ประมวลภาพ+บรรยากาศวันสอบวิทยานิพนธ์ของพี่หมออนามัย และเบื้องหลัง.. 4 ปีที่รอคอย


พี่หมออนามัยของนายบอน พยายามเก็บรวบรวมข้อมูลฑุติยภูมิเกี่ยวกับไข้เลือดออกในช่วง 2544-2548  เพื่อทำการวิเคราะห์หาปัจจัยสภาพแวดล้อมกับการระบาดของโรคไข้เลือดออก จ.กาฬสินธุ์ โดยประยุกต์ใช้ ระบบ GIS 

ช่วง เวลาที่ผ่านมา พี่หมออนามัยไม่ค่อยจะมีสมาธิในการทวิทยานิพนธ์มากนัก เพราะงานต่างๆที่มีมาเรื่อยๆ จึงต้องต่อสู้ฝ่าฟันกับข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งดูไปแล้ว เหมือนจะเรียนไม่จบ แต่ก็ได้รับแรงใจ และแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมสาขา การจัดการสารสนเทศสาธารณสุข จนทำให้มีวันนี้ขึ้นมาได้ วันสอบปากเปล่า วิทยานิพนธ์ 

วันที่คุณอดุลย์ กล้าขยัน พี่หมออนามัยคนนี้ รอคอยมาถึง 4 ปี

นายบอนต้องตามมาร่วมให้กำลังใจ และอยู่ร่วมในเหตุการณ์สำคัญของพี่หมออนามัย ความจริงแล้ว การสอบปากเปล่า ที่สถาบันไหนก็มีทั้งนั้น

แต่ สำหรับการสอบครั้งนี้ การสอบของหมออนามัยคนหนึ่งที่ไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้นของเพื่อนๆในรุ่น การสอบที่หลายคนมองว่า น่าจะสอบไปตั้งนานแล้ว

แต่กว่าจะถึงวันนี้ ประสบการณ์ที่ผ่านมา มีคุณค่ามากกว่าผลงานวิจัยที่ได้ซะอีก

จะมีใครกี่คน ที่จะต้องขับรถไปรวมกลุ่มทำ thesis กับ เพื่อน เพื่อให้มีสมาธิในการทำงาน เพราะที่บ้านพักมีสิ่งรบกวนตลอดเวลา ซึ่งพี่หมออนามัยต้องขับรถข้ามจังหวัด ตระเวณไปแล้ว ทั้งหนองบัวลำภู มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ 

จะมีใครกี่คน ที่พอทำแผลให้คนไข้ที่สถานีอนามัยเสร็จ ต้องรีบขับรถมารวมกลุ่มทำงานกับเพื่อนๆด้วยความอ่อนเพลีย

 

จะ มีใครกี่คน ที่พยายามใช้เวลาที่ไม่ค่อยจะมี เพื่อการเรียน หลายครั้ง ต้องขับรถออกจากสถานีอนามัยที่กาฬสินธุ์ ตอนบ่ายโมง เพื่อไปรวมกลุ่มทำงานที่หนองบัวลำภู ไปถึงตอนที่เพื่อนหมออนามัย เลิกงานตอน 4 โมงครึ่งพอดี ปรึกษาหารือแค่ 3-4 ชั่วโมง แล้วก็บึ่งรถกลับจากหนองบัวลำภู กลับถึงบ้านพักตอน 6 ทุ่มครึ่ง แล้วรุ่งเช้า ลุกขึ้นมาทำงานต่อไป

 

ต้องยอมรับว่า พี่หมออนามัย อึดมากจริงๆ แม้จะมีเวลาน้อยๆ แต่ด้วยความใฝ่เรียนรุ้ ก็พยายามขวนขวายจนได้ แม้จะใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม

ก่อน สอบวิทยานิพนธ์ พี่หมออนามัย ใช้เวลาทบทวนเนื้อหา อ่านวิทยานิพนธ์ที่เขียนออกมา พบความไม่ต่อเนื่องของเนื้อหาในหลายๆส่วน จนทำให้นอนไม่หลับ ขนาดความมั่นใจในการนำเสนอ

การสอบปากเปล่าในตอนเช้า 5 มิ..2549 พี่ หมออนามัยถูกกรรมการซักถามหลายคำถาม แต่พี่หมออนามัยไม่ค่อยตอบคำถามมากนัก เพราะตั้งแต่คำถามแรก กรรมการสอบก็ชี้ข้อบกพร่องที่พบออกมาหลายประเด็น จนพี่หมออนามัยขาดความมั่นใจในการตอบ ผ่านไป 1 ชั่วโมง พี่หมออนามัยต้องกลับไปแก้ไขเนื้อหาหลายๆส่วน โดยจะต้องดูให้ละเอียดและรอบคอบมากกว่านี้

เมื่อดูสภาพความเป็นจริง พี่หมอไม่ค่อยมีสมาธิในการทำ thesis มาก นัก ถ้ามีคนไข้มาที่อนามัย พี่หมอจะไปดูคนไข้ก่อน เพราะชีวิตคน สำคัญกว่า งานส่วนตัวที่กำลังทำอยู่ จึงทำให้พี่หมออนามัย วางมือจากเรื่องเรียนหลายๆครั้ง

แม้จะไม่ค่อยมีเวลา แต่รูปแบบการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลที่ต้องคำนวณหลายครั้ง และปริมาณข้อมูลที่มากมายกว่าหมื่นเรคคอร์ด หากเป็นนิสิตปริญญาโทท่านอื่นๆ จะตัดสินใจกำหนดขอบเขตการวิจัยให้แคบลงกว่านี้ เพื่อที่จะได้เสร็จเร็ว แต่พี่หมออนามัยคนนี้ ขอลุยเต็มที่ ให้สมกับที่อยากทำจริงๆ

เพื่อให้ได้ความรู้อย่างเต็มที่ กับการตามเก็บข้อมูลทุกตัวแปร ทั้งจังหวัดกาฬสินธุ์ ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ 1) ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย 2) ช่วงอายุผู้ป่วย 3) จำนวนแหล่งน้ำเป็นรายตำบล 4) ช่วงเวลาที่พบผู้ป่วย (ฤดูกาลไหน) 5) พื้นที่ที่พบผู้ป่วย อยู่ในเขต หรือนอกเทศบาล  6) ความหนาแน่นประชากรรายตำบล 7) ปริมาณน้ำฝนสะสมเฉลี่ย รายเดือน 8) จำนวนหลังคาเรือน รายตำบล 9) อุณหภูมิเฉลี่ย รายเดือนของทุกอำเภอ

ใช้แบบฟอร์มเก็บข้อมูลถึง 6 ชุด วิเคราะห์สถิติพื้นฐานอย่าง ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปอร์เซ็นต์ไทล์ จนถึงการใช้ Multiple Logistic Regression  คล่อง เพราะต้องทำการวิเคราะห์หลายครั้ง เนื่องจากเมื่อกลับมาตรวจสอบหลังการวิเคราะห์ พบว่า ข้อมูลไม่ถูกต้อง เลยต้องลุยใหม่อีกหลายครั้ง และพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยตัวเองมาตลอด

และนี่คือ ประมวลภาพบางส่วนของพี่หมออนามัยในวันสอบวิทยานิพนธ์ บันทึกไว้ตั้งแต่ก่อนสอบ ช่วงเวลาที่สอบ และหลังสอบเสร็จใหม่ๆ เพื่อเป็นบันทึกแห่งความอุตสาหะพยายาม จนมาถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้  สำหรับ ชาวหมออนามัย และพี่น้องชาวสาธารณสุขหลายท่านที่เกิดอาการท้อแท้ในเรื่องเรียนแบบนี้ ขอให้มีความมุ่งมั่น และความอดทน ไม่ย่อท้อ ถอดใจง่ายๆ

 

พี่ หมออนามัยท่านนี้ ซึ่งมีข้อจำกัด และอุปสรรคมากมายหลายอย่าง ยังมีความมุ่งมั่นได้ถึงเพียงนี้ แล้วชาวหมออนามัย และพี่น้องสาธารณสุขหลายท่าน ซึ่งมีข้อจำกัดน้อยกว่า มีเวลาว่างมากกว่า จะถอดใจยอมแพ้ง่ายๆได้อย่างไร

โปรดดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ออกมาเถอะครับ เหมือนพี่หมออนามัยคนนี้ …..


 


คุณอดุลย์ กล้าขยัน ขณะกำลังนำเสนอผลการวิจัย

 


บรรยากาศของการซักถามในห้องสอบ

 


คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ประกอบด้วย ศ.ดร.สมจิตต์ สุพรรณทัสน์, รศ. วิรัตน์ พงษ์ศิริ , รศ.ดร.ณัฐจาพร พิชัยณรงค์ และ ผศ.จิรัฏญา ภูบุญอบ

 


 



 


 


หลังจากเดินออกจากห้องสอบ สีหน้าเกินคำบรรยาย


 


สอบถาม ปรึกษาหารือกับ อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.วิรัตน์ พงษ์ศิริ

 



 


การ สอบครั้งนี้ ได้บันทึกเสียงโดย MP3player ในภาพกำลังโอนไฟล์ลง Notebook เพื่อให้คุณอดุลย์ นำไปเปิดฟังอีกครั้งว่ากรรมการสอบวิทยานิพนธ์ให้แก้ไขประเด็นใดบ้าง
 

ถือว่า เรียนจบแล้วนะครับ รอมาถึง 4 ปี ขอแสดงความยินดีกับพี่หมออนามัยด้วยคนครับ
 
อ่านบันทึกที่เกี่ยวข้อง
1.พี่หมออนามัย กับ 24 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์
2.ครอบครัวแห่งการเรียนรู้ของพี่หมออนามัยแห่งคำสร้างเที่ยง กาฬสินธุ์
3.โค้งสุดท้ายอันยาวนาน ก่อนสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ของพี่หมออนามัยแห่งคำสร้างเที่ยง
4.ลงมือวิเคราะห์ข้อมูลแบบหมออนามัยไกลปืนเที่ยง : ใช้ Microsoft Excel แทน SPSS !!!!
5.เมื่อพี่หมออนามัยจำเป็นที่จะต้องจบในเทอม summer นี้ ความพยายามที่ต้องไขว่คว้า
6.การพึ่งตัวเองทางสถิติกับการวิเคราะห์ Multinominal Logistic Regression ของนิสิต มมส.
7.ไขว่คว้าหาวิธีการวิเคราะห์สถิติ Logistic Regression แบบนิสิต มมส. ไกลปืนเที่ยง  

หมายเลขบันทึก: 33210เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2006 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 01:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เป็นความพยายามที่ดีมากครับ
  • ฝากนายบอนดูแลพี่หมอหน่อยครับ
  • จะจบแล้วใช่ไหมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท