สามวิชา...ที่ครูยุคหลังปฏิรูปการศึกษา ต้ อ ง รี บ ส อ น ! (วิชาครอบครัวศึกษา)


 เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

บทความเรื่องนี้มี 4   ตอนค่ะ

ตอนที่     1    นำเรื่อง                   

ตอนที่     2     วิชาครอบครัวศึกษา                   

ตอนที่     3     วิชารู้เท่าทัน   

ตอนที่      4     วิชาภูมิปัญญาไทย  (จบ)

เพื่อความต่อเนื่อง และอารมณ์ที่ไม่ขาดตอน โปรดอ่านเรียงตอนตามลำดับนี้    ดิฉันขออภัยที่เขียนยาวๆ  นิสัยนี้รักษายาก  และแก้ไม่หายสักที

หากท่านกรุณาอ่านไปจนจบบทความนี้ได้  ดิฉันขอขอบพระคุณ  และหากท่านรู้สึกว่ายาว และอาจอ่านไม่จบ   ดิฉันก็ขอขอบพระคุณด้วยความรู้สึกเข้าใจเช่นกันค่ะ                                                 

                                                                                 ขอบพระคุณค่ะ  : )

สามวิชา...ที่ครูยุคหลังปฏิรูปการศึกษา      ต้ อ ง รี บ ส อ น !

                      :  วิชาครอบครัวศึกษา

 

         

                วิชาครอบครัวศึกษา    โปรดเริ่มต้นที่ตัวท่านเอง  ใช่แล้ว  เริ่มต้นที่ทุกท่านที่กำลังอ่านบทความนี้ และหากท่านเป็นครู ไม่ว่าท่านจะสอนระดับใดอยู่ในสถาบันใดก็ตาม อย่าได้หันหน้าไปมองหาใครอีก  ท่านคืออีกหนึ่งความหวังของชาติ  เป็นความหวังของปราชญ์ของแผ่นดินเราด้วย ก็เมื่อเราได้เห็นกันแล้วว่าหน่วยย่อยที่สุดที่ยึดเหนี่ยวความเป็นชาติที่เข้มแข็งมั่นคง  คือสถาบันครอบครัว  ก็เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะสร้างและรักษาไว้ให้สุดกำลัง  สุดความสามารถทั้งหมดที่มี 

               และแม้ว่าท่านจะไม่ใช่ครู  ก็ขอได้โปรดอย่าได้ปฏิเสธหน้าที่นี้  การสร้างจิตสำนึกในความเป็นพ่อแม่ที่ดีต้องช่วยกันปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็ก แม้เราจะเล็งผลเลิศร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แต่หากละเลยเพิกเฉยกันทั้งชาติ ก็จะพังร้อยเปอร์เซ็นอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

             วิชาครอบครัวศึกษา ควรเป็นวิชาสอนคนให้เป็นพ่อแม่และลูกที่ดี  โดยย้ำความเป็นพ่อ และแม่ที่ดี 

              คำกล่าวที่ว่า “พ่อแม่  คือ ผู้นำเสนอโลกแก่ลูก” ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก เป็นถ้อยคำที่ลึกซึ้ง แยบคาย และจับใจมิใช่น้อย

               แต่เดิมโรงเรียนจะสอนแต่ความเป็นลูกที่ดี   เพราะเราไม่สามารถปิดล้อมจับเอาพ่อแม่ตัวโตๆมานั่งอบรมความเป็นพ่อแม่ที่ดีได้   แต่หากเราเปลี่ยนวิธีคิดนิดเดียว  เราก็จะผลิตซ้ำคำสอนและวิธีสอนที่แยบคายให้พ่อคุณแม่คุณตัวเล็กๆที่นั่งสลอนอยู่ตรงหน้าเหล่านี้ เติบโตขึ้นเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ดีในวันหน้าได้  ถ้าเพียงแต่ครูและอาจารย์ทั้งหลายตั้งใจจริง 

               เราต้องหากลวิธีอันลึกซึ้ง ที่จะสอนให้เด็กๆทั้งหลายได้เห็นกระจ่างชัดว่าการเป็นพ่อและแม่ที่ดีนั้น  ต้องตั้งใจ  ต้องเตรียมตัว  มิใช่คิดแล้วทำเลย  ชีวิตจริงๆไม่ง่ายอย่างนั้น  และไม่ใช่ด้วยวิธีการไต่บันไดสำเร็จรูปเหมือนการศึกษาในชั้นเรียน

              วิชาความเป็นพ่อแม่ลูกที่ดี  หรือวิชาครอบครัวศึกษานั้น เปิดหนังสืออ่านได้ แต่เปิดหนังสือสอนไม่ได้ วิธีสอนที่น่าจะใช้ได้ผลที่สุดก็คือ     ในแต่ละครั้งที่ครูเข้าสอน   ลองหาโอกาสทองให้เหมาะตามภาวะในห้องเรียน   แล้วสอนด้วยการยกปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นกรณีศึกษา  ฝึกให้เด็กๆมองเห็นปริบทที่รายรอบปัญหานั้น  ชี้ให้เขาเห็นว่าชีวิตมิได้มีเพียงมิติเดียว 
      
              ฝึกให้เด็กๆร่วมกันคิดระดมสมอง   โดยมีครูคอยชี้ช่องทางที่เหมาะที่ควรให้เขาเห็น  เด็กในยุคโลกาภิวัตน์นี้ส่วนมากจะรับรู้แล้วว่าปัญหาครอบครัวมีจริง แต่เขาหาทางออกไม่เจอ  การสอนอย่างนี้ ครูพึงเลือกปัญหาหรือกรณีศึกษาให้เข้ากับปริบทในห้องเรียนของตนเอง และพึงเรียนรู้ที่จะเข้าใจเด็กอย่างลึกซึ้ง จับอารมณ์ของเด็กให้ทัน รวมถึงความมีเมตตาธรรมอย่างสูงที่จะนำเสนอทางออกที่เหมาะสมแก่เด็ก  ด้วยภาษาที่เด็กเข้าใจง่าย  เห็นจริง   และไม่มองชีวิตเป็นสิ่งสำเร็จรูปเกินไป 

             การสอนด้วยวรรณกรรมดีๆ เลือกเรื่องที่มีข้อคิดดีๆเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว ก็น่าจะช่วยให้เด็กมองเห็นวิธีคิด วิธีเลือกเส้นทางชีวิตของตัวละครจากเรื่องที่เขาได้อ่าน  อย่ามองหนังสืออ่านนอกเวลาเป็นเพียงคะแนนเก็บระหว่างภาค   แต่โปรดมองเป็นการจำลองประสบการณ์ให้มนุษย์ตัวเล็กๆของเราได้ฝึกหยิบยกมาวิเคราะห์ใคร่ครวญ  เรื่องบันเทิงคดีนั้นตอบสนองอารมณ์และติดตรึงใจดีนัก  สักวันเขาจะฉุกใจ  ได้คิด


              อย่าลืมจัดกิจกรรม หรือตั้งคำถามเป็นความถี่ซ้ำๆ ที่จะทำให้เด็กเริ่มตั้งใจคิด 

              พ่อและแม่ ที่ดี คือพ่อและแม่แบบไหน

              หากเขาต้องเป็นคุณพ่อคุณแม่  เขาจะเป็นพ่อและแม่แบบใด


              ฝึกอย่างแนบเนียน  และแยบยล   ให้เด็กตั้งคำถามที่จะก่อรูปเป็นจิตสำนึกในใจ  สักวันมันจะฝังรากลึกลงไปในใจเขา  และจะช่วยกำหนดทิศอันเป็นมงคลให้กับชีวิตครอบครัวของเขา  โดยคนแจวเรือจ้างอย่างเราพยายามทำหน้าที่ชี้ทางสว่างสุดชีวิต   

             มาตรฐานค่านิยมทางเพศ ของวัยรุ่นไทยในภาวะวิกฤตนี้  จะได้บรรเทาลง  อย่างน้อยๆ ครอบครัวของคนรุ่นต่อไป   จะได้เริ่มจากการคิดก่อนทำ  แทนที่จะทำก่อนแล้วค่อยคิด

             วิชาครอบครัวศึกษา  สามารถเลือกวิธีสอนได้หลายรูปแบบตามความถนัดของผู้สอนและปริบทของผู้เรียน โปรดระลึกอยู่เสมอว่าวิชาครอบครัวศึกษามิใช่ชุดวิชาสำเร็จรูป       แต่เป็นศิลปะการปลูกฝังจิตสำนึกขั้นสูงที่ต้องอาศัยความรักความเข้าใจ   และความเพียรพยายามที่จะเรียนรู้และเข้าใจผู้เรียนเป็นเบื้องต้นก่อน 

             โปรดอย่ามองคำว่า “ครอบครัวศึกษา”  อยู่ในกรอบของห้องเรียน  วิชา และการสอบเอาคะแนนเป็นอันขาด  เพราะชีวิตครอบครัววัดเป็นคะแนนไม่ได้      และไม่มีกรอบคะแนนสำเร็จรูป     แต่เป็นศิลปะของการประคับประคองชีวิตร่วมกัน  ด้วยความรักและความเสียสละ  วิชาความรักและความเสียสละ    ไม่มีในระบบการศึกษาและหลักสูตรของชาติเรา   ถามว่าจะรอให้ใครมาสร้างให้   ถ้าครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาไทยไม่ร่วมกันสร้าง

              วิชาครอบครัวศึกษานี้ สามารถสอน และสอดแทรกในการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงปริญญาเอกโดยไม่ต้องรอครูต้นแบบ     การสืบทอดความเป็นครอบครัวที่เหนียวแน่นภูมิปัญญาของไทยมานานแล้ว


               โปรดอย่ารีรอที่จะสอนชุดความรู้นี้โดยไม่ต้องรอให้กระทรวง  ทบวง กรม     ประกาศใช้เป็นหลักสูตร....

                เพราะ "หลักสูตร" มักจะเกิดตามหลังชุดความรู้ที่เป็น "ภูมิปัญญา" เสมอ    

 

 

 

 

----------------------------------------------------------------------------------------

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 97906เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)
   และแม้ว่าท่านจะไม่ใช่ครู  ก็ขอได้โปรดอย่าได้ปฏิเสธหน้าที่นี้  การสร้างจิตสำนึกในความเป็นพ่อแม่ที่ดีต้องช่วยกันปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็ก แม้เราจะเล็งผลเลิศร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แต่หากละเลยเพิกเฉยกันทั้งชาติ ก็จะพังร้อยเปอร์เซ็นอย่างที่เห็นและเป็นอยู่
  • พี่แอมป์ขา..
  • หว้ามีเวลาว่างแป๊บนึง
  • รีบแว่บมาเที่ยว g2k เห็นหน้าพี่แอมป์เลยเข้ามาทักทายค่ะ  ช่วงนี้จะหายไปจาก g2k เลยค่ะ
  • เข้ามาเรียนรู้ค่ะพี่    หว้าเห็นด้วยกับพี่ดลค่ะ ว่าเราต้องช่วยกันปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก
  • สำหรับในระดับอุดมศึกษา อาจารย์ก็สามารถสอดแทรก ปลูกจิตสำนึกให้กับเด็กๆได้เช่นกัน
  • ส่วนใหญ่เราไปเน้นแต่ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ     ส่วนหว้าเองก็คงต้องหาวิธีการที่จะสอดแทรกบ้างเหมือนกันค่ะ   พวกเราทุกคนต้องช่วยกันค่ะพี่
P
สวัสดีอีกทีค่ะ คุณสิทธิรักษ์
             ขอบพระคุณที่ยกข้อความมานำเสนอให้เห็นเส้นทางความคิดอีกครั้งค่ะ  
: )
P
  • หว้าจ๋า....  หายไปนานเลย
  • ขอบคุณที่แวะมาทักทายแม้ในวันที่แสนยุ่ง  เหนื่อยมากไหมจ๊ะ 
  • รักษาสุขภาพ และทำงานอย่างมีความสุขนะจ๊ะ   
  • ของพี่ตั้งแต่อาทิตย์หน้าก็คงไม่ค่อยมีเวลาเหมือนกัน   เปิดเทอมนี้สอนหลายวิชา 
  • แต่มีเวลาเมื่อไหร่ก็จะแวะมาทักทายนะจ๊ะ 
  • กระซิบบอกว่าพี่ชอบหว้ารูปนี้จัง เพราะสีที่พี่ชอบมากอีกสีนอกจากสีรุ้งคือสีชมพูอะค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.ดอกไม้ทะเล

วิชาครอบครัว เป็นวิชาที่สำคัญจริงๆ ครอบครัวเป็นพื้นฐานของทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ พฤติกรรมของคนนั้นล้วนแล้วมีพื้นฐานมาจากครอบครัวทั้งนั้น อีกส่วนหนึ่งอาจจะมาจากพันธุกรรมบ้างแต่ก็คงเป็นส่วนน้อย...

ดิฉันก็คงมีสอนเด็กๆ ไปบ้างแต่ก็เป็นแบบสอดแทรกไปเรื่อยๆ น่ะค่ะ..

สวัสดีค่ะ อาจารย์กมลวัลย์

ดีออกค่ะอาจารย์  : )  การสอนแบบสอดแทรกแนวคิดที่พึงประสงค์เกี่ยวกับเรื่องครอบครัว อย่างที่อาจารย์บอก   น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะในการสอน  ในรายวิชาต่างๆ ของระดับอุดมศึกษานะคะ 

บางทีเวลาเราสอนกันตรงๆ เด็กก็ไม่ใคร่อยากฟัง  เขาคงรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่รู้ๆกันอยู่แล้ว  เลยต้องพูดให้กลืนๆไปกับเนื้อหา 

อันนี้เล่าสู่กันฟังนะคะ     ที่ผ่านมา  เด็กๆบางกลุ่ม   มีค่านิยม "ล้ำหน้า" ไปมาก  บางทีดิฉันก็ลองนัดเป็นกลุ่ม  (เรียกเก๋ๆว่า focus group)  และคุยกันตามสภาพจริง  และคุยกันตรงๆ ถ้าเห็นว่าทางเลือกของเขานั้น  "เสี่ยง"  เกินไป

(ดิฉันจะคุยตรงๆกับเด็กที่คุ้นกันแล้วราวหนึ่งปีการศึกษา  เขาจะพอรับอย่างที่เราเป็นเราได้  แต่ดิฉันต้องคุยอย่างระมัดระวัง  และใส่ใจความรู้สึกเขามากเหมือนกันค่ะ)

 เด็กบอกอย่างขำๆว่า ดิฉันรู้ก็แต่ภาคทฤษฎี  ส่วนเขานั้น  ภาคปฏิบัติผ่านโปรฯไปแล้ว      
 
ดิฉันก็เลยบอกว่าขออนุญาตเปรียบเทียบอย่างนี้ก็แล้วกัน   เปรียบเหมือนคุณเป็นนักมวย  และครูเป็นโค้ช   

..ถูกละ     โค้ชเข้าชิงแชมป์โลกไม่ได้.......   

แต่โค้ชบอกนักมวยได้  ว่าชกยังไงถึงจะได้เป็นแชมป์โลก 

 .........โดยไม่โดนใครเขาน็อคไปเสียก่อน........

                        เด็กๆก็ฮากันครืนอะค่ะ   : )

คุยกับเด็กๆไปแล้วดิฉันก็ขำตัวเองเหมือนกัน  เราก็รู้แต่ภาคทฤษฎีจริงๆ   ประเภทอธิบายได้  แต่ปฏิบัติม่ายเป็น    อิอิ

สวัสดีค่ะอ.ดอกไม้ทะเล

ชอบที่อาจารย์พูดเรื่องโคชกับนักมวยค่ะ จริงที่บางเรื่องเราก็พูดแต่ทฤษฎีที่ไม่เคยปฏิบัติ แต่ดิฉันว่าเราทุกคนมีครอบครัวให้นึกถึงได้เสมอ.. แล้วก็เห็นตัวอย่างรอบๆ ตัว ของเพื่อนๆ พี่ๆน้องๆเป็นจำนวนมาก แล้วก็ในข่าวก็มีตัวอย่างของครอบครัวล้มเหลวให้ดูเยอะจริงๆ... มีเรื่องให้สอนเยอะค่ะ แม้นจะไม่เคยผ่านภาคปฏิบัติจริงก็ตาม อิอิ.. 

  P อาจารย์กมลวัลย์คะ 

         ประโยคนี้ของอาจารย์ จับใจดีจัง    "เราทุกคนมีครอบครัวให้นึกถึงได้เสมอ"      และมีเรื่องให้สอนเยอะจริงๆด้วยค่ะ    เห็นรอบตัวในแต่ละวันก็มีเรื่องให้ยกตัวอย่างเป็นกรณีศึกษากันไม่หวาดไม่ไหว
          และ   
".แม้จะไม่เคยผ่านภาคปฏิบัติจริงก็ตาม"         แต่ดิฉันก็ยังคงมีความหวังอยู่เสมอว่า........     
          อ่า...   ....หวังว่า    เราจะพอมีทางอธิบายให้เขาเข้าใจได้ตรงตามสภาพจริงอะค่ะอาจารย์..... 

          เอ่อ......ประมาณนั้นอะค่ะ     ....อิอิ...   : )
          

        

ปล.   ชอบการ์ตูนชะมัดเลยค่ะอาจารย์   โดยเฉพาะเมื่อเธอกำลังทำท่าน่ารักน่าเอ็นดู    อยู่ระหว่างรูปของเรา       ทำให้คิดถึงหลานน้อยๆอายุสองขวบครึ่ง    ( สงสัยต้องแวะไปขอยืม อ.ลูกหว้ามาแปะไว้มั่งแล้วอะค่ะ)  : )

สวัสดีค่ะ%e0%b8%a7%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%8a%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b6%e0%b9%88%e0%b8%87

P

นานๆจะพบอาจารย์ที่แสดงออกอย่างเอาจริงเอาจังอย่างนี้นะคะ นับถือค่ะ

ส่วนตัวดิฉันเอง อาจโชคดีหน่อยที่มีครอบครัวอบอุ่นมาตลอดจนปัจจุบับ ดิฉันไม่เคยอยู่ในวงการๆศึกษา แต่มีปรัชญาในการดำเนินชีวิตของตัวเอง ปรัชญญาการดูแลเรื่องการศึกษาของลูก        และแนะนำญาติๆเพื่อนฝูง รุ่นน้องๆมาตลอดค่ะ  ซึ่งโชคดีอีก ที่ส่วนใหญ่ก็มีครอบครัวที่ดีๆและลูกๆก็ประสบความสำเร็จตามที่ตนเองหวัง   ไม่มากก็น้อยกัน

การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ ผู้มีอาชีพและจิตวิญญาณเป็นครู  ควรได้รับการยกย่องมากกว่าอาชีพอื่นๆ และควรได้ค่าตอบแทนที่ดีกว่าด้วย

มีข้ออยากถามอาจารย์ค่ะว่า

  1.  ตอนนี้หน่วยงานไหน เป็นผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆคะ การศึกษาของเรา ควรต้องมีการปรับปรุงด้านคุณภาพนะคะ
  2. เมื่อวานไปทานข้าวกับลูก 26-05-2007  เขาเล่าว่า โรงเรียนอินเตอร์แนวหน้าขณะนี้  ให้การบ้านเด็กเยอะมาก ขนาดเด็กอนุบาลก็มีการบ้าน ก็ถามเขาว่า แล้วเด็กทำไหวเหรอ พ่อแม่ก็ต้องช่วยน่ะซี เขาบอกโรงเรียน ตั้งใจ ให้พ่อแม่ช่วย เป็นhome schoolด้วย
  3. ตอนนี้พ่อแม่ต้องเป็นtutorให้ลูกด้วยค่ะ ทีนี้ เด็กที่พ่อแม่ ไม่ได้เรียนพอจะสอนลูกได้ จะทำยังไงคะ หวังแต่ครูๆก็เหนื่อยแย่เลย ไม่มีแรงเสริม

P
ป.ล.ดิฉันมีเรื่องจริงๆมาเล่า โดยเพื่อนสนิท และทุกคนก็เป็นปลื้มแทนหลาน เป็นแรงบันดาลใจสำหรับ การที่จะไปสอนลูกหลานต่อไปค่ะ

http://gotoknow.org/blog/goodliving/96908

อาจารย์คะ

ความเข้มแข็งทางวิชาการเราอ่อนไปนะคะ ลองอ่านดูค่ะ

http://gotoknow.org/blog/thaikm/1939ในช่วงปี ๒๕๔๑ ๒๕๔๕ อาจารย์ในภาควิชาเคมีของ ๘ มหาวิทยาลัยไทยที่ถือว่ามีความเข้มแข็งทางวิชาการสูงสุด ผลิตผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติเฉลี่ยคนละ ๐.๒๖ เรื่องต่อปี             ตัวเลขดังกล่าวของภาควิชาฟิสิกส์ เท่ากับ ๐.๑๒   และเท่ากับ ๐.๐๙ ในสาขาคณิตศาสตร์
แหล่งอ้างอิง  รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยนำร่อง การคาดการณ์สถานภาพการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การภาพ ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐ ๘ แห่ง   โดยสุพจน์ หารหนองบัว และคณะ (อ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ที่ www.trf.or.th)

 

P
สวัสดีค่ะ คุณศศินันท์

         ดิฉันต้องขออภัยอย่างสูงที่เข้ามาตอบช้านะคะ   สัปดาห์แรกของการเปิดเทอมมีงานเร่งด่วนเข้ามามากเหลือเกิน  
   
          รู้สึกยินดีและขอบพระคุณมากนะคะที่คุณศศินันท์  แวะมาเยี่ยม   ขอบพระคุณอย่างสูงสำหรับกำลังใจ  และดอกกล้วยไม้สีชมพูแสนสวย (ดิฉันเข้าใจว่าเป็นกล้วยไม้นะคะ)  ชอบมากๆเลยค่ะ  

           สีชมพูสวยเสมอไม่ว่าจะอยู่โทนไหน  และจะสวยมากที่สุดเมื่ออยู่บนแก้มของเจ้าตัวน้อยของเรา   (ดิฉันแอบไปดูรูปหลานๆของคุณบ่อยค่ะ)
  
          ที่หน้าบ้านดิฉันมีกล้วยไม้ออกดอกอย่างเบิกบานเกือบตลอดทั้งปี ด้วยฝีมือของแม่ค่ะ  ส่วนดิฉันคอยเป็นกองเชียร์สุดฝีมือ         

         สำหรับบทความ  "สามวิชา ที่ครูยคหลังปฏิรูปการศึกษาต้องรีบสอน"   นี้  ดิฉันเขียนไว้นานแล้วค่ะ ตั้งแต่ พศ.2546     ข้อมูลเลยไม่เป็นปัจจุบันเท่าไหร่  ออกแนวตามใจนึก  แถมยังพูดวนๆอยู่แต่เรื่องโรงเรียน  เพราะชีวิตก็ผูกพันอยู่กับบ้านและโรงเรียนนี่แหละค่ะ

          คุณศศินันท์ ตั้งคำถามถึงเรื่องใหญ่ของมหาวิทยาลัยเลยนะคะ   เป็นงานที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันขับเคลื่อน    

          สำหรับการประเมินคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย  อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานหลักทั้งสาม คือ  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ  (ก.พ.ร.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)  และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา  (สกอ.)  ค่ะ  

        ในการประเมินมีเกณฑ์และตัวชี้วัดที่เข้มข้น  มหาวิทยาลัยก็ต้องดำเนินงานประกันคุณภาพรวมถึงงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อพร้อมรับการประเมิน  ทั้งนี้ก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่ปริบทเฉพาะของมหาวิทยาลัยค่ะ

        งานที่เร้าใจมากคืองานประกันคุณภาพ ซึ่งสืบเนื่องกับการประเมินทั้งหลาย    ดิฉันมีโอกาสช่วยพี่ๆน้องๆทำอยู่บ้างเล็กน้อย     ดูแล้วสนุกดี   คือสนุก ถ้าเราทำงานนั้นจริง  และสามารถบอก  (สื่อสารและแสดงหลักฐาน)  ตรงๆได้ว่าเราทำอะไร และยังไม่ได้ทำอะไร  และควรทำอะไรต่อ  แล้วก็ทำสิ่งที่ลงมือทำ  หรือสิ่งที่สัญญาว่าจะทำนั้นให้เป็นหลักเป็นฐาน  สืบค้นหรือแสดงให้ประจักษ์แก่ตาได้ 

          การประเมินงานที่ทำทั้งหลาย...เมื่อตั้งอยู่บนฐานที่เป็นความจริง  และด้วยเกณฑ์ที่เข้าใจสภาพจริง     ทุกฝ่ายก็ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น   อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ  

          และคุณศศินันท์พูดถึงประเด็นที่ดิฉันกำลังหนักใจแทนหลานๆพอดีเลยค่ะ    เห็นเขาแบกกระเป๋าแล้วกลุ้มใจจริงๆ       เพราะสิ่งที่แบกคือสิ่งที่ไม่ได้ใช้เสียกว่าครึ่ง    เรื่องโรงเรียนให้การบ้านเด็กๆเยอะนี้   ในทางหนึ่ง   อาจเกิดจากสาเหตุดังในข่าวนี้

           ตะลึง! นร.ไทย ทำการบ้านสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง       
          

          “ปัจจุบันมีการบ้านเยอะ โดยเฉพาะหลักสูตรใหม่    เนื่องจากกำหนดว่าให้วัดผลจากโครงการ และการบ้าน ผสมกับการวัดผลทางวิชาการ ทำให้นักเรียนมีการบ้านมาก ซึ่งที่โรงเรียนได้แก้ไขโดยการให้แต่ละหมวดวิชาเฉลี่ยการให้การบ้านร่วมกัน เพราะถ้าให้การบ้านทุกหมวดเด็กอาจจะทำไม่ไหว”

          การกำหนดนโยบายใดๆ  นี้น่าคิดเหมือนกันค่ะ  เพราะจากนโยบายสู่การปฏิบัติ บางครั้งก็มีความกำกวมทำให้ตีความไปได้ต่างๆ   หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรับผิดชอบการตีความและตอบคำถาม  โดยคำนึงถึงปริบทที่เป็นจริง (คือมีความแตกต่างหลากหลาย) จึงจำเป็นมาก  หากปล่อยให้ตีความกันไปเองก็จะเป็นช่องโหว่ทางการศึกษาที่อันตรายมาก  เพราะคนที่หล่นร่วงลงไปทางช่องโหว่นั่นคือลูกหลานของเราทั้งสิ้น

          ขอขอบพระคุณ   สำหรับข้อมูลเรื่องความเข้มแข็งทางวิชาการนะคะ   ดิฉันเคยอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ้าง  และทำให้ตระหนักว่าการที่คนไทยจะพัฒนาวิชาการให้เข้มแข็ง  ทัดเทียมอารยะประเทศได้นั้น ต้องมีแรงมุ่งมั่นและมีศักยภาพสูงมาก  และดิฉันก็โชคดีได้มีโอกาสเห็นผู้มีศักยภาพเหล่านั้นจำนวนมากผ่านสื่อต่างๆ รวมถึง G2K ด้วย

          คิดว่าเมืองไทยยังไม่สิ้นหวังนะคะ  แต่คงต้องอาศัยพลังสนับสนุนการพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการจากหลายทิศทาง  และหลากรูปแบบ

          ดิฉันอยู่ต่างจังหวัด  อยู่แบบครูบ้านนอก   เลยมีโอกาสพบเพื่อนครูที่อยู่ในแหล่งที่ขาดโอกาส   แต่เพียรพยายามสร้างโอกาสให้แก่เด็กอย่างตั้งใจ   ขณะเดียวกันก็ได้เพียรพยายามพัฒนาตนเองไปด้วย   แม้จะยากลำบาก  ก็พยายามช่วยกันไปทั้งครูทั้งเด็ก

           ผู้มีศักยภาพสูงๆ  และอยู่ในพื้นที่ที่โอกาสอำนวยให้    ก็คงต้องเหนื่อยหนักหน่อยที่จะพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการในระดับสากล  ส่วนวิชาการ ในระดับบ้านๆ  (เพื่อสร้างคนระดับฐานรากให้มีรากฐานแน่นและมั่นคง) ก็ว่ากันไปในสภาพที่เป็นจริง   และทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้   เลยได้เห็นว่าต้องช่วยกันหลายทิศทางนะคะ

          และขอบพระคุณมากๆนะคะสำหรับบันทึกน่ารัก เรื่อง  “คุณยายคุณภาพฯ”  ช่างเป็นโชคดีของหลานจริงๆ  ชื่นชมในศักยภาพของผู้เป็นคุณยายด้วย   เป็นตัวอย่าง(และแบบอย่าง)ที่ดีมากๆของวิชาครอบครัวศึกษานะคะ 

          ดิฉันรู้สึกว่าปู่ยาตายาย เป็นความอบอุ่นแบบเป็นที่พึ่ง  เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร   เป็นอะไรบางอย่างที่เราจะยิ่งตระหนัก  ......เมื่อขาดไป   แต่การถ่ายทอดทางวัฒนธรรมยังคงอยู่

          ดิฉันบอกลูกศิษย์ว่าจงเป็นรุ่นพี่ที่ดี  อย่าให้น้องรู้สึกไม่แน่ใจขณะยกมือไหว้สวัสดี   แล้วก็จงเตรียมตัวล่วงหน้าที่จะเป็นคุณป้าและคุณยายที่ดีด้วย   เพราะชีวิตน่ะแป๊บเดียว
 
          อย่างครูเนี่ย  ....ปีนี้เป็นป้า     ปีหน้าเก๊าะเป็นยาย....   เห็นแมะแป๊บเดียว
         .....ดิฉันมั่นใจว่าเด็กจะค้านว่า   "...ไม่จริ๊ง    ไม่จริงหรอกฮ่ะ ’จารย์....."
                                       
           แต่รอบนี้เธอกลับทำท่าเห็นด้วยสุดชีวิต..!...     
                                 
      .....ดิฉันจะถอนคำพูดก็ไม่ทันเสียแล้วอะค่ะ....   : )

 คำกล่าวที่ว่า “พ่อแม่  คือ ผู้นำเสนอโลกแก่ลูก” ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก เป็นถ้อยคำที่ลึกซึ้ง แยบคาย และจับใจมิใช่น้อย

**********        **********        **********

;P เห็นด้วยกับประโยคทอง นี้ค่ะ

หากว่า วิธีที่เรา-พ่อแม่ จะนำเสนอ "โลก" แก่ลูกของเรานั้น...

มันไม่ง่ายเลยนะคะ

อ่านบันทึกนี้แล้วอิ่ม จนไม่ต้องถามอะไรให้มากความ ควรแต่จะต้องไปเรียนรู้ "โลก"ให้ดี

และหาแนวทางนำเสนอ "โลก" ด้วยวิธีที่ดี เหมาะสม...แก่ลูกของเราเอง     ขอบคุณค่ะ

หัวใจของครอบครัวศึกษา ผมว่า อยู่ที่ "การให้" ครับ

        โดยเฉพาะ 

    " ให้ความรัก  ให้การยอมรับ    ให้อภัย  และ  ให้โอกาส"

                    ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอเล็กภูสุภา

วิธีการนำเสนอความรักของผู้เป็นพ่อแม่นี้...อาจต้องมีโรงเรียนสอนทีเดียว  
"อาจต้องมีโรงเรียนสอน"  แปลว่า อาจต้องมีผู้ถ่ายทอด (หรือหน่วยที่รับผิดชอบถ่ายทอด)ความรู้ชุดการสื่อสารในครอบครัว  อย่างเป็นระบบครบกระบวน ถี่ถ้วนทุกมิติการสื่อสารของมนุษย์  ทั้งการสื่อสารภายในใจตนเองและการสื่อสารกับบุคคลอื่นในครอบครัว 
คงพอเรียกว่า  "เรียนรู้  Family Communication  เพื่อนำไปสู่ Effective  Family Communication" ได้กระมังคะ

ประสบการณ์เรื่องการสื่อสารในครอบครัวนี้น่าเรียนรู้และน่าศึกษามากเลยค่ะ  ทุกคนมีประสบการณ์นี้  เพียงแต่จะนำมาคิดวิเคราะห์เพื่อปรับแก้ให้ดีขึ้นหรือไม่เท่านั้น
หากโชคดีพอ    คนในครอบครัวคิดวิเคราะห์ร่วมกันด้วยความเข้าใจ  และปรับวิธีสื่อสารเสียใหม่ให้เป็นการสื่อสารที่น่ารัก  และนำเสนอความรักได้อย่างถูกวิธีเหมาะแก่วิถีของครอบครัวนั้นๆ  เราจะได้หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม  ที่มีความมั่นคงทางจิตใจเพิ่มขึ้นมาอีกหลายหน่วย  และหน่วยเล็กๆเหล่านั้นก็จะเป็นรากฐานของความเข้มแข็งมั่นคงของสังคมต่อไป  เราจะได้สังคมสุขภาวะเป็นของขวัญ  ได้พ่อแม่ลูกที่น่ารักเป็นรางวัล  คิดแล้วอยากไปแต่งงานจริงๆ  อิๆๆๆ

เวลาจะฝึกให้นักศึกษาทำงานอะไรสักอย่างแล้วเธอไม่ได้ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่  พี่แอมป์ชอบล้อเด็กๆด้วยประโยคนี้มากเลยค่ะ 
"..ครูไปแต่งงานดีกว่า..." 
แล้วเด็กก็จะฮากันครืน  เพราะหน้าตาพี่ดูตั้งอกตั้งใจมาก    ว่าพี่หมายฟามเช่นนั้นจริงๆ 
พี่ตั้งใจสื่อความหมายว่า   "ถ้าเราเสียเวลาชีวิตเพื่อทำสิ่งนี้  แล้วมิได้คุณค่าอย่างที่ตั้งใจ ทำแล้วสูญเปล่า  เราจะไปเสียเวลาทำไม  เราไปทำอะไรของเราเอง ให้เราได้รับเอาคุณค่าจากสิ่งที่เราทำอย่างเต็มที่... มิดีกว่าหรือ?"  
แปลอีกทีว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตมนุษย์สิ่งหนึ่งคือการมีครอบครัวที่ดี  อยู่ในครอบครัวนั้นแล้วอบอุ่นมีความสุข    พี่ถามเด็กๆว่าหากคุณได้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แลกกับการสูญเสียครอบครัวที่ดีของเราไป อย่างไม่มีวันเอากลับคืนมาได้  คุณจะยอมไหม?    แล้วพี่ก็ตัดบททันควันว่า   "อย่าตอบครู  จงตอบตัวเอง...   และขอให้โชคดี  เพราะคำตอบแท้ๆจากใจคุณวันนี้ ...จะกำหนดชะตาชีวิตของคุณเอง..และครอบครัว..ในวันหน้า

                                                          ...ถ้า คุณ มี !   ..."

นึกแล้วกลุ้มใจวิธีสอนของตัวเองเหมือนกันจ๊ะ  เพราะพี่คิดเอาเอง(ด้วยสามัญสำนึกบ้านๆ)ว่าอะไรน่าจะเป็นปัญหาในชีวิตบ้าง  แล้วพี่ก็ยกปัญหาขึ้นมาคุยกับเด็กๆเพื่อวิเคราะห์พินิจพิจารณาร่วมกัน  จากนั้นก็ร่วมหาทางออกแบบทะลุ่มทะลุยตามใจฉัน  แล้วก็ปล่อยให้เด็กๆไปคิดเอง  ไม่เคยมีคำตอบสำเร็จรูปให้เขาสักที  เด็กๆที่เรียนกับพี่จึงประเมินผลการสอนอย่างมั่นใจว่า "...จารย์สอนอะไรก็ไม่รู้..ไม่รู้เรื่อง"..ต่อเนื่องกันมาจนทุกวันนี้     (และพี่ก็ทำใจได้แล้วนะจ๊ะ)  : )  

สุดท้ายนี้  พี่ก็ได้มองเห็นอีกครั้งว่า ความรักของพ่อกับแม่ทำให้ลูกมีหัวใจที่อ่อนโยน ..หากนำเสนออย่างถูกวิธี   จากบันทึกถึงลูกภูของคุณหมอเล็ก  ที่อ่านแล้วก็รู้สึก "อิ่ม"  อย่างยิ่งเช่นกัน  และทำให้พี่รู้สึกว่า Family Communication  ที่ดี  เริ่มต้นจาก "ความรักและความตั้งใจที่จะเข้าใจกันโดยแท้จริง" เป็นพื้นฐานสำคัญ    

ขอบคุณจริงๆที่หมอเล็กแวะมาร่วมสนทนาเติมเต็ม   สามารถอ้างอิงเรื่อง "ครอบครัวศึกษาฯ"  ให้เห็นหลักฐานจริงเชิงประจักษ์(แก่ตา)ได้ ในบันทึกของคุณหมอเล็กนะคะ  : )   : )

สวัสดีค่ะอาจารย์  small man~natadee

ขอบพระคุณและยินดีมากๆที่อาจารย์แวะมาเยี่ยมค่ะ   ดิฉันขออภัยที่ตอบช้าเพราะติดภารกิจและเน็ตมีข้อจำกัด  แบบ slow but not sure เลยค่ะ : )

หลังจากอ่านความเห็นของคุณหมอเล็กและความเห็นของอาจารย์small man~natadee แล้วดิฉันก็นั่งยิ้มอย่างมีความสุข  เพราะความเห็นของทั้งสองท่าน ได้เติมเต็มให้แก่กันและกันอย่างพอเหมาะพอดี (ในความรู้สึกของดิฉัน)

ชอบหัวใจของครอบครัวศึกษา  ของอาจารย์มากค่ะ    " ให้ความรัก  ให้การยอมรับ    ให้อภัย  และ  ให้โอกาส"  ดิฉันอยากฝึกเด็กๆที่สอนให้มีคุณสมบัติเช่นที่ว่านี้จริงๆ   แต่ไม่ทราบจะออกแบบการสอนอย่างไรให้จับใจเขา  เขาจะได้จำนานๆ 

ดิฉันชอบสอนเด็กว่า  เมื่อสัมพันธ์กับผู้ใดก็ตาม  จงให้"สาม"ให้    "ให้เวลา   ให้โอกาส   ให้เกียรติ"  แต่รู้สึกว่ามันขาดๆอะไรไปอย่างไรก็ไม่ทราบ  เมื่ออาจารย์แวะมาต่อยอดสรุปไว้  รู้สึกว่าได้ใจความสำคัญของหัวใจของครอบครัวศึกษาครบถ้วนเลยค่ะ  : )

สวัสดีค่ะ

  • เมื่อวานที่โรงเรียนมีการประชุมผู้ปกครองนักเรียน  เป็นงานที่ครูคิมรับผิดชอบ การดูแลช่วยเหลือนักเรียน
  • เมื่อชี้แจงให้ผู้ปกครองฟังเกี่ยวกับการลดความรุนแรง การเสริมวันยัเชิงบวก
  • ผู้ปกครองเกินกว่าครึ่ง..เห็นว่าการลงโทษ การดุด่า การตีจะทให้ลูกเขาดี
  • เมื่อเราชี้แจงอย่าไร ก็เอาชนะเขาไม่ได้ จึงเปลี่ยนเรื่องว่า ..ถ้าเราปลูกต้นไม้ 2 ต้น รดน้ำพรวนดินเวลาเดียวกัน รดน้ำเวลาเดียวกัน แต่ต้นแรกนำน้ำมารดหรือสาดวันละ 2 ถัง ส่วนอีกต้นนำน้ำใส่บัวรดอย่างช้า ๆ เวลาเดียวกัน  เขากลับตอบว่าชอบแบบหลังค่ะ
  • ยกตัวอย่างต่อไปอีกว่าดิน โคลน ตม เขานำมาร่อน มาคลึง ผสมสิ่งวัสดุอื่น ๆเข้าไปเพื่อให้มีความเหนี่ยวนุ่ม สามารถปั้นภาชนะให้ใช้ประโยชน์ได้ก็มากมาย
  • เที่ยวหลังนี้เงียบค่ะ  แต่ขากลับก็ไม่วายย้ำ..ให้ครูตีลูก
  • เรื่องครอบครัว..เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดนะคะ  แต่ครูบ้านนอกจะแก้อย่างไรละคะ

สวัสดีค่ะครูคิม

  • โจทย์ใหญ่เลยนะคะ  ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจและไม่พยายามที่จะ ๑.ปรับตัว ปรับใจ  แก้ไขที่จิตใจของตัวเองก่อน   และ ๒.ตั้งใจเรียนรู้การฝึกลูกอย่างถูกวิธี
  • บางทีเขาอาจจะคิดและทำอย่างที่เขาเคยเจอมา หรือรับรู้มาและคิดว่านั่นคือวิธีที่ดีที่สุดแล้ว
  • การคิดแต่จะเอาชนะ เหมาะกับการทำสงครามเป็นอย่างมาก  น่าตกใจจริงๆหากเรามีพ่อแม่ที่คิดแต่จะทำสงครามกับลูกอยู่เนืองๆ 
  • ลูกจะซึมซับเอาพฤติกรรมที่น่ากลัวนี้ไว้ได้อย่างรวดเร็ว  เพราะธรรมชาติการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตมันคอยอยู่แล้ว  ที่จะทำสงครามเพื่อความอยู่รอดอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดก็จะมองคนชุดแรกในชีวิตเป็นศัตรู  ..นึกแล้วกลัวขึ้นมาอีกที 
  • พวกเขาเอาความรักความเข้าใจไปทิ้งไว้ที่ไหนหนอ ?
  • ดิฉันคิดว่าการทำความเข้าใจเรื่องนี้ต้องใช้เวลาชั่วชีวิตค่ะครูคิม  และไม่มีคำตอบสำเร็จรูปว่าจะสำเร็จวันไหน  สำเร็จอย่างแท้จริงหรือไม่  เพราะจิตใจของมนุษย์นั้นเป็นพลวัตร  มีผันแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา
  • และทุกคนในครอบครัวต่างก็เป็น"ตัวแปร"ในชีวิตของกันและกัน
  • สำหรับดิฉัน  บางครั้งก็รู้สึกว่าความรู้ของตัวเองที่จะไปแก้ไข ไปถอดรหัสชีวิต  ไปปรับแก้วิถีความเป็นไปของชีวิตคนอื่นนั้น  ดิฉันไม่สามารถจริงๆ   นึกแล้วก็ออกจะจ๋อยๆไปเหมือนกันเมื่อต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่ได้เก่งกาจสามารถขนาดนั้นเลย 
  • บางครอบครัวอาจต้องถึงมือนักจิตวิทยา วงเล็บ  ถ้ามีอยู่  แต่อย่างที่เรารู้นะคะ  ระบบการศึกษาไทย ไม่ได้ออกแบบมาให้เรามีคนพร้อมขนาดนั้น  อันนี้เราคงต้องทำใจ
  • ดิฉันเข้าข้างตัวเองว่าเราเรียนรู้ได้  ดังนั้นต้องเรียนรู้ไป และหาวิธีการที่เหมาะแก่การสื่อสาร ณ ขณะนั้นที่สุด  แล้วก็สื่อสารไปด้วยความจริงใจ  ด้วยความตั้งใจ  และด้วยความรับผิดชอบสูงสุด   ด้วยใจนิ่งๆและสมดุล คือตั้งสติให้ถึงพร้อมด้วยพรหมวิหารสี่ เพื่อให้เราสื่อสารกับเขา  เพื่อให้เขาเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรม   ด้วยความ"ปกติ"อย่างพอเหมาะพอดี  ไม่สุดโต่งไป  เพื่อนดิฉันบอกขำๆว่าพอหมดมุกก็อ้างคำพระทุกที   : )  
  • ดิฉันก็หมดมุกจริงๆแหละค่ะครูคิม   ดิฉันจึงเรียนรู้ที่จะรอคอย...เพราะชีวิตไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป  เราสร้างตัวแปรอะไรก็ตาม   แต่ชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จในการใส่ตัวแปรนั้นๆเสมอไป  
  • แต่เราจะท้อแล้วถอยนั้นหาได้ไม่  เราก็ต้องสื่อสารกับครอบครัวเหล่านั้นต่อไปอย่างดีที่สุด  ตราบเท่าที่ลูกของเขายังอยู่ในความรับผิดชอบของเรา
  • ดิฉันคิดเอาแบบบ้านๆได้เท่านี้แหละค่ะครูคิม  คิดแล้วดิฉันก็ลงมือทำแบบลองผิดลองถูก  เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแบบนักจิตวิทยา  และปัญหาตรงหน้า  เรารอไม่ได้
  • ดิฉันจึงชอบใจมากๆและขอชื่นชมครูคิมที่สื่อสารพูดคุยกับผู้ปกครองด้วยความเปรียบที่ลึกซึ้ง ชัดแจ้งนะคะ  เพราะเห็นได้ชัดว่าครูคิมออกแบบการสื่อสารมาอย่างดี (ใส่ตัวแปรในสารอย่างพอเหมาะ) จึงทำให้เขา "เงียบ" ในเที่ยวหลังได้
  • " แต่ขากลับก็ไม่วายย้ำ..ให้ครูตีลูก "  นี่เป็นเครื่องแสดงถึงความเคยชินของมนุษย์  ใครมีกรอบแนวคิดอ้างอิงมาในชีวิตอย่างไร  เขาก็อาจยังคงเชื่ออย่างนั้น  การเปลี่ยนความเคยชินของมนุษย์มิใช่โจทย์ง่ายๆเลย
  • แต่ครูคิมและคุณครูโรงเรียนวิทยสัมพันธ์ได้ตั้งใจทำและทำได้จริงๆ ดังที่ครูคิมได้เล่าความเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติไว้ในหลายๆบันทึก
  • อ่านแล้วขอบอกอีกครั้งว่ารู้สึกชื่นชมมากๆนะคะ  : )   : ) 

พี่แอมป์ที่รักยิ่ง(และเคารพ) ในวงเล็บกลัวพี่แอมป์จะสะดุ้ง จึงใส่วงเล็บสักหน่อย อิ อิ

เวลาน้องเริ่ม ๆ จิตขุ่น ๆ มัว ๆ จากอะไรก็ตามแต่ ปัญหางาน หงุดหงิด ๆ(ใกล้วัยทองกับเขาแล้วกระมัง) บันทึกพี่แอมป์จะเป็น "ศาลาพักใจ" เอ๊ย เป็น"ศาลากำลังใจ" ค่ะ

มาอ่านซ้ำ อ่านแล้วอ่านอีก เอ สงสัยต้องเอาไปไว้ในบันทึกเราอีกสักหนึ่งคอมเมนท์ซะแล้ว

พี่แอมป์ตอบคอมเมนท์หนึ่ง ยาวกว่าบันทึกน้องอีกค่ะ

 

คอมเมนท์ที่ว่าต้องขออนุญาต คือ คอมเมนท์ที่ P 16. ดอกไม้ทะเล

เรา พ่อ-แม่จะเก็บไว้ให้ลูกอ่าน ว่าอย่างน้อยมีพี่แอมป์ที่รับรู้นะว่าเรา พ่อและแม่ รักและอยากเป็นครูที่ดีต่อลูก 

เรียนขออนุญาตนะคะ

ตั้งชื่อบันทึกว่า

เมื่อ อาจารย์แอมป์อยาก....แ ต่ ง ง า น อิ อิ

  • อ่า.. คุณหมอเล็กคะ  คือว่าพี่ได้สะดุ้งสามกลับไปเรียบร้อยแล้ว..เพราะอ่านไปก่อนจะทันนึกว่ามีวงเล็บอะค่ะ  อิอิ
  • คุณหมอเล็กเป็นกำลังใจที่น่ารักมากของพี่แอมป์เช่นกันนะคะ  : )  : )
  • เอ่อ..และขออภัยที่เผลอตัวหัวเราะก๊ากกับชื่อบันทึกตอนท้ายที่คุณหมอเล็กบอกนะคะ  เพราะทีมพี่ชอบล้อกันเรื่องนี้เป็นที่สุด  เนื่องจากรู้ว่าเราพูดเล่นแต่เอาจริงกันทุกคน  ตามตัวอักษรชื่อบันทึกเป๊ะ  และยังไม่ประสบความสำเร็จเลยแม้แต่คนเดียว  แต่เราก็ตั้งหน้าตั้งตาล้อกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันต่อไป   เพราะรู้ว่าไม่มีใครแซงใครได้อย่างแน่นอน
  • เพราะตอนนี้ต่างก็เข้าวัยคุณปู่คุณป้าคุณย่าคุณยายกันหมดแล้วอะค่ะ  อิๆๆๆๆ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท