผู้ปกครองของเด็กแต่ละคน    หรือกรรมการสภาเป็นคนที่อยู่ในสาขาวิชาที่ต้องการชักชวนเด็กมาเรียน 
          ชื่อเสียงของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ช่วยให้มหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์กับสังคมภายนอกได้ดีขึ้น

Political Capital
          หมายถึงทักษะในการแสดงจุดยืน ชักชวน หรือโน้มน้าวการตัดสินใจ  โดยมีหลักการสำคัญ ๓ ประการคือ


1. เพื่อประโยชน์สูงสุดของมหาวิทยาลัย    ไม่มีประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง
2. ใช้อย่างสมเหตุสมผล ได้แก่ : (๑) แสดงบทบาทในฐานะกรรมการสภาฯ ไม่ใช่ส่วนตัว    (๒) ดำเนินการผ่านกระบวนการตามปกติและเปิดเผย ไม่ใช้วิธีลับหรือ “เข้าหลังบ้าน”     (๓) สภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็น “พื้นที่” สำหรับให้ฝ่ายต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้เปิดเผยความต้องการ ผลปรโยชน์ และจุดยืนของตนในเรื่องต่างๆ
3. ใช้อย่างเหมาะสมกับความเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งมีลักษณะ  (๑) เป็นองค์กรแห่งความแตกต่างหลากหลาย    (๒) ไม่เน้น (และไม่ชอบ) ลำดับชั้น หรือการบังคับบัญชา    (๓) เน้นการมีส่วนร่วม หรือตัวกระบวนการ พอๆ กับสาระของการลงมติ


          สภามหาวิทยาลัยที่เข้าใจวิธีใช้พลังของปฏิสัมพันธ์เชิงการเมืองภายในมหาวิทยาลัยอย่างสร้างสรรค์ จะสามารถสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน (mutual trust) ภายในมหาวิทยาลัย     สร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน    สามารถร่วมกันตัดสินใจในเรื่องที่ไม่มีความชัดเจน หรือมีความเสี่ยงสูง  แต่ก็จะสร้างความสำเร็จในมิติก้าวกระโดด ได้   
ผมขอสร้างศัพท์ส่วนตัวว่า     สภามหาวิทยาลัยต้องทำงานโดยใช้ politics of trust ไม่ใช่ politics of distrust ระหว่างกรรมการสภาด้วยกัน และระหว่างสภากับสมาชิกของมหาวิทยาลัย     ไม่ทราบว่าคิดอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่

Social Capital
          หมายถึงความสามารถในการดูดซับความรู้หรือความสามารถในการบรรลุผลสำเร็จในการดำเนินกิจการจากสังคมภายนอก    หรือการมี social network กับภายนอกมหาวิทยาลัย     รวมทั้งการใช้ social network หรือปฏิสัมพันธ์ภายในมหาวิทยาลัย ในการสร้างบรรยากาศสร้างสรรค์  เกิดความร่วมมือ ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
          ตัวอย่างของปัจจัยที่ทำให้เกิด social capital เช่น ความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ได้รับการยอมรับ รับฟัง (sense of inclusiveness), ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน, การยึดถือคุณค่าร่วมกัน (shared values), การมีปณิธานความมุ่งมั่นร่วมกัน (shared purpose) 
          กรรมการสภามหาวิทยาลัยทำงานภายใต้ความสัมพันธ์เชิงสังคม (social relationship) ระหว่างกัน    โดยที่ความสัมพันธ์อาจเพิ่มพูน social capital ของสภามหาวิทยาลัยก็ได้     หรืออาจทำให้ social capital ของสภาฯลดลงก็ได้     สภามหาวิทยาลัยต้องมีทักษะวิธีการที่จะทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกรรมการสภาฯ เกิดผลเชิงบวกต่อ social capital ของสภาฯ
          มองเชิง generative    สภาฯ ทำงานไป สร้าง social capital ไป    โดยสร้างจากปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมระหว่างกรรมการสภาด้วยกัน    จากปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมระหว่างกรรมการสภากับสมาชิกของมหาวิทยาลัย     และจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสภากับสังคมภายนอก
          เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่ความสัมพันธ์เชิงสังคมจะก่อ social capital ส่วนบุคคลเป็นหลัก     แต่กรรมการสภาฯ ที่ดี จะพยายามทำให้ความสัมพันธ์นั้นสร้าง social capital ของส่วนรวมทั้งมหาวิทยาลัย     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง social capital ในการทำงานร่วมกันเป็นองค์คณะของสภาฯ แบบ generative mode หรือแบบ value-based ไม่ใช่แบบ rule-based

 

วิจารณ์ พานิช
๑๒ ม.ค. ๕๑

 

หมายเลขบันทึก: 159183เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2008 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท